จรัญ มะลูลีม : การมาถึงของอิสลามในอินเดีย (2)

จรัญ มะลูลีม


จากสมัยสังการาถึงสมัยรามานุจา

ในสมัยของรามานุจา (ถือกำเนิดเมื่อ ค.ศ.1016) นักคิดและซูฟี (นักประสบการณ์ทางจิต) มุสลิมกลุ่มหนึ่ง บางคนก็เป็นนักปรัชญาที่ดีที่สุดที่อิสลามเคยผลิตมา ได้อธิบายและขยายความคิดของพวกเขาเป็นระบบอย่างดี ไม่น่าที่ความคิดและทฤษฎีของพวกเขาจะไม่สามารถมีอิทธิพลต่อความคิดของชาวอินเดียได้โดยอาศัยการอภิปรายถกเถียงทางศาสนาและปรัชญา ซึ่งเกิดขึ้นในวงกว้างทั้งในดินแดนอินเดียและในราชสำนักของเคาะลีฟะฮ์ต่างๆ

ตอนนี้ลัทธิซูฟีได้พัฒนามาถึงขั้นตอนใหม่ ความนิยมความลี้ลับยังคงมีความสำคัญอยู่ แต่ก็เป็นรองต่อเทวะปรัชญาและการครุ่นคิดเกี่ยวกับความลี้ลับทางจิตวิญญาณ

Nicholson กล่าวว่า (แนวคิด) ของ ษู อัน-นูน มิสรี คือแหล่งของส่วนประกอบของลัทธิเพลโตนิกใหม่ในปรัชญาอิสลาม อะบู ยะซีด อัล-บิสตามี (สิ้นชีวิตใน ค.ศ.874) เป็นซูฟีคนแรกที่ได้อธิบายคำสอนเรื่องตัวตน และในการสอนลัทธิซูฟีของเขาในทางปฏิบัติกลับไปเหมือนกับลัทธิที่ถือว่าพระเจ้าทรงอยู่ทุกหนทุกแห่ง

ฮูเซน บิน มันซูร ซึ่งเราเรียกกันว่า อัล-อัลลาจ (สิ้นชีวิตใน ค.ศ.874) ได้เดินทางไปถึงอิหร่านตะวันออก แคว้นกุจราตในอินเดียและเอเชียกลาง เขาถือว่าดวงวิญญาณซึ่งไม่ใช่วัตถุและไม่มีอันตรายได้รับทุกข์เพราะอยู่ในแนวเดียวกับร่างกาย และถือว่าพระผู้สูงสุดนั้นไม่อาจเข้าใจได้โดยปัญญาและจินตนาการของมนุษย์ และการเข้าร่วมกับพระเจ้านั้นเป็นไปได้โดยการทนทุกข์ทรมาน

นอกจากเรื่องที่ว่าคำสอนและการปฏิบัติการซูฟีจะไปถึงอินเดียพร้อมกับความคิดอื่นๆ ของมุสลิมแล้วก็ยังมีหลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้อีกที่แสดงว่าซูฟีของมุสลิมมีมาหลังจากการพิชิตของมุสลิมและพ่อค้ามุสลิมและได้ดึงดูดจิตใจของชาวอินเดียโดยความบริสุทธิ์และดีงามแห่งชีวิตของพวกเขา

พวกเขาได้ถ่ายทอดอุดมการณ์และวิถีชีวิตทั้งหมดของพวกเขาให้โดยการติดต่อส่วนตัวและการถกเถียงอภิปราย อิบนุ ฮะญัรอัลเกาะลานี ได้กล่าวถึงบาบารัตตัน ชาวอินเดียผู้รับอิสลามและเดินทางไปนครมักกะฮ์สองครั้ง บางทีเขาอาจจะเป็นซูฟีอินเดียคนแรก ต่อมาเล็กน้อยก็มีอับดุลลอฮ์ซึ่งเรียกกันว่าบาบาคากิ (สิ้นชีวิตใน ค.ศ.719) และฝังศพไว้ที่เมืองละฮอร์ นักบุญอีกคนหนึ่งคือ ซัยยิด ซาลาร์มัสอูด ฆอซีเมียน (สิ้นชีวิตใน ค.ศ.1033)

ในศตวรรษเดียวกันได้มีนักบุญที่มีชื่อเสียงมากอีกคนหนึ่งมายังอินเดีย นั่นคือ ท่านอะลี อัล-ฮุจญ์วีรี ซึ่งรู้จักกันในนามว่าคาตะกานจ์บัฆช์ ผู้เขียนงานชิ้นที่ชื่อกัชฟ์อัล-มะฮ์ญูบ (Kashf al-Mahjub)

ในบรรดานักคิดมุสลิมที่เฟื่องฟูในระหว่างศตวรรษที่ 8 ถึง 11 ก็มี อัล-คินดี (ประมาณ ค.ศ.830-873) เขาเป็นนักปรัชญาคนแรกของชาวอาหรับซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นนักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์

อัล-ฟะรอบี (ประมาณ ค.ศ.185 หรือ ฮ.ศ.830 – ค.ศ.260 หรือ ฮ.ศ.873)

และ อัร-รอซี (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.865 หรือ ฮ.ศ.925) เป็นนักการแพทย์ นักฟิสิกส์ นักเคมีและนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียง

ส่วน มิสกาวัยฮ์ (สิ้นชีวิต ค.ศ.1030) และ อิบนุ สินา เป็นนักปรัชญา นักสอนศีลธรรมและนักฟิสิกส์

ความคิดด้านปรัชญาที่พัฒนามาตั้งแต่ อัล-คินดี จนถึง อิบนุ สินา นั่นคือก่อนสมัยรามานุจาถูกนำมาหว่านในอินเดียโดยมุสลิมรุ่นแรกๆ ด้วยอิทธิพลของมุสลิมจึงได้เกิดลัทธิเทวนิยมขึ้นในปรัชญาของอินเดีย

เราจะได้แลเห็นข้อพิสูจน์ถึงความมีอยู่ของพระเจ้าเป็นครั้งแรกในหนังสือกุสมานชลีของอุทัยยน (เขียนขึ้นในศตวรรษ 10) หนังสือไวเศสิกะ ซึ่งเป็นปรัชญาอินเดียนั้นโดยทั่วไปถูกถือว่าคู่กัน

แต่ที่จริงแล้วระบบทั้งสองนี้ไม่เคยเป็นคำสอนอันเดียวกันเลยก่อนกลางศตวรรษที่ 9 แต่ถูกเอามารวมกันเป็นระบบเดียวหลังจากอิสลามได้หลั่งไหลลึกเข้ามาในอนุทวีปอินเดีย

ตอนแรกทั้งสองระบบนี้เป็นแบบไม่มีพระเจ้าและเป็นแบบปรมาณูนิยม (Atomism) แต่ภายหลังมีลักษณะเทววิทยา (คือมีพระเจ้า) ก็เพราะอิทธิพลของมุสลิม

จากสมัยรามานุจาจนถึงปัจจุบัน

รามานุจา (ถือกำเนิดใน ค.ศ.1016) เป็นนักปฏิรูปชาวฮินดูแห่งภาคใต้ของอินเดีย เป็นปากเสียงแก่การสักการะบูชาพระเจ้าด้วยการสละอุทิศและความศรัทธา ท่านถือว่าความรักเป็นหลักการของความสัมพันธ์มิใช่เฉพาะพระเจ้ากับมนุษย์เท่านั้น แต่ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วย

ผลก็คืออุปสรรคที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งหมด รวมทั้งชั้นวรรณะจะต้องถูกละเลิกเสียและประตูแห่งศาสนาจะต้องถูกเปิดให้แก่ทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางสังคมที่เกิดจากชั้นวรรณะ รามานุจารับพวกศูทรเข้าไปในโบสถ์วิหาร เน้นการยอมตน (ประภัตติ) และความเคารพครู (คุรุภักดี)

การเน้นในเรื่องการยอมตนและการเคารพครูของเขาอาจสืบร่องรอยไปได้ถึงพุทธศาสนาและคำสอนของคัมภีร์อุปนิษัท แต่การยอมรับพระเจ้าองค์เดียวของเขานั้นเกิดจากความบันดาลใจที่เขาได้รับมาจากศาสนาใหม่ ซึ่งตอนนั้นกำลังสั่งสอนแก่ผู้คนโดยนักการศาสนาชาวมุสลิมอย่างนะษัดวะลี ผู้ซึ่งกษัตริย์ฮินดู กุนปานดยา ทรงอนุญาตให้ที่ดินสำหรับสร้างมัสญิด

ในขณะที่ยอมรับว่ามีอิทธิพลของพุทธศาสนาและคำสอนของอุปนิษัทอยู่ในปรัชญาของรามานุจาก็อาจถือได้ว่าอิสลามได้ให้ทั้งความคิดเรื่องการยอมตนต่อเจตนารมณ์ของพระเจ้าและการเคารพต่อทางนำทางจิตวิญญาณด้วย

ในเรื่องการเคารพผู้เป็นครู รามานุจาอาจได้มาจากข้อเขียนของพวกซูฟี และจากการที่เขาติดต่อเป็นส่วนตัวกับคนเหล่านั้นด้วย

รามานุจาถือว่าวัตถุประสงค์ของความภักดีนั้นไม่ใช่นิพพาน แต่เป็นความสุขชั่วนิรันดร์อยู่ต่อหน้าพระเจ้า ซึ่งเป็นความเชื่อของซูฟี ไม่ใช่ของพุทธศาสนา

การแนะให้ไม่มีสังคมที่ถือชั้นวรรณะเพื่อว่าพวกศูทรจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะชาติกำเนิดของพวกเขาและการเปิดประตูศาสนาให้แก่ทุกคน รวมทั้งคนชั้นต่ำนั้นเป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงอิทธิพลและการปฏิบัติทางศาสนาของชาวมุสลิมอย่างแน่นอน

ในศตวรรษที่ 6 หรือ ฮ.ศ.ที่ 12 ได้เกิดนิกายขึ้นสองนิกายในทางตอนใต้ซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลของอิสลามนั่นคือนิกายลึงกายัต และนิกายสิทธาริส พวกลึงกายัตบูชาพระเจ้าองค์เดียว ซึ่งเปิดเผยพระองค์เองว่าเป็นครูของโลก (อาตมะประภู)

ภาสวะผู้นำของขบวนการนี้ถูกถือว่าเป็นพระศิวะอวตารมา เนื่องจากถือว่าความรักเป็นสิ่งที่ถูกสร้างอย่างแรกของพระเจ้า การภักดีหรือการสละอุทิศจึงนับว่าเป็นอุดมคติของชีวิต อุดมคตินี้จะบรรจุผลได้ด้วยการเดินไปตามทางที่เข้มงวด ยอมตนและมุ่งสำรวมต่อพระเจ้า

พวกลึงกายัตไม่มีการบวงสรวง ไม่มีการถือศีลอด ไม่ไปแสวงบุญและไม่ทำพิธีชำระล้างให้บริสุทธิ์ ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่มีความแตกต่างในชาติกำเนิดหรือเพศ การแต่งงานเป็นเรื่องตามใจผู้แต่ง แม่หม้ายสามารถแต่งงานใหม่ได้ คนตายใช้ฝัง และไม่เชื่อในเรื่องการที่วิญญาณไปเข้าร่างใหม่

ส่วนกลุ่มสิทธาริสอันเป็นกลุ่มของกวี ทางปรัชญานั้นเป็นพวกที่ดื้อดึงมากกว่ากลุ่มลึงกายัตในเรื่องพระเจ้าองค์เดียว พวกเขาปฏิเสธอำนาจของคัมภีร์พระเวท พวกเขาบรรยายถึงความจริงสูงสุดว่าเป็นแสงสว่างและเข้าใจว่าบั้นปลายชีวิตคือการถูกดูดซึมเข้าไปในพระเจ้า

พวกสิทธาริสเป็นนักเคมีด้วยและทำตามคำสอนของ ษู อัน-นูน มิสรี ในแง่นี้