มุกดา สุวรรณชาติ : กรรมการ ป.ย.ป. ทำยุทธศาสตร์น้ำท่วม พอได้ ทำเรื่องปรองดอง 20 ปี ไม่พอ (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

ตอน 1

วางแผนชิงอำนาจได้เป็น 10 ปี
แต่ไม่วางแผนเรื่องน้ำ

ปัญหายุทธศาสตร์น้ำและการปรองดองเมื่อนำไปปฏิบัติตามแนวทางนโยบาย ตามแผนงานที่วางจะมีความแตกต่างกันมากในรายละเอียด และอุปสรรค

คนขาดน้ำถึงตาย แต่บ้านเราน้ำยังมีมากพอ คนอยากได้อำนาจมีมากกว่า จึงมีการวางแผนชิงอำนาจ แต่ไม่วางแผนเรื่องน้ำ เกือบสิ้นเดือนมกราคม น้ำยังท่วมอยู่

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาและในอนาคตยังมีลักษณะการทำลายล้างกันเพื่อกำจัดอีกฝ่ายเนื่องจาก…มีการมองว่าอำนาจนั้นเป็นหนึ่งเดียว มีคนที่ต้องการครองอำนาจไว้เพียงกลุ่มเดียว

คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าอำนาจนั้นเป็นองค์ประกอบที่สร้างขึ้นมาจากหลายส่วน ไม่คงที่ แต่จะแปรผันไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก และพฤติกรรมของคน

สังคมคนฉลาดจึงต้องกำหนดกติกาเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงที่ยอมรับกันได้

แต่ถ้ายังเข้าใจว่า อำนาจสามารถยึดเอามาเก็บไว้ได้ สามารถหลอกหรือบังคับคนให้เชื่อฟังได้ ก็คงจะใช้เล่ห์เหลี่ยมและกำลังแย่งชิงกันต่อไป

แบบนี้การปรองดองคงเกิดยากมาก

แต่ภายใต้โลกของระบบการสื่อสารใหม่ จะไม่มีใครสามารถหลอกหรือบังคับคนนับสิบๆ ล้านได้ และในทุกปัญหาจะมีคนเห็นต่างเสมอ การใช้ความจริง ความยุติธรรม และเหตุผลจึงเป็นทางออกที่เป็นจริงที่นำไปสู่การปรองดอง

แต่เวลานี้ดูเหมือนไม่มีแนวทางแบบนั้น จึงยังมองไม่เห็นอนาคตของการปรองดอง

ในขณะที่ปัญหาน้ำคิดตรงกันแล้ว ขอเพียงให้ความสำคัญ และลงมือทำ

 

การแก้ปัญหาน้ำ…
เริ่มที่ท้องถิ่นและเข้าใจธรรมชาติ

1.สภาพส่วนใหญ่ของชุมชนเขตเมือง และเขตอุตสาหกรรมของไทยล้วนอยู่ในที่ราบ วัฒนธรรมในการตั้งถิ่นฐานของเราแต่โบราณคือสร้างชุมชนเกาะติดชายน้ำเพื่อความสะดวกในการที่จะมีน้ำใช้ทั้งการบริโภคและการเกษตร และเพื่อการคมนาคม

2. เรามีกฎหมายที่ไม่ให้ประชาชนครอบครองที่ดินในเขตป่าเขาที่สูงที่มีความลาดชันเกิน 30 องศา ชุมชนส่วนใหญ่จึงมารวมอยู่ในแอ่งที่ราบด้านล่างของภูเขาทุกเขต

ถ้าฝนตกในพื้นที่ต่างๆ น้ำจะไหลจากภูเขา จากที่สูงลงมาผ่านชุมชนทุกเมืองที่อยู่ด้านล่างและก็ไหลลงแม่น้ำลำคลองลงสู่ทะเล ในสภาพฝนตกไม่มากเกินไปปริมาณน้ำที่ไหลลงก็จะเหมาะสมกับเส้นทางน้ำตามธรรมชาติ ออกทะเลไป แต่ปีใดที่เกิดพายุฝนติดต่อกัน ปริมาณน้ำฝนมีมากหรือฝนตกติดต่อกันหลายวันปริมาณน้ำที่ไหลบ่าลงไปก็จะระบายไม่ทัน เกิดน้ำท่วม

3. เนื่องจากชุมชนมีการขยายตัวมากขึ้น มีการก่อสร้างถนนและบ้านเรือนขวางเส้นทางน้ำ น้ำที่เคยไหลบ่าผ่านทุ่ง ผ่านป่า ลงสู่ทางน้ำตามธรรมชาติต่างๆ และลงสู่ที่ต่ำลงทะเลได้ ในปัจจุบันทางระบายน้ำที่เป็นทุ่งเหล่านั้นได้หายไปเป็นจำนวนมาก และบางพื้นที่ถูกกั้นด้วยเส้นทางที่สลับซับซ้อน ตั้งแต่คันนา ถนนลูกรัง ถนนใหญ่ เส้นทางรถไฟ ชุมชน

ขณะทำโครงการก่อสร้าง มนุษย์ไม่ค่อยเห็นน้ำอยู่ในสายตา ปิดกั้นทางน้ำ ถมคูคลอง แต่ปริมาณน้ำไม่ได้ลดลง เมื่อทางระบายน้ำเล็กกว่าของเดิมถึง 10 เท่า จึงทำให้เกิดน้ำท่วม

ทุกท้องถิ่นสามารถสำรวจว่า น้ำท่วมมาจากทางใด ระบายผ่านไปในทิศทางใด

สามารถทำเส้นทางระบายน้ำ ขยายเส้นทางน้ำเดิมให้รับน้ำได้มากขึ้น ระบายน้ำเลี่ยงเมืองให้มี คลองขุดขนาดใหญ่ขึ้น 1 หรือ 2 เส้นทางหรือระบายน้ำตั้งแต่ต้นทางน้ำให้ไปลงลำน้ำธรรมชาติเส้นทางอื่นที่ไม่ใช่เมืองใหญ่หรือชุมชนขนาดใหญ่ บางครั้งอาจจะต้องสูญเสียหรือเกิดความเสียหายในเขตท้องทุ่ง ทุ่งนาสวนต่างๆ ก็จำเป็น

 

เห็นความสำคัญเรื่องน้ำ
มีฝ่ายบริหาร ใช้กฎหมาย ใช้งบประมาณ

โครงการที่เป็นระดับท้องถิ่นก็จะต้องถูกกำหนดไปพร้อมกับโครงการยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ แต่โครงการระดับท้องถิ่นก็เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะต้องทำพร้อมกันในหลายท้องถิ่นเรียงลำดับความสำคัญว่าเขตใดมีความจำเป็นต้องทำก่อนหลัง เนื่องจากงบประมาณอาจมีจำกัดไม่สามารถทำได้ทีเดียวหลายพันโครงการพร้อมกัน โครงการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระดับย่อยจะถูกนำไปประสานกับโครงการใหญ่และสามารถก่อสร้างพร้อมกันได้เป็นร้อยๆ แห่ง

ในภาวะที่เกิดน้ำท่วมระดับธรรมดาจะป้องกันความเสียหายให้กับชุมชนและเขตอุตสาหกรรมเขตเมือง แต่ถ้าเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่จริงๆ ก็จะลดความเสียหาย เพราะจะสามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น

แนวคิดพื้นฐานเช่นนี้ไม่มีความซับซ้อนอะไร แต่มีความละเอียดในการเรียงลำดับของการทำงานและต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นทางระบายน้ำซึ่งบางแห่งอาจจะต้องจ่ายเงินค่าเวนคืนหรืออาจจะต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการทำถนนเรียบคลองระบายน้ำเพื่อให้ผู้สูญเสียที่ดินได้รับประโยชน์ตอบแทน

ต้องกำหนดองค์กรที่รับผิดชอบ และผู้บริหาร เพราะปัญหาน้ำ จะมีทั้งขาดน้ำ และน้ำท่วม

ร่างกฎหมาย ประกาศพื้นที่ป้องกันแก้ปัญหา ใน 25 ลุ่มน้ำ กำหนดพื้นที่ที่น้ำจะไหลบ่ายามน้ำท่วม และป้องกันรักษาแหล่งน้ำ และเส้นทางน้ำ เพื่อให้มีน้ำสะอาดใช้อย่างเหมาะสม

เวนคืน หรือซื้อ หรือแลกเปลี่ยนพื้นที่ ที่จะสร้างทางผันน้ำ หรือสร้างคันป้องกัน โดยสำรวจทุกท้องถิ่น และสำรวจเส้นทางใหญ่

ต้องมีกฎหมายควบคุมสิ่งปลูกสร้าง และกฎหมายผังเมือง เพื่อบังคับใช้ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เช่น พื้นที่น้ำบ่า คงทำได้แค่ไร่นา ห้ามทำอุตสาหกรรม แบบอาคารในพื้นที่เสี่ยงต้องมีใต้ถุนสูง การก่อสร้างเส้นทางต้องกำหนดให้มีทางระบายน้ำที่มาก และมีขนาดใหญ่

ปัญหาเรื่องน้ำจะพบว่าถ้าศึกษาปัญหาของแต่ละท้องถิ่นก็จะมีวิธีการที่สามารถแก้เฉพาะพื้นที่นั้นได้ และในพื้นที่ที่มีปัญหาคล้ายกันก็นำไปใช้ได้ ต่อให้รายละเอียดไม่เหมือนกันก็ยังนำหลักการไปแก้ได้ ปัญหาภัยจากน้ำมีความจำกัดของต้นเหตุอยู่ไม่กี่อย่าง ถ้านำมาประยุกต์กับสภาพท้องถิ่นก็สามารถวางยุทธศาสตร์จัดการได้ไม่ยาก เพราะปัญหาน้ำไม่ใช่เรื่องของการทำลายล้างกัน แต่เป็นการแก้ปัญหาเพื่อให้คนอยู่กับน้ำได้ในทุกสภาพ เพราะถึงอย่างไรคนก็ต้องพึ่งพาน้ำ…ไม่มีน้ำก็ไม่มีชีวิต

ต่อสู้กับธรรมชาติยังไม่พอ คนยังต่อสู้กันเอง เพื่อแย่งชิงทุกอย่าง ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

 

ทำไมการปรองดองจึงเกิดได้ยากมาก
และจะต้องใช้เวลานาน

ถอยออกมาดูไกลๆ ไม่ต้องดูรายละเอียด จะพบสาเหตุดังนี้

1. มีคนอยากปรองดอง ภายใต้เงื่อนไขที่ได้เปรียบ ตามสภาพการเมืองปัจจุบันความขัดแย้งของคนกลุ่มใหญ่ 2-3 กลุ่มอาจเป็นผลดีต่อบางคนและบางกลุ่มเพราะสภาพการเมืองที่ผ่านมาแม้ไม่อาจกล่าวได้ว่าแบ่งแยกแล้วปกครอง แต่ก็เกิดการแตกแยกกันจริงๆ โดยอาศัยความโง่ ความโลภ ความอยากได้อำนาจ ทำให้หลายคนก้าวเข้าสู่เส้นทางหายนะและพาประเทศชาติหายนะไปด้วย

ดังนั้น 10 ปีที่ผ่านมาและอีก 10 ปีที่จะก้าวเดินต่อไปจึงยังเดินไปบนความขัดแย้งที่ขยายกว้างไปทั้งแผ่นดิน และลงลึกถึงจิตใจ ฝังอยู่ในสมอง มีบางคนที่ได้ประโยชน์จากความแตกแยก หรือคนที่ได้ประโยชน์จากการค้ากำไรบนความขัดแย้ง อาจไม่ต้องการให้มีการปรองดอง พวกเขาสามารถอยู่ในตำแหน่ง อยู่ในอำนาจกินเงินเดือนสูงๆ ถ้ายืดระยะเวลาต่อไปได้ก็จะทำไปเรื่อยๆ บางคนไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้เป็นนายกฯ จึงไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่มีคนมาจ้องจับผิดสามารถเสนอความเห็นเรื่องโน้นเรื่องนี้กินเงินเดือนเดือนเป็นแสน

บางกลุ่มก็อยากดองด้วย แต่ต้องอยู่ในขวดโหลที่เขากำหนด ใส่เกลือตามสูตรของตัวเอง

2. บรรยากาศการเมือง ยังเป็นการแก่งแย่งอำนาจ ไม่ใช่สามัคคี

สภาพการเมือง 2560 ความขัดแย้งทางการเมืองยังมีลักษณะสามก๊ก แต่ตอนนี้มีอำนาจที่สี่ลงมาผสมโรง ดุลกำลังอาจเปลี่ยนอีกครั้ง มิตร-ศัตรู ก็อาจปรับเปลี่ยนได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ยังประเมินความได้เปรียบ เสียเปรียบ ของแต่ละฝ่ายไม่ได้ในระยะสั้น

การปกครองยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจ แถมตอนนี้เป็นสองระดับ

ความขัดแย้งยังมีอยู่ทั้ง 3 มิติ คือความขัดแย้งในระบบ ความขัดแย้งนอกระบบ และความขัดแย้งเหนือระบบ การล้วงลูกข้ามเขตอำนาจทั้งฝ่ายพลเรือน ฝ่ายปกครอง ทหาร สภา ศาล องค์กรอิสระ เป็นเรื่องที่สร้างความขัดแย้งได้ง่ายๆ

ในความเป็นจริง ม.44 เป็นอำนาจที่มองเห็น ยังมีคนท้วงติง แต่อำนาจที่มองไม่เห็นและความเกรงใจในระบบอุปถัมภ์ ยังแผ่บารมีไปทั่ว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เล็กน้อยของการคุมเชิงต่อรองทางอำนาจ คงเริ่มปรากฏให้เห็นในเดือนเมษายน ถึงตุลาคม 2560

3. เนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะสร้างปัญหา เพราะมิได้เป็นประชาธิปไตยแบบที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ แต่เนื้อหาแบบนั้นจะสร้างกลุ่มผู้มีอำนาจขึ้นมาโดยประชาชนไม่ได้เลือกหรือเลือกเป็นส่วนน้อย เมื่อเป็นดังนั้นความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่หวังจะปรองดองคงจะยุ่งกันเข้าไปใหญ่ พอๆ กับเหตุการณ์ 10 ปีที่ผ่านมา สุดท้าย จะต้องถูกยกเลิก หรือถูกฉีก เหมือนฉบับก่อนๆ

ปัจจุบันเสียงประชาชนแทบไม่มีใครได้ยิน สถานการณ์นี้จะดำรงอยู่อีกประมาณ 1 ปี จากนั้นก็ไม่แน่ว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะถึงที่สุดแล้วประชาชนก็ยังเหมือนแผ่นน้ำ ผู้มีอำนาจก็เหมือนเรือที่ลอยอยู่บนน้ำ ตราบที่คลื่นไม่แรง ลมไม่จัด เรือคงลอยอยู่ได้ ถ้าเกิดพายุก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ดูจากสภาพภูมิอากาศจากปีนี้ไป ลมบนแรง พัดใส่เรือทุกลำ จากนั้นแผ่นน้ำคงมีคลื่น

4. ปี 2561 หลังเลือกตั้ง คงจะได้เห็นรูปแบบของคณาธิปไตยหรืออำมาตยาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. แต่อาจลบบทเรียนของรัฐบาลในอดีตที่ชนะเลือกตั้งแต่ยังไร้อำนาจ ไปเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจจริง

การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พอคาดเดาได้ว่าผลของการเลือกตั้งจะได้รัฐบาลผสมซึ่งอาจจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงว่าต่างกับรัฐบาลชั่วคราวอย่างไร

เพราะ สนช. หายไปก็มี ส.ว.แต่งตั้งขึ้นมาแทน แต่ต้องใช้อำนาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมืองให้ได้ ถ้าหากแก้ไม่ได้ก็จะกลายเป็นวิกฤต เพราะปัญหาเศรษฐกิจในวันข้างหน้ามีแนวโน้มที่น่ากลัวพอสมควร และอาจลุกลามเป็นปัญหาการเมือง

สุดท้ายแล้วประชาชนก็จะพากันชี้นิ้วหาคนรับผิดชอบ

คนที่แพ้ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่ยุติธรรม คงไม่ยอมง่ายๆ

5. แรงกดดันจากภายนอกประเทศ จะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและการเมือง นโยบายใหม่ของอเมริกา จะผลักดันให้หลายประเทศปรับนโยบายตาม การแสวงหากำไรและผลประโยชน์ จะผ่านการต่อสู้ที่หนักขึ้น ประเทศเล็กอย่างเราจะสู้ไหวหรือ ถ้าสู้ไม่ไหว คนชั้นล่างและชั้นกลางจะเดือดร้อน

6. ปัญหาความยุติธรรมซึ่งเป็นหัวใจในการแก้ความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไข

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นระบบยุติธรรมที่ไม่เป็นมาตรฐานแบบสากล สามารถหาความผิดให้บางคนได้ตามความต้องการ ตั้งแต่คดีเดียวจนถึง 100 คดี แต่ที่ทำผิดเห็นๆ ต่อให้ไม่สามารถล้างให้เป็นถูก ก็ทำเฉยๆ ไม่ต้องไปลงโทษอะไร

สังคมที่ไร้ความยุติธรรมแบบนี้ และเงื่อนไขแวดล้อมที่กล่าวมา ต่อให้ ป.ย.ป. เชิญท้าวมาลีวราช มาเป็นประธานปรองดอง ก็จะไม่ทำให้การปรองดองเกิดในระยะสั้นๆ … ที่บอกว่า เกิน 20 ปี ก็เพราะผู้ที่เกี่ยวข้อง ขัดแย้ง จะตายจากกันไปเกือบทั้งหมด