เมื่อกองทัพไทย เดินห่างจากพันธมิตรตะวันตก

ข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นคน “อยากรู้ไปทุกเรื่อง” ของผมก็คือทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้กับหลายต่อหลายคนที่มีความสนใจหลากหลายแตกต่างกันออกไป

กัลยาณมิตรรายหนึ่งซึ่งเจอะเจอกันเมื่อเร็วๆ นี้ สนใจด้านกิจการทหาร เราก็นั่งถกกันเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับกองทัพและยุทโธปกรณ์ทั้งหลายกันได้อย่างออกรส

รวมทั้งเรื่องของกองทัพไทยที่หยิบมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้

 

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งซึ่งตรงกันของเราก็คือ ยิ่งนับวัน กองทัพของไทยเรายิ่งเดินออกห่างมาจากกองทัพชาติตะวันตกทั้งหลายที่เคยเป็นพันธมิตรกันมากขึ้นทุกที

ความเคลื่อนไหวในทิศทางดังกล่าวนี้เห็นได้จากการดำเนินการในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องของการฝึกซ้อมรบร่วมไปจนถึงเรื่องการจัดซื้อยุทธภัณฑ์และความร่วมมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านนี้

ตัวอย่างเช่น รายงานล่าสุดของ จอน เกรวัตต์ ผู้สื่อข่าวของ ไอเอชเอส เจนส์ ดีเฟนซ์ เมื่อ 17 มกราคมที่ผ่านมา ที่พูดถึง ความร่วมมือในโครงการอุตสาหกรรมทหารระหว่างไทยกับรัสเซีย

ความร่วมมือดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นตรงที่ กองทัพอากาศไทยเตรียมจัดซื้อ “เอ็มไอ-17วี-5” เพิ่มเติมจากรัสเซียอีก 5 ลำ

“เอ็มไอ-17วี-5” นั้นเป็นเครื่องบินประเภทที่ศัพท์ทางทหารเรียกว่า “อากาศยานปีกหมุน” เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า เฮลิคอปเตอร์ หรือ ฮ. นั่นแหละครับ แต่เป็นเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงทั่วไป (ฮ.ท.) เพื่อนำมาใช้แทนที่ฝูงบินปีกหมุนเพื่อการลำเลียงเดิมที่จัดซื้อจากโบอิ้งอย่าง ชินุก ซีเอช47ดี ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงหนัก (ฮ.ล.) ที่อายุการใช้งานนานเกินกำลังแล้ว

 

ที่น่าสนใจมากกว่าการจัดซื้อก็คือ เจนส์ระบุว่า มีการพบหารือกันเมื่อ 16 มกราคม ระหว่างคณะของ พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กับคณะของ คิริลล์ บาร์สกี เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เพื่อ “หารือกันถึงความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรมทหาร”

ที่เจนส์คาดหมายเอาว่า ถ้าหากมีข้อตกลงเป็นอันยุติแล้ว จะทำให้ไทยกลายเป็นที่ตั้งของแหล่ง “ผลิตและซ่อมบำรุง” ที่ร่วมกันดำเนินการระหว่างไทยกับรัสเซีย

ซึ่งไม่เพียงจะเป็นแหล่งสนับสนุนชิ้นส่วนและอะไหล่ให้กับเอ็มไอ-17วี-5 ของไทย หรือแม้แต่ระบบอาวุธอื่นๆ ของรัสเซียเท่านั้น ยังสามารถกลายเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงสำหรับเฮลิคอปเตอร์แบบเดียวกันนี้ของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย

ข้อมูลของเจนส์ ระบุว่า กองทัพอากาศต้องการเอ็มไอ-17วี-5 อย่างน้อย 12 ลำ ก่อนหน้านี้เคยจัดซื้อมาแล้ว 2 ระลอก ในปี 2008 กับ 2014 ได้รับมอบเครื่องแล้ว 5 ลำ ประจำการอยู่ที่หน่วยลำเลียงส่งกำลังบำรุงในกรุงเทพฯ

 

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยแสวงหาความร่วมมือทางทหารในทำนองนี้ เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา เดอะ ดิพโพลแมต ตัวแทนด้านกลาโหมของไทยเคยพบหารือกับตัวแทนจีนในระหว่างการประชุมอาเซียนที่ลาวเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤษภาคม ต่อมาในเดือนธันวาคม พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ ก็หยิบยกเรื่องจากร่วมกันลงทุนสร้างโรงงานการผลิตและซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ขึ้นในไทยมาหารือกับ จาง วัน ฉวน รัฐมนตรีกลาโหมจีน ระหว่างการเดินทางเยือนปักกิ่ง

ก่อนหน้านั้น ราวเดือนกันยายน ก็มีรายงานข่าวออกมาเหมือนกันว่า กระทรวงกลาโหมไทยกับยูเครนตกลงกันผลักดันโครงการความร่วมมือเพื่อผลิตและซ่อมบำรุง “ยานเกราะลำเลียงพล” (เอพีซี) ขึ้นในไทย เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง 2 ฝ่ายตามความตกลงที่เคยทำกันขึ้นเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา หลังจากที่เราตกลงจัดซื้อยานเกราะ บีทีอาร์3อี1 จากยูเครน

คราวนี้ไม่เพียงผลิตและซ่อมบำรุงเท่านั้นบริษัทร่วมทุนดังกล่าวยังอาจ “ส่งออก” ให้กับประเทศในภูมิภาคอีกด้วย

ทั้งหมดนั่นแสดงให้เห็นว่านอกจากจะหันหลังเดินห่างมาจากตะวันตกแล้วเรายังเดินหน้าที่จะพึ่งตัวเองให้มากขึ้นอีกต่างหาก

จะมีข้อดีหรือข้อไม่ดียังไงก็ว่ากันไป แต่ต้องถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่าง “ช่วยไม่ได้” เพราะจัดซื้อจากโลกตะวันตกไม่ได้

หลังสุด สำนักงานโกลบอล แอฟแฟร์ แคนาดา (จีเอซี) ที่ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการค้าของรัฐบาลแคนาดา ก็เพิ่งห้ามแคนาดาขายยุทโธปกรณ์ “มูลค่าเล็กน้อย” ให้กับไทย

ด้วยเหตุผลของการรัฐประหารเมื่อปี 2014 เหมือนเดิมครับ