อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ: J20 Art Strike ปฏิบัติการหยุดงานประท้วงทรัมป์ ของคนในวงการศิลปะอเมริกัน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในวันที่ 20 มกราคม ปี 2017 ที่กำลังจะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันที่จะมีพิธีแต่งตั้งให้ โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ

นอกจากคนในวงการภาพยนตร์ คนวงการดนตรี ศิลปินนักร้องนักแสดงอเมริกันหลายคนจะออกมาแสดงความไม่พอใจกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของตัวเองและประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมแสดงในงานแล้ว

คนในวงการศิลปะเองก็ร่วมกันแสดงความไม่พอใจ และรวมตัวกันแสดงกิจกรรมต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการรณรงค์ให้คนในวงการศิลปะร่วมกระทำปฏิบัติการ “J20 Art Strike”

หรือการนัดหยุดงานประท้วงของคนในวงการศิลปะและวัฒนธรรมในวันนั้นด้วย

โดยในปฏิบัติการนี้ มีศิลปินชื่อดัง นักวิจารณ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และภัณฑารักษ์ เข้าร่วมลงชื่อกว่าร้อยคน

อาทิ ซินดี้ เชอร์แมน (Cindy Sherman), บาร์บาร์รา ครูเกอร์ (Barbara Kruger), มาริลิน มินเทอร์ (Marilyn Minte) และ ริชาร์ด เซอร์รา (Richard Serra) ซึ่งได้ร่วมลงรายชื่อในปฏิบัติการ “มุ่งหน้าสู่การเป็นแนวหน้าทางวัฒนธรรมในการต่อต้านเผด็จการ”

โดยร่วมกับคนในวงการอื่นๆ ในการรณรงค์ ปฏิบัติการอารยะขัดขืนด้วยการชักชวนให้สถาบันทางศิลปวัฒนธรรมทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น หอศิลป์, พิพิธภัณฑ์, โรงหนัง, โรงละคร, คอนเสิร์ตฮอลล์, สตูดิโอ, โรงเรียน, องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และสถาบันศิลปะต่างๆ ปิดทำการในวันพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ โดนัลด์ ทรัมป์

และร่วมกันออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน

โดยการรณรงค์ครั้งนี้ พวกเขาไม่ได้เชิญชวนแค่คนในแวดวงศิลปะเท่านั้น หากแต่เปิดโอกาสให้คนในวงกว้างได้เข้าร่วมด้วย

โดยพวกเขาเรียกร้องให้องค์กรและหน่วยงานทางธุรกิจต่างๆ ทุกแห่ง หยุดดำเนินการตามปกติในวันดังกล่าว

พวกเขากล่าวว่า J20 Art Strike เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะต่อสู้กับการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นส่วนผสมอันเป็นพิษภัยของ ลัทธิคลั่งความเป็นคนผิวขาว, ลัทธิเกลียดผู้หญิง, แนวคิดเกลียดกลัวคนต่างชาติ, ลัทธิคลั่งสงคราม และแนวคิดแบบคณาธิปไตย

และเช่นเดียวกับกลยุทธ์อื่นๆ ปฏิบัติการครั้งนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจะแทรกซึมแตกกิ่งก้านสาขาต่อไปยังอนาคต

J20 Art Strike ไม่ใช่การประท้วงที่ต่อต้านศิลปะ การละคร หรือรูปแบบทางวัฒนธรรมอันใดก็ตาม

หากแต่มันเป็นการเชิญชวนให้พวกเขาเหล่านั้นร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมนี้ โดยจินตนาการถึงพื้นที่เหล่านี้ใหม่ ในฐานะสถานที่ที่สร้างสรรค์รูปแบบของการต่อต้านด้วยความคิด การมองเห็น ความรู้สึก และการแสดงออกขึ้นมา

J20 Art Strike เป็นโอกาสในการแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และเป็นโอกาสในการยืนยันและบัญญัติคุณค่าที่สถาบันทางวัฒนธรรมของอเมริกาอ้างว่าจะสร้างให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา

ปฏิบัติการประท้วง J20 Art Strike จะดำเนินควบคู่ไปกับการเดินขบวนของสตรี เพื่อรณรงค์ต่อต้านการคุกคามทางเพศและการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเมืองอื่นๆ ในวันที่ 21 มกราคม หรืออีกหนึ่งวันหลังจากวันพิธีสาบานตน

และจะยืนหยัดในฐานะประภาคารของการต่อต้านยุคสมัยแห่งความมืดมดของทรัมป์ที่กำลังจะมาถึง


ซึ่ง ณ ตอนนี้ (ที่เขียนบทความนี้อยู่) แนวคิดของ J20 Art Strike กำลังถูกเผยแพร่ทางออนไลน์อยู่ แต่ดูเหมือนว่ามันจะเป็นแค่กระแสมีมหรือไอเดียที่แพร่หลายทางอินเตอร์เน็ตของคนในวงการศิลปะ ที่ร่วมกันระดมความคิดหาวิธีการตอบสนองต่อบรรยากาศแห่งความเกลียดชังที่ถูกปลุกขึ้นมาจากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้รณรงค์ก็ได้มีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก j20 art strike และเว็บไซต์ https://j20artstrike.org/ เพื่อทำการรณรงค์ นำเสนอข้อมูล และอัพเดตสถานการณ์และความเคลื่อนไหวในการเข้าร่วมการประท้วงของสถาบันทางศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งในวอชิงตัน ดี.ซี. และทั่วประเทศ

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าปฏบัติการประท้วงหยุดงานของวงการศิลปะครั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้แค่ไหน (วันที่นิตยสารเล่มนี้วางแผงก็คงจะได้รู้กันแล้วแหละนะ)


ได้เห็นความเคลื่อนไหวและการแสดงออกทางการเมืองอันคึกคักเข้มข้นของคนในวงการศิลปวัฒนธรรมบ้านเขาแล้วหันกลับมามองวงการศิลปวัฒนธรรมบ้านเรา ที่นับวันๆ เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของเหล่าศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์จะยิ่งถูกจำกัดจำเขี่ยลงทุกวี่วันจนเหมือนคนน้ำท่วมปากหรืออมสากกะเบืออยู่ยังไงยังงั้น

นึกแล้วก็ได้แต่ทอดถอนใจ คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการก้มหน้าก้มตาทำมาหาแดรก เอาตัวรอดให้พ้นไปวันๆ

คิดเสียว่าเช่าประเทศเขาอยู่ เหมือนที่มิตรสหายในแวดวงวิชาการท่านหนึ่งเขากล่าวเอาไว้ก็แล้วกันนะครับท่านผู้อ่าน!