นงนุช สิงหเดชะ : 2017 โลกเผชิญ “ความเสี่ยงการเมือง” สูงสุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2

เหตุการณ์ที่อังกฤษโหวตออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท เมื่อกลางปีที่แล้ว ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ช็อกโลกมากที่สุดแล้ว

แต่เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่แบบพลิกความคาดหมาย กลับช็อกและสั่นสะเทือนโลกในระดับที่สร้างความหวาดผวาได้มากกว่า

ชัยชนะของทรัมป์เป็นแนวโน้มใหม่ที่อาจกลายเป็นตัวอย่างให้ประเทศตะวันตกอื่นๆ เอาอย่างตาม

นั่นก็คือประชาชนอาจหันไปเลือกผู้นำที่มีแนวคิดยกเลิกโลกาภิวัตน์ ปกป้องการค้า ชาตินิยม กีดกันคนเชื้อชาติอื่น

ทั้งหมดนี้มีสาเหตุปัจจัยมาจากเศรษฐกิจของชาติตะวันตกกำลังถดถอยอ่อนแรง เมื่อถูกกระตุ้นด้วยวาทกรรมการเมืองแบบทรัมป์ที่สัญญาว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเพื่อนำการจ้างงานกลับมาให้คนอเมริกัน ตลอดจนจะล้มเลิกข้อตกลงการค้าเสรีที่ทำไว้กับประเทศอื่น จึงโดนใจประชาชนอย่างมาก

ลุ้นกันว่าการเลือกตั้งในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ที่จะมีขึ้นในปีนี้ ประชาชนจะเลือกนักการเมืองที่มีแนวคิดเดียวกับทรัมป์และเอาอย่างอังกฤษหรือไม่

โดยกรณีฝรั่งเศสพรรคฝ่ายขวาที่ต่อต้านผู้อพยพแบบเดียวกับทรัมป์ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิง 100 กว่าคนที่ปารีสตามด้วยการขับรถบรรทุกไล่ฆ่าคนที่เมืองนีซอีก 80 คน เนื่องจากมีหลักฐานว่าหนึ่งในมือกราดยิงนั้นแฝงตัวเข้ามาในฝรั่งเศสในรูปของผู้อพยพ

ส่วนกรณีอิตาลี ฝ่ายค้านที่รณรงค์ให้เลิกใช้เงินสกุลยูโร กำลังมีคะแนนดีวันดีคืน ซึ่งหากประชาชนเลือกพรรคนี้ก็เท่ากับว่าเอาอย่างอังกฤษคืออาจจะเตรียมออกจากอียูด้วย

AFP PHOTO / POOL / Evan Vucci

ไบรอัน คลาส นักวิชาการด้านการเมืองเปรียบเทียบแห่งลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ บอกว่า ปี 2017 อาจเป็นปีที่โลกเผชิญความเสี่ยงทางการเมืองมากที่สุดนับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะว่ามีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นและยากที่จะควบคุม อย่างเรื่องเบร็กซิทและเรื่องผลเลือกตั้งในอเมริกา แม้จะเกิดในปีที่แล้ว แต่ก็อาจจะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนให้กับโลกต่อเนื่องมาถึงปีนี้ (และอาจจะเป็นปีต่อๆ ไป)

เขาบอกว่าผู้นำและนักลงทุนทั่วโลกไม่เพียงแต่รอดูว่า ผลการเจรจาออกจากอียูของอังกฤษจะออกมาในรูปแบบไหน ผลการเลือกตั้งของประเทศหลักๆ ในอียูจะออกมาอย่างไร แต่โลกทั้งโลกต้องเป็นง่อยทำอะไรไม่ได้เมื่อยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากทรัมป์เข้าบริหารอเมริกา

คลาส ชี้ว่าในอเมริกานั้นอาจเกิดความไม่สงบขึ้น เพราะประชาชน (ที่ไม่เห็นด้วย) อาจไม่ยอมรับในสิ่งที่ทรัมป์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง นอกจากนั้น อเมริกายังมีประธานาธิบดีที่พร้อมจะยั่วให้มังกรที่กำลังหลับอย่างจีนโกรธและตื่นขึ้นมา ขณะเดียวกัน การปรับสมดุลอำนาจระดับโลกระหว่างรัสเซียกับอเมริกาที่มีลักษณะเป็นมิตร อาจก่อความปั่นป่วนและเปลี่ยนแปลงอย่างมากให้กับโลก

ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ว่านี้ยังมีผลต่อหัวข้อการประชุมของเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเวทีประชุมประจำปีที่สำคัญมากรายการหนึ่งของโลก โดยคาดว่าประเด็นที่บรรดาผู้นำธุรกิจสำคัญทั่วโลก ตลอดจนผู้นำแต่ละประเทศที่มาชุมนุมกันจะหยิบยกขึ้นมาหารือก็คือ “ระบบแบบหลากหลาย” กำลังถูกทำให้อ่อนแอลงซึ่งจะทำลายความเชื่อมั่นของประชาคมโลก

นอกจากนี้ก็จะพูดถึงความเป็นไปได้ที่โลกจะถอยหลังอันเนื่องมาจากกระแสที่กำลังก่อตัวขึ้นของระบบกีดกันและปกป้องการค้า ประชานิยมและชาติภูมินิยม

ไบรอัน คลาส

ความเปลี่ยนแปลงของโลกแบบกลับหลังหันที่ว่านี้บางคนก็มองว่าอาจเป็น “ระเบียบโลกใหม่” ด้วยซ้ำไป ซึ่งแน่นอนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ คือตัวละครสำคัญที่สุดว่าจะเขย่าโลกใบนี้ไปถึงระดับใด เพราะดูไปแล้วเหมือนคนไร้สติ ไม่เคยคิดก่อนพูด

สื่อตะวันตกบางแห่งถึงกับจิกกัดว่าทรัมป์นั้น คล้ายจะเป็น bully-in-chief (จอมข่มเหงรังแก-หัวหน้าอันธพาล) เพราะพฤติกรรมและคำพูดของเขานั้นไม่มีอะไรใกล้เคียงกับคนที่จะเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากเที่ยวระราน ข่มขู่ใครต่อใครไปทั่ว อย่างกรณีล่าสุดนี้ก็ใช้ทวิตเตอร์ข่มขู่บริษัทรถยนต์อเมริกัน ทั้งฟอร์ด จีเอ็ม รวมทั้งบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างโตโยต้าว่า ห้ามไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตในเม็กซิโก ไม่เช่นนั้นจะถูกเก็บภาษี 35% หากส่งเข้ามาขายในอเมริกา

ดูเหมือนทรัมป์จะชนะในเกมนี้ เพราะฟอร์ดนั้นยอมศิโรราบด้วยการเพิ่มการลงทุนผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในอเมริกาในโรงงานเดิมที่มีอยู่แล้ว แทนการผลิตในเม็กซิโกหลังเจอคำขู่ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ดินแดนเสรีที่เอกชนน่าจะมีอำนาจมากพอที่จะขัดขืนรัฐบาลกลับยอมทรัมป์โดยดี ทั้งที่ปลายปีที่แล้วผู้บริหารของฟอร์ดยังยืนยันกระต่ายขาเดียวว่าจะไปผลิตที่เม็กซิโก

เมื่อฟอร์ดยอมยกเลิกโรงงานในเม็กซิโก ทรัมป์ก็ออกมาชมเชย พร้อมกันนั้นก็ฉวยโอกาสตำหนิจีเอ็มที่ยังไม่ยอมทำตามคำขู่ของเขา

ซึ่งประเด็นนี้สร้างความกังวลให้กับนักเศรษฐศาสตร์อย่างมากที่ผู้นำประเทศเข้าแทรกแซงเอกชนในลักษณะชมเชยบริษัทหนึ่งและตำหนิอีกบริษัทหนึ่งอย่างแจ้งชัด

เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้รายใหม่ไม่กล้าเข้าสู่ตลาดและยังทำลายนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย

บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ประกาศยกเลิกแผนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ในเม็กซิโก และเดินหน้าขยายโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐแทน / AFP PHOTO / PEDRO PARDO

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า นโยบายทรัมป์ที่ข่มขู่บังคับให้บริษัทรถยนต์ต้องผลิตในอเมริกาเท่านั้น ห้ามไปผลิตที่เม็กซิโก จะไม่สามารถนำการจ้างงานกลับมาสู่อเมริกาได้มากกว่าเดิม เพราะคิดสะระตะแล้ว การผลิตในเม็กซิโกนั้นประหยัดต้นทุนกว่าผลิตในอเมริกามาก เช่น รถขนาดเล็ก หากผลิตในเม็กซิโกจะถูกกว่าผลิตในอเมริกาคันละ 2,500 ดอลลาร์

อีกอย่างไม่จำเป็นต้องส่งมาขายในอเมริกาอย่างเดียว เพราะเม็กซิโกทำข้อตกลงการค้าเสรีไว้กับหลายประเทศมากกว่าอเมริกา พวกเขาสามารถส่งรถที่ผลิตในเม็กซิโกไปขายทั่วยุโรปหรือประเทศอื่นๆ ได้อีกมาก

หลายคนห่วงว่าในระยะยาว ทรัมป์คงจะทำลายบริษัทรถยนต์หรือบริษัทอื่นๆ ที่เป็นหัวใจหลักของอเมริกาให้ย่อยยับลงไป เพราะหากบังคับให้ผลิตในอเมริกาเท่านั้น ไม่มีทางจะแข่งขันได้เพราะค่าแรงแพง ผลิตออกมาแล้วสินค้าจะมีราคาแพง สุดท้ายก็ขายไม่ได้

อเมริกาในยุคทรัมป์จึงเป็นอะไรที่น่าลุ้นจริงๆ ลุ้นว่าคน (บ้า) คนหนึ่งจะทำลายความยิ่งใหญ่ของประเทศให้ย่อยยับได้หรือไม่ อย่างไร