ในประเทศ : 3 บิ๊กสตอร์ม วัดความสตรอง “ธนาธร” ไพร่หมื่นล้าน เผชิญขวากหนามทางเข้าสภา

ตลอดระยะเวลากว่า 18 เดือนของการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่นาม “อนาคตใหม่” เป็นห้วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับมรสุมทางการเมืองไม่หยุดหย่อน

ทั้งที่มาในรูปแบบปัญหาเชิงกฎหมาย วาทกรรมโจมตี รวมถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร

โดยคีย์แมนของพรรคที่ถูกกระหน่ำอย่างหนัก หนีไม่พ้นหัวหน้าพรรค “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งถูกจับตาจับผิดทุกรายละเอียดในชีวิต

จนหลายคนที่ติดตามการเมืองคาดเดาไม่ถูกว่าเขาจะเอาตัวรอดอย่างไร กระทั่งจะอยู่รอดได้นานแค่ไหน

ทั้งนี้ ขอยก 3 มรสุมใหญ่ที่ยังไม่สงบ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ของ “ไพร่หมื่นล้าน” รายนี้

 

มรสุมลูกแรกต้องย้อนไปก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ภายหลังกระแสทางการเมืองในขณะนั้น พบว่าพรรคอนาคตใหม่มาแรงกว่าที่คาด และส่อจะกวาดที่นั่งในสภามากกว่าที่คิด

ทำให้สื่อมวลชนเริ่มลงรายละเอียดเกี่ยวกับ “ธนาธร” ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคมากขึ้น

จากนั้นมีการโยนระเบิดลูกใหญ่ ด้วยการตั้งข้อสงสัยว่านายธนาธรและนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ได้โอนหุ้นจำนวน 900,000 หุ้น มูลค่า 9 ล้านบาท ของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจสื่อนิตยสารไปให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร เพียง 3 วันก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้นายธนาธรกลายเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) ที่ระบุถึงการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

ต่อมานายธนาธรชี้แจงผ่านทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย ยืนยันเรื่องที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อไม่เป็นความจริง เพราะเขาและภรรยาได้โอนหุ้นวี-ลัคฯ ไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ซึ่งเป็น 1 เดือนก่อนยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง

และในที่สุดเขาก็เข้าสู่สนามเลือกตั้ง พาพรรคสามเหลี่ยมสีส้มคว้า 81 ที่นั่งในสภาได้แบบเหนือความคาดหมายจนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง ท่ามกลางความคาราคาซังกรณีโอนหุ้น

เพราะถัดไปเพียง 1 วันหลังเลือกตั้ง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ โดย กกต.สั่งรับคำร้องในวันที่ 3 เมษายน ก่อนจะใช้เวลาเพียง 20 วัน มีมติแจ้งข้อกล่าวหา และส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ดังนั้น แม้ในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งมีการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ นายธนาธรได้รับการรับรองจาก กกต.ให้เป็น ส.ส. แต่วิบากกรรมหุ้นวี-ลัคฯ ก็ทำให้เขาต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 พฤษภาคม และต้องต่อสู้ในกระบวนการไต่สวน โดยล่าสุดศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานบุคคลจำนวน 10 ปากในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคมนี้

 

มรสุมลูกที่ 2 สืบเนื่องมาจากการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส.โดย ป.ป.ช เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายธนาธรมีทรัพย์สินรวมกว่า 5,628 ล้านบาท

แต่ในเอกสารกลับไม่ปรากฏว่าได้นำทรัพย์สินเข้าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด (มหาชน) ตามที่เขาเคยโชว์หนังสือบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) การทำบลายด์ทรัสต์ (Blind Trust) ไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม

ซึ่งนายธนาธรเคยให้เหตุผลของการทำเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ลบข้อเคลือบแคลงของสาธารณะว่าเขาอาจเข้ามาทำการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ จึงได้ตัดสินใจให้บริษัทหลักทรัพย์มากำกับดูแลทรัพย์สินส่วนใหญ่ของตัวเองที่เป็นหุ้นในบริษัทมหาชน

ทำให้เขาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินได้ และทรัพย์สินเหล่านั้นจะกลับมาเป็นของเขาอีกครั้งคือ 3 ปีหลังพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง

ทันทีที่เรื่องนี้กลายเป็นกระแส พรรคอนาคตใหม่ทั้งนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค รวมถึง น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ต่างพาเหรดออกมาชี้แจง ยืนยันว่านายธนาธรมีความตั้งใจสร้างมาตรฐานความโปร่งใสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่ในเมื่อปัจจุบันเขายังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการทำหน้าที่ จึงยังไม่มีเหตุผลที่ต้องโอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust

และได้ทำหนังสือขอเลื่อนการทำเรื่องนี้ออกไปก่อน

อีกทั้งเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ก็เป็นเพียงการทำเอ็มโอยู มิใช่การโอนทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม ขั้วตรงข้ามอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ได้ทีออกมาตอบโต้ว่าข้อแก้ต่างดังกล่าวเป็นการอ้างแบบศรีธนญชัย ที่ผ่านมานายธนาธรเพียงสร้างวาทกรรมเรียกคะแนนนิยม เพราะหากจริงใจกับประชาชนจริงๆ เหตุใดจึงไม่แจ้งเรื่องนี้ให้สังคมทราบ แต่กลับให้ประชาชนไปตรวจสอบเอาเอง

 

และมรสุมลูกที่ 3 ยังคงสืบเนื่องจากการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เมื่อพบว่าในรายการ “เงินให้กู้ยืม” นั้น นายธนาธรได้ให้กู้แก่พรรคอนาคตใหม่ 2 ครั้ง

ครั้งแรกวันที่ 2 มกราคม 2562 จำนวน 161.2 ล้านบาท ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ชำระหนี้ไปบางส่วนแล้ว

และครั้งที่สองวันที่ 11 เมษายน 2562 จำนวน 30 ล้านบาท รวม 2 ครั้งเป็นเงิน 191.2 ล้านบาท

ทำให้เกิดการเปรียบเทียบทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้วันที่ 15 พฤษภาคม นายธนาธรได้กล่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถระดมทุนได้ทันเวลาสำหรับการหาเสียงเลือกตั้ง ตนจึงให้พรรคกู้เงินจำนวนประมาณ 105-110 ล้านบาท

ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์กลับระบุตัวเลขเงินกู้ที่แตกต่างคือ 250 ล้านบาท แต่ชี้แจงเพิ่มเติมว่าเป็นเพียงการคาดการณ์ เพราะเมื่อถึงช่วงเลือกตั้ง เงินที่ใช้จริงก็ไม่ถึงจำนวนดังกล่าว

ยิ่งกว่าความสับสนเกี่ยวกับจำนวนเงินกู้ที่ออกมาจากปากของแกนนำพรรคว่ามีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ ก็คือการตั้งคำถามทางกฎหมายว่าพรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้หรือไม่

ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 23 กันยายน นักร้องเจ้าประจำ “ศรีสุวรรณ จรรยา” จึงยื่นคำร้องต่อ กกต. ว่านิติกรรมสัญญาระหว่างนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ไม่น่าจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 62

พร้อมขอให้วินิจฉัยต่อไปว่าการใช้เงินดังกล่าวขัดต่อมาตรา 87 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองด้วยหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ว่า “รายได้” ของพรรคการเมืองให้นำไปใช้ได้แต่เฉพาะกิจกรรมของพรรคเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้หนี้เงินกู้ได้

 

ถึงอย่างนั้น มือกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่อย่างนายปิยบุตร กลับแสดงความมั่นใจว่ากฎหมายไม่มีข้อห้ามเรื่องการกู้เงิน และการกู้เงินไม่ถือเป็นรายได้ แต่เป็นหนี้สิน

อีกทั้งเรื่องนี้ก็ไม่มีโทษถึงขั้นยุบพรรคตามที่บางฝ่ายพยายามประโคมข่มขวัญ ขณะที่มือกฎหมายฝ่ายรัฐบาล “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี กลับระบุอย่างมีนัยว่า สำหรับเรื่องเงินกู้นั้น ในทางกฎหมายกับทางบัญชีกำหนดไว้ต่างกัน

และไม่ทราบว่าในกรณีพรรคอนาคตใหม่จะยึดตามหลักการใด

แม้พรรคอนาคตใหม่จะพยายามพิสูจน์ตัวเองในช่วงที่ผ่านมาว่า ต่อให้ไม่มีหัวหน้าพรรคอยู่ในสภา พวกเขาก็สามารถทำงานได้อย่างสร้างสรรค์

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ นายธนาธรคือบุคคลสำคัญของพรรค หากวิบากกรรมเหล่านี้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ร้ายแรงต่อเขาขึ้นมาจริงๆ พรรคอนาคตใหม่ย่อมได้รับผลกระทบอันประเมินมิได้

จึงต้องติดตามต่อไปว่า สุดท้าย “ธนาธร” จะต้านทานรอดพ้น 3 มรสุมใหญ่นี้ไปได้หรือไม่