คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “ฏาก” เครื่องรางพื้นบ้านพราหมณ์-ผี ในแคว้นมหาราษฎร์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ต้องเรียนท่านผู้อ่านว่า ผมยังมีเรื่องที่อยากเล่าจากประสบการณ์ที่ได้ไปพบเจอในแคว้นมหาราษฎร์อยู่ครับ และเป็นเรื่องต่อเนื่องจากเรื่องของเทพ “ขัณโฑพา” ที่ได้เล่าไปแล้ว

ชื่อจริงๆ เทวสถานของพระขัณโฑพานั้น ผมไปเปิดรูปที่ถ่ายมาเองในโทรศัพท์แล้วเพิ่งจะเห็นว่า เทวาลัยมีป้ายชื่อที่ยาวมากแขวนติดอยู่ตรงประตูทางเข้า

ท่านเขียนด้วยอักษรเทวนาครีว่า “เชชูรคฑ ปรฺวต ศิวลึคาการ มฤตฺยุโลกี ทุสเร ไกลาส ศิขร”

แปลเลาๆ ได้ว่า พระศิวลึงค์แห่งมฤตยูโลกบนยอดเขาไกรลาสที่สอง ณ เชชูรคฑบรรพต (เขาเชชูรี)

น่าสนใจที่ท่านให้ที่นี่เป็นพระศิวลึงค์แห่ง “มฤตยูโลก” ที่จริงในปูเน่มีเทวาลัยเก่าแก่อันหนึ่งชื่อ “ปาตาเลศวร” หรือพระเป็นเจ้าแห่งบาดาล โดยขุดเนินหินลงไปดุจลงไปใต้ผิวโลก สร้างให้เป็นเทวาลัยอยู่เบื้องล่าง

เพราะพระศิวะนั้นเป็นที่บูชาในโลกบาดาลของพวกภูตผีด้วย ก็เพราะพระองค์เป็น “นายผี” (ภูเตศวร)

แต่การให้เทวาลัยพระขัณโฑพาเป็นศิวลึงค์แห่งมฤตยูโลก ผมคิดว่าเพราะเขาเชชูรีเป็นที่รวมสถิตของผีบรรพชนมากกว่า

ทำนองเดียวกับเขาโปปาในพม่า หรือภูเขาศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในบ้านเรา และพระขัณโฑพานี่คือหัวหน้าผีบรรพชนนั่นแหละครับ

 

ระหว่างทางเดินขึ้นเชชูรี ร้านรวงต่างๆ นอกจากจะขายเครื่องบูชาหลักคือผงขมิ้นแล้ว เขายังมีของแปลกตาอีกอย่าง คือ แผ่นทองแดง แผ่นเงิน หรือโลหะตัดเป็นห้าเหลี่ยม ดุนลาย พับขอบกันคม มีขนาดตั้งแต่สองนิ้วไปจนถึงฝ่ามือครึ่งได้

แผ่นโลหะเหล่านี้เขาดุนเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ ครับ ผมเห็นครั้งแรกก็รู้สึกสะดุดตาและไม่เคยเห็นที่อื่นในอินเดียเลย

แต่ที่แปลกอีกอย่างคือ รูปเทพเจ้าเหล่านี้มิใช่เทพเจ้าที่เราคุ้นเคยสักเท่าไหร่ ไม่มีพระวิษณุ พระพรหม ฯลฯ ส่วนมากเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่พื้นเมืองทั้งสิ้น

เมื่อไปเชชูรีครั้งแรก ผมถามคนขายว่า อันไหนคือพระขัณโฑพา เขาก็หยิบส่งให้ ผมจึงเอาขึ้นไปทำพิธีบนยอดเขา ปูชารีผู้ทำพิธีเห็นแล้วก็บอกว่าบูชาดีๆ นะ แล้วจึงได้นำกลับมาที่เมืองไทย เก็บไว้บนหิ้งพระในฐานะ “เทพผู้ปกป้องคุ้มครอง”

ปูชารีท่านว่าให้สรงน้ำแล้วบูชาด้วยผงขมิ้นจะเจริญรุ่งเรือง ผมบูชาบ้างไม่ได้บูชาบ้าง แต่อย่างน้อยก็เป็นของที่ระลึกถึงการไปเยือนเชชูรีในครั้งแรกและเป็นเครื่องระลึกถึงวัฒนธรรมมาราฐี

 

ปีนี้ก็ตั้งใจว่า จะลองหาเครื่องรางชนิดนี้มาหลายๆ แบบ จะได้ไว้หาความรู้ แต่ด้วยเวลาจำกัดผมจึงหามาได้เพียงส่วนหนึ่ง และเมื่อกลับมาเมืองไทยถึงได้ลองสืบค้นเพิ่มเติม ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างครับ

แผ่นดุนโลหะเหล่านี้เรียกในภาษามาราฐีว่า “ฏาก” ซึ่งแปลว่า “ปากกา” อาจเพราะในอดีตใช้การดุนขึ้นรูปด้วยปากกาอย่างง่ายๆ หรือตัวเครื่องรางนี้มียอดแหลมคล้ายปากกา

เทพเจ้าในฏากนั้น ล้วนแต่เป็นเทพพื้นเมืองประเภท “กุลไทวัต” (กุลเทวดา) หรือเทพประจำตระกูล มีทั้งเจ้าพ่อและเจ้าแม่ดังที่ผมได้เคยเล่าไว้แล้ว

องค์ที่นิยมสุดคือพระขัณโฑพา ซึ่งมักทำเป็นรูปพระองค์ประทับบนหลังม้า พร้อมด้วยชายาคือพระนางมฬหสา กำลังเข้าต่อสู้กับอสูร นอกนั้นก็มีเจ้าแม่สัปตศฤงคี เจ้าแม่ตุฬชภวานี เจ้าแม่ปัลยังคภวานี เจ้าแม่โชเคศวรี (โยเคศวรี) เจ้าแม่สัตวภวานี นาถไภรวะ มหโศพา สัปตมาตฤกา ฯลฯ

ชื่อไม่ค่อยคุ้นกันเท่าใดใช่ไหมครับ เจ้าพ่อเจ้าแม่เหล่านี้ล้วนมีเทวสถานตั้งอยู่ในแคว้นมหาราษฎร์ เรื่อยไปจนถึงคุชราต ส่วนมากเป็นเทพประเภทต้องไหว้ดีพลีถูกและมักดุร้ายให้คุณให้โทษได้

ผมชอบรูปเจ้าแม่โชเคศวรีเป็นพิเศษ ท่านทำเป็นรูปผู้หญิงยืน ในมือถือรวงข้าวรายล้อมด้วยพืชผล ส่วนเจ้าผู้ชายก็น่าสนใจ เพราะโดยมากมักสวม “มงกุฎใบไม้ห้าแฉก” ขี่ม้าถือดาบ ดูดิบๆ และพื้นเมืองมาก

 

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ผมพบว่าเทพเจ้าเหล่านี้และฏากถูกกล่าวถึงในหนังสือ The Hindu Pantheon ของ Edward Moor หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1810 ก็อายุอานามสองร้อยปีเศษแล้วครับ

คุณเอ็ดเวิร์ดเดิมเป็นทหารและทำงานให้กับบริษัทอีสต์อินเดีย เข้าไปในอินเดียหลายปีจนศึกษาความรู้ทางฮินดูและวัฒนธรรมอินเดียได้มาก หนังสือเรื่อง The Hindu Pantheon นี้เป็นหนังสือที่ศึกษาเกี่ยวกับศาสนาฮินดูอย่างเป็นระบบเล่มแรกๆ ในโลกตะวันตก เนื้อหากล่าวถึงเทพเจ้าต่างๆ ของฮินดู

ที่สำคัญมีภาพประกอบในเล่มจำนวนมาก ภาพเหล่านี้เป็นภาพวาดลายเส้น และส่วนหนึ่งก็วาดรูปเคารพและวัตถุบูชาต่างๆ

มีบางท่านเสนอว่า ภาพตำราเทวรูปช่วงต้นรัตนโกสินทร์ของไทยเราอาจได้รับอิทธิพลจากตำราเล่มนี้ ซึ่งผมยังไม่แน่ใจนักแต่ก็เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจทีเดียว

 

มีภาพ “ฏาก” จากแคว้นมหาราษฎร์จำนวนหนึ่งวาดไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย เข้าใจว่าเอ็ดเวิร์ดคงให้คนวาดจากของจริงที่แกได้มา

แกเขียนไว้ในหน้า 166 ด้วยครับว่า เครื่องรางแบบนี้ทำจากวัสดุหลากหลาย เช่น แผ่นทองแดง เงิน และเหล็กหรือโลหะอื่น และให้เหตุผลว่า ที่จริงเครื่องรางชนิดนี้เป็นเครื่องรางของคนยากจนที่ไม่สามารถหาเงินมาซื้อเทวรูปแบบลอยองค์ได้ การใช้แผ่นโลหะบางๆ แล้วกดด้วยพิมพ์ทำให้เครื่องรางนี้มีราคาถูกกว่ามากๆ

ผมคิดว่าเหตุผลนี้ก็น่าจะจริงส่วนหนึ่ง แต่ไม่น่าจะใช่เหตุผลทั้งหมด ผมคิดว่ามีเหตุผลด้านการใช้ด้วย เนื่องจากเครื่องรางเหล่านี้มีน้ำหนักเบาและมีขนาดเล็กกว่าเทวรูปมาก จึงสามารถพกพาไปด้วยในขณะเดินทางหรือแสวงบุญได้ และคงมีเหตุผลด้านความเชื่อซ่อนไว้อีก เพราะที่จริงผมพบว่าในพระราชวังของราชตระกูลที่นับถือขัณโฑพาเป็นกุลเทวดา ก็ยังทำรูปเคารพเป็นแผ่นดุนแบบฏากขนาดใหญ่สวยงามด้วยวัสดุที่มีค่าอย่างเงินและทอง

คือราชตระกูลนี่ไม่น่าไม่มีตังค์สร้างเทวรูปนะครับ แต่เขาก็ยังรักษารูปแบบอันนี้ไว้ น่าสนใจๆ

 

นี่ทำให้ผมนึกถึง “เจว็ด” พระภูมิของบ้านเรา สมัยก่อนเขาทำเป็นแผ่นๆ รูปใบเสมาทั้งนั้น ที่เป็นลอยองค์เพิ่งจะมาทำกันภายหลัง ผมคิดว่าการทำรูปเคารพเป็นแผ่นๆ คงมีมาตั้งแต่โบราณด้วยเหตุผลด้านความเชื่อเช่นเดียวกันกับเจว็ดนั่นแหละครับ แต่จะอธิบายยังไงก็เลือนๆ อยู่

แผ่นปรุแผ่นดุนเทวรูปและพระพุทธรูปต่างๆ ที่พบในบ้านเรามีคติความเชื่อพิเศษอะไรไหม จะโยงไปหากันได้หรือไม่ ใครทราบวานบอกด้วย จักขอบพระคุณ

ในวิถีชาวบ้าน นอกจากกราบไหว้ฏากเหมือนเช่นเทวรูปองค์หนึ่งแล้ว เขายังมีวิธีใช้ในพิธีกรรม คือเมื่อเขาจะทำพิธีไหว้เทพ-ผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า ชครัณ โคนธาล เขาจะตั้งแท่นพิธี เอาต้นอ้อยมาผูกกันเข้าทำเป็นซุ้ม เอาหม้อกลัศวางบนแท่น พร้อมด้วยเครื่องฑัณฑ์ทรมาน เช่น รองเท้าตะปู แส้ปอ โซ่ เครื่องพันธนาการต่างๆ สำหรับใช้ในการเข้าทรง

นอกจากนี้ เขาจะเอาฏากของตระกูลนั้นตั้งไว้บนแท่นด้วย พอกลุ่มนักขับโคนธาลีขับบทและบรรเลงดนตรีไปเรื่อยๆ จนลูกหลานเริ่มมีอาการตกภวังค์ ต่อมาผีเทพบรรพชนจะมาเข้าทรง ลูกหลานที่เข้าทรงสนิทดีแล้วจะเดินไปยังแท่น แล้วหยิบเอาฏากขึ้นมาหนึ่งอัน

ผู้ทำพิธีจะนำฏากนั้นมาดู แล้วประกาศว่าฏากนั้นเป็นของเทพองค์ใด การที่คนทรงหยิบฏากก็เพื่อบอกให้คนร่วมพิธีทราบว่าองค์เทพในฏากนั้นมาเข้าทรงตนนั่นเอง จากนั้นผู้ทำพิธีจึงค่อยหยิบเอาเครื่องพันธนาการตามแต่เทพนั้นๆ มาสวมให้คนทรงแล้วทำพิธีกรรมต่อไป

 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องความรู้นะครับ ไม่ใช่ชี้โพรงให้กระรอกไปพากันหาซื้อฏากมาตุนกันไว้ หรือซื้อมาขายกันให้เพลิดเพลินวงการวัตถุมงคล

ต้องพูดดักคอไว้ก่อนครับ เพราะวงการนี้น่ากลัวเหลือเกิน นอกจากก๊อบข้อมูลกันเก่งแล้ว ยังอุปโลกน์เก่งด้วย

เดี๋ยวเขาว่าอาจารย์คมกฤช ช่วยปั่นกระแสวัตถุมงคลใหม่ๆ อีก

อาตมาไม่เกี่ยวเด้อ