ต่างประเทศอินโดจีน : การเมืองเรื่องวันหยุด

วันหยุดก็เป็นเรื่องการเมืองได้ แถมยังรุนแรงเสียด้วย

เขาว่ากันว่า กัมพูชาเป็นชาติที่มีวันหยุดมากที่สุดในโลก เป็นวันหยุดที่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานของรัฐบาลก็หยุด เอกชนก็ต้องหยุด

รวมวันหยุดทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้งคนงาน ทั้งข้าราชการ กัมพูชาไม่ต้องทำงานมากถึงปีละ 28 วัน หรือเกือบหนึ่งเดือนเต็มๆ

เมื่อ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศว่า ในปีหน้าวันหยุดทั้งหมดจะลดลงเหลือเพียง 22 วัน โดยประกาศยกเลิกวันหยุดไปรวมทั้งสิ้น 6 วัน

วันหยุดที่ยกเลิกไปตามประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ รวมถึง วันเด็กสากล, วันสิทธิมนุษยชนสากล, วันรำลึกถึงข้อตกลงสันติภาพปารีส ที่ถือเป็นวาระสิ้นสุดสงครามระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม และวันเพื่อการรำลึกถึงเหยื่อของเขมรแดงแห่งชาติ

เอก ธา โฆษกคณะรัฐมนตรีกัมพูชาให้เหตุผลเอาไว้ง่ายๆ ว่า การยกเลิกวันหยุดก็เพื่อทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดเงินลงทุนทั้งในและระหว่างประเทศให้มากขึ้น

โดยการทำให้วันหยุด “มากเกินไป” ที่เคยเป็นประเด็นในใจนักลงทุนให้น้อยลง

 

ปัญหาคือหลายฝ่ายไม่ได้มองอย่างนั้น และเชื่อว่าเรื่องดึงดูดการลงทุนที่ว่าเป็นเพียง “ข้ออ้าง” อย่างหนึ่งเท่านั้น

ผู้ที่ออกมาคัดค้านการลดวันหยุดที่ว่านี้ โดยหลักมีอยู่ 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีผลได้ผลเสียโดยตรง คือบรรดาสหภาพแรงงานต่างๆ

อีกกลุ่ม เป็นพวกที่ได้รับผลกระทบในทางอ้อม คือกลุ่มประชาสังคมและสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย

กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมเชื่อว่ารัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุน เซน “จงใจ” เลือกเลิกหยุดงานในวันที่เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รวมตัวกันแสดงพลังและเรียกร้องสิทธิต่างๆ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาทุกปี

เพราะมีวันหยุดสารพัดให้เลือกยกเลิกได้ ทำไมต้องเลือกยกเลิกจำเพาะวันเหล่านี้

 

ซาร์ โมธี รองประธานเครือข่ายเยาวชนแห่งกัมพูชา ชี้ว่า การยกเลิกวันสิทธิมนุษยชนสากล, วันความตกลงสันติภาพฯ และวันเด็กสากล สะท้อนถึงการต่อต้านการเคารพสิทธิมนุษยชน ที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และต่อสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลให้สัตยาบันเอาไว้

ทั้งสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะกำราบ จำกัดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิอันชอบธรรม

เช่น วันสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านๆ มาเคยใช้เป็นวันที่แสดงออกถึงการต่อต้านการเวนคืนที่ดินประเภท “ฮุบ” เอาของชาวบ้านไปให้สัมปทานกับธุรกิจต่างชาติ เป็นต้น

 

มีหลายคนที่ชี้ว่า รัฐบาลทำเรื่องนี้ขึ้นมา แสดงถึงการดื้อแพ่งต่อความพยายามของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษทางการค้า “อีบีเอ” ของอียูกดดันให้รัฐบาลกัมพูชาหันมาปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยไม่สนใจสิทธิทางการค้าที่จะส่งผลกระทบต่อกัมพูชาถึง 700 ล้านดอลลาร์ต่อปี และทำให้คนอีกนับแสนตกงาน

สมาคมผู้ผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชาออกมาสนับสนุนการยกเลิกวันหยุดของรัฐบาล แต่ประธานสหภาพร่วมแห่งขบวนการแรงงานกัมพูชา อย่าง พาฟ สินา กลับร้องขอให้รัฐบาลทบทวน

จัก โสเพียบ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชาเตือนรัฐบาลว่า การทำเช่นนี้จะยิ่งส่งผลให้แรงงานทั้งหลายตระหนักถึงคุณค่าของสิทธิของตัวเองมากขึ้น

แกนนำแรงงานอีกหลายคนชี้ให้เห็นรูปธรรมว่า ประกาศนี้ทำให้แรงงานต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีก 6 วัน โดยไม่ได้สิทธิใดๆ เพิ่มเติม รวมทั้งการได้ค่าแรงเพิ่มเป็นสองเท่าหากทำงานใน 6 วันนี้

เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนนอกเหนือจากเค้าลางว่าอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ไม่น้อยเลยทีเดียว