คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พระฝ่ายมหายานมีเมียได้จริงหรือ?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

อนุสนธิ์ของบทความนี้มาจากการที่ผมได้ดูข่าวในโลกออนไลน์ เรื่องพระจูเลียนชาวตะวันตกซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการปลีกวิเวกและคอยช่วยเหลือชาวบ้านต้องอาบัติปฐมปาราชิก ซึ่งก็คือการเสพเมถุนนั่นแล

หลายคนคอมเมนต์ไปในทางเดียวกันว่า ถ้าไม่อยากเคร่งนักก็ไปบวชกับมหายานสิ ทางนั้นพระเค้ามีเมียได้ เขาไม่เคร่งเหมือนพระเถรวาทบ้านเรา เขาไม่ถือศีล ฯลฯ

ยิ่งอ่านก็ยิ่งอยากเถียงครับ แต่ปกติผมไม่ค่อยไปเถียงใครในเฟซบุ๊ก เก็บเอาประเด็นมาคิดต่อแล้วเขียนลงมติชนสุดสัปดาห์ดีกว่า ได้ค่าเรื่องด้วย (ฮา)

 

ในโลกนี้พุทธศาสนามีสามนิกายหลักคือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน ที่จริงวัชรยานนั้น โดยเนื้อแท้ก็ถือมติโพธิสัตว์เช่นเดียวกับมหายาน จะนับว่าเป็นมหายานด้วยก็ได้ เพียงแต่พัฒนาในเชิงอุปายะวิธีแตกต่างออกไป

ความแตกต่างระหว่างเถรวาทและมหายานนั้น ที่จริงไม่ได้แตกต่างมากขนาดที่หลายคนเข้าใจ ความแตกต่างอย่างแรกคือหลักการบางอย่างในทางอภิปรัชญา

เป็นต้นว่า ฝ่ายมหายานถือว่าสรรพสัตว์มีเนื้อแท้ที่บริสุทธิ์ คือมีพุทธภาวะอยู่แล้ว ในขณะที่ฝ่ายเถรวาทไม่ได้สอนเช่นนี้

ผมคิดว่าความแตกต่างอย่างสำคัญคือเรื่อง “อุดมการณ์” ในขณะที่ฝ่ายเถรวาทเน้นการบรรลุอรหันตผล ฝ่ายมหายานเน้นบรรลุพุทธภูมิ โดยตั้งปณิธานเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อฉุดช่วยสรรพสัตว์ให้ได้มาก

ที่จริงการบรรลุไม่ว่าจะอรหันตภูมิหรือพุทธภูมิ ก็ล้วนมีเพื่อ “ประโยชน์สอง” คือประโยชน์แก่ตนและประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งนั้น

แต่ฝ่ายมหายานถือว่า การเป็นพระอรหันต์นั้นต่างจากความเป็นพุทธะ เพราะพระพุทธะมีคุณสมบัติหลายอย่างที่พระอรหันต์ไม่มี เช่น ประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณ ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยอุปายะอันเลิศจึงช่วยสัตว์ได้มากกว่า

ด้วยอุดมการณ์นี้เองที่ทำให้ฝ่ายมหายานมีท่าทีที่ต่างกับฝ่ายเถรวาท เป็นต้นว่า บางครั้งพระโพธิสัตว์อาจยอมทำสิ่งที่ผิดในสายตาชาวโลกก็ได้ หากไตร่ตรองด้วยปัญญาแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นทางเดียวที่จะช่วยสรรพสัตว์ได้

ดังนั้น ในบางกรณี ความผิดถูกหรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมจึงเป็นเรื่องรองกว่าเรื่องอุดมการณ์

 

ในแง่พระวินัย ที่จริงฝ่ายมหายานใช้พระวินัยเดียวกับเถรวาทนั่นแล ไม่ได้มีพระวินัยเป็นเอกเทศแยกออกไป พระภิกษุก็ยึดถือพระปาฏิโมกข์ ซึ่งก็ระบุปฐมปาราชิกอย่างเดียวกัน ข้อวินัยนั้นทางฝ่ายเรามี 227 ข้อ ทางฝ่ายมหายานมี 250 ข้อ

แต่ด้วยรูปแบบทางวัฒนธรรมที่แตกต่างในแต่ละประเทศ จึงทำให้รูปแบบภายนอกแตกต่างไปด้วย เป็นต้นว่า การใช้จีวรที่ดูเหมือนชุดต่างกับฝ่ายเถรวาท แต่หากไปนับดูจริงๆ ท่านก็ครองไตรจีวรอย่างเดียวกับเรา เพียงแต่ตัดเย็บไปตามสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

ผมต้องบอกอีกว่า ศีลของเขาก็ครบถ้วนอย่างเราครับ มีทั้งศีลฆราวาส (อุบาสก-อุบาสิกา และศีลอุโบสถ) ศีลสามเณร-สามเณรี ศีลพระภิกษุ-ภิกษุณี

นอกจากนี้ ฝ่ายมหายานไม่ว่านักบวชหรือคฤหัสถ์ ก็มักต้องถือศีลนอกพระปาฏิโมกข์ ที่เรียกว่า “ศีลโพธิสัตว์” อีกด้วย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศีลฝ่ายมหายาน

ศีลโพธิสัตว์มีหลักการกว้างๆ เน้นการไม่เบียดเบียนสัตว์ ที่สำคัญเขามีศีลโพธิสัตว์ข้อหนึ่งครับ ระบุว่า ต้องไม่ดูถูกพุทธธรรมฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายเถรวาท

ข้อนี้เราน่าจะเรียนรู้จากเขาบ้าง

ในฝ่ายวัชรยาน นอกจากมีศีลปาฏิโมกข์และศีลโพธิสัตว์แล้ว ยังมี “สมยศีล” หรือ “ศีลตันตระ” ซึ่งเป็นศีลเฉพาะสำหรับศิษย์และครูในวิถีตันตระอีก

ดังนั้น บางคนจึงอาจถือศีลถึงสามอย่าง คือ ศีลในปาฏิโมกข์ตามสถานภาพของตนเอง ศีลโพธิสัตว์ และศีลตันตระไปด้วยในเวลาเดียวกัน แต่หากไม่ใช่พระภิกษุ ก็อาจถือเพียงศีลโพธิสัตว์และศีลตันตระก็ได้

 

ดังนั้น การบอกว่า ชาวพุทธในนิกายอื่นๆ ไม่ให้ความสำคัญกับศีลและวินัยนั้น เป็นความเข้าใจผิด

อีกทั้งชาวมหายานมีวิธีเข้าใจศีลที่ต่างกับเรา เขาถือว่าศีลและวินัยเป็นสิ่งที่ตีความได้ เพื่อให้พระหรือชาวบ้านสามารถดำรงท่าทีของพุทธธรรมเอาไว้ ในสถานการณ์หรือบริบทที่แตกต่างกันออกไป

การยึดถือศีลและวินัยตามตัวอักษร หลายครั้งเกิดสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่มีในยุคพุทธกาล ผมก็สงสัยว่าพระบ้านเราจะตีความยังไง เช่น การคุยโทรศัพท์มือถือกับสีกานี่นับว่าลับหูไหม หรือเล่นอินเตอร์เน็ตคนเดียวเรียกว่าลับตาไหม (ซึ่งอยู่ในเรื่องอนิตยะ) หรือการมีนิตยภัตร (เงินเดือนพระ) และสมณศักดิ์นี่จัดว่ารับราชการ (ซึ่งผิดพระวินัย) ไหม

ตอนนี้ผมยังไม่เห็นคำตอบจากพระฝ่ายเถรวาทครับ

 

ส่วนความเข้าใจว่าพระฝ่ายมหายานมีเมียได้นั้น เกิดขึ้นด้วยสาเหตุหลัก คือประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น และในฝ่ายทิเบต

ในญี่ปุ่น แต่เดิมพระภิกษุก็ถือพระปาฏิโมกข์ไม่ต่างกับบ้านเรา ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ท่านชินรัน พระภิกษุซึ่งถูกรัฐเนรเทศเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเผยแพร่คำสอนได้แต่งงานมีครอบครัว ภายหลังท่านนิยามตนเองว่า “ไม่เป็นทั้งพระทั้งฆราวาส” ยังคงสั่งสอนศิษย์ จนนิกายวิสุทธิภูมิหรือโจโดชินแพร่หลาย นิกายโจโดชินจึงยอมรับการมีอยู่ของนักบวชแบบที่มีลูกเมียได้เป็นนิกายแรก

ครั้นเมื่อมีการปฏิรูปสมัยเมจิ มีการยกศาสนาชินโตให้เป็นอุดมการณ์ของราชสำนัก พุทธศาสนาเสื่อมลงมาก พระต้องทำงานเลี้ยงชีพ วัดกลายเป็นสมบัติของรัฐหากไม่มีผู้สืบทอด พระจึงแอบใช้ระบบเครือญาติหรือครอบครัวในการดูแลวัด

ต่อมาในปี 1872 รัฐบาลออกกฎหมายให้พระภิกษุสามารถมีครอบครัวได้อย่างเปิดเผย นับแต่นั้นนักบวชในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งยังคงรักษาพระธรรมวินัยตามแบบดั้งเดิมไว้ อีกพวกใช้ชีวิตเหมือนคนธรรมดา

คุณกรกิจ ดิษฐาน เสนอให้ใช้คำเรียกพวกหลังว่าอนุศาสนาจารย์ เพื่อไม่ให้สับสนกับพระภิกษุที่ถือปาฏิโมกข์

ดังนั้น การเกิดพระมีเมียในญี่ปุ่น จึงเป็นลักษณะเฉพาะภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่มีในที่อื่น อีกทั้งญี่ปุ่นมองว่าพระเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง ไม่ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษในทางสังคมแต่อย่างใด

 

ส่วนในทิเบต เนื่องจาก “คุรุ” จะเป็นพระภิกษุหรือฆราวาสก็ได้ สมณศักดิ์ระดับสูง เช่นริมโปเชนั้น มีทั้งพระและฆราวาสครอง เมื่อเป็นคุรุแล้วก็จะได้รับความเคารพย่างสูงทั้งจากพระและฆราวาส

ด้วยเหตุนั้น จึงเกิดมีความสับสน เพราะเห็นคุรุบางท่านมีลูก-เมียได้ ซึ่งที่จริงท่านเหล่านั้นไม่ใช่พระภิกษุที่ถือปาฏิโมกข์แต่เป็นฆราวาสหรือโยคี บางท่านอาจเคยเป็นพระภิกษุ แต่ก็เปลี่ยนมาเป็นโยคีในภายหลังก็มี

ที่สำคัญ ความสับสนนี้มาจากประเพณีที่เกี่ยวกับ “เครื่องแบบ” ด้วยครับ คือในประเพณีฝ่ายมหายานนั้น ผู้ถือศีลแต่ละระดับล้วนครองผ้าซึ่งดูเผินๆ คล้ายนักบวชเหมือนกันไปหมด บางครั้งก็ปลงผมเสียด้วย

ในทิเบต คุรุล้วนมีเครื่องแต่งกายแสดงสถานภาพของตน ท่านที่แม้เป็นฆราวาสแต่มีหน้าที่ดูแลวัดวาอารามก็ต้องสวมจีวรคล้ายพระภิกษุ

ประเพณีเรื่องเครื่องแต่งกายนี่เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสับสนระหว่างความเป็นนักบวชและคฤหัสถ์สำหรับชาวพุทธในบ้านเรา

ซึ่งที่จริงคือความยืดหยุ่นระหว่างความเป็นนักบวช-ฆราวาสที่เลื่อนไหลไปมาได้นั่นแหละ

 

ประการสุดท้าย ประเพณีพุทธฝ่ายมหายาน คล้ายๆ ไม่ได้ซีเรียสเรื่องจำนวนข้อของวินัยที่เอามาจำแนกความสูงต่ำของบุคคลแบบที่บ้านเรายึดถือ ฆราวาสจึงอาจสอนธรรมแก่พระภิกษุก็ได้ พระภิกษุเป็นเพื่อนหรือเป็นศิษย์ของฆราวาสก็ได้

โดยอุดมคติแล้ว เครื่องจำแนกบุคคลคือ ธรรมที่คนคนนั้นประพฤติปฏิบัติ

ในประเด็นนี้ ท่านหลวงแม่ธัมมนันทาเคยกล่าวอะไรไว้อย่างน่าฟังว่า พระพุทธเจ้าให้พระถือ “ธรรมวินัย” ไม่ใช่ถือแค่วินัย แต่ต้องถือ “ธรรม” ด้วย

ความเป็นพระจึงอยู่ที่ทั้งธรรมและวินัย ไม่ใช่แค่ข้อใดข้อหนึ่ง