มุกดา สุวรรณชาติ : ป.ย.ป. ทำยุทธศาสตร์น้ำท่วม พอได้ ทำเรื่องปรองดอง 20 ปี ‘ไม่พอ’ (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

12 มกราคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการปฏิรูปและปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ได้มีการมอบหมายความรับผิดชอบให้กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงแม่น้ำ 5 สาย ในเรื่องการขับเคลื่อนต่างๆ ทั้งหมดที่มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย เพื่อเป็นการจัดทำโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นอนาคตของประเทศไทยที่จะเดินหน้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นภายใน 15 ปี จึงต้องปฏิรูปในหลายเรื่อง วันนี้จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในแม่น้ำ 5 สายทั้งหมดมาร่วมประชุมด้วย

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงสร้างการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ป.ย.ป. จะออกเป็นระเบียบหรือคำสั่งตามมาตรา 44 แต่การประชุมครั้งนี้ได้วางกรอบการทำงานให้ความสำคัญตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ

ตั้งเป้าว่าปี 2560 จะเป็นปีของการปฏิรูปการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติใน 20 ปี และการสร้างความปรองดองต้องนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยหลักการสำคัญที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเกี่ยวกับวาระการปฏิรูป คือ

คณะกรรมการชุดนี้จะต้องคัดกรองวาระการปฏิรูปของ สปท., คสช. และรัฐบาล ส่วนที่ สนช. เสนอมา จะแยกเป็นหมวดหมู่ ทั้งการซ่อม เสริม และสร้าง จัดลำดับก่อนหลัง ทำเรื่องเร่งด่วนที่มีความเป็นไปได้ก่อน ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 คณะ ได้แก่

คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ
คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ
คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง
และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์

ซึ่งทุกคณะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

10 ปีที่ผ่านมาคนไทยเผชิญปัญหาภัยจากน้ำท่วมและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองบ่อยครั้งและรุนแรงมากกว่าในอดีต

ถ้าเราจะมีคณะกรรมการ ป.ย.ป. คงจะต้องมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์สำหรับปัญหาทั้ง 2 เรื่อง การกำหนดเป้าหมายนี้มิใช่ทำให้ไม่มีน้ำท่วมในประเทศไทยหรือไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย

แต่จะต้องมียุทธศาสตร์ที่กำหนดเป้าหมายและแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดซ้ำซากให้ลดลง

ทีมงานวิเคราะห์ว่า…การเมืองระยะ 10 ปีหลัง เป็นการต่อสู้แย่งชิงของคนกับคน เป็นการแสดงฉากเก่าที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

แต่เหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก เป็นเรื่องที่คนต้องต่อสู้ให้ชนะภัยจากธรรมชาติ แม้คาดคะเนได้ยาก แต่มีกฎธรรมชาติที่แน่นอน จึงกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานไม่ยาก

แต่การแก้ปัญหาคนแย่งอำนาจกัน ในบ้านเมืองเรา ทำยากกว่า เพราะไม่มีกติกาที่เป็นมาตรฐาน

Image result for บิ๊กตู่ น้ำท่วม มติชน

ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาน้ำท่วม
วัดฝีมือ ป.ย.ป.

อุตุนิยมวิทยาโลกประเมินออกมาแล้วว่าจากนี้ไปความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศจะมีมากขึ้นถึงเวลาที่มีฝน ก็จะตกมากกว่าปกติ ดังนั้น การเกิดน้ำท่วมก็จะรุนแรงขึ้น

หมายความว่าปริมาณน้ำที่เคยผ่านแต่ละจุดจะมากขึ้นกว่าเดิมจะสร้างความเสียหายให้กับถนน สะพาน ชุมชนที่อยู่อาศัยมากกว่าเดิม แนวป้องกันที่เคยป้องกันได้อาจจะป้องกันไม่ได้

น้ำท่วมในปี 2554 ที่เกิดจากพายุและการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคกลางน้ำท่วมยาวนาน เป็นการบอกว่าแนวทางการป้องกันน้ำท่วมของเรายังต้องปรับปรุงเพื่อรับภัยขนาดใหญ่ให้ได้ หรือบรรเทาความเสียหายน้อยลง

แต่เมื่อถึงปี 2560 เกิดฝนตกช่วงปีใหม่ที่ภาคใต้มากกว่าปกติ เกิดน้ำหลากท่วมแทบทุกเขต แสดงว่าในอนาคตก็จะเกิดขึ้นได้อีกหลายครั้ง ในทุกภาค

ดังนั้น แนวทางการป้องกันน้ำท่วมจึงจะต้องถูกคิดถูกสร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดอย่างเป็นแบบแผน

ดูจากความสามารถทางเทคนิคความรู้ทางวิทยาศาสตร์กำลังทรัพยากรของประเทศเราไม่มีความสามารถป้องกันน้ำท่วมได้หมดทุกพื้นที่ ดังนั้น เป้าหมายในทางยุทธศาสตร์จะต้องถูกวางเป็นลำดับชั้นตามความสำคัญและความเร่งด่วน

1. กำหนดพื้นที่จำเป็นต้องป้องกัน เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาน้ำท่วมโดยดูจากอดีตจะรู้ว่าจุดใดที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากเกิดบ่อย เรียงลำดับความมากน้อย

2. จากนั้นดูความสำคัญของพื้นที่ว่าจุดใดเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ เป็นชุมชนขนาดรอง พื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดรอง จุดที่เป็นเส้นทาง ถนน และสะพาน ที่มีโอกาสถูกน้ำทำลาย

3. ดูสภาพภูมิประเทศความเป็นไปได้และความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีกำลังทรัพยากรเสริมแนวป้องกัน

4. เมื่อกำหนดจุดต่างๆ ที่เป็นภาพรวมได้แล้วผู้บริหารประเทศจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สามารถป้องกันได้ระดับประเทศ เช่น เส้นทางผันน้ำจากภาคเหนือลงสู่อ่าวไทยเพิ่มขึ้นจากแนวทางน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าปริมาณน้ำที่จะไหลตามลำน้ำต่างๆ ลงสู่อ่าวไทย ผ่านแม่น้ำหลายสายสามารถระบายน้ำได้นาทีละเท่าไร ถ้าปริมาณฝนมากขึ้นเป็นเท่าตัวในบางช่วงเวลาน้ำจะต้องท่วมแน่นอน

ในบางพื้นที่มีเขื่อน มีฝาย จะรับน้ำได้เท่าใด ถ้ารับไม่ได้พากันระบายลงมา ก็จะสามารถวางแผนให้สัมพันธ์กับจุดที่น้ำท่วมในท้องถิ่นต่างๆ

5. สามารถกำหนดโครงการผันน้ำขนาดกลางและขนาดย่อม ที่จะเบี่ยงเส้นทางน้ำ ไม่ให้ทำลายพื้นที่สำคัญ โดยให้สอดคล้องกับโครงการใหญ่ ตามลุ่มน้ำ ตามจังหวัด ตามพื้นที่ชุมชน และเขตเศรษฐกิจ


ลงทุนแก้ปัญหาน้ำตามยุทธศาสตร์…คุ้มค่า

ประเทศไทยมีความสามารถในการก่อสร้าง ทั้งอาคารบ้านเรือน โรงงาน ถนน ซึ่งมีทั้งถนนลาดยาง ถนนคอนกรีต ปัจจุบันมีคอนกรีตผ่านเข้าไปตามตรอกซอกซอย เรือกสวนไร่นา แทนถนนลูกรัง เป็นผลงานระดับชาติจนกระทั่งถึงการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ทั้งอาคารและถนนสามารถถูกทำลายได้โดยสายน้ำ

ดังนั้น การลงทุนป้องกันน้ำท่วมและเบี่ยงเบนทิศทางน้ำจัดเป็นการป้องกันเชิงรุก เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะ…

สามารถป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยให้กับเขตชุมชน เขตเศรษฐกิจ

ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมถนนหนทาง

สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใช้เป็นเส้นทางส่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรม

สามารถสร้างงานได้ทั่วถึงทุกระดับ

แต่แผนและการนำไปปฏิบัติ มีปัญหาในรายละเอียด ไม่ง่ายเหมือนที่คิด ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
แค่วางแนวทางก็อาจตกลงกันไม่ได้

เช่นเดียวกับเรื่องน้ำท่วม เมื่อเราห้ามฝนตกไม่ได้ ความขัดแย้งของคนที่อยู่ในสังคมที่มีความคิดเห็นต่างกันก็เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่ที่ผ่านมา 85 ปีที่เราหวังจะใช้ระบอบประชาธิปไตย แก้ปัญหา ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ยังมีการยื้อแย่งอำนาจแบบไร้กติกา บางครั้งประชาชนก็มีโอกาสเลือก บางครั้งก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ ผู้มีกำลังที่จะเป็นคนคัดสรรผู้ปกครอง เริ่มตั้งแต่การร่างกฎเกณฑ์ จึงขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นนั้นใครมีอำนาจกันแน่

ถ้าประชาชนมีอำนาจก็จะเป็นประชาธิปไตย โดยตัวแทนประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีการเลือกตั้งโดยประชาชนได้ตัวแทนไปบริหารและปกครอง ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

แต่ถ้าช่วงเวลาใดมีคณะบุคคลเข้ามามีอำนาจ พวกเขาก็จะร่างรัฐธรรมนูญเอง เขียนตามที่ตัวเองต้องการ สามารถจะสร้างตัวแทนเข้ามาในสภาได้โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง สามารถกำหนดให้ประชาชนเลือกตั้งตามกติกาที่เขียน จากนั้นก็จะปกครองต่อไป ถ้าเกิดความขัดแย้งก็จะมีการยึดอำนาจแล้วก็ทำซ้ำอีกครั้ง วิธีการอย่างนี้เป็นระบบคณาธิปไตย หรืออำมาตยาธิปไตย

สรุปว่า รัฐธรรมนูญ รัฐสภา รัฐบาล เป็นตัวแทนของใคร ก็จะเป็นตัวกำหนดระบบการปกครอง

การแก้ความขัดแย้ง โดยการตั้ง ป.ย.ป. แต่ ป.ย.ป. จะสามารถไปให้ถึงการปรองดองได้ ต้องแก้ปมของปัญหาที่มองเห็นอยู่ข้างหน้า

ปม 1 คือรัฐธรรมนูญ 2560 อำนาจของประชาชนอยู่ตรงไหน

ปม 2 คือคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีใครบ้างเป็นที่ยอมรับหรือไม่

ปม 3 คือการเลือกตั้ง และการตั้งรัฐบาล ปี 2561 จะทำให้ใครสามัคคีกับใคร และใครจะขัดแย้งมากขึ้น

ปม 4 คือความยุติธรรม การนิรโทษกรรมหรือการลงโทษคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

ความแตกต่าง
ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ฉบับ 2550
และฉบับ 2560 คือ

ฉบับ 2540 เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีวุฒิสภา ส.ว. ก็ถูกเลือกโดยประชาชน ส.ส. ก็มาจากการเลือกตั้ง ทั้งจากพื้นที่เขตเป็นตัวแทนของประชาชน และมีสิทธิ์เลือก ส.ส. ของพรรคแบบปาร์ตี้ลิสต์เพื่อมาดำเนินงานตามนโยบายพรรคหรือมาทำงานบริหารประเทศ

รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เปลี่ยนวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง มาจากการสรรหา ซึ่งก็เหมือนการแต่งตั้งโดยคนกลุ่มเล็กๆ อีกครึ่งหนึ่ง

การเลือก ส.ส. คล้ายเดิม ดังนั้น การเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร 2549 โอกาสที่ประชาชนเลือกคนมาบริหารจึงมีความเป็นไปได้ และก็เป็นจริงแม้จะมีการยุบพรรคที่ประชาชนเลือก แต่ก็ไม่สามารถต้านความต้องการของประชาชนได้

การเลือกตั้งปี 2551 จึงเป็นการเลือกตั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐบาลชั่วคราวของ คมช. มาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

แต่ก็เกิดม็อบในไม่กี่เดือนถัดมา มีการล้มรัฐบาลด้วยตุลาการภิวัฒน์ตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร

รัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือกถูกต่อต้าน มีการปราบ มีคนตาย และสุดท้ายมีการเลือกตั้งใหม่ปี 2554 โดยใช้รัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขเล็กน้อย ประชาชนก็ได้รัฐบาลใหม่ที่ตัวเองเลือกอีกครั้งแล้วก็เกิดม็อบในปลายปี 2556

เกิดรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลถูกล้ม รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ถูกยกเลิกและก็มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งจะถูกใช้ในปี 2560 พบว่า…

ประชาชนจะไม่ได้เลือก ส.ว.อีกแล้ว แต่ ส.ว. จะมาจากการแต่งตั้งเกือบทั้งหมด

แม้มีการคัดสรรแบบเลือกกันเองซึ่งมีจำนวนน้อย สุดท้ายประชาชนก็ไม่ได้เลือก และ ส.ว. 250 คนสามารถไปยกมือเลือกนายกรัฐมนตรี

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบจัดสรรปันส่วนผสม จะไม่มีพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่ง

เมื่อรัฐสภาซึ่งมีทั้ง ส.ว. และ ส.ส. โหวตเลือกนายกฯ เสียงของ ส.ว. จะชี้ขาดว่าใครจะเป็นนายกฯ

ดังนั้น การเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 จะมิได้ดำรงความสำคัญเช่นการเลือกตั้งในปี 2551 และ 2554 อีกแล้ว หลังการเลือกตั้งอาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ปมที่ 1 และปมที่ 2 อาจไม่ใช่เส้นทางไปสู่การปรองดอง (ต่อฉบับหน้า)