วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ก้าวย่างสร้างอาณาจักร “สุย”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุยที่รุ่งเรือง (ต่อ)

ภรรยาของหยังเจียนมีชื่อว่า กา-ลว๋อ (ค.ศ.544-602) ชื่อนี้มาจากคำว่ากาลา ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่าศิลปะ สันนิษฐานว่าเป็นคำย่อของคำว่ากาลาคุรุ (Kalaguru) ที่หมายถึง ครูแห่งศิลปะ (teacher of art)

กา-ลว๋อเกิดในตระกูลผู้ทรงอิทธิพลชนชาติซย์งหนูที่ผ่านการทำตนให้เป็นจีน (sinicized) มาช้านาน การสร้างอิทธิพลด้วยการแต่งงานกับตระกูลใหญ่ๆ เป็นเรื่องที่ตระกูลของเธอทำมานานนับร้อยปีแล้ว โดยเฉพาะการแต่งงานกับตระกูลผู้สูงศักดิ์แห่งเว่ยตะวันตก ทั้งนี้ บิดาของเธอมีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยอี่ว์เหวินไท่ตั้งเว่ยตะวันตกขึ้นมา

ที่ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นเป่ยโจว (เป่ยเหนือ) ซึ่งต่อมาจะมีความสำคัญต่อราชวงศ์สุยอย่างยิ่ง

กล่าวกันว่า ตอนที่แต่งงานกับหยังเจียนเธอมีอายุ 13 ปี หยังเจียนอายุ 16 ปี ขณะแต่งเธอได้ขอให้หยังเจียนให้คำสัตย์สาบานว่าจะไม่มีบุตรหรือธิดากับหญิงอื่น อันบ่งบอกถึงความรู้สึกที่ยึดมั่นในระบบคู่ครองเดียว (monogamy)

และเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงบทบาทในการเข้าจัดการเรื่องราวต่างๆ ของเธอ

จากเหตุนี้ เรือนพำนักของทั้งสองจึงไม่เพียงไม่มีห้องของนางบำเรอเท่านั้น หากกลับมีแต่หญิงที่ถ้าไม่เป็นผู้รู้หนังสือดีก็เป็นผู้ที่มีการศึกษาดี และทำให้กา-ลว๋อได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญทั้งก่อนและหลังหยังเจียนเป็นจักรพรรดิ

 

บนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันเช่นนี้ ต่อมาทำให้ทั้งสองถูกเรียกขานจากข้าราชบริพารว่า “สองจักรพรรดิเมธี” (เอ้อร์เซิ่ง, the two sage emperors) เหตุดังนั้น การกล่าวถึงบทบาทของหยังเจียนหลังจากเป็นจักรพรรดิแล้วจึงมีอยู่สองนัย

นัยหนึ่ง คือบทบาทของหยังเจียนโดยตรง อีกนัยหนึ่ง คือบทบาทที่มีกา-ลว๋อเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

จะเห็นได้ว่า ชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์จนถึงเมื่อเติบโตมีตำแหน่งทางการเมืองนั้น พัฒนาการของหยังเจียนจึงมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากจักรพรรดิของราชวงศ์อื่น กล่าวคือ เกิดและโตในท่ามกลางวัฒนธรรมของชนชาติที่มิใช่ฮั่นและรับใช้ผู้นำของชนชาตินั้น นับถือศาสนาพุทธ มิได้สมาทานลัทธิขงจื่อดังชาวฮั่นทั่วไป

มีภรรยาเป็นชนชาติซย์งหนูและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเขา

ครั้นกล่าวเฉพาะบุคลิกภาพหรืออุปนิสัยใจคอแล้วก็พบว่า หยังเจียนค่อนข้างจะเป็นคนที่หยาบกระด้างและดูไม่เป็นมิตร เป็นบุคคลที่ไร้เสน่ห์ ความอบอุ่นและความเอื้อเฟื้อ จนทำให้เห็นถึงจุดอ่อนเรื่องหนึ่งคือ เป็นคนที่เคร่งครัดจริงจัง แต่หวาดระแวงอยู่เสมอ จนกลายเป็นปมด้อย

ส่วนปมเขื่องที่แสดงให้เห็นก็เป็นสิ่งที่ผู้นำบางคนในยุคก่อนหน้าก็เคยถือปฏิบัติ เช่น ใช้ชีวิตที่ประหยัดมัธยัสถ์ หรือการทุ่มเทจริงจังกับงานการเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตต่อลักษณะดังกล่าวด้วยว่า หยังเจียนก้าวขึ้นสู่อำนาจ (จักรพรรดิ) อย่างรวดเร็วผ่านวิธีที่รุนแรงโดยทิ้งความหายนะไว้เบื้องหลัง ล้วนมาจากความรู้สึกที่ไร้ความมั่นคงแต่อหังการ และทำให้เขามุ่งแสวงหาความมั่นใจและสัญญาณความช่วยเหลือจากสวรรค์ในทุกรูปแบบ

และศาสนาพุทธก็เป็นหนึ่งในความมั่นใจและสัญญาณดังกล่าว

 

จากเหตุนี้ เขาจึงเป็นผู้ที่มีแนวโน้มที่จะแสดงความเดือดดาลรุนแรงในบางครั้ง แล้วหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยความขมขื่นใจและรู้สึกสำนึกผิด ลักษณะนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนชาวตะวันตกเห็นเป็นอาการที่เรียกว่า “พยาธิวิทยาแห่งอำนาจอันสูงสุด” (pathology of supreme power)

พยาธิวิทยาเป็นศัพท์การแพทย์ที่หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของโรค กลไกการเกิดโรค และพยาธิสภาพของโรคที่เกิดกับร่างกายโดยทั่วไป การใช้คำนี้ในที่นี้ใช้ในเชิงสังคมศาสตร์ ซึ่งน่าจะให้ความหมายได้ว่า ภาวะที่ผิดแปลกของผู้มีอำนาจสูงสุดที่มีมูลเหตุที่แน่นอน และส่งผลให้ผู้นำคนนั้นแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างหรือผิดไปจากปกติ

ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เราได้เห็นบทบาทของหยังเจียนได้ในลำดับต่อๆ ไป

ตัวอย่างหนึ่งที่อาจเห็นได้ชัดก็คือ จะด้วยเหตุที่หยังเจียนนับถือศาสนาพุทธหรือไม่ก็ตามที ได้ทำให้เห็นว่า เขาไม่ชอบหรือติดข้างจะรังเกียจผู้มีอำนาจหรือพวกซย์งหนูที่สมาทานลัทธิขงจื่อ เขาจึงไม่ให้ความเคารพปกรณ์ที่ลัทธินี้ยกให้เป็นตำราเรียน โดยหลังจากก้าวสู่บัลลังก์ไม่นานเขาได้สั่งปิดสถานศึกษาของลัทธินี้ ด้วยเห็นว่ามีนักเรียนมากเกินไปและเป็นนักเรียนที่ขี้เกียจและยากจน

มีบันทึกระบุว่า เขาเคยแสดงความขุ่นเคืองและตอบโต้มาตรฐานคุณธรรมของลัทธินี้ทันที เมื่อขุนนางคนหนึ่งแนะนำว่า ไม่ควรประหารชีวิตเจ้าชายในราชสำนักเป่ยโจวที่ยังมีชีวิตอยู่อีกจำนวนหนึ่ง (หลังจากที่ยึดอำนาจจากเป่ยโจวได้สำเร็จ) แล้วหยังเจียนดุใส่ขุนนางผู้นั้นว่า “ท่านเป็นหนอนหนังสือ จึงไม่ควรที่คนเยี่ยงท่านจะมาเสนอแนะในการนี้”

โดยคำว่าหนอนหนังสือในที่นี้หมายถึงการถือเคร่งปกรณ์ของลัทธิขงจื่อของขุนนางผู้นั้น

 

พ้นไปจากประเด็นภูมิหลังของหยังเจียนกับภรรยาและบุคลิกภาพลักษณะเฉพาะของหยังเจียนแล้ว ประเด็นเสนามาตย์ที่ใกล้ชิดเขาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเสนามาตย์ที่ใกล้ชิดนี้มีอยู่สามคนที่มีบทบาทโดดเด่น

คนแรกคือ เกาจ่ย์ง (ค.ศ.555?-607) ผู้มีภูมิหลังทางครอบครัวที่ไม่ชัดเจน ทราบแต่เพียงว่ามีพื้นเพอยู่ตรงส่วนใดส่วนหนึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบภาคเหนือ บิดาของเขาเคยรับใช้บิดาของกา-ลว๋อจนได้รับเกียรติให้ใช้สกุลตู๋กู และทำให้หยังเจียนเรียกขานเขาผ่านสกุลตู๋กูอยู่เสมอ

เกาจ่ย์งนอกจากจะมีความรู้ความสามารถในการบริหารด้านการเงินการคลังแล้วก็ยังมีความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมายอีกด้วย อย่างหลังนี้ชี้ชัดว่าตัวเขาเป็นผู้สมาทานสำนักนิตินิยม (Legalist) จนได้รับการยกย่องให้มีฐานะเทียบเท่ากับนักนิตินิยมในอดีตอย่างกว่านจ้งแห่งรัฐฉีในยุควสันตสารท และซังยังแห่งรัฐฉินในยุครัฐศึก

คนถัดมาคือ หยังซู่ (มรณะ ค.ศ.606) มีภูมิหลังคล้ายกับหยังเจียน คือมีพื้นถิ่นมาจากทางเหนือ และเป็นชนชั้นสูงที่มีวัฒนธรรมของชนชาติที่มิใช่ฮั่นอยู่มาก ช่วงวัยดรุณได้ทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนและหลงรักในสตรีหลายคน

กล่าวกันว่า หยังซู่เป็นชายหนุ่มรูปงามที่มีหนวดเคราที่ดูคมเข้มห้าวหาญ และเขาก็แสดงให้เห็นได้สมกับรูปลักษณ์ที่ว่านี้เมื่อมีบทบาทในศึกแย่งชิงอำนาจให้แก่สุย จนเป็นขุนศึกที่อยู่เคียงคู่กับหยังเจียนในเวลาต่อมา

สุดท้ายคือ ซูเวย (ค.ศ.540-621) เป็นบุตรของที่ปรึกษาคนสำคัญของอี่ว์เหวินไท่ และเป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วยอี่ว์เหวินไท่สร้างรัฐเว่ยตะวันตกขึ้นมา บิดาของซูเวยจึงได้เป็นมหาอำมาตย์ที่มีชื่อเสียงของเว่ยตะวันตก โดยมีผลงานที่โดดเด่นผ่านหลักคิดนิตินิยมจนสร้างความสำเร็จให้แก่อี่ว์เหวินไท่

หลังจากนั้นบิดาของเขาก็หันมาใช้หลักคิดเกี่ยวกับรีตของลัทธิขงจื่อ อันเป็นหลักคิดที่นำเสนอรูปแบบการจัดช่วงชั้นภายในรัฐและสังคม ว่าเสนามาตย์และราษฎรพึงมีหรือพึงปฏิบัติตัวตามฐานะของตนเช่นไร

การใช้หลักคิดนี้ก่อให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งราชวงศ์ของชาวฮั่นเคยนำมาใช้จนประสบผลสำเร็จในทางการเมืองมาก่อน โดยต่อมาบิดาของเขาได้นำสิ่งที่คิดและทำนี้มาเขียนความเรียงในรูปของปุจฉาวิสัชนา หรือคู่มือแนวทางการบริหารราชสำนัก

จากหลักคิดของบิดาของซูเวยดังกล่าวย่อมต้องถ่ายทอดมาสู่ซูเวยเป็นธรรมดา ถึงแม้การก้าวขึ้นเป็นขุนนางของเขาจะมาจากการแนะนำของเกาจ่ย์งต่อหยังเจียนก็ตาม โดยบทบาทของซูเวยก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับจนได้เป็นหนึ่งในอำนาจสามฝ่าย อันเป็นอำนาจสูงสุดในราชสำนักสุย อันจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

 

ภาพรวมจากที่กล่าวมานี้คือภูมิหลังที่มาของบุคคลสำคัญที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของราชวงศ์สุย องค์ประกอบนอกเหนือจากนี้คือประเด็นที่จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

แต่เท่าที่ได้กล่าวมานี้ก็ทำให้เห็นในเบื้องต้นว่าชนชั้นนำของสุยนี้มีภูมิหลังที่ออกจะแตกต่างจากชนชั้นนำในยุคก่อนหน้าในเรื่องหนึ่งคือ ปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อชนชาติที่มิใช่ฮั่นที่ชนชั้นนำสุยมีอยู่อย่างลึกซึ้งชัดเจน

ปฏิสัมพันธ์นี้ไม่เพียงจะมีอิทธิพลต่อการสร้างจักรวรรดิของสุยเท่านั้น หากในด้านหนึ่งก็ยังเป็นผลสะเทือนที่มาจากการผงาดขึ้นของชนชาติที่มิใช่ฮั่นก่อนหน้านี้ ผลสะเทือนนี้ได้ฝังรากลึกจนยากที่จะสลัดให้หลุดได้

และทำให้เห็นในเบื้องต้นว่า จักรวรรดิจีนหลังจากนี้หาได้ตั้งอยู่บนฐานของชนชาติฮั่นสถานเดียว แต่ที่ยังเห็นความเป็นฮั่นอย่างโดดเด่นหรือไม่อย่างไร ย่อมเป็นไปในประเด็นวัฒนธรรม ว่าชนชั้นนำของจักรวรรดิจะนำหลักคิดในด้านต่างๆ ของชาวฮั่นมาใช้ในการสร้างจักรวรรดิมากน้อยเพียงใด

วัฒนธรรมฮั่นจึงเป็นหัวใจสำคัญของจักรวรรดิจีนในยุคนี้