มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / ขออย่าได้เหมารวมผู้สูงวัย

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ขออย่าได้เหมารวมผู้สูงวัย

ต้องยอมรับว่า สภาวการณ์ที่มีผู้สูงวัยเต็มบ้านเต็มเมืองเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ ยุคที่ความรู้ทางการแพทย์ทำให้ผู้คนมีสุขอนามัยดีขึ้น ผู้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น

ในอดีต งานเลี้ยงแซยิดหรืองานเลี้ยงเกษียณ จะเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ เพราะนานปี กว่าจะมีใครอยู่นานจนถึงหกสิบปี

คนชราจึงมีจำนวนน้อยมาก และเป็นคนสำคัญในบ้านหรือชุมชน

ในปัจจุบันผู้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น หลายคนอยู่ทนเกินร้อยปี คนชราวัยหกสิบ เจ็ดสิบ มีจำนวนมากมาย กลายเป็นคนธรรมดา เป็นคนไม่สำคัญ ไม่มีใครสนใจ

หากนับช่วงเวลาจากวัยเกษียณอายุแบบเดิมคือหกสิบปี ไปจนถึงร้อยปี จะเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่สิบปี

และในช่วงระยะเวลาสี่สิบปีที่ยาวนานนั้น ผู้สูงวัยในแต่ละช่วงเวลา ยังมีความแตกต่างกันในทุกเรื่อง

 

ในสังคมตะวันตก กระแสผู้สูงวัยมีมาก่อนบ้านเรา เขาจึงแบ่งผู้สูงวัยออกเป็น young old, middle old, old old และ very old

ซึ่งถ้าจะเทียบเคียงเป็นภาษาไทย คงจะเป็นแก่น้อย แก่กลาง แก่แล้ว และแก่มาก

หรือจะเป็น เริ่มแก่ แก่แล้ว แก่มาก และแก่จริงๆ

หรือเริ่มจากผู้จะสูงวัย ผู้สูงวัย ผู้สูงวัยมาก และผู้สูงวัยมากๆ

หรือเอาง่ายๆ ว่า ยังไม่แก่ เริ่มแก่ แก่จริง และแก่มาก ก็แล้วแต่ชอบแบบไหน

ผู้สูงวัยแต่ละช่วงเวลานั้น จะมีสภาวะทางกาย ทางจิต ต่างกัน

อย่างเช่น การเคลื่อนไหว เริ่มจากไปไหนได้ด้วยตัวเอง ต้องพึ่งพาไม้เท้า ต้องใช้วอล์กเกอร์ ต้องนั่งรถเข็น จนถึงนอนติดเตียงไปไหนไม่ได้

หรือสภาวะทางสมอง ก็จะเป็น ยังปกติ เริ่มไม่ปกติ และไม่ปกติ รวมทั้งยังจำได้ดี จำได้บ้างไม่ได้บ้าง และหลงแล้วจำไม่ได้เลย ซึ่งอาการแตกต่างกันมาก ปัญหาที่ตามมาต่างกัน

เสียดายว่า เรื่องแบบนี้ แม้แต่นักวิชาการผู้ที่ทำงาน หรือผู้วางนโยบาย ไม่ได้ให้ความสำคัญ ชอบตีเหมารวมเป็นกลุ่มเดียวแค่ผู้สูงวัย

จนกลายเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ หรือการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

 

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2561 นั้น แม้จะทันเหตุการณ์ เพราะมีการระบุถึงผู้สูงวัย แต่ก็ไม่มีแยกรายละเอียดกลุ่มแต่อย่างใด ในขณะที่คนกลุ่มอื่น อย่างเช่น ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย และผู้พิการ ก็แยกแยะประเภทไว้ชัดเจน

แม้แต่สตรีมีครรภ์ ช่วงเวลาแค่เก้าเดือน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังระบุแยกเป็นกลุ่มก่อนคลอดและกลุ่มหลังคลอด

หากจะเทียบกับผู้ต่ำวัย หรือผู้อ่อนวัย รวมระยะเวลาตั้งแต่เกิด จนโตเป็นหนุ่มสาวก็ยาวนานแค่ยี่สิบปีเท่านั้น แต่จะมีการแบ่งแยกย่อยออกเป็น แรกเกิด ทารก เด็กเล็ก อนุบาล ประถม มัธยม อาชีวะ จนถึงอุดมศึกษา แต่ละประเภท จะมีรัฐสวัสดิการ มีระบบต่างๆ รองรับชัดเจน มีตั้งแต่สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก อนุบาล โรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา วิทยาลัยอาชีวะ ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ที่แยกดูแลถึงสองกระทรวง

แม้แต่บ้านพัก สำหรับผู้ต่ำวัย ที่มีปัญหา ยังแยกย่อยเป็นบ้านพักเด็กเล็ก บ้านพักเด็กหญิงและชาย ไปถึงบ้านเด็กกำพร้า หรือเด็กหูหนวก ตาบอด ไปจนถึงศูนย์ฝึกอบรมวัยรุ่น (ทัณฑสถานเยาวชน)

ส่วนเรื่องรักษาพยาบาล มีการแยกแผนกกุมาร เด็ก และสตรีมีครรภ์

แต่สำหรับผู้สูงวัย กลับมีแค่บ้านพักคนชราแบบเดียว ไม่แยกแยะว่า คนชราคู่ที่มีบุตร-หลาน คนชราเดี่ยวที่มีบุตร-หลาน คนชราคู่ที่ไม่มีบุตร-หลาน คนชราเดี่ยวไม่มีบุตร-หลาน

หรือแม้แต่บ้านพักคนชรา ที่ช่วยตัวเองได้ กับช่วยตัวเองไม่ได้

 

ในขณะที่เรื่องที่อยู่อาศัยคนทั่วไป รัฐบาลมีทั้งบ้านมีผู้รายได้น้อย โครงการฟื้นฟูชุมชนเสื่อมโทรม ยังไม่นับบ้านเอื้ออาทร บ้านการเคหะ บ้านอาคารสงเคราะห์ และบ้านประชารัฐ หรือเรื่องรายได้ที่แบ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย ก็จะแยกย่อยเป็น ผู้มีรายได้น้อยมาก รายได้น้อยปานกลาง และรายได้น้อยสูง ไม่นับผู้มีรายได้ปานกลาง รายได้สูง จนถึงรายได้สูงมาก

แต่สำหรับคนชราก็จะพูดรวมๆ เหมือนว่ามีแค่กลุ่มเดียว ทั้งๆ ที่เสี่ยสูงวัยและข้าราชการเกษียณในสนามกอล์ฟ อาม้าอาซ้อ และเจ้ทั้งหลายในสวนลุมพินี ผู้หญิงชุดขาวตามสถานปฏิบัติธรรม คนชราตามร้านกาแฟปากซอย หรือร้านทำผมในหมู่บ้าน

กับผู้เฒ่าผู้แก่กลางทุ่งนา หรือยายแก่เลี้ยงหลานตามบ้านนั้น มีสภาวะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีสินค้าเสนอขายทั้งบ้านเดี่ยว ตึกแถว อาคารชุด บ้านจัดสรร บ้านรอบสนามกอล์ฟ บ้านพักตากอากาศ แต่พอเปิดตัวบ้านผู้สูงวัยเมื่อไหร่ จะมีพิเศษแค่ห้องน้ำกว้าง ทางเรียบ ราวจับเท่านั้น

ถ้าแบบหรูก็แค่มีไฟกลางคืนเพิ่มให้

ยิ่งผู้ชำนาญการด้านสูงวัยหรือคนชราทั้งหลาย ที่ขยันออกมาชี้แนะตามสื่อต่างๆ เกือบทั้งหมด ลอกตำราฝรั่งหรือไปเห็นมาที่ญี่ปุ่น ตั้งหน้าตั้งตานำเสนอ universal design ที่ออกแบบครอบจักรวาล หรือแบบสาธารณะให้ใครใช้ก็ได้ โดยเหมารวมผู้สูงวัยทั้งหมด นอกจากไม่ตรงกับพฤติกรรมผู้สูงวัยไทยแล้ว ยังไม่ตรงกลุ่มหรือสภาพทางกาย ทางจิต และเศรษฐกิจ

ที่เลวร้ายคือ แนะให้ออกแบบห้องน้ำกว้างมาก (สำหรับคนที่ต้องนั่งรถเข็น หรือมีคนดูแล เลยทำให้ผู้สูงวัยที่ยังเดินได้ ไม่มีที่พิง หรือที่เกาะ เป็นเหตุให้หกล้ม จนต้องเปลี่ยนสถานะฉับพลันมานั่งรถเข็น นอนติดเตียง หรือหลุดพ้นไปสบายทันที

เมื่อไหร่จะถึงเวลาที่มีการจำแนกผู้สูงวัยออกเป็นกลุ่มให้ชัดเจน ก่อนที่จะเสนอความเห็น กำหนดนโยบาย หรือให้ความช่วยเหลือ หรือแม้แต่ในการออกแบบและการวางผังสถาปัตยกรรมและเมือง

 

คงต้องเริ่มแยกผู้สูงวัยออกเป็นชาย หญิง และเพศทางเลือก หรือเพศที่สาม เพราะมนุษย์ป้า มนุษย์ลุง มนุษย์ปู่-ย่า อย่างที่รู้กันว่า พฤติกรรมล้วนไม่เหมือนกัน สถานะครอบครัว แบบมีคู่หรือไม่มีคู่ มีหรือไม่มีบุตร-หลานดูแล

คงต้องจำแนกกลุ่มให้ตรงกับสภาวะทางกายที่ช่วยตัวเองได้ ต้องใช้ไม้เท้า ต้องนั่งรถเข็น และมีสภาพติดเตียง หรือสภาพสมองปกติ เริ่มผิดปกติหลงลืมบ้าง และผิดปกติ สูญเสียความทรงจำ

ถิ่นที่อยู่ผู้สูงวัย คงต้องพิจารณาว่า อยู่ในกรุงเทพฯ ในเมือง ชานเมือง หรือปริมณฑล พวกที่อยู่เมืองรองในภูมิภาค ชนบท หรือบนดอย ยังไม่นับระดับการศึกษา ต่ำกว่ามัธยม มัธยม อาชีวะ ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี

โดยเฉพาะประเด็นหลักคือ สภาพเศรษฐกิจ ผู้ไม่มีปัญหาไปเที่ยวต่างประเทศได้ มีปัญหาบ้างไปเที่ยวไหว้พระต่างจังหวัด มีปัญหามากไปไหนไม่ได้เลย จนถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐต้องมีบัตรสวัสดิการหลายใบ

ที่สำคัญ ต้องรู้ว่า เวลาจะพูดถึงผู้สูงวัย ต้องระบุว่า เป็นใคร กลุ่มไหน เพศไหน สถานะอย่างไร ด้วยผู้สูงวัยนั้น หลากหลายมากมาย

จะเหมารวมกันง่ายๆ ไม่ได้แน่นอน