เพ็ญสุภา สุขคตะ / พระนอน : ปรัมปราท้องถิ่นพระเจ้าเลียบโลก

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ในวัฒนธรรมล้านนามีการตั้งชื่อพระนอนองค์สำคัญๆ หลายองค์ ตามเหตุการณ์ที่ระบุไว้ในคำบอกเล่า มุขปาฐะ ที่กลายมาเป็นตำนานท้องถิ่นของแต่ละวัด

วัดบางแห่งเขียนตำนานเรื่องพระนอนแยกออกมาเป็นเอกเทศโดยไม่อาจเชื่อมโยงได้กับตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับมาตรฐานที่รจนาโดยพระภิกษุล้านนาเมื่อ 500 ปีก่อน บางแห่งเป็นเรื่องราวที่ซ้ำและทับซ้อนกับตำนานพระเจ้าเลียบโลก ในขณะที่บางวัดกลับเป็นตำนานที่อิงกับประวัติศาสตร์จริง

พบว่าพระนอนทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีขนาดพระวรกายใหญ่มาก สะท้อนถึงแรงศรัทธาของมหาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา

ในขณะที่คนในท้องถิ่นไม่เคยเรียกพระนอนเหล่านั้นว่าพระพุทธรูปปางปรินิพพาน หรือปางสีหไสยาสน์ แต่กลับเรียกตามชื่อที่ปรากฏในตำนานแต่ละแห่ง อาทิ พระพรั่ง (หมายถึงวัดพระนอนขอนม่วง) พระนอนป้านปิง (หมายถึงวัดพระนอนหนองผึ้ง) พระปั้น (หมายถึงวัดพระนอนแม่ปูคา) พระนอนม่อนช้าง เป็นต้น

ไม่ว่าตำนานทั้งหมดนั้นจะสอดคล้องกันกับพุทธประวัติหรือไม่ แต่ชาวบ้านในล้านนาเมื่อครั้งอดีตก็มีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมายังสถานที่แต่ละแห่งนั้นๆ จริง ดังนั้น จำเป็นล่ะหรือที่เราจะใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้าไปตรวจสอบเนื้อหาความถูกต้องของตำนานพระเจ้าเลียบโลก หรือตำนานท้องถิ่นตามวัดฉบับต่างๆ เพื่อค้นหา “ข้อเท็จจริง” ว่าถูกต้องตรงตามพุทธประวัติทุกประการหรือไม่อย่างไร

หรือเราควรติดตามแนวคิดเหล่านั้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ตีความ ค้นหาคำอธิบายว่าเหตุไรชุมชนนั้นๆ จึงมีความเชื่อเช่นนี้ อะไรที่เป็นแรงผลักดันให้คนในยุคหนึ่งลุกขึ้นมาประกาศเชิดชูพระพุทธไสยาสน์โดยอิงว่าพระพุทธเจ้ามีความเกี่ยวข้องกับชุมชนของพวกตน

 

หลากหลายตำนานเรื่องพระนอน

ขอเริ่มจากตำนานของ วัดพระนอนม่อนช้าง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาลพระพุทธองค์เสด็จมาโปรดสัตว์บริเวณพระพุทธบาทตากผ้า จากนั้นเสด็จพุทธดำเนินต่อไปทางบูรพทิศ ทรงประทับสีหไสยาสน์ ณ ป่าแพะเชิงดอยกุญชร ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “หัวดอยม่อนช้าง” มีลัวะสองคนผัวเมียได้ถวายภัตตาหาร เมื่อฉันเสร็จพระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นลูบพระเกศาประทาน ลัวะนำไม้ซางคำมาบรรจุพระเกศานำฝังลงในศิลากลางม่อน (เนิน) นั้นแล้วก่อสถูปไว้

พบหลักฐานจากจารึกไม้วัดพระนอนม่อนช้าง หลัก ลพ. 39 เลขทะเบียน 549/18 เขียนด้วยตัวอักษรฝักขาม จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ให้ข้อมูลโดยสรุปว่า องค์พระนอนสร้างมาแล้วอย่างน้อยก่อน พ.ศ.2337 เพราะพระญากาวิละมาทำการซ่อมอีกครั้งในปีนั้น

วัดพระนอนหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีตำนานซ้อนกันสองเวอร์ชั่น เกี่ยวกับที่มาของพระพุทธรูปและชื่อเรียกที่แตกต่างกันสองชื่อ

เวอร์ชั่นแรกเป็นยุคพุทธกาล กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมายังหนองน้ำแห่งหนึ่งใกล้แม่ระมิงค์ มีพญานาคอาศัยอยู่ เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าก็บังเกิดความปีติจึงเนรมิตกายเป็นมนุษย์ เอาน้ำผึ้งใกล้หนองน้ำมาถวาย เมื่อพระองค์รับแล้วก็สำเร็จสีหไสยาสน์ พญานาคทูลขอรอยพระบาท พระพุทธองค์กล่าวว่า สถานที่นี้ไม่มีหินจักเหยียบ ท่านจงก่อรูปเราไว้ยังที่ตถาคตประทับนอนนี้ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย สถานที่นี้ภายหน้าจักได้ชื่อว่า “พระนอนหนองผึ้ง”

เวอร์ชั่นที่สอง เหตุการณ์เป็นยุคล้านนา ระบุว่า พ.ศ.1836 มีพระมหาเถระเจ้าพร้อมเศรษฐีบริวารจากเมืองเชียงแสนได้บูรณะเจดีย์ขึ้นและสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ คือพระนอนยาว 38 ศอก ต่อมา พ.ศ.1838 หลังจากที่พระญามังรายตีหริภุญไชย แล้วมาสร้างเวียงกุมกาม ได้รวมเอาวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเวียงกุมกามด้วย และเปลี่ยนนามเป็น วัดพุทธป้านปิงหนองผึ้ง

อนึ่ง คำว่า “พระนอนป้านปิง” มีความหมายเฉพาะ “ป้าน” แปลว่า ต้าน, ขวาง เนื่องจากคนในยุคนั้นไม่ต้องการให้แม่น้ำปิงไหลท่วมบ้านเรือนผู้คน หลังจากที่สร้างพระนอนเสร็จ ปรากฏว่าน้ำแม่ปิงก็ไม่เคยไหลท่วมหมู่บ้านอีกเลย คนทั่วไปมักเรียกปะปนกันระหว่าง พระป้านปิง กับพระนอนหนองผึ้ง

เห็นได้ว่าเวอร์ชั่นที่สองนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ล้านนา

บุคคลที่กล่าวถึงคือพระญามังรายมีตัวตนจริง มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เวียงกุมกามจริง แม่น้ำปิงเปลี่ยนสายจริง อาจเป็นเหตุให้ผู้คนในละแวกนั้น ก่อร่างสร้างความเชื่อเฉพาะถิ่นขึ้นมาใหม่ โดยอิงไปว่าพระนอนองค์ดังกล่าวสร้างขึ้นทับที่จุดเดิมที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับไสยาสน์

รูปแบบพุทธศิลปะของพระนอนหนองผึ้ง เป็นศิลปะล้านนายุคต้นถึงยุคกลาง คือราวพุทธศตวรรษที่ 19-20

ที่มาของ วัดพระนอนขอนม่วง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏในตำนานพระนอนขอนม่วง อ้างถึงขอนไม้ม่วงคำต้นใหญ่ ของพระญากุมภมิตตราชซึ่งล้มนอนผุพังทับอยู่บนดินที่ฝังไหคำ ซึ่งยุคต่อมามีพระมหาเถระ 4 รูปจากหงสาวดีได้เดินธุดงค์ผ่านมาพบขอนไม้ม่วงคำนี้ เห็นรากแก้วของมันชี้ออกจากเหง้าดุจดังพระเมาฬีของพระพุทธรูป พระมหาเถระให้คนช่วยกันแกะสลักขอนไม้ที่พุพังเป็นพระนอนขนาดใหญ่ พร้อมให้ขุดไหคำ 4 ไห นำมาบรรจุในองค์พระนอน พร้อมอัญเชิญเกศาธาตุของพระพุทธเจ้ามหากัสสปะ (องค์ที่ 3 ในภัทรกัป) และดินฝ่าเท้า (ดินพนะเฝ่าเถ้า-อังคารธาตุ) ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันบรรจุไว้

จากพุทธลักษณะ พระพุทธไสยาสน์องค์นี้สร้างราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้น 21 เป็นพระนอนก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีการเรียกชื่อตามตำนานพระนอนที่สร้างจากขอนไม้ผุพังว่า “พระนอนพัง” หรือบางครั้งอาจเขียนได้ว่า “พระพรั่ง”

และอีกชื่อหนึ่งชาวบ้านเรียกแบบลำลองว่า “พระนอนแม่จ๊ะเหยือง” เนื่องจากวัดตั้งอยู่ใกล้ลำห้วยแม่จ๊ะเหยือง (ภาษาเขียนใช้ ชะเยือง แปลว่าสะอิดสะเอียน) ทั้งสองชื่อถือว่าไม่เป็นมงคลนาม ทำให้มีการเปลี่ยนใหม่ใน พ.ศ.2406 สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์ หรือเจ้ามหาชีวิตอ้าว (พ.ศ.2399-2413) เมื่อครั้งที่บูรณปฏิสังขรณ์วิหารพระนอนหลังเดิม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พระนอนขอนม่วง”

เห็นได้ว่าที่มาของพระนอนแห่งนี้ค่อนข้างแปลกทีเดียว ไม่มีการเสด็จมากระทำการสีหไสยาสน์ของพระพุทธองค์เมื่อครั้งพุทธกาลเหมือนตำนานสถานที่อื่นๆ แต่เป็นการระบุชื่อ “พระญากุมภมิตตราช” (กษัตริย์แว่นแคว้นใด?) กับพระมหาเถระชาวมอญที่ธุดงค์มาจากหงสาวดี (เมื่อไหร่?) ทั้งยังอ้างไปถึงพระเกศาธาตุของอดีตเจ้าองค์ที่ 3 อีกด้วย

ปริศนาเรื่องการเอา “ขอนไม้มะม่วงผุพัง” มาฝังพระเกศาธาตุ แล้วสร้างพระนอนครอบไว้ เป็นอะไรที่น่าค้นคว้าต่อเป็นอย่างยิ่ง

วัดพระนอนแม่ปูคา อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “วัดพระป้าน” ความเป็นมาปรากฏในตำนานพระป้าน และตำนานพระเจ้าเลียบโลก ทั้งสองเล่มมีเนื้อความเหมือนกันว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมา พบนายอะโส (บางเล่มเขียน อะโน) เป็นชาวนา กำลังปั้นคันนาคือยกคันนาให้สูงเพื่อขังน้ำไว้ในนา พระพุทธองค์ถามชาวนาว่ากำลังทำอะไร เขาตอบว่าปั้นคันนา จึงเป็นที่มาของชื่อวัดพระป้าน (เป็นการลากเสียงของคำว่าปั้นให้ยาวขึ้น) ชาวนาได้หาหญ้าคามาปูลาดให้พระพุทธเจ้าประทับค้างแรมบรรทมสีหไสยาสน์ที่นั่น

รุ่งเช้าพระพุทธองค์ประทานพระเกศา 1 เส้น (บ้างว่า 3 เส้น) ให้พร้อมทำนายว่าต่อไปสถานที่แห่งนี้จะรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา ภายหน้าจะมีผู้มาสร้าง “วัดพระป้าน” และแม่น้ำที่ไหลผ่านได้ชื่อว่า “แม่ปูคา” (มาจากการนำหญ้าคามาปูลาด) และชี้สถานที่ให้นายอะโสสร้างพระพุทธรูปไสยาสน์ ภายหลังจึงเรียกชื่อว่า “วัดพระนอนแม่ปูคา”

ส่วนหลักฐานด้านการก่อสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่นั้น จากรูปแบบศิลปกรรมทำให้ทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยล้านนาราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 เช่นกัน

 

ลักษณะร่วมในตำนานพระนอนท้องถิ่น

เมื่อได้อ่านตำนานความเป็นมาของพระนอนองค์สำคัญทั้ง 4 ในล้านนาแล้ว สามารถจับประเด็นลักษณะร่วมได้ดังนี้

ประเด็นแรก ตำนานทั้งหมดไม่มีการกล่าวถึงคำว่า “ปางปรินิพพาน” แต่อย่างใด ดังที่ได้ชี้แจงให้ทราบในฉบับที่แล้วว่า แนวคิดเรื่อง “พระนอน = ปางปรินิพพาน” แทบจะหายไปโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ยุคที่ลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาแผ่อิทธิพลในสมัยสุโขทัย-ล้านนา

ประเด็นที่สอง พระพุทธรูปทั้งหมดสร้างขึ้นในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา คือตั้งแต่สมัยพระญามังรายลงมาจนถึงประมาณสมัยพระเมืองแก้ว หรือราวพุทธศตวรรษที่ 19-21 ทั้งสิ้น เศรษฐกิจบ้านเมืองดีทำให้สามารถสร้างพระนอนได้ขนาดใหญ่มาก

ซึ่งในรัฐสุโขทัยขณะนั้น กำลังให้คุณค่าต่อ “ปาง 4 อิริยาบถ” นั่ง นอน ยืน เดิน และดูเหมือนว่าล้านนาก็น่าจะรับคติการทำพระนอนขนาดใหญ่มาจากสุโขทัย แต่กลับไม่มีการกล่าวเน้นถึงเรื่อง พระพุทธอิริยาบถทั้ง 4 แต่ประการใด

แม้นัยที่ปรากฏในตำนานพระนอนฉบับต่างๆ ก็อาจสื่อความหมายถึงการประทับพักผ่อนอิริยาบถอยู่บ้าง ดังเช่นกรณีพระนอนม่อนช้าง แสดงถึงเหตุการณ์หลังจากที่ทรงประกอบอิริยาบถ “ยืนประทับรอยพระบาท” ที่พระพุทธบาทตากผ้าเสร็จ ก็มาประทับพักผ่อนในอิริยาบถนอน

ประเด็นที่สาม การเชื่อมโยงแนวคิดเรื่อง “ปาฏิหาริย์-อสุรินทราหู” ที่พระพุทธเจ้าทรงนิรมิตพระวรกายนอนขวางให้อสุรินทราหูรู้สึกประหลาดใจในรูปร่างที่ใหญ่โต จนยอมละทิฐิมานะ หากพิจารณาในตำนานทั้ง 4 เรื่องนี้ พบว่า มีแต่ตำนานพระนอนป้านปิงตำนานเดียวเท่านั้นที่เน้นให้เห็นถึง “อิทธิปาฏิหาริย์” อยู่บ้าง

เป็นปาฏิหาริย์ของพระนอนที่สามารถ “ย้ายเส้นทางไหลของแม่ปิงให้หักเหไปทิศอื่น มิให้เอ่อท่วมเวียงกุมกามได้”

เรื่องแม่ปิงเปลี่ยนสายถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนในยุคล้านนาเมื่อ 500-700 ปีก่อน เนื่องจากเป็นสังคมเกษตรกรรม น้ำแล้งก็ไม่ดี น้ำล้นไปก็อยู่ลำบาก

การที่คนยุคก่อนยังไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ “การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา” ของแม่ปิงที่ครบรอบวงจรตามธรรมชาติจนเปลี่ยนเส้นทางไหลนั้นได้

จึงสร้าง “ความเชื่อ” ขึ้นมาหนึ่งชุด เป็นความเชื่อที่คนในสังคมมีมติเห็นพ้องต้องตรงกันว่า “นี่คือความจริง”

นั่นคือความเชื่อที่ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ภาคีราชบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์ล้านนาเคยอธิบายในเวทีเสวนา “ไทศึกษาครั้งที่ 13” ที่เชียงใหม่ ปี 2560 ว่า

“พระนอนป้านปิง” สร้างขึ้นเพื่อขวางทางเดินน้ำแม่ปิงสายเก่า นอกจากป้องกันน้ำท่วมเวียงกุมกามแล้ว ยังเกิดจากรอยแค้นของขุนหลวงวิลังคะที่มีต่อพระนางจามเทวี ซึ่งขุนหลวงวิลังคะต้องการกั้นไม่ให้น้ำปิงไหลไปทางเดิมคือลงไปหล่อเลี้ยงเมืองลำพูน ไม่อยากให้คนลำพูนกินน้ำแม่ปิงอีก จึงแยกแม่น้ำปิงออกมาทางตะวันตก

เมื่อความแค้นของชาวเชียงใหม่ที่เป็นลูกหลานขุนหลวงวิลังคะสั่งสมไว้นานวันเข้า

วันหนึ่งในสมัยพระญามังรายเมื่อย้ายเมืองหลวงจากลำพูนมาเชียงใหม่แล้ว ต้องการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำ จึงสร้างพระนอนขวางไว้ น้ำปิงจึงเปลี่ยนทางเดินอย่างแท้จริง เป็นเหตุให้ชาวลำพูนไม่ได้กินน้ำปิงอีกต่อไป ต้องกินน้ำแม่กวงแทน

พิจารณาการหันหน้าของพระนอนป้านปิงก็หันแปลกแตกต่างไปจากพระนอนองค์อื่นที่นิยมหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก

แต่พระนอนป้านปิงกลับหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ทำให้พระพักตร์หันขึ้นเหนือ ตามความเชื่อที่ว่าเป็นพระนอนที่หันหน้าไปมองต้นน้ำแม่ปิงที่ดอยหลวงเชียงดาว หรือมองไปทางขุนหลวงวิลังคะ

สรุปได้ว่า ยุคทองของอาณาจักรล้านนาราว 500-700 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างพระนอนขนาดใหญ่มากมายหลายองค์ แต่ละองค์มีตำนานเรื่องเล่าเฉพาะ ทั้งยังมีชื่อเรียกเฉพาะ เกี่ยวบ้าง-ไม่เกี่ยวบ้างกับพุทธประวัติ และเกี่ยวบ้าง-ไม่เกี่ยวบ้างกับประวัติศาสตร์ล้านนา

ทิ้งท้าย เรื่องพระนอนล้านนานี้มีผู้ศึกษากันน้อยมาก ส่วนใหญ่นักประวัติศาสตร์ศิลป์มักสนใจแต่วิวัฒนาการของพระพุทธรูปนั่ง พวกพระสิงห์ พระแก้ว ปางต่างๆ มากกว่า

หากเปิดประเด็นเรื่องพระนอน+ตำนานเฉพาะ ให้กระจายวงกว้างในทุกๆ ท้องถิ่น เราจะเห็นจิ๊กซอว์แต่ละตัวครบจนเป็นภาพเต็มผืนใหญ่

อันอาจช่วยชี้ชัดคลี่คลายปมปัญหา “วาระซ่อนเร้น” ทางการเมืองของบางสังคมที่ซ่อนบาดแผล ให้กระจ่างชัดขึ้นได้