ฉัตรสุมาลย์ : ภิกษุณีสงฆ์ในสังคมไทย ว่าด้วย “นรินทร์ กลึง” และ “พระบัญชา 18 มิ.ย.2471”

บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ ในประเทศไทย (1)

คําว่าภิกษุณี ไม่ใช่คำใหม่ เพราะมีอยู่ในพระไตรปิฎก แปลว่า พระผู้หญิง เรามีความเข้าใจเรื่องภิกษุอย่างไร เมื่อเป็นภิกษุณี กลับเป็นเพศหญิงเสีย เป็นผู้หญิง เท่านั้นเอง

แต่ที่ชาวไทยรู้สึกแปลก เพียงเพราะเราไม่เคยมีภิกษุณีในบริบทสังคมไทยเท่านั้นเอง

ครั้งแรกที่เราได้ยินเรื่องการบวชภิกษุณีในประเทศไทย คงจะต้องเท้าความไปถึงเรื่องราวของนรินทร์ ภาษิต และความพยายามที่นรินทร์ต้องการจะให้มีภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากการสนับสนุนให้ลูกสาวของตนออกบวช

จึงช่วยไม่ได้เลยที่การกล่าวถึงภิกษุณีครั้งนั้น ต้องอารัมภบทที่เรื่องราวของนรินทร์ ภาษิต

นรินทร์ ภาษิต เป็นคนที่มีความสามารถ เมื่อเข้ารับราชการ ได้ไต่เต้าขึ้นเป็นพระพนมสารนรินทร์ ในเวลาอันรวดเร็วเพียงวัย 35 งานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น คือการปราบปรามโจรลักวัวควายในแถบพนมสารคาม จนกระทั่งชาวบ้านแถบนั้นชื่นชม มีศาลของพระพนมสารนรินทร์ที่ชาวบ้านกราบไหว้บูชามาจนถึงปัจจุบัน

ข่าวคราวความสามารถของพระพนมสารนรินทร์ทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ถึงกับขอดูตัวพระพนมสารนรินทร์

 

ด้วยลักษณะความเป็นคนที่ทำงานเอาจริงเอาจัง และค่อนข้างคิดนอกกรอบ ในท้ายที่สุดจึงออกจากราชการ พระพนมสารนรินทร์ ชื่อตัวว่า กลึง เมื่อออกจากราชการ จึงใช้ชื่อว่า นรินทร์ แต่ชาวบ้านจะเรียกควบกันว่า นรินทร์กลึง

นรินทร์ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมาก ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือการทำยาดองเหล้าตรานกเขาคู่ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

เล่ากันว่า นรินทร์มีจิตวิทยาในการโปรโมตสินค้า โดยให้เจ๊กขายขวดไปตามบ้านรับซื้อขวดยาดอง เพื่อให้เห็นว่ายาดองขายดี ทำให้คนสนใจในสินค้ามากขึ้น

นรินทร์หันมาสนใจในด้านพุทธศาสนา จับกลุ่มชาวพุทธที่มีความสนใจเหมือนกันจัดตั้งเป็นสมาคมชาวพุทธที่บ้านของตนที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนนทบุรี ตอนนี้เองที่มีการศึกษาถึงความสำคัญของพุทธบริษัท 4 และเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นความรับผิดชอบของชาวพุทธทั้ง 4 กลุ่ม

นำไปสู่การพิจารณาอย่างจริงจังว่า ประเทศไทยยังขาดภิกษุณีบริษัท อาจจะพูดได้ว่า ในสังคมไทยนั้น คำว่าพุทธบริษัท 4 เพิ่งมาเป็นที่พูดคุยอย่างกว้างขวางในช่วงของนรินทร์กลึงนี้เอง

นรินทร์จัดการให้ลูกสาวสองคน คือ สาระ และจงดี ออกบวช เริ่มต้นจากการเป็นสามเณรี จนกระทั่งสาระ ลูกสาวคนโตได้บวชเป็นภิกษุณี

สถานที่บ้านริมน้ำนั้น ตั้งเป็นวัตร์นารีวงศ์ให้ภิกษุณีสงฆ์ได้พำนัก

แต่อุปสรรคในการสานงานต่ออยู่ที่การอุปสมบทนั้นคลุมเครือ ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าบวชอย่างไร บวชกับใคร

ความเข้าใจของชาวไทยและคณะสงฆ์ตอนนั้น ยืนยันว่า ต้องบวชโดยสองสงฆ์ คือภิกษุณีสงฆ์ และภิกษุสงฆ์ จึงเท่ากับเป็นการปิดประตูในการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ไปโดยปริยาย เพราะประเทศไทยไม่มีภิกษุณีสงฆ์

แม้ภิกษุที่เห็นด้วยและทำการอุปสมบทให้ก็จะมีภัยมาถึงตัว ด้วยเหตุนี้ นรินทร์จึงให้ลูกสาวทั้งสองคนให้คำมั่นสัญญาว่าจะปิดปากสนิทไม่ยอมบอกว่าใครเป็นอุปัชฌาย์ เพราะต้องการปกป้องพระภิกษุที่ให้การบวช แม้จนใน พ.ศ.2544 ที่ผู้เขียนออกบวช ในการสัมภาษณ์คุณจงดีในรายการ “ย้อนรอย” ก็ยังยืนยันว่า ไม่เปิดเผยข้อมูลนี้ ด้วยรับปากกับบิดาไว้เช่นนั้น

ผู้เขียนเองสงสัยด้วยซ้ำว่า การอุปสมบทนั้น ไม่มีพระภิกษุครบองค์สงฆ์

 

นอกจากคุณสาระและจงดีแล้ว ยังมีสตรีอย่างน้อยอีก 6 นางที่ออกบวชด้วย ทั้งที่เป็นภิกษุณีและสามเณรี ปรากฏรูปทั้ง 8 นาง หน้าปกหนังสือ เณรี 8 นาง ซึ่งเป็นหนังสือต่อต้านภิกษุณีที่ค่อนข้างหยาบคายทั้งเนื้อหาและภาษา

แม้ว่าจะถูกจับ คุณสาระติดคุกอยู่ 2-3 วัน แต่เมื่อออกมาก็ยังยืนยันเปลี่ยนสีจีวรเป็นสีเทาแต่ยังคงใช้ชีวิตแบบภิกษุณี จนกระทั่งถูกกลั่นแกล้งโดยปลัดเช้า สุวรรณศร ขี่ม้ามารวบเอาตัวภิกษุณีสาระขึ้นหลังม้าไป ขณะออกบิณฑบาต

เป็นข่าวครึกโครมในสังคมไทยสมัยนั้น และเป็นที่มาของจุดจบเรื่องราวความพยายามเริ่มต้นภิกษุณีสงฆ์โดยนรินทร์กลึง

ที่สำคัญการบวชของคุณสาระและจงดีนี้ จริงๆ แล้วเป็นการต่อสู้ระหว่างนรินทร์กับคณะสงฆ์

ผลที่ตามมาคือสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ออกพระบัญชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2471 ห้ามมิให้พระสงฆ์ไทยทำการบวชให้ภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี เป็นพระบัญชาที่คณะสงฆ์ในปัจจุบันยังนำมาใช้เป็นเหตุผลอ้างไม่รับภิกษุณีสงฆ์

นรินทร์เสียชีวิตในวัย 70 กว่า แต่ขอให้ลูกหลานรักษาร่างของท่านไว้ในโลงแก้ว เพื่อเป็นหมายของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของท่าน

เมื่อคุณศักดินา ฉัตรกุล ทำการศึกษาวิจัยเรื่องราวของนรินทร์ และการบวชภิกษุณีในสมัยนั้น งานวิจัยนี้ สำนักพิมพ์มติชนเป็นเจ้าภาพพิมพ์เผยแพร่ ใช้ชื่อว่า “นรินทร์กลึงคนขวางโลก” และเปิดตัวหนังสือโดยจัดงานสัมมนาที่ห้องประชุมคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วง พ.ศ.2539 ผู้เขียนได้รับเชิญเป็นหนึ่งในผู้ร่วมอภิปราย คุณยายสาระมาร่วมงานด้วย ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้พบท่าน

ท่านโทรศัพท์มาหาที่คณะอีกไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เขียนดำเนินการต่อเนื่องในเรื่องภิกษุณีสงฆ์

ผู้เขียนทราบว่า ท่านเดินทางไปพบท่านภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีด้วย เพื่อให้การสนับสนุน

คุณสาระเสียชีวิตใน พ.ศ.2540 ก่อนการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทที่ได้รับการยอมรับในปีรุ่งขึ้น คือ พ.ศ.2541

 

เมื่อคุณสาระเสียชีวิตลง ท่านเป็นคนเดียวที่ตั้งใจสืบสานงานเรื่องภิกษุณีจากนรินทร์กลึงผู้บิดา ญาติพี่น้องจึงเห็นพ้องกันว่า เมื่อขาดผู้สืบทอดแล้ว ก็ควรปลงศพพร้อมกันทั้งคุณสาระ และร่างของท่านนรินทร์ที่เก็บไว้ในโลงแก้วมานาน

ถ้าจำไม่ผิด การปลงศพของทั้งสองท่านกระทำในปี พ.ศ.2541 มีผู้เข้าร่วมงานศพจำนวนมาก เพื่อระลึกถึงคุณความดีของทั้งสองท่าน

พ.ศ.2562 คณะภิกษุณีสงฆ์ย้อนรอยไปเยี่ยมคุณอุษา ลูกสาวของคุณยายสาระที่บ้านริมน้ำที่จังหวัดนนทบุรี ที่เคยเป็นที่ตั้งวัตร์นารีวงศ์ ท่านอายุ 80 แล้ว ด้วยกำลังที่ถดถอย และความจำที่พร่ามัว แต่ยินดีมากที่ได้เห็นภิกษุณีหลายสิบรูปไปเยี่ยมท่านถึงบ้าน

เห็นร่องรอยแห่งความทรุดโทรม ผู้เขียนบันทึกไว้ในบทความก่อนหน้านี้ เรื่อง ซากที่ไร้เชื้อ ต่อมาหลานของคุณยายอุษาก็ไปเยี่ยมที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีอีก รับปากว่า จะพาคุณยายอุษามาเยี่ยมภิกษุณีที่มีอยู่ปัจจุบัน

เส้นทางของภิกษุณีไทยนั้นยาวไกล เราเริ่มประทับรอยในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ.2471 จนบัดนี้ 2562 ผ่านมา 90 กว่าปีแล้วหนอ

เรารอที่จะเห็นความเป็นธรรมจากสังคม และรอความรับผิดชอบของภิกษุสงฆ์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายไว้

 

ทบทวนซ้ำถึงเหตุที่พระพุทธเจ้าระบุว่าเป็นที่มาที่พระศาสนาจะเสื่อม เมื่อพุทธบริษัท 4 ไม่เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา และไม่เคารพซึ่งกันและกัน (ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย)

ในขณะที่โลกรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงพระธรรมคำสอนกลับไปได้ช้าเหลือเกิน แม้จะเปิดพื้นที่ให้พี่น้องพุทธบริษัทพร้อมหน้ากันก็ช้า แต่กลับไปกลัวภัยจากภายนอก ภัยภายในต่างหากเล่าที่จะกัดกร่อนพระศาสนาได้อย่างแท้จริง

ในบริบทนี้ เราต้องศึกษาข้อมูลที่ห้อมล้อมกรณีอยู่ โดยใช้สมบัติ 4 ของการอุปสมบทเข้ามาเป็นเกณฑ์วัด

นั่นคือ พิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอบวช สังฆะที่ให้บวช กรรมวาจาที่ใช้ในการบวช และสถานที่ที่ให้บวชว่ามีคุณสมบัติครบหรือไม่อย่างไร