ศัลยา ประชาชาติ : ไฟลามทุ่ง “เบี้ยวหนี้” ตั๋วบี/อี-หุ้นกู้ โดมิโนเอฟเฟ็กต์ “ตลาดทุน” ทั้งระบบ

ฝันร้ายเขย่าวงการตลาดทุนช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีการผิดนัดชำระหนี้ (ดีฟอลต์) ตั๋วแลกเงินระยะสั้นหรือที่เรียกว่า “ตั๋วบี/อี” ที่กำลังเหมือน “ไฟลามทุ่ง”

หากไล่เรียงเคสที่เกิดกรณีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วงเดือนเศษ ซึ่งนับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (17 มกราคม 2560) ก็ปาเข้าไป 5 รายแล้ว

และมีการคาดการณ์ว่าในช่วง 1-2 ปีนี้จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในกลุ่มตั๋วบี/อี และหุ้นกู้ประเภทไม่มีเรตติ้ง

โดยที่ผู้รับผลกระทบโดยตรงในขั้นแรกก็คือผู้ลงทุนที่ซื้อตั๋วบี/อี-หุ้นกู้ หรือผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเภทดังกล่าว

แต่งานนี้ที่วงการตลาดทุนหวาดหวั่นก็คือ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในวงกว้าง

กลายเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กต์ของตลาดทุน

 

สําหรับเหตุการณ์ดีฟอลต์ที่เกิดขึ้น เคสแรกเกิดขึ้นกับ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) ที่เกิดการดีฟอลต์ตั๋วบี/อี 1 รุ่นมูลค่า 50 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559

ถัดมาคือ บมจ.เคซี พร็อพเพอร์ตี้ (KC) ซึ่งได้ดีฟอลต์ตั๋วบี/อี จำนวน 2 รุ่น มูลค่ารวม 170 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดชำระเงินเมื่อ 15 ธันวาคม 2559 และ 5 มกราคม 2560 โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้หลังได้จดจำนองสินทรัพย์ค้ำประกันมูลค่ารวมกว่า 360 ล้านบาท

หลังจากนั้น บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ก็ต่อคิวผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี ครั้งแรก 2 รุ่น มูลค่า 200 ล้านบาท เมื่อ 23 ธันวาคม 2559 และ 30 ธันวาคม 2559

และเกิดการดีฟอลต์ครั้งที่สองอีก 1 รุ่น มูลค่า 200 ล้านบาท เมื่อ 5 มกราคม 2560 ซึ่งรอบนี้บริษัทได้ขอเลื่อนการจ่ายออกไปในวันที่ 11 มกราคม 2560

แต่ที่สุดก็ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้เช่นเดิม

นอกจากนี้ IFEC ยังมียอดตั๋วบี/อี ที่จะทยอยครบกำหนดในปีนี้อีกกว่า 1,920 ล้านบาท ซึ่งมีสถาบันหลายแห่งถือครองอยู่ รวมถึงตราสารหนี้ระยะยาวหรือหุ้นกู้อีกกว่า 3,000 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2560

รายต่อมาก็คือ บมจ.อีฟอร์แอลเอม (EFORL) ผิดนัดชำระหนี้เมื่อ 12 มกราคม 2560 มูลค่า 200 ล้านบาท แต่สำหรับรายนี้วันถัดมาก็สามารถชำระหนี้คืนเรียบร้อยแล้ว

และกรณีล่าสุดคือ บมจ.ริช เอเซีย คอร์ปอเรชั่น (RICH) มีการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้กับธนาคาร ทำให้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับตั๋วบี/อีและหุ้นกู้คงค้างของบริษัททั้งหมดรวม 5 รายการ ซึ่งคิดเป็นยอดมูลหนี้รวมกว่า 2,055.86 ล้านบาท

 

ขณะที่ นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้างานสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การลุกลามของการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี ส่วนหนึ่งเกิดจาก บจ. ในฐานะผู้ออกตั๋ว นำเงินไปใช้ลงทุนซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ เพราะการออกตั๋วบี/อีมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสภาพคล่องไม่เกิน 270 วัน

ซึ่งหากเลือกเอาไปใช้ลงทุนมากๆ ก็คงต้องเหนื่อย เพราะต้องต่ออายุตั๋วที่ครบกำหนดไปเรื่อยๆ

เบื้องต้นคาดว่าตั๋วที่มีความเสี่ยงมีมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยอดตั๋วบี/อีคงค้างทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2559 ที่ราว 2-3 แสนล้านบาท

แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาประสานเสียงว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น “ไม่น่ากังวล” เพราะอยู่ในวงจำกัดนักลงทุนรายใหญ่ และถือเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งระบบ

แต่นี่อาจเป็นสัญญาณอันตรายของตลาดทุนที่ปัญหากำลังปะทุ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อ “ความเชื่อมั่น” ของนักลงทุน ที่มีต่อตลาดทุนทั้งระบบไม่ใช่แค่ตั๋วบี/อีเท่านั้น

 

แหล่งข่าวในวงการตลาดทุนรายหนึ่ง ระบุว่า ต้นเหตุปัจจุบันสำคัญคือมีหลายบริษัทที่ใช้แหล่งระดมทุนระยะสั้นอย่างตั๋วบี/อี เป็นสภาพคล่องในการบริหารธุรกิจ รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนบางแห่งก็ใช้เงินกู้ในการขยายธุรกิจเพื่อสร้างสตอรี่ (สร้างราคา) จนทำให้มีเงินกู้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ด้วย ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงมาก และปัญหากำลังปะทุแบบ “น้ำลดตอผุด” ที่จะกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กต์ของตลาดทุน ลุกลามไปยังตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ ทั้งที่มีเรตติ้งและไม่มีเรตติ้งในระบบทั้งหมด

สอดคล้องกับ นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย วิเคราะห์ถึงสาเหตุว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของผู้ลงทุนในตราสารหนี้ทั้งตั๋วบี/อีและหุ้นกู้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยุคดอกเบี้ยต่ำทำให้นักลงทุนพยายามแสวงหาตราสารที่ให้ผลตอบแทน (ยีลด์) สูง

ทำให้มีความนิยมเข้าไปลงทุนในหุ้นกู้ และตั๋วบี/อี ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง หรือ “นอนเรต” เรียกว่าที่ผ่านมามีเท่าไหร่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็รับซื้อหมด

เมื่อกระแสความต้องการเพิ่มมากขึ้น ก็กลายเป็นโอกาสของบริษัททั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ พากันเสนอขายตั๋วบี/อี ที่ให้ผลตอบแทนสูงในตลาดจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการยอมรับว่า กระแสการออกตั๋วบี/อีและหุ้นกู้ไม่มีเรตติ้ง ที่กลายเป็นจุดเสี่ยงหรือต้นตอของปัญหา ส่วนหนึ่งก็เพราะทั้งโบรกเกอร์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นั่นเอง ที่เป็นผู้เสนอและจัดการให้ บจ. ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทขนาดเล็กไม่มีความสามารถในการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ระดมเงินด้วยวิธีการออกตั๋วบี/อี และหุ้นกู้แบบไม่มีเรตติ้ง ซึ่งหมายความว่ามีความเสี่ยงสูงนั่นเอง

ดังนั้น ปี 2558 มีการออกตั๋วบี/อี ราว 2.79 หมื่นล้านบาท ก่อนจะกระโดดเป็นกว่า 6 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดคงค้างของตั๋วบี/อี ณ สิ้นปี 2559 ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 220,551 ล้านบาท

จึงไม่แปลกที่จะมีทั้ง “ของดี” และ “ของเสีย” ซุกซ่อนอยู่ด้วยเพราะปริมาณค่อนข้างเยอะ

 

ขณะที่ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี และหุ้นกู้ไม่มีเรตติ้ง คาดว่าจะยังตามหลอกหลอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยในระยะสั้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็จะมีตั๋วบี/อี และหุ้นกู้ที่ทยอยครบกำหนดไถ่ถอนอีกกว่า 1 แสนล้านบาท

ซึ่งอาจเกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ซ้ำรอยขึ้นมาอีกได้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มหดหาย ทำให้โอกาสที่จะเสนอขายรอบใหม่เมื่อครบอายุ (Roll over) ก็คงลดน้อยลง ซึ่งก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของทั้ง บจ. และกองทุนรวม

ดังนั้น สิ่งที่ต้องเฝ้าจับตาหลังจากนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาดีฟอลต์ตั๋วบี/อี

แต่คือผลกระทบที่จะลุกลามเป็นวงกว้างไปสู่การดีฟอลต์ของตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ หลังนักลงทุนเริ่มตื่นตระหนกมากขึ้น

ขณะที่ความหวังของผู้ออกตั๋วบี/อี คือการเรียกความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนให้กลับมา แม้ต้องแลกกับต้นทุนการระดมทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม