วรศักดิ์ มหัทธโนบล : การยึดหลัก “ตำรากตัญญุตาปกรณ์” และรื้อฟื้น “ระบบคัดเลือกเข้ารับราชการ” ในยุคสุย

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุยที่รุ่งเรือง (ต่อ)

ลําดับถัดมาคือ การเลือกหลักคำสอนจากตำรา กตัญญุตาปกรณ์ (เสี้ยวจิง, Classic of filial piety) มาใช้เป็นแนวทางให้วงศานุวงศ์ เสนามาตย์ และราษฎรยึดถือปฏิบัติ

ปกรณ์เล่มนี้เป็นหนึ่งในปกรณ์ที่สำคัญของสำนักหญูที่ได้รับการยกย่องมาตั้งแต่ยุควสันตสารท1 และที่เลือกเอาปกรณ์เล่มนี้ก็ด้วยเห็นว่ามีหลักคำสอนด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่โดดเด่น

และผู้ที่ถวายคำแนะนำสุยเหวินตี้เลือกก็คือ ซูเวย

หากกล่าวโดยสาระสำคัญแล้ว ปกรณ์เล่มนี้ได้อธิบายหลักคุณธรรมห้าสถานที่บุคคลพึงมีหรือพึงปฏิบัติต่อกัน โดยหนึ่งคือ ความชอบธรรมของบิดา สองคือ ความรักและความเมตตาของมารดา สามคือ น้ำใจไมตรีของพี่ชาย สี่คือ ความเคารพของน้องชาย และห้าคือ ความกตัญญูกตเวทิตาของบุตร

นอกจากนี้ ปกรณ์เล่มนี้ยังกล่าวถึงระบบสายสัมพันธ์ของบุคคลมีฐานะทางสังคมที่ต่างกัน การปฏิบัติต่อกันของบุคคลย่อมเป็นไปตามฐานะทางสังคมที่สูงต่ำของบุคคลแต่ละชั้น เป็นต้น ซึ่งก็คือระบบคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมชนชั้นโดยมีชายเป็นใหญ่ อันเป็นระบบที่ยึดถือปฏิบัติกันเป็นปกติในสมัยนั้น

อนุประเพณีลำดับสุดท้ายคือ การรื้อฟื้นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ

 

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า สุยเหวินตี้มีภูมิหลังที่ต่อต้านบัณฑิตสำนักหญู และใช้ขุนนางที่สำเร็จการศึกษาจากสำนักนี้น้อยมากนั้น แต่ครั้นก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิก็มิอาจหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับบุคคลเข้ารับราชการได้

คำถามจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วจะรับบุคคลตามมาตรฐานใด ในเมื่อสุยเหวินตี้เองทรงรื้อฟื้นอนุประเพณีตามลัทธิขงจื่อขึ้นมาแล้ว ซึ่งมีแต่บัณฑิตจากสำนักนี้เท่านั้นที่มีความรู้ในเรื่องนี้

จากเหตุนี้ สุยเหวินตี้จึงมิอาจปฏิเสธผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสำนักนี้เข้ารับราชการได้ ซ้ำยังทรงเห็นเป็นวาระเร่งด่วนอีกด้วย

ดังนั้น ตลอดทศวรรษ 580 ระบบการรับบุคคลเข้ารับราชการตามมาตรฐานสำนักหญูจึงเกิดขึ้น

ระบบที่ว่ามีตั้งแต่การให้รางวัลแก่ผู้มีความรู้ในปกรณ์ลัทธิขงจื่อเป็นอย่างดี การประกาศให้จังหวัดต่างๆ คัดเลือกบุคคลมาสามคน (ไม่รวมช่างหัตถกรรมและพ่อค้า) เข้ามาอบรมในเมืองหลวงแล้วสอบแข่งขัน จากนั้นก็แต่งตั้งให้ผู้สอบได้เป็นขุนนาง

หรือให้จังหวัดและอำเภอต่างๆ แนะนำบุคคลที่เข้าใจเรื่องราวในปัจจุบันและอดีตเป็นอย่างดี หรือรอบรู้ในพื้นฐานของความมีระเบียบและไร้ระเบียบ จนสามารถเข้าถึงหลักการพื้นฐานทางการเมืองที่ลึกซึ้งได้อย่างแท้จริงให้แก่ราชสำนัก

ระบบนี้แม้จะทำให้เห็นว่าสุยได้สืบทอดการรับบุคคลเข้ารับราชการจากฮั่นก็จริง แต่สุยเองก็ได้พัฒนาระบบนี้ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งเช่นกัน

 

นอกจากลัทธิขงจื่อแล้ว ศาสนาพุทธก็เป็นอีกหลักคิดที่จัดอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์บรรสานในยุคนี้ จะด้วยภูมิหลังของสุยเหวินตี้ที่นับถือศาสนาพุทธดังได้กล่าวไปแล้วหรือไม่ก็ตาม ตอนที่ยังรับใช้โจวเหนืออยู่นั้นได้เกิดเหตุการณ์การทำลายศาสนาพุทธและลัทธิเต้าขึ้น แต่หยังเจียน (สุยเหวินตี้) และภรรยาก็ได้เข้าปกป้องศาสนาพุทธด้วยการหาที่หลบภัยให้แก่แม่ชีในศาสนานี้

ครั้นเมื่อเป็นจักรพรรดิแล้ว สุยเหวินตี้ก็ได้รวบรวมช่างศิลป์ ช่างหัตถกรรม อาลักษณ์ นักปฏิคม และอื่นๆ จำนวนมากไว้ในความดูแล แล้วให้คนเหล่านี้ทำการฟื้นฟูศาสนาพุทธขึ้นมาอีกครั้ง

จากนั้นสุยเหวินตี้ก็ทรงนำหลักคิดของศาสนาพุทธมาประสานเข้ากับหลักคิดของลัทธิขงจื่อ ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ของพระองค์ผ่านการเป็นองค์ศาสนูปถัมภก ว่าพระองค์มีฐานะไม่ต่างกับ “มหาทานบดี” (the Great Danapati) ผู้ยังความเจริญให้หวนกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งแก่ “ไตรรัตนะ” (Triratna)

พระองค์จึงเป็น “จักรพรรตินราช” (Cakravartin-raja) โดยแท้

 

จากนั้นก็เชื่อมโยงหลักคิดทั้งสองอีกว่า พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองดุจดั่ง “โพธิสัตตโวรสแห่งสวรรค์” (Bodhisattva Son of Heaven) ในที่สุด นอกจากนี้ ในฐานะ “มหาทานบดี” พระองค์ยังทรงให้สร้างอารามหลวงขึ้น 45 แห่งในเมืองใหญ่ต่างๆ

แต่ละอารามจะมีภิกษุผู้แตกฉานในธรรมวินัยเป็นเจ้าอาวาส และในฐานะ “จักรพรรตินราช” สุยเหวินตี้ยังทรงเปรียบพระองค์เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของกษัติย์อโศก ที่ทรงปกครองชมพูทวีปด้วยฐานคิดของพุทธศาสนาเช่นกันอีกด้วย

อันเป็นการเปรียบเพื่อนำพระองค์ขึ้นสู่ฐานะ “โพธิสัตตโวรสแห่งสวรรค์” ในที่สุด

 

ส่วนลัทธิเต้าที่เป็นอีกหลักคิดหนึ่งที่มีกำเนิดจากจีนนั้น เป็นหลักคิดที่ถูกนำมาใช้น้อยมากเมื่อเทียบกับศาสนาพุทธ เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะสุยเหวินตี้ทรงนับถือศาสนาพุทธ

แต่ในฐานะหนึ่งในอุดมการณ์แล้ว สุยเหวินตี้ทรงให้อาลักษณ์ที่ใกล้ชิดพระองค์สร้างศิลาจารึกขึ้นมาหนึ่งหลัก โดยเป็นศิลาจารึกที่จารปกรณ์ของลัทธิเต้า แล้วให้ตั้งไว้ที่มณฑลอันฮุยที่เชื่อกันว่าเป็นบ้านเกิดของเหลาจื่อ

นอกจากนี้ ก็ยังทรงให้ขุนนางระดับสูงสืบค้นประวัติความเป็นมาของลัทธินี้ และให้สร้างวิหารสำหรับเป็นที่สักการะลัทธินี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าราชสำนักมีความเคารพในตัวเหลาจื่อ และให้ความใส่ใจต่อวิหารของลัทธินี้

ส่วนที่ว่าลัทธินี้มิได้ถูกนำมาใช้มากนั้น เห็นได้จากในอีกด้านหนึ่งที่สุยเหวินตี้ทรงปฏิเสธตำราพยากรณ์ของลัทธินี้ ด้วยทรงเห็นว่ามีเนื้อหาที่ชักใยการเมืองและใช้คุณไสยอยู่เบื้องหลัง และให้ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายจนถูกปราบปรามและควบคุมอย่างเข้มงวดจริงจัง

จะเห็นได้ว่า ในฐานะอุดมการณ์หนึ่งแล้ว ลัทธิเต้าถูกนำมาใช้ในส่วนที่เป็นหลักคำสอนดั้งเดิมที่เป็นของเหลาจื่อโดยตรง แต่ที่เป็นหลักคำสอนในชั้นหลังจะถูกปฏิเสธในยุคนี้ เพราะเป็นหลักคิดที่มิอาจนับเป็นอุดมการณ์ได้ ด้วยเป็นหลักคิดที่อาจเป็นภัยต่อเสถียรภาพของสุยได้ไม่ยาก

 

อุดมการณ์บรรสานจากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นได้ว่า การฟื้นฟูจักรวรรดิขึ้นใหม่ในครั้งนี้มีเงื่อนปัจจัยสองประการที่อยู่คู่กัน ปัจจัยหนึ่ง เป็นภูมิหลังของจักรพรรดิที่สมาทานหลักคิดพุทธศาสนา แล้วใช้หลักคิดนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจักรวรรดิ

ปัจจัยนี้มีพื้นฐานมาจากยุคก่อนหน้านี้ ที่ว่าศาสนาดังกล่าวได้เป็นที่ยอมรับนับถือกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นปกครองของรัฐหรือราชวงศ์ต่างๆ และเมื่อสุยตั้งเป็นราชวงศ์ขึ้นมาภายใต้ภูมิหลังที่ว่าจึงมิอาจตัดหลักคิดนี้ออกไปได้ ในขณะที่การนำหลักคิดนี้มาใช้ก็มิได้มีหลักประกันว่าจะสำเร็จเช่นกัน

อีกปัจจัยหนึ่ง เป็นรากฐานของหลักคิดที่มีกำเนิดในจีนแต่เดิมที่มีความมั่นคงมาช้านาน และด้วยเหตุนั้นถึงแม้จะมีหลักคิดจากภายนอกเข้ามาในจีนและเป็นที่ยอมรับในจีน ถึงที่สุดแล้วก็มิอาจสั่นคลอนหลักคิดเดิมนี้ไปได้ โดยเฉพาะเมื่อหลักคิดเดิมมีผู้สมาทานอยู่ไม่น้อย และในจำนวนนี้กลับเป็นเสนามาตย์ของสุยเองอีกด้วย

ดังนั้น การนำหลักคิดลัทธิขงจื่อและลัทธิเต้ามาใช้จึงมีพื้นฐานมาจากการหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้องค์จักรพรรดิเองจะมีอคติกับหลักคิดเดิมนี้ก็ตาม

แต่ที่ดูจะเป็นเหตุผลสำคัญเหนืออื่นใดก็คือ ลัทธิขงจื่อเป็นหลักคิดที่เป็นระบบ ซึ่งหากนำมาใช้โดยไม่บิดเบือนและอย่างเหมาะสมแล้ว ก็สามารถคาดหวังได้ถึงเสถียรภาพที่พึงมีของจักรวรรดิ ดังที่ราชวงศ์ในยุคก่อนหน้าทำสำเร็จมาแล้ว

เมื่ออุดมการณ์ดังกล่าวได้ “บรรสาน” กันแล้ว การสร้างจักรวรรดิในภาคปฏิบัติจึงเกิดควบคู่ตามมา

 

การสร้างจักรวรรดิกับการปฏิรูป

ช่วงที่หยังเจียนดำเนินการยึดอำนาจจนกระทั่งยึดได้จนสำเร็จนั้น หากไม่นับการจัดการกับกลุ่มอำนาจเดิมซึ่งเป็นปัญหาภายในแล้ว หลังการยึดอำนาจและตั้งราชวงศ์ขึ้นแล้วนั้น รัฐที่ตั้งตนเป็นใหญ่ที่อยู่นอกเขตอำนาจของสุยออกไปยังคงมีอยู่อีกบางรัฐ

กล่าวอีกอย่าง แม้สุยจะถูกตั้งขึ้นแล้วก็ตาม แต่ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือก็ยังมิได้สลายลงอย่างสิ้นเชิง การมีอยู่ของรัฐเหล่านี้ย่อมเป็นอุปสรรคในการสร้างจักรวรรดิของสุย ซึ่งสุยต้องคิดหาทางสยบรัฐหรือราชวงศ์เหล่านี้ให้ได้

และรัฐหรือราชวงศ์ที่เข้มแข็งที่สุดในเวลานั้นก็คือเฉิน

———————————————————————————————————————
(1) ปกรณ์เล่มนี้ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้แต่ง บ้างก็เชื่อว่าขงจื่อเป็นผู้แต่ง บ้างก็ว่าเป็นศิษย์คนหนึ่งของขงจื่อเป็นผู้แต่ง แต่แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่งก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันก็คือ ปกรณ์เล่มนี้มีขึ้นหรืออยู่ในยุคร่วมสมัยเดียวกับขงจื่อ