ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /THE LION KING

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

THE LION KING

‘เจ้าป่า’

 

กำกับการแสดง Jon Favreau

เสียงพากย์ Donald Glover Beyonce Chiwetel Ejiofor James Earl Jones John Oliver Alfre Woodard

 

เผลอแป๊บเดียว ผ่านไปยี่สิบห้าปีแล้วนะคะ

ค่ายหนังดิสนีย์ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ทั้งด้านรายได้และเสียงตอบรับของนักวิจารณ์จากหนังแอนิเมชั่น The Lion King ใน ค.ศ.1994

เป็นการ์ตูนวาดมือตามรูปแบบที่ดิสนีย์ถนัด

แม้ผู้เขียนดูมานานแล้ว แต่ก็ยังจำได้หลายฉากอย่างตรึงตรา

หลังจากนั้นผู้เขียนก็ได้ดูมิวสิเคิลเรื่องนี้ที่เวสต์เอนด์ในลอนดอน

ตื่นตาตื่นใจมากค่ะ ทั้งกับสีสันของป่าซาวานนาห์ในแอฟริกาที่เป็นเฉดสีส้ม เครื่องแต่งกายที่เนรมิตแปลงให้คนกลายเป็นสัตว์นานาชนิด เสียงเพลงอันไพเราะและเร้าใจ

โดยเฉพาะฉากที่ติดตรึงเป็นพิเศษคือภาพควายป่าวิ่งเตลิดผ่านโตรกเขาแคบๆ ซึ่งซิมบาน้อยที่เป็นพระเอกของเรื่อง ถูกลวงให้ไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น

โอ้โฮ ไม่นึกว่าละครเวทีจะทำเอฟเฟ็กต์ที่เร้าใจได้ขนาดนั้น ฉากที่เรียกว่า stampede หรือการวิ่งอย่างแตกตื่นนี้สร้างให้ดูเหมือนฝูงสัตว์ป่าวิ่งเข้าใส่คนดูซึ่งๆ หน้าเลย แบบที่ต้องช่วยซิมบาลุ้นคอยบีบตัวหลบไปด้วยตลอดหลายนาที

ฉากนี้เป็นฉากสำคัญที่ทำให้เจ้าป่ามูฟาซาเป็นห่วงลูกชายจนต้องมาช่วย และต้องเสียชีวิตในที่สุด

 

ปีนี้ The Lion King กลับมาอีกครั้ง เป็นหนังแอนิเมชั่นรูปแบบใหม่ ที่ดูหน้าตาเหมือนหนังสารคดีชีวิตสัตว์ป่าที่ไปถ่ายทำมา แต่ก็ใช้การสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งนั้น

ดูเหมือนหนังที่มีสัตว์ตัวเป็นๆ โลดแล่นไปตามบทบาทที่กำหนดไว้ แบบที่เรียกว่า live action movie

อันที่จริงเราก็ได้ดูภาพสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นโลดแล่นมีชีวิตโดยการสร้างด้วยคอมพิวเตอร์มาแล้ว อย่างในเรื่อง Life of Pi ซึ่งให้หนุ่มน้อยกับเสือลอยล่องอยู่ในเรือลำเล็กสองต่อสองกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เราก็ได้เห็นภาพเสือมีชีวิตขึ้นมาอย่างสมจริงสมจังด้วยคอมพิวเตอร์มาแล้ว

แต่ครั้งนี้เป็นชีวิตสัตว์ในป่าทั้งเรื่องเลยค่ะ

ชวนตื่นตาตื่นใจมาก

ผู้กำกับฯ จอน ฟาฟโร (เพิ่งเจอหน้ากันไปหยกๆ ในจอภาพยนตร์ด้วยบทบาทของ “แฮปปี้” ใน Spider-man Far From Home) กำกับหนังเกี่ยวกับชีวิตในป่ามาแล้วใน The Jungle Book (ที่คนไทยรู้จักในชื่อว่า “เมาคลีลูกหมาป่า”) ซึ่งยังมีคนแสดงเป็น live action ผสม animation

เรื่องราวของ The Lion King เวอร์ชั่นปัจจุบัน แทบจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากเวอร์ชั่นการ์ตูนมือวาดฉบับดั้งเดิมเลยค่ะ

เป็น remake แบบที่เดินตามเรื่องเดิมของหนังต้นฉบับ แทบจะเป็นฉากต่อฉากก็ว่าได้  มีรายละเอียดผิดกันไปเล็กๆ น้อยๆ แบบที่ไม่ถือว่าเป็นข้อใหญ่ใจความ

แต่นอกจากเนื้อเรื่องที่เหมือนของเดิมแล้ว หนังมีหน้าตาผิดไปจากเดิมเหมือนอยู่กันคนละโลก

จากความเป็นการ์ตูนแสนน่ารักสำหรับเด็กมาเป็นเหมือนสารคดีที่ถ่ายทำจากตัวสัตว์เป็นๆ แสนน่ารัก

ความสมจริงแบบภาพถ่ายนั้นแทบจะจับไม่ได้เลยว่าเป็นภาพที่เนรมิตขึ้นด้วยเวทมนตร์ของโลกสมัยใหม่

 

ฉากเปิดเรื่องยังคงเป็นเสียงเพลงอันเร้าใจของธรรมชาติที่มาพร้อมกับแสงแรกของดวงอาทิตย์ที่สาดส่องบนพื้นโลก ชีวิตสัตว์ในป่าโลดแล่นออกหากิน ทั้งฝูงนกโบยบิน ฝูงยีราฟ และมวลสัตว์นานา ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นในป่าบริสุทธิ์ของแอฟริกา

และบนโขดหินที่เรียกว่า “ผาทระนง” หรือ Pride Rock ซึ่งเป็นนิวาสสถานของสิงโตเจ้าป่า ทารกลูกชายที่เพิ่งคลอดของราชาสิงโตมูฟาซา (เจมส์ เอิร์ล โจนส์ ซึ่งเป็นนักแสดงคนเดียวที่กลับมารับบทบาทเดิม คงด้วยเหตุที่ว่าเขามีเสียงทุ้มกังวานแบบหนึ่งเดียวคนนี้ซึ่งหาใครมาแทนที่ได้ยาก) ลิงบาบูนที่เป็นสัตว์ซึ่งมีหน้าตาเหมือนใช้เครื่องสำอางแต่งหน้ามาไม่มีผิด (จอห์น โอลิเวอร์) เป็นคนเจิมหน้าผากให้แก่ทารกสิงโตในฐานะรัชทายาทของเจ้าป่า

ภาพ “ผาทระนง” ในแอนิเมชั่นทั้งสองเรื่องนี้เหมือนกันแทบไม่ผิดเพี้ยน

แล้วเรื่องราวก็เดินต่อไป สู่ความซุกซนและต้องการพิสูจน์ความกล้าหาญของซิมบาน้อย

การสำรวจโลกกว้างที่มูฟาซาแนะนำให้ลูกชายรู้จักว่าอาณาจักรที่เจ้าป่าครองนั้นกว้างใหญ่ไพศาลไปทั่ว “ทุกแห่งที่แสงสาดส่องไปถึง”

ฟังดูโรแมนติกและมีความหมายเชิงกวีเหลือเกิน

แต่นั่นก็หมายถึงว่าอาณาจักรของเจ้าป่าครอบคลุมไปไม่ถึงแดนที่ปกคลุมด้วยเงามืด อันเป็นดินแดนแห่งความตาย ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของสิ่งชั่วร้ายอย่างเช่น พวกไฮยีนาที่หิวโหย เป็นต้น

 

สการ์ (ชิเวเทล เอจิโอฟอร์ พระเอกของ 12 Years a Slave) น้องชายผู้ทะเยอทะยานของมูฟาซา คอยมุ่งร้ายหมายขวัญทั้งพี่ชายและหลานชายผู้เป็นทายาทคนเดียวของเจ้าป่า จึงคอยยุยงให้ซิมบาซุกซนไปในที่อโคจร อันเป็นสุสานช้าง หรือดินแดนของความตาย เป็นต้น

และมูฟาซาต้องคอยไปช่วยลูกชายให้พ้นจากอันตรายครั้งแล้วครั้งเล่า

จวบจนน้องชายใจคดผลักเขาให้ตกผาแบบซึ่งๆ หน้า

และโยนความผิดให้ซิมบาเป็นผู้รับผิดชอบต่อความตายของพ่อ แถมยังกำจัดหลานชายคนเดียวไปให้พ้นทาง

ซิมบาไม่กล้ากลับไปสู้หน้าแม่และพรรคพวก และต้องร่อนเร่พเนจรแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ก็ได้พบกับเพื่อนใหม่ คือ พูมา (หมูป่า) และทีโมน (เมียร์แคต) ซึ่งช่วยให้เขามีชีวิตใหม่ในป่าอันอุดมสมบูรณ์

แน่นอนค่ะ คงยังจำวลีแปลกหูจาก Lion King กันได้

“ฮาคูนา มาทาทา” ซึ่งเป็นคติพจน์ที่สองเกลอใช้ปลอบใจซิมบา ซึ่งแปลในทำนองว่า อย่าวิตกไปเลย

และ “ฮาคูนา มาทาทา” กลายมาเป็นเพลงติดหูเพลงหนึ่งของเรื่อง

 

ที่จะละเว้นไม่พูดถึงไม่ได้คือ เพลง Can You Feel the Love Tonight? ที่เอลตัน จอห์น กับทิม ไรซ์ แต่งไว้สำหรับเรื่องดั้งเดิม

เพลงนี้มาตอนฉากเกี้ยวพาราศีระหว่างสิงโตหนุ่มสาว ซิมบา (โดนัลด์ โกลเวอร์) กับนาลา (บียอนเซ)

หวานซึ้งเสียไม่มีละ

แต่ก็อดคิดถึงเสียงต้นฉบับของเอลตัน จอห์น ไม่ได้

เพลงนี้เป็นเพลงที่กวาดรางวัลมากมาย ทั้ง Best Original Song จากอคาเดมีอวอร์ดและโกลเด้นโกลบ รวมทั้งทำให้เอลตัน จอห์น ได้รางวัลนักร้องยอดเยี่ยมชายจาก Grammy Award ไปเลย

สรุปแล้ว หนังเวอร์ชั่นใหม่นี้ไม่ได้ให้การตีความใหม่จากเรื่องเดิม

แต่ให้หน้าตาใหม่แบบหนังสารคดีที่เล่าเรื่องราวชีวิตสัตว์ป่า

น่ารักไปคนละแบบค่ะ