คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : อยากเห็น “ฌาปนสถานของผู้ไม่นับถือศาสนา” ในบ้านเรา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกทั้งตกใจ ทั้งเสียใจ เนื่องจากท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ เพื่อนร่วมงานในภาควิชาปรัชญา และเป็นอาจารย์อาวุโสของภาควิชา ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันด้วยอาการหลอดเลือดแดงตีบ สิริอายุห้าสิบแปดปี

ภรรยาของท่านเล่าว่า อาจารย์ลาสอนเพราะรู้สึกวิงเวียนศีรษะ (ก่อนเสียชีวิตเพียงวันเดียว อาจารย์ยังโทร.มาวานให้ผมเซ็นหนังสือแทนให้อยู่เลย) ภรรยาออกไปทำงาน พอกลับมาบ้าน ก็พบว่าอาจารย์เสียชีวิตแล้ว โดยหลับอยู่บนเก้าอี้ตัวโปรด

อาจารย์เป็นที่กล่าวขวัญถึงจิตวิญญาณขบถ ความไม่ยินยอมต่อความอยุติธรรม อาจารย์ทำให้นักศึกษาหลายคน “ตาสว่าง” นำเขาไปสู่โลกที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน รวมทั้งยังเป็นผู้สนใจและร่วมรณรงค์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์สนใจปรัชญาจีนและปรัชญาใหม่ๆ จึงเป็นผู้ริเริ่มนำวิชาปรัชญามาประยุกต์กับเนื้อหาที่ร่วมสมัย เช่น วิชาปรัชญาเกาหลี ปรัชญาญี่ปุ่น และที่มีชื่อเสียงมาก คือปรัชญาการ์ตูน

ในฐานะเพื่อนร่วมงาน ผมได้รับไมตรีจิตแม้จะมีอายุอ่อนกว่ามากๆ ได้รับการถามไถ่สารทุกข์สุdดิบ และการให้กำลังใจเสมอๆ

การสูญเสียอาจารย์จึงไม่ใช่การสูญเสียสำหรับคนใกล้ชิดเท่านั้น แต่ยังเป็นการสูญเสียสำหรับวงวิชาการโดยรวม ผมจึงขอใช้พื้นที่นี้แสดงความอาลัยต่อการจากไปของท่านอาจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ไว้ ณ ที่นี้

 

ในทิเบตมีคำพูดว่า ไม่รู้วันพรุ่งนี้หรือภพชาติหน้าจะมาถึงก่อนกันแน่ พระอนิจจลักษณะนั้น ในเวลาที่มาเคาะประตูบ้านเรา ก็ทำให้อกสั่นขวัญแขวน เพราะความไม่เที่ยงย่อมเที่ยงตรงไม่อาจบิดพลิ้วต่อชีวิตเราอยู่เสมอ

ในทิเบตถือว่า ถ้าจะเริ่มปฏิบัติธรรมได้ ต้องมีข้อพิจารณาขั้นต้นอยู่สี่ข้อ หนึ่งในนั้นที่ถือเป็นข้อสำคัญ คือ การตระหนักถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่ง

ความตายของคนใกล้ชิดโดยกะทันหัน กระทบต่อความรู้สึกมั่นคงต่างๆ ในชีวิตของเรา ในระยะหลังๆ ที่มีคนใกล้ชิดของผมเสียชีวิตบ่อยๆ ทำให้บางชั่วขณะผมถามกับตัวเองว่า ผมควรจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป ในท่ามกลางความเบาหวิวเหลือทนนี้

กระนั้นคำตอบที่ชัดแจ้งก็ยังไม่ผุดพรายขึ้น ผมก็ได้แต่สวดมนต์ภาวนาว่า “โอมฺ มณี ปัทเม หุม” ในใจ อย่างน้อยๆ พระโพธิสัตว์ก็ไม่น่าจะทอดทิ้งผมกระมัง

 

ที่จริงสิ่งหนึ่งที่ผมได้ครุ่นคิดมากขึ้น หลังจากการเสียชีวิตของอาจารย์บุญส่ง คืออาจารย์บุญส่งท่านออกตัวอย่างเปิดเผยว่า ท่านไม่นับถือศาสนาใดๆ

แม้ท่านจะมีศิษย์หาและเพื่อนฝูงในวงวิชาการกว้างขวาง แต่ชีวิตส่วนตัวของอาจารย์มีภรรยาดูแลกันและกันเพียงสองคนเท่านั้น

เมื่ออาจารย์เสียชีวิตลง เพื่อนๆ ในภาควิชาจึงปรึกษากันว่า เราควรจะจัดพิธีศพของอาจารย์อย่างไร

เพราะทั้งอาจารย์และภรรยาไม่นับถือศาสนา แต่ในเมืองไทยเรานี้ งานศพทั้งหลายล้วนจัดการภายใต้การดูแลของศาสนสถานต่างๆ

เราจึงจำต้องทำพิธีสวดพระอภิธรรมศพตามประเพณี แม้ว่าทั้งคู่จะไม่นับถือศาสนา โดยอย่างน้อยเพื่อให้ผู้ที่เคารพนับถือได้มาแสดงความคารวาลัยเป็นครั้งสุดท้าย และจัดการศพด้วยการเผาซึ่งสะดวกที่สุด

แต่หลายคนแม้ทราบเจตนาดีของผู้จัดงาน ยังอดคิดไม่ได้ว่า การที่ผู้ตายซึ่งแสดงตนชัดว่าไม่นับถือศาสนายังควรจะจัดงานศพในลักษณะนี้หรือไม่

สอดคล้องกับเพิ่งมีข่าวการที่วัดแห่งหนึ่งปฏิเสธไม่เผาศพให้กับบิดาของชายต่างศาสนาคนหนึ่ง แม้เรื่องราวดังกล่าวจะยังไม่ชัดเจนว่าเหตุผลเป็นเพียงเรื่องศาสนาหรือไม่ แต่ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคม

 

การจัดการศพในเมืองไทยเราเวลานี้มีอยู่สองวิธี คือการเผาและฝัง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่า แต่เดิมก่อนรับศาสนาจากอินเดีย คนไทย “ทิ้งศพ” และฝังเฉพาะคนสำคัญเท่านั้น เมื่อรับศาสนาจากอินเดียแล้วจึงเริ่มการเผา ในจีนและประเทศอื่นๆ ก็เช่นกัน

การเผา เป็นเอกลักษณ์ของการจัดการศพ ในประเพณีพุทธ-พราหมณ์ ในนิยามอันหนึ่งเกี่ยวกับศาสนาฮินดู ถึงกับกล่าวว่า ศาสนาฮินดูคือศาสนาที่เผาศพ (ซึ่งแน่นอนว่า นิยามแบบนี้รวมเอาพุทธ ไชนะ และสิกข์ หรือศาสนาที่เกิดในอินเดีย เข้าไว้ใน “ฮินดู” ด้วย)

เพราะการจัดการศพ สะท้อนวิธีคิดเกี่ยวกับชีวิตและความตาย การฝังก็สะท้อนความเชื่อว่า มีโลกหลังความตายที่ศพจะยังคงได้ใช้สิ่งต่างๆ หรือ ในกลุ่มศาสนาอับราฮัม (ยูดาย คริสต์ อิสลาม) มองว่า มีการฟื้นคืนชีพทั้งร่างกาย การฝังศพจึงเปHนการรักษาร่างกายนั้นไว้

ในขณะที่ศาสนาจากอินเดีย มองความตายร่วมกันว่า เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภพชาติใหม่ ร่างกายจึงเสมือนเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งไว้เท่านั้น หาประโยชน์อะไรมิได้ จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องจัดการศพด้วยการฝังเก็บไว้ แต่ก็ยังประกอบพิธีกรรมต่างๆ นัยว่าเพื่อส่งให้ดวงจิตไปยังสุคติภูมิ

ส่วนผู้ไม่นับถือศาสนาในปัจจุบันนั้น รากฐานความคิดทางปรัชญาคือ “สสารนิยม” (materialism) ซึ่งหมายความว่า แนวคิดนี้ไม่เชื่อว่ามีสิ่งที่เรียกว่าจิต ชีวิตเป็นเพียงการประกอบขึ้นของวัตถุสสารเท่านั้น เมื่อตายก็เพียงการแตกดับของวัตถุสสาร จึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโลกหน้าแต่อย่างใด ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับวิทยาศาสตร์

ดังนั้น ความตาย สำหรับผู้ไม่มีศาสนาจึงเป็นเพียงการที่ร่างกายได้หยุดทำงานตามหน้าที่ของมัน การจัดการศพจึงจัดอย่างไรก็ได้ที่ไม่จำเป็นต้องประกอบกุศลพิธีทางศาสนาเลย

 

ผมคงต้องเน้นย้ำอีกว่า การไม่มีศาสนาไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นไม่มี “จริยธรรม” ในการดำเนินชีวิต เพราะมีระบบจริยธรรมอีกมากที่ไม่ได้มาจากศาสนา เช่น ความคิดว่าคนเท่ากัน หลักสิทธิและเสรีภาพ หลักความอาทร ฯลฯ ที่ยอมรับได้เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม

แต่บ้านเรามักมีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ คือคิดว่า ศีลธรรมหรือจริยธรรมเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกับศาสนาอย่างแยกไม่ออก การไม่มีศาสนาจึงเท่ากับไม่มีศีลธรรม ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

อาจารย์บุญส่งและมิตรสหายของผมอีกหลายคนเป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ เพราะมิตรของผมเหล่านั้น ล้วนแต่มีจริยธรรมที่ทำให้ชีวิตของเขาดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างงดงาม มีคุณค่า

ในต่างประเทศ มีการเสนอการจัดการศพในหลากหลายลักษณะ ล่าสุดมีการเสนอวิธีทำเป็นปุ๋ย โดยใช้กระบวนการทางเคมีเพื่อย่อยสลายร่างกายให้กลายเป็นแร่ธาตุจำนวนไม่มาก ไม่เปลืองทรัพยากรและไม่ใช้พื้นที่อะไรในการจัดการ

ในญี่ปุ่นผมเข้าใจว่า กฎหมายบังคับให้เผาศพไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด โดยฌาปนสถานเป็นการดำเนินงานโดยรัฐ ส่วนจะเอาไปทำพิธีอะไรหรือไม่ทำพิธีเป็นเรื่องของญาติพี่น้องเอง

แม้จะมีผู้บอกผมว่า ในบ้านเรา โดยเฉพาะในภาคเหนือ มีที่เผาศพซึ่งดูแลโดยเทศบาลตำบล อยู่ในป๋าเฮ้ว หรือป่าช้าหมู่บ้าน แต่การดำเนินการแบบนี้ เนื่องจากประเพณีเดิมไม่ได้เผาศพกันที่วัดอยู่แล้ว เทศบาลจึงต้องเข้ามาจัดการดูแล ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ การจัดการศพเกือบทั้งหมดอยู่ในที่วัด หรือแม้จะมีป่าช้าเผาศพนอกวัด ก็ค่อยเสื่อมสภาพลง เพราะความไม่สะดวกในการใช้งาน เนื่องจากยังคงเป็นการเผาด้วยฟืนแบบเดิม

ดังนั้น วัดยังคงเป็นสถานที่หลักในการจัดการศพของคนส่วนใหญ่ ซึ่งมักต้องมาพร้อมกับศาสนพิธีต่างๆ อีกทั้งยังมีค่านิยมเรื่องจำนวนวัดทำบุญและการจัดเลี้ยงที่แสดงฐานะของเจ้าภาพ หากงานใดทำบุญน้อยวันหรือไม่จัดงาน คนก็จะพาไปนินทาเอาได้ว่ายังกับศพอนาถา ทั้งที่เจ้าภาพไม่อยากจัดงานอะไร

บางส่วนจึงเห็นว่า การบริจาคร่างกายเป็นวิทยาทานเป็นทางออกที่ดี แต่คนที่ไม่ได้ต้องการจะบริจาคร่างกายและไม่ต้องการจัดงานแบบศาสนพิธีจะจัดอย่างไร

 

ผมคิดว่า เราจึงควรมีฌาปนสถานที่ดำเนินการในรูปแบบเอกชน ซึ่งสามารถรองรับการจัดงานในทุกรูปแบบได้ เช่น ไม่ว่าจะนับถือศาสนาหรือไม่นับถือ หรือจะแค่นำมาฌาปนกิจเฉยๆ แล้วเอาทิ้งไป หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้คนร่วมสมัย โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ซึ่งห่างจากชุมชนและญาติพี่น้อง

เป็นทางเลือกให้กับผู้คนร่วมสมัย ซึ่งมีผู้ไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ