หลังเลนส์ในดงลึก : “สัตว์ กับ ปล่อย”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ภาพ- 'หมาใน' การได้ใช้ชีวิตไปตามวิถีในแหล่งอาศัยเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตต้องการ

ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2559

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนหนึ่ง เข้าไปรบกวนจระเข้ที่นอนพักผ่อนอยู่ริมลำห้วย ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนจระเข้รำคาญ งับที่ขาเป็นบาดแผลฉกรรจ์

เรื่องนี้ทุกคนเข้าใจดีว่า จระเข้ไม่ใช่ผู้ต้องหา

ไม่รักษาระยะห่าง รวมทั้งไม่ใส่ใจกับการรบกวนเจ้าของบ้าน เป็นเรื่องไม่สมควรกระทำอยู่แล้ว

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงค่ำหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน

สุเมธ เจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โทรศัพท์แจ้งข่าวว่า มีผู้พบจระเข้น้ำจืดบริเวณใกล้ๆ กับเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่เลาะเลียบลำน้ำ

น้ำเสียงเขาตื่นเต้น ก็สมควร เพราะการพบจระเข้ในธรรมชาติตอนนี้ย่อมน่ายินดี

ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนเราจะหมดหวังที่จะพบจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติแล้ว

ก่อนหน้าวันนั้นหลายปี เราพบจระเข้ในป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ในป่าอุทยานแห่งชาติปางสีดา และป่าแก่งกระจาน

สุเมธ สนใจงานถ่ายภาพ เขาแจ้งข่าวเพื่อให้ผมขึ้นไปถ่ายรูป

ผมขอบคุณ และแนะนำเขาว่า ให้ทำซุ้มบังไพรเฝ้าเพื่อถ่ายภาพ

เป็นเรื่องดีมากกว่าหากจระเข้ที่พบจะถูกบันทึกภาพไว้โดยเจ้าหน้าที่

เย็นวันรุ่งขึ้น สุเมธโทร.มาอีกครั้ง

“ถ่ายได้แล้วครับ มันโผล่มาตอน 8 โมง 15 นาทีครับ”

น้ำเสียงเขาไม่ตื่นเต้นสักเท่าไหร่

“เขาว่ากันว่า มีคนแอบเอามาปล่อยครับ”

เป็นเหตุผลที่เขาไม่ตื่นเต้นนัก ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะป่าเขาใหญ่มักมีคนแอบเอาสัตว์ไปปล่อยบ่อยๆ

ข่าวการพบจระเข้ในป่าเขาใหญ่ ไม่น่าสนใจ คนกังวลเรื่องความเป็นสัตว์ต่างถิ่นของมันมากกว่า

กระนั้นก็เถอะ เวลาผ่านไป จระเข้ตัวนั้นก็ปรับตัวเข้ากับสภาพที่อยู่ได้อย่างดี

ลำน้ำในป่าเขาใหญ่ เคยเป็นแหล่งอาศัยของจระเข้ ชื่อ “วังตะโขง” ก็หมายถึงที่อยู่ของจระเข้

กว่า 60 ปีก่อน คงไม่มีป่าผืนใดมีชื่อเสียงในเรื่องความชุกชุมของสัตว์ป่า ความอุดมสมบูรณ์ และความรุนแรงของไข้ป่าเท่ากับป่า “ดงพญาไฟ” หรือที่เปลี่ยนมาเรียก ดงพญาเย็น ในภายหลัง

ป่าผืนใหญ่ ถูกทำลายล้างจนแทบหมดสิ้น

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือเศษเสี้ยวที่เหลืออยู่

 

สัตว์ป่าหลายชนิด ถึงวันนี้ หากจะพูดถึง ต้องใช้คำว่า “เคยมี”

หลายชนิด โอกาสพบเห็นในธรรมชาติแทบเป็นไปไม่ได้

บางชนิด อยากเห็นตัวเป็นๆ ต้องไปดูตามสวนสัตว์ หรือศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ที่กรมอุทยานฯ ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลสัตว์ป่าของกลางที่จับกุมได้จากผู้ลักลอบค้า

ตามศูนย์เหล่านี้ มีเจ้าหน้าที่เก่งๆ สามารถเลี้ยงดูจัดการให้สัตว์ป่าหายากเหล่านั้นผสมพันธุ์ออกลูกแพร่พันธุ์ได้

หลายคนคิดว่าเมื่อมีสัตว์ป่าพวกนี้จำนวนมากๆ คงจะดีหากนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติ

ในความเป็นจริง การปล่อยสัตว์เข้าป่า ทุกคนรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย

ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องเอาชีวิตให้รอด

สัตว์ในป่ามีอาณาเขตที่แน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน สัตว์กินพืชหรือสัตว์ผู้ล่า แม้แต่นกเล็กๆ ก็ไม่ยอมให้ใครล้ำเขต

สัตว์ป่าที่เติบโตมาในกรง ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่ได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่เรื่องดำรงชีวิต จึงไม่ต่างจากเอาคนที่ไม่คุ้นเคยกับป่าเลยไปไว้กลางป่า

อาจมีบางตัวรอด แต่ส่วนใหญ่หายสาบสูญ

นี่ยังไม่ใช่เรื่องน่าสิ้นหวังหรอก ถ้าการปล่อยดูแลโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ

มีโครงการฝึกฝนทักษะ พยายามให้สัตว์ป่าได้เรียนรู้ เปิดกรงให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป็นสัตว์ผู้ล่าก็ต้องฝึกการล่าเหยื่อให้ได้ด้วยตัวเอง

โครงการปล่อยสัตว์ที่ทำอย่างจริงจังติดตามผลต่อเนื่อง เช่น การปล่อยเนื้อทราย ที่ป่าภูเขียว และละมั่ง ในป่าห้วยขาแข้ง รวมทั้งวัวแดง ในป่าสลักพระ และนกกระเรียน พื้นที่ชุ่มน้ำแถวจังหวัดบุรีรัมย์

สัตว์เหล่านี้ได้รับโอกาส และดูเหมือนพวกมันปรับตัวดำเนินชีวิตไปตามวิถีได้เป็นอย่างดี

 

ในยุคแรกๆ ของการทดลองปล่อยสัตว์ป่า

แม้ว่าโครงการดูจะไม่ได้ผลเท่าไหร่ แต่ผม เชื่อว่า ในความรู้สึกของสัตว์ป่า

ได้หลุดพ้นจากกรงแม้เพียงชั่วขณะ

ก็เป็นช่วงเวลาอันหอมหวน

ป่าบางแห่งเหมาะสมกับการปล่อยสัตว์ป่า เช่น ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

บริเวณทุ่งโล่งหลายร้อยไร่ ซึ่งเรียกว่า ทุ่งกระมัง มีป่าทึบห้อมล้อม เป็นที่อาศัยของกวางและเนื้อทราย

พวกมันปรับตัวได้บ้าง แต่ยังวนเวียนอยู่ใกล้ๆ บริเวณที่คนอยู่

ออกไปไกล หรือระวังตัวน้อยไปนิด ก็มักตกเป็นเหยื่อของผู้ล่า อย่างหมาไน และเสือดาว

หลายตัวเดินออกไปไกล

เมื่อรู้ตัวว่าป่ารอบๆ กว้างใหญ่เกินไป

ก็คล้ายจะไปไกลเกินกว่าจะหันกลับแล้ว

นกเป็ดก่า ที่นำไปปล่อยในป่าห้วยขาแข้ง บางตัวปรับตัวได้ สร้างรังวางไข่มีลูก หลายตัวตกเป็นเหยื่อผู้ล่า

บางที ในวินาทีที่ชีวิตจะหลุดลอย

กรง อาจเป็นสิ่งที่มันนึกถึง

 

การพบเจอสัตว์ในกรง หลายคนรู้สึกเศร้าระทม

เสือโคร่งตัวโตเดินวนเวียนไป-มาในพื้นที่แคบๆ ชะนีนั่งเกาะซี่เหล็ก ดวงตาเหม่อลอย หมีควาย สบสายตาด้วยแววตาอันแห้งแล้ง บางกรงมีนกเป็ดแดง นกเป็ดลาย นกเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นเหล่านักเดินทาง ที่โยกย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาว

พวกมันยืนนิ่ง

สัญชาตญาณในการเดินทางกลับบ้านคุกรุ่นอยู่ในหัวใจ

ดูหมือนโอกาสนั้นจะมีได้เพียงตอนหลับตา

 

ถึง พ.ศ. นี้ แม้ว่าจะมีสัตว์ป่า และพืชพันธุ์มากมายสูญสิ้นไปก่อนที่เราจะรู้จัก แต่เราก็พบสัตว์ป่าบางชนิดที่คาดว่าสูญสิ้นไปแล้ว มีสัตว์หลายชนิดเรารู้ว่ายังมีอยู่ ได้เห็นพวกมันในภาพถ่าย จากการวางกล้องดักถ่าย

ในป่าเขาอ่างฤๅไน และป่าปางสีดา รวมทั้งป่าแก่งกระจาน ยังมีจระเข้ มีภาพจากกล้องดักถ่ายภาพแสดงให้เห็น

สำหรับผม การพบจระเข้น้ำจืดในป่าเขาใหญ่ คือเรื่องน่ายินดี

พักเรื่องการเป็นสัตว์ต่างถิ่นไว้ก่อน

ไม่ว่าจะมาจากที่ใดมันก็สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่ได้แล้ว

ยิ่งพบว่าจระเข้ทั้งสองตัวเป็นตัวผู้

การขยายพันธุ์ เพิ่มจำนวน จนกลายเป็นปัญหาคงไม่เกิดขึ้น

หากกังวลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวซึ่งไม่รักษากฎกติกา ก็ควรปิดเส้นทาง

เพราะที่แห่งนั้นเป็นของสัตว์ป่า

ว่าไปแล้ว ผมค่อนข้างยินดีที่รู้ว่าจระเข้ตัวที่เตือนคนว่าอย่ารบกวนนั้น เป็น “สัตว์ปล่อย”

ด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย

ที่จะปรับตัวและใจ ให้ “พ้น” ไปจาก “กรง”