ต่างประเทศ : ประท้วงยืดเยื้อในอิรัก ระบบการเมืองที่ไร้ทางแก้

นอกเหนือไปจากเหตุประท้วงที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องบนเกาะฮ่องกงตอนนี้แล้ว

อีกซีกโลกหนึ่ง ที่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก ก็มีเหตุชุมนุมประท้วงที่กำลังลุกลามบานปลายไปเหมือนกัน

เพราะตอนนี้มีผู้คนถูกฆ่าตายไประหว่างการประท้วงมากกว่า 100 รายแล้ว และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 6,000 คน

เป็นตัวเลขการเจ็บ-ตายที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

จริงๆ แล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิรักเจอกับการประท้วงของประชาชนอยู่บ่อยครั้ง หากแต่โดยปกติแล้วจะไม่ใช่การประท้วงเรียกร้องโค่นผู้นำ หรือขับไล่พรรคการเมือง

แต่จะเป็นการเรียกร้องเพื่อให้ยุติระบบการเมืองที่มีอยู่ในอิรัก นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาใช้กำลังบุกอิรักเพื่อโค่นอำนาจ “ซัดดัม ฮุสเซน” เมื่อปี 2003 ที่ชาวอิรักมองว่า เป็นระบบการเมืองที่ “ล้มเหลว”

โดยผู้ประท้วงมองระบบการเมืองตอนนี้ว่ารัฐบาลใช้วิธีในการแต่งตั้งบุคคลต่างๆ ด้วยเกณฑ์ด้านศาสนาและชาติพันธุ์ หรือที่เรียกกันว่า “มูฮัสซาซา” มากกว่าที่จะเลือกจากความสามารถ

โดยชาวอิรักที่โกรธแค้น ต่างบอกว่า พวกรัฐบาลเปิดทางให้พวกชีอะห์ เคิร์ด สุหนี่และผู้นำอื่นๆ เข้าไปใช้เงินกองทุนสาธารณะอย่างผิดๆ

เพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ตัวเองและพวกพ้อง ปล้นความร่ำรวยของประเทศชาติไปทำให้ตัวเองร่ำรวย แล้วสร้างประโยชน์เพียงน้อยนิดให้กับพลเรือนส่วนใหญ่

 

โดยที่ผ่านๆ มา ปกติแล้วการประท้วงจะมีขึ้นในช่วงฤดูร้อน ที่สภาพอากาศร้อนจัด และรัฐบาลไม่สามารถที่จะจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างไฟฟ้าหรือน้ำให้แก่ประชาชนได้อย่างเพียงพอ

แต่ในปีนี้ บริการจากภาครัฐดีขึ้นเล็กน้อย บวกกับมีฝนตกลงมาอย่างหนัก และฤดูร้อนที่ไม่ร้อนจัด หากแต่ระบบการเมืองก็ยังคงไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นแต่อย่างใด

และความไม่พอใจของประชาชน เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พล.ท.อับดุล-วาฮับ อัล-ซาดี ฮีโร่ของชาวอิรักผู้นำในการต่อสู้กับกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลามหรือไอเอสถูกปรับลดตำแหน่ง ทำให้ชาวอิรักโมโหอย่างมาก และเชื่อว่าเหตุที่ถูกปรับลดตำแหน่งเพราะความพยายามในการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นและต่อสู้กับชนชั้นการเมืองของ พล.ท.อัล-ซาดี ที่ทำงานอยู่ในสำนักงานต่อต้านการก่อการร้าย

เมื่อเป็นเช่นนั้น ชาวอิรักจึงมองว่า หากฮีโร่ที่ต่อสู้กับพวกไอเอสยังไม่สามารถสู้กับการคอร์รัปชั่นและพวกชนชั้นการเมืองได้ แล้วใครล่ะที่จะสามารถสู้ได้

จึงกลายเป็นที่มาของการประท้วงครั้งล่าสุด ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการรวมตัวกันในย่านซาดร์ ซิตีh ในกรุงแบกแดด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น และแก้ปัญหาเรื่องการว่างงาน รวมไปถึงการเรียกร้องสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำหรือไฟฟ้า ก่อนที่กลุ่มผู้ประท้วงจะเริ่มมีข้อเรียกร้องที่มากขึ้น คือการ “ยกเครื่อง” ระบบการเมืองทั้งหมดของประเทศ

นอกจากนี้ ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้ “อิหร่าน” หยุดยั้งการแทรกแซงการเมืองในอิรัก

 

โดยย่านซาดร์ ซิตี้ ถือเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และยังเป็นย่านของคนยากจนในกรุงแบกแดด ที่สำคัญ ยังเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังของ “ม็อกตาดา ซาดร์” ที่กลายเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการประท้วง เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอาดิล อับดุล-มาห์ดี อัลมุนทาฟิกิ ลาออกจากตำแหน่ง

เหตุการณ์การประท้วงก็เริ่มรุนแรงมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่เองมีการใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อการปราบปรามผู้ประท้วง ก่อนที่จะเริ่มมีการใช้กระสุนจริง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ท่ามกลางการประท้วงที่เริ่มมีการแผ่ขยายไปหลายจุดทั่วประเทศ

หากแต่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ประท้วงเท่านั้น เพราะในจำนวนผู้บาดเจ็บราว 6,000 คนนั้น มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรวมอยู่ด้วยกว่า 1,200 นาย

 

การประท้วงที่ยืดเยื้อและรุนแรงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดและปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับนายกรัฐมนตรีอาดิล อับดุล-มาห์ดี อัลมุนทาฟิกิ บุคคลที่ได้รับการเลือกจากประธานาธิบดีบาห์ฮาม ซาเลห์ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา และจัดตั้งคณะรัฐบาลที่ถือว่าเป็นรัฐบาลของนักวิชาการขึ้นมาปกครองประเทศ

พร้อมให้คำมั่นว่าจะมีวิธีในการปราบปรามคอร์รัปชั่นและช่องว่างระหว่างชนชั้นสูงกับประชาชนทั่วไป

แต่หลังจากผ่านมาเกือบ 1 ปี มาห์ดีก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเขาไม่สามารถที่จะแก้ไขเรื่องการเมืองได้ แต่กลับยังคงเดินหน้าทำข้อตกลงกับพวกชนชั้นสูงด้วยกัน และทำให้บรรดาผู้นำเหล่านี้ยอมมอบอำนาจให้แก่มาห์ดีอย่างเต็มที่ในการปกครองประเทศ

ขณะที่ประธานาธิบดีบาห์ฮาม ซาเลห์ ได้ออกมาร้องขอให้ประชาชนหยุดยั้งการกระทำที่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ไปกว่านี้ พร้อมกับเสนอให้มีการเจรจากันขึ้นภายในประเทศ โดยไม่มีการแทรกแซงจากต่างชาติ

และว่า บุคคลที่โจมตีผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ล้วนเป็นศัตรูของประชาชน พร้อมกับประณามการก่อเหตุบุกเข้าไปยังสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นและภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไป จะเห็นว่า 2 ปีหลังจากกลุ่มไอเอสพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการในอิรัก ประชากรจำนวนมากในอิรักก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ลง แม้จะมีการส่งออกน้ำมันไปขายบ้าง แต่ก็ยังไม่ช่วยอะไร อัตราการว่างงานยังสูงมากในอิรัก

และหากยังไม่มีการปฏิรูปการเมืองและจัดการกับพวกกลุ่มชนชั้นการเมืองอย่างจริงจัง สถานการณ์ในอิรักก็อาจจะย่ำแย่ไปกว่าปัจจุบัน