ฤดูใบไม้ผลิที่ฮ่องกง 2014 : หนุ่มสาวกับการสู้เพื่อประชาธิปไตย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การประท้วงครั้งนี้เป็นการแสวงหาประชาธิปไตย… ปักกิ่งได้เห็น [และ] โลกก็ได้เห็น…”

Benny Tai, The Occupy Central Movement

สภาวะปัจจุบันทำให้หลายคนคิดว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเวทีโลกกำลังอยู่ในกระแสขาลง

เพราะในอีกด้านหนึ่งของโลกสะท้อนให้เห็นถึงการกำเนิดและบทบาทของขบวนปีกขวาใหม่ของโลกตะวันตก

ดังจะเห็นได้จากการมาของกลุ่ม “ประชานิยมปีกขวา” จนเสมือนกับว่ากระแสประชาธิปไตยกำลังตกลง

และเราจะไม่เห็นการเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นกระแสอีก

จนเกิดเป็นคำถามทางทฤษฎีว่า กระแส “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม” กำลังหมดพลังขับเคลื่อนการเมืองลง

และโลกจะเดินออกจากความเป็นประชาธิปไตยไปจริงหรือ?

ในเอเชีย เราเห็นการกำเนิดและการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยฮ่องกงในปี 2014 ซึ่งโดยเงื่อนไขทางการเมืองแล้ว แทบจะไม่มีใครนึกเลยว่าจะมีการเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นที่เกาะนี้

และพวกเขากำลังต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมที่ใหญ่ที่สุดของโลกชุดหนึ่งในปัจจุบัน

ซึ่งจนถึงวันนี้การเรียกร้องประชาธิปไตยในเกาะเล็กๆ แห่งนี้ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้พลังขับเคลื่อนของคนหนุ่มสาว

ขบวนการปฏิวัติร่ม

ขบวนการประชาธิปไตยฮ่องกงหรือที่เรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “ขบวนการร่ม” (The Umbrella Movement) ซึ่งชื่อของขบวนมาจากการเรียกของอาดัม คอตตอน (Adam Cotton) ในทวิตเตอร์ของเขาในวันที่ 26 กันยายน 2014

และต่อมาหนังสือพิมพ์อินดิเพนเดนต์ (The Independent) ฉบับวันที่ 28 กันยายน ได้ใช้ชื่อนี้ในบทความ จึงทำให้ชื่อของขบวนการเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป

แม้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว อาจจะมีข้อโต้แย้งในเรื่องของชื่อก็ตาม

ในบางกรณีขบวนการนี้ถูกเรียกว่า “ขบวนการร่มเหลือง” เพราะภาพสัญลักษณ์เป็นรูปร่มสีเหลือง หรือสื่ออย่างการ์เดียนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การปฏิวัติร่ม” (The Umbrella Revolution)

ขบวนการนี้เริ่มต้นในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียนในระดับโรงเรียนมัธยมปลายคือกลุ่ม “Scholarism” ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมของนักเรียนสายประชาธิปไตยที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2011 และเน้นการเคลื่อนไหวในสามประเด็นคือ

นโยบายด้านการศึกษาของฮ่องกง

การปฏิรูปทางการเมือง

และนโยบายด้านเยาวชน

จุดยืนที่แสดงออกอย่างชัดเจนคือ การเรียกร้องให้ปกป้องนโยบายการศึกษาของฮ่องกงจากการแทรกแซงของรัฐบาลจีน

ซึ่งในช่วงกลางปี 2012 นักเรียนกลุ่มนี้ได้เริ่มประท้วงนโยบายการศึกษาของปีกนิยมจีน ที่มีนโยบายเดินตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เน้น “ศีลธรรม” และมีลักษณะเป็น “นโยบายแห่งชาติ” (moral and national education) ตามแบบของพรรค

การประท้วงครั้งนั้นมีนักเรียนและผู้สนับสนุนเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ประมาณว่าในช่วงที่การประท้วงขึ้นสู่กระแสสูงนั้น มีคนเข้าร่วมจากสาขาอาชีพต่างๆ มากกว่า 120,000 คน

การประท้วงนี้ทำให้รัฐสภาฮ่องกงยอมยกเลิกไม่บังคับให้การศึกษาตามแนวทางของพรรคไม่เป็นวิชาบังคับในโรงเรียน

การต่อสู้ครั้งนี้ถูกเรียกว่าเป็น “ขบวนการต่อต้านการศึกษาแห่งชาติและศีลธรรม” (The Anti-Moral and National Education Movement)

ซึ่งจะเห็นได้ว่าขบวนการนักเรียนนี้เริ่มจากการทำกิจกรรมในโรงเรียน จากการต่อสู้เรื่องปัญหาหลักสูตร

แล้วในปี 2012 ก็ยกระดับเรียกร้องกับรัฐบาลฮ่องกงโดยตรง

หลังจากชัยชนะในการเรียกร้องเรื่องของนโยบายด้านการศึกษาในปี 2012 แล้ว นักกิจกรรมเหล่านี้ยังเกาะกลุ่มและทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

และประเด็นการเรียกร้องที่สำคัญคือ การเสนอชื่อผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง (The Chief Executive) ในปี 2017 ว่า ควรจะมาจากการเลือกตั้ง

กล่าวคือ เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุด

ซึ่งข้อเรียกร้องเช่นนี้กลายเป็นประเด็นของการถกเถียงอย่างมาก แม้จะมีหลายกลุ่มการเมืองให้การสนับสนุน แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมด้วย เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดว่า ผู้บริหารสูงสุดควรมีการนำเสนอชื่อในสาธารณะให้ประชาชนเป็นผู้เลือก (แนวคิดเรื่อง public nomination)

แต่ฝ่ายประชาธิปไตยเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นการยอมรับต่อหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เช่นที่รัฐบาลจีนเคยกล่าวไว้เมื่อครั้งที่รับมอบฮ่องกงจากอังกฤษในปี 1997

จากนักศึกษาสู่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

การเคลื่อนไหวที่สำคัญของคนรุ่นใหม่เกิดในเดือนกันยายน 2014 ซึ่งเริ่มต้นด้วยการประท้วงไม่เข้าชั้นเรียน (class boycott) ที่นำโดยสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง (The Hong Kong Federation of Students-HKFS) อันเป็นผลจากข้อเสนอให้จำกัดขั้นตอนของการได้มาของชื่อผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง

พวกเขาจึงตัดสินใจเปิดการประท้วงบนถนน และยึดพื้นที่จัตุรัสที่อยู่หน้าอาคารที่จะมีการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 65 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (บริเวณ Tamar Park)

และในการประท้วงครั้งนี้ทำให้โลกได้เห็นผู้นำคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงอย่างโจชัว หว่อง, อีวาน แลม, ออสคาร์ ไล, นาทาน ลอร์, เอ็กเนส โชว ต่อมาคนเหล่านี้คือผู้ก่อตั้งพรรคเดโมซิสโต (Demosisto) ในต้นปี 2016

การเปิดการประท้วงรัฐบาลปักกิ่งครั้งใหญ่ในเดือนกันยายน 2014 เป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงการกำเนิดของขบวนประชาธิปไตยในฮ่องกง

และแน่นอนว่าขบวนนี้ไม่ตอบรับกับบทบาทของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน

หรืออีกนัยหนึ่งคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงไม่ได้อยู่ในกระแส “ชาตินิยมจีน” ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้นำ

ในทางตรงกันข้าม พวกเขามองว่า รัฐบาลปักกิ่งพยายามที่จะควบคุมการเมืองฮ่องกงให้อยู่ภายใต้ “ระบอบอำนาจนิยมจีน” แต่ก็มิได้มีนัยว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ถวิลหาที่จะหวนกลับไปอยู่กับระบอบอาณานิคมอังกฤษอีกแต่อย่างใด

ในอีกด้าน การประท้วงในช่วงเวลาดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึง “การต่อต้านจีน” ของกระแสคนรุ่นใหม่

และสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงไม่ยอมรับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ยอมรับต่อวิธีปฏิบัติของรัฐบาลจีนต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและครอบครัว

ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมคุมขังและการกวาดล้าง และเห็นชัดว่าผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนมักจะลงเอยด้วยการใช้ชีวิตในที่คุมขัง

และบรรดานักเคลื่อนไหวฮ่องกงรู้สึกมากขึ้นว่า รัฐบาลจีนกำลังเอานำวิธีการที่ใช้ในแผ่นดินใหญ่มาใช้ในฮ่องกง

ซึ่งทัศนะเช่นนี้เป็นคำตอบอย่างดีกับการประท้วงในปัจจุบันว่า ทำไมคนฮ่องกงในปี 2019 ไม่ยอมรับกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างจีนกับฮ่องกง

เพราะเท่ากับเปิดโอกาสให้มีการส่งตัวผู้กระทำผิดจากฮ่องกงไปจีนได้โดยง่าย และผู้กระทำผิดชาวฮ่องกงจะถูกลงโทษด้วยกฎหมายจีน

การประท้วงใหญ่ในปี 2014 ยังบ่งบอกถึงความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ในทุกมหาวิทยาลัยของฮ่องกง ที่นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่พอใจกับสภาวะทางการเมือง

และไม่ต้องการเห็นการแทรกแซงทางการเมืองจากจีน โดยเฉพาะพวกเขาอยากเห็นผู้บริหารสูงสุดนั้นมาจากการเลือกตั้ง

ดังเช่นคำประกาศเจตนารมณ์ในวันที่ 23 ตุลาคมที่กลุ่มนักปีนเขา 14 คนปีนไปยังยอดเขาไลอ้อนร็อก (Lion Rock) ที่สูงที่สุดในฮ่องกง เพื่อติดป้ายขนาดใหญ่ (ขนาด 6 x 28 เมตร) “เราต้องการสิทธิการเลือกตั้งแบบสากลที่แท้จริง” (“I want real universal suffrage”)

ป้ายเช่นนี้ถูกนำไปติดตั้งในหลายมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา

แต่ในวันรุ่งขึ้นรัฐบาลก็สั่งเก็บป้ายเหล่านี้หมด จนนำไปสู่การเสนอคำขวัญในการเคลื่อนไหวว่า “เก็บหนึ่ง แขวนสิบ” (demolish one, hang ten)

ดังจะเห็นได้ว่าระหว่างวันที่ 30 กันยายนถึง 2 ตุลาคมนั้น มีป้ายเช่นนี้ติดอยู่ในหลายจุดที่สำคัญของเมือง

แม้แต่ที่มหาวิทยาลัยมาเก๊าก็มีป้ายเช่นเดียวกันว่า “มาเก๊าก็ต้องการสิทธิการเลือกตั้งแบบสากลที่แท้จริงด้วย” (“Macau also need real universal suffrage”)

การประท้วงครั้งนี้มีการยึดพื้นที่การประท้วงใจกลางฮ่องกงเป็นระยะเวลานานถึง 79 วัน อันทำให้เกิดขบวนใหม่มีชื่อเรียกว่า “กลุ่มยึดเซ็นทรัลด้วยความรักและสันติภาพ” (The Occupy Central with Love and Peace-OCLO) หรืออีกอย่างว่า “The Occupy Central Movement” [พื้นที่เซ็นทรัลคือบริเวณใจกลางของเกาะ]

นอกจากนี้ พวกเขายังแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลด้วยการบุกเข้าทำลายรั้วและสิ่งกีดขวางที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกีดขวางการเข้าใกล้อาคารที่ซีวิคสแควร์ (Civic Square)

อันนำไปสู่การปะทะกับตำรวจ ซึ่งใช้ “สเปรย์พริกไทย” และกระบองเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับผู้ชุมนุม

จนในที่สุด โจชัว หว่อง และผู้ชุมนุมหลายคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในระยะหลังใช้ความรุนแรงกับการประท้วงมากขึ้น

ในขณะที่ตำรวจปิดล้อมการชุมนุมนั้นได้เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งเกิดอาการหัวใจล้มเหลว เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่อนุญาตให้รถพยาบาลมารับผู้ป่วย แต่ก็ถูกกดดันจนต้องเปิดทางให้

และผู้ชุมนุมหลายคนที่ถูกจับกุมนั้นมีอาการบาดเจ็บ ซึ่งผลจากเหตุการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดการเผชิญหน้ามากขึ้นระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

และส่งผลให้ผู้ชุมนุมมีทัศนะลบอย่างมากกับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมในหลายประเทศ เช่น ในฝรั่งเศส เป็นต้น)

อย่างไรก็ตาม การใช้ร่มในการประท้วง ก็คือการมีเครื่องมือป้องกันสเปรย์พริกไทยของตำรวจ และยังช่วยบังแดดช่วงประท้วงตอนกลางวันอีกด้วย

หรืออีกนัยหนึ่ง ร่มคือสัญลักษณ์ของการปกป้องและคุ้มครอง ซึ่งการ “ปฏิวัติร่ม” ที่เกิดก่อนหน้านี้คือความสำเร็จของการประท้วงขับไล่รัฐบาลลัตเวียในเดือนพฤศจิกายน 2007 ที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมมาพร้อมกับร่ม เพราะในระหว่างการประท้วงนั้นมีฝนตกตลอดเวลา ร่มจึงเป็นสัญลักษณ์ของการคุ้มครองและการล้มรัฐบาลในเวลาเดียวกัน

ผลจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจกลายเป็นเงื่อนไขอย่างดีที่ทำให้คนทั่วไปอีกส่วนตัดสินใจเข้าร่วมสมทบกับการประท้วง

และขณะเดียวกันตำรวจก็ยกระดับด้วยการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม แม้สุดท้ายแล้วการชุมนุมครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็สะท้อนให้เห็นการนำของคนรุ่นใหม่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในฮ่องกง

และพวกเขาเริ่มคิดถึงการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในบริบทที่ใหญ่ขึ้น เพราะจะคิดเพียงแค่การประท้วงในแบบเดิมไม่เพียงพอแล้ว

การต่อสู้ต้องยกระดับ!

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 พวกเขาก็ตัดสินใจยกระดับการต่อสู้ด้วยการประกาศการตั้งพรรคการเมืองคือพรรคเดโมซิสโต ที่มีโจชัว หว่อง, ออสคาร์ ไล, เอ็กเนส โชว เป็นแกนนำ พร้อมกับประกาศตัวรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาฮ่องกง พวกเขาหวังว่าการต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาจะมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้จีนแทรกแซงฮ่องกง และทำให้จีนยอมรับเสรีภาพและสิทธิทางการเมืองของชาวฮ่องกง

การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเป็นประเด็นที่น่าสนใจในลักษณะของ “การนำ” ว่าที่จริงแล้วอาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีลักษณะของการนำโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ

แม้เราอาจกล่าวได้ว่ามีสามองค์กรหลักที่เป็นแกนนำ ได้แก่ The Scholarism สมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง (HKFS) และกลุ่มยึดเซ็นทรัลด้วยความรักและสันติภาพ (OCLP)

แต่กลุ่มเหล่านี้มีวาระของตัวเอง และมีทัศนะบางเรื่องที่แตกต่างกัน

จึงไม่อาจอนุมานได้ว่าทั้งสามองค์กรเป็นองค์กรเดียวกัน และแม้จะมีการใช้ชื่อของกลุ่มยึดเซ็นทรัลเป็นเสมือนองค์กรนำหลักของการเคลื่อนไหว แต่พวกเขาก็กล่าวว่ากลุ่มของตนไม่ใช่องค์กรนำ

แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับการต่อสู้ในครั้งนี้ก็คือ การนำที่แท้จริงอยู่กับ “ขบวนการร่ม” ซึ่งบรรดาผู้นำปรากฏให้เห็นในพื้นที่การประท้วงตลอดเวลา

และการประท้วงยังสะท้อนถึงความรู้สึกของชาวฮ่องกงโดยทั่วไป คนเป็นจำนวนมากไม่ได้เป็นฝ่าย “นิยมจีน” และมองจีนด้วยความหวาดระแวง

แต่ก็มีคนส่วนหนึ่งที่เป็นพวกนิยมจีน และมีทิศทางสนับสนุนแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

พวกเขาจึงไม่พอใจกับการประท้วงที่เกิดขึ้น คนในอีกส่วนหนึ่งอาจมองว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่แปลกที่ฮ่องกงจะต้องอยู่ภายใต้จีน พวกเขาจึงยอมรับอิทธิพลจีนโดยไม่มีข้อสงสัย แต่ก็รู้สึกไม่พอใจมากขึ้น

การเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกงในปี 2014 ได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายนิยมประชาธิปไตยทั่วโลก

ดังเช่นจะมีคนมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการสนับสนุนการต่อสู้ที่หน้าสำนักงานการค้าของฮ่องกงที่ตั้งอยู่ในหลายประเทศ และเกิดการประท้วงหน้าสถานทูตจีนในหลายประเทศเช่นกัน แม้กระทั่งมีการชุมนุมของชาวไต้หวันเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องที่ฮ่องกงที่จัตุรัสในเมืองไทเป

แน่นอนว่าการเรียกร้องในปี 2014 ไม่มีโอกาสได้รับชัยชนะทั้งหมด แต่การต่อสู้ครั้งนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นดังการมาของ “ฤดูใบไม้ผลิ” ที่ฮ่องกง และน่าติดตามว่ารัฐบาลจีนจะยอมรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นนี้ที่จะเกิดในปี 2019 ได้เพียงใด?