สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ป.ต.อ. เรียนอะไร ไม่สำคัญเท่า เรียนอย่างไร อยากเรียนไหม? (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ไม่ว่าใครอ่านพบหรือได้ยินตัวย่อ ป.ต.อ. ผู้คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเป็นภาษาทางการทหาร หมายถึง ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ถ้าเป็นกองกำลังก็คือ กองบัญชาการทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน

แต่ ป.ต.อ. ในที่นี้ วันนี้ ถูกนำมาใช้ในภาษาทางการศึกษา ซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติ ว่าท้ายที่สุดแล้วผู้เกี่ยวข้องยังยืนยันใช้ตัวย่อนี้ หรือจะปรับเปลี่ยนใหม่

ครับ เป็นชื่อหลักสูตรการศึกษาใหม่ มาจากวลีเต็มๆ ว่า หลักสูตรประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา

เป็นความเคลื่อนไหวใหม่ ส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อตอบโจทย์หรือรองรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เพื่อก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงภายใน 15 ปีนับแต่ปี 2560

 

ตามเกณฑ์ของสหประชาชาติจัดประเทศที่พัฒนาแล้วประชากรจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 13,000 เหรียญสหรัฐต่อคน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในระดับแค่ 5,900 เหรียญ

สาเหตุที่ติดกับดักนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเราขาดแคลนกำลังฝีมือแรงงาน ตั้งแต่ระดับกลางหรือช่างเทคนิค ขาดการพัฒนากำลังคน ขาดการวิจัยและพัฒนาจนถึงระดับสูง

เป็นเหตุต่อเนื่องมาจากค่านิยมทางการศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอนาคตของลูกหลาน ส่งเสริมให้เรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพหรืออาชีวศึกษา เพราะค่านิยมต้องการใบปริญญามากกว่าแค่ประกาศนียบัตรเท่านั้น

เรียนสายสามัญเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้ปริญญาตรี เรียนสายอาชีวะแต่ก่อนได้แค่ระดับประกาศนียบัตร คือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) กับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มาภายหลังจึงพัฒนามาถึงปริญญาเอกในปัจจุบัน

กระนั้นก็ตาม ประกอบกับภาพลักษณ์การเรียนสายอาชีพ ต้องทำงานหนัก ใช้แรงงาน พวกมือเปื้อน มือเปรอะ อะไรทำนองนั้น แถมไม่ค่อยปลอดภัยจากการทะเลาะวิวาท ยกพวกตีกัน ตีรันฟันแทง ขว้างระเบิด ทัศนคติ อยากเป็นเจ้าคนนายคน นั่งโต๊ะสบาย โดยเฉพาะรับราชการ ดูแคลนการใช้แรงงาน

จากสาเหตุต่างๆ ที่ว่าทำให้สัดส่วนการเรียนต่อหลังจบมัธยมศึกษาต้น หรือปลายก็ตาม จะเรียนต่อสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ ถึงขณะนิ้ยังอยู่ในระดับ 60 ต่อ 40

นักบริหารการศึกษาไทยพยายามหาทางแก้ปัญหาหรือทัศนคติที่ว่ามาโดยตลอด โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะปรับสัดส่วนดังกล่าวให้เป็น 50 ต่อ 50 ซึ่งเขียนไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาของชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับใหม่ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564

ด้วยเหตุทั้งหลายทั้งปวงนี้เองจึงเป็นที่มาของหลักสูตร ป.ต.อ.

 

ผมเอามาเล่าสู่กันฟัง เพราะเห็นว่าเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ทางด้านการบริหารจัดการระบบการศึกษาไทยล่าสุด ที่ภาคประชาสังคม พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ผู้สนใจในการศึกษา และอนาคตของลูกหลานจะได้ร่วมรับรู้และติดตาม เพื่อช่วยเด็กตัดสินใจกันต่อไป

เป็นความพยายาม ความเปลี่ยนแปลง และความท้าทาย ที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

จากในอดีตการเรียนต่อสายอาชีวะตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงวิทยาลัย จะเริ่มรับเด็กที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือ ม.3 มาตลอด เพราะคิดว่าเด็กที่เรียนจบระดับประถมศึกษายังเล็กเกินไป

แต่ก็มีอีกแนวคิดหนึ่งมองว่าการวางหลักสูตรการศึกษาที่เปิดช่องให้นักเรียนมีโอกาสค้นพบความถนัด ความชอบของตัวเองเสียแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องคอยให้จบมัธยมต้นเสียก่อนค่อยเลือกว่าจะไปสายสามัญต่อหรือสายอาชีพ หากทำให้เขามีโอกาสได้สัมผัส ได้ศึกษาเรียนรู้ เตรียมตัวเสียแต่เล็กๆ น่าจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง

และที่สำคัญเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ ด้านการพัฒนากำลังคนเพื่อเข้าสู่สายอาชีพให้มาก

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์

ความเคลื่อนไหวเพื่อจัดทำหลักสูตรการศึกษาที่ว่านี้เกิดขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนผู้บริหารการศึกษาล่าสุด ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ขึ้นไปเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ดร.สุเทพ ประกาศแนวคิดจะเตรียมเด็กเข้าเรียนสายอาชีพหรืออาชีวะตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อเป็นทางเลือกและค้นพบความถนัดของตัวเองให้เร็วกว่าที่ผ่านมา

ต่อมามีการตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างหลักสูตรประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา พุทธศักราช 2560 (ป.ต.อ) ดึงนักการศึกษาสายอาชีวะ สายสามัญหลายคนมาร่วมคิด ร่วมทำ หนึ่งในนั้นคือ นายสุนันท์ เทพศรี กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)

เป็นหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับด้านวิชาชีพเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รับเด็กนักเรียนที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนต้น ปีที่ 6 หรือ ป.6 เข้าเรียนในหลักสูตรนี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นเจ้าภาพ มอบหมายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาในสังกัดดำเนินการร่วมกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ตั้งเป้าหมายทดลองนำร่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เปิดเทอมเดือนพฤษภาคมนี้ จากการจัดการศึกษาอาชีวะทั่วประเทศแบ่งเป็น 5 ภาค เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก ใต้ ภาคละ 2 โรง รวม 10 โรง จะเรียนในวิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยด้านอาชีวศึกษา หรือในโรงเรียนสังกัด สพฐ. กำลังหารือในรายละเอียดวิธีดำเนินการโดยเร็ว

ใช้เวลาเรียน 3 ปี จบแล้วจะได้ประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา (ป.ต.อ.) สามารถเลือกศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือกลับมาสายสามัญต่อระดับ ม.ปลาย หรือประกอบอาชีพในสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพอิสระตามที่ชอบได้

รายละเอียดเนื้อหาสาระหลักสูตร นักเรียนต้องเรียนอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร กี่ชั่วโมง กี่คาบ คิดเป็นกี่หน่วยกิตเท่าไร เน้นวิชาชีพใด ค่อยว่ากันต่อไป

รวมทั้งมุมมองของนักบริหารการศึกษาที่สะท้อนคิดถึงเรื่องนี้ ภายใต้แนวคิดทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่ว่า ความรู้ว่าสำคัญแล้ว ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ กระบวนการแสวงหาความรู้

จนพูดกันว่า สาระการเรียนรู้ ไม่สำคัญเท่า กระบวนการเรียนรู้

เรียนอะไร ไม่สำคัญเท่า เรียนอย่างไร นั่นเอง