ที่มา “สุรินทร์” ผู้ซื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชาวกวย เป็นหมอช้าง จ. สุรินทร์ (ภาพจากหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุรินทร์ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2544)

สุรินทร์ได้ชื่อจากนามเจ้าเมืองว่า “สุรินทรภักดี” หมายถึง ซื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน [สุรินทร์ แปลว่า พระอินทร์ หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน]

จ.สุรินทร์ มีความเป็นมาโดยสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ดังนี้

1.ชุมชนเกษตรกรรมสมัยแรกเริ่ม

บริเวณสุรินทร์เป็นชุมชนเกษตรกรรมสมัยแรกเริ่ม 3,000 ปีมาแล้ว หรือราว 500 ปีก่อนพุทธศักราช

พบหลักฐานจำนวนมากของคนหลายเผ่าพันธุ์กระจัดกระจายทั่วไปตลอดลุ่มน้ำมูล และเลียบทิวเขาพนมดงรัก นับถือศาสนาผี

คนหลายเผ่าพันธุ์เหล่านั้น มีกวย (กุย) เป็นกลุ่มสำคัญที่สืบเนื่องจนทุกวันนี้

2.ชุมชนเมืองน้อยสมัยการค้าโลกเริ่มแรก

บริเวณสุรินทร์เป็นชุมชนเมืองน้อย ซึ่งเป็นเครือข่ายรัฐใหญ่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000 [เคยเรียกสมัยวัฒนธรรมทวารวดี หรือวัฒนธรรมเจนละ]

พบคูน้ำคันดินรูปคล้ายกลมไม่สม่ำเสมอ ล้อมรอบบริเวณศักดิ์สิทธิ์

ส่วนชุมชนคนทั่วไปอยู่เป็นกลุ่มกระจัดกระจายภายนอกคูน้ำคันดิน และมีเครือข่ายทั่วไป โดยไม่พบหลักฐานว่าชื่อเมืองอะไร? นับถือศาสนาผีปนศาสนาพราหมณ์และพุทธ

เติบโตจากการค้าภายใน เป็นเครือข่ายรัฐพิมาย (วงศ์มหิธร) และรัฐเจนละ (วงศ์จิตรเสน)

3.เมืองใหญ่สมัยการค้าสำเภาจีน

บริเวณสุรินทร์เป็นเมืองใหญ่สมัยการค้าสำเภาจีน ราว 1,000 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1500 [เคยเรียกสมัยวัฒนธรรมขอม]

พบคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมครอบคูน้ำคันดินรูปคล้ายกลมไม่สม่ำเสมอ (ที่มีมาก่อน) โดยไม่พบหลักฐานว่าเมืองชื่ออะไร? และพบปราสาทขนาดต่างๆ จำนวนมากเป็นศูนย์กลางชุมชนกระจายอยู่ที่ต่างๆ แสดงความมั่งคั่งและจำนวนประชากรคับคั่ง

ชุมชนบ้านเมืองเหล่านั้นเติบโตและมั่งคั่งจากการค้า ซึ่งเป็นเครือข่ายเมืองพิมาย (จ.นครราชสีมา) และรัฐใหญ่แถบโตนเลสาบในกัมพูชา ที่มีการค้าขายกับจีนแต่งสำเภามาถึงอ่าวไทย ทำให้มีชุมชนบ้านเมืองน้อยใหญ่กระจายทั่วไปกว้างขวางมาก จึงพบซากปราสาทนับไม่ถ้วน นับถือศาสนาผีปนศาสนาพราหมณ์

4.เมืองเครือข่ายของรัฐอยุธยา

บริเวณสุรินทร์ (ยังไม่ชื่อสุรินทร์) เป็นเมืองเครือข่ายของเมืองนครราชสีมา สังกัดรัฐอยุธยา ราว 500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.2000 [เคยเรียกสมัยอยุธยา]

ภาษาไทย อักษรไทย แพร่หลายเป็นหลักของรัฐอยุธยา คนในรัฐอยุธยาเรียกตนเองว่าไทยเป็นครั้งแรก

กวย (กุย) เป็นพ่อค้าขนสินค้าไปขายในตลาดอยุธยา มีฐานะทางสังคมอยู่ร่วมกับพ่อค้านานาชาติ ได้แก่ แขก, ฝรั่ง, แกว ฯลฯ

สมัยนี้คนสุรินทร์ซึ่งพูดภาษาเขมร เป็นกวยและอื่นๆ แต่รู้จักและเริ่มใช้ภาษาไทย เป็นภาษากลางทางการค้ากับคนหลายกลุ่มในเมืองเครือข่ายรัฐอยุธยา นับถือศาสนาผีปนศาสนาพุทธและพราหมณ์

เมืองโบราณ จ. สุรินทร์ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 14 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)

5.เมืองสุรินทร์

เมืองสุรินทร์มีชื่อครั้งแรกตามชื่อเจ้าเมืองว่า “สุรินทรภักดี” (หมายถึงซื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน) ราว 200 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.2300 [เคยเรียกสมัยปลายอยุธยา, สมัยกรุงธนบุรี, สมัยรัตนโกสินทร์]

วีรบุรุษในตำนาน (เชียงปุม, ตากะจะ, เชียงฆะ, เชียงขัน, เชียงสี, เชียงไชย) เป็นคำบอกเล่าการโยกย้ายของคนพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร กับกลุ่มพูดภาษามลายู บริเวณเมืองโคตรบองกับเมืองเรอแดว์ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เข้าไปตั้งหลักแหล่งทางลุ่มน้ำชีและมูล แล้วอยู่ร่วมกับคนดั้งเดิม ซึ่งทั้งหมดจะถูกเรียกอย่างรวมๆ ต่อไปข้างหน้าว่า “ส่วย” มีเหตุจากถูกเกณฑ์ส่วย แล้วต้องส่งส่วยเข้ากรุงเทพฯ

[ส่วย หมายถึงสิ่งของที่รัฐเก็บจากราษฎรแทนแรงงาน หรือเก็บจากประเทศราช แต่ในที่นี้หมายถึงขี้ข้า]

ภาษาไทย และอักษรไทย ใช้เป็นทางการในวงแคบๆ ของเมืองสุรินทร์

คนทั่วไปพูดภาษาเขมรท้องถิ่น เรียกภาษากวย (ต่อมาเรียกภาษาส่วย)

คนสุรินทร์ ถูกทำให้เป็นคนไทย เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็นประเทศไทย ราว 80 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.2482

ภาชนะใส่กระดูกคนตาย ราว 2,500 ปีมาแล้ว ขุดพบที่บ้านโนนสวรรค์ ต. ดู่นาหนองไผ่ อ. ชุมพลบุรี จ. สุรินทร์
คูเมืองโบราณ ใกล้วัดพรหมสุรินทร์ อ. เมืองฯ จ. สุรินทร์
คูเมืองโบราณ ที่ได้รับการบูรณะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสุรินทร์ บริเวณด้านเหนือวัดจุมพลสุทธาวาส อ. เมืองฯ จ. สุรินทร์ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 14 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)