คุยกับทูต ‘ปีเตอร์ เฮย์มอนด์’ สิ้นสุดวาระ 3 ปี กับภารกิจครั้งที่ 5 ในประเทศไทย

คุยกับทูต ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ สิ้นสุดวาระ 3 ปี กับภารกิจครั้งที่ 5 ในประเทศไทย (จบ)

“สําหรับผมมองเห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐกับไทยในอนาคตที่เราจะทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างอธิปไตยที่มั่นคงและประสบความสำเร็จในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific region) รวมทั้งงานวิจัยด้านสาธารณสุขของเราเกี่ยวกับมาลาเรีย เอดส์ (HIV/AIDS) ตลอดจนโรคติดเชื้ออื่นๆ”

นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ (Peter Haymond) ซึ่งดำรงตำแหน่งอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต (Charg? d”affaires ad interim) สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในปัจจุบัน กล่าวถึง

สถานการณ์ปัจจุบันและโอกาสของความสัมพันธ์ในอนาคตอันใกล้

“ขอพูดก่อนว่า รัฐบาลสหรัฐทุกรัฐบาล ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี ก็จะมียุทธศาสตร์หรือจะมีแผนให้ทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเขตแปซิฟิก แต่ก่อนอาจจะเรียกว่าเป็นแผนทำงานกับประเทศในเขตเอเชียแปซิฟิก”

“แต่สำหรับรัฐบาล Trump เรียกว่าอินโด-แปซิฟิกที่จริงแล้ว แผนการร่วมมือ แผนการทำงานกับประเทศในภูมิภาคนี้ ก็เพื่อเป้าหมายอันเดียวกับรัฐบาลก่อน จะเป็น Obama หรือ Bush หรือ Clinton เพราะทุกรัฐบาลก็เห็นเขตอินโด-แปซิฟิก เป็นเขตที่มีประเทศอันยิ่งใหญ่ ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการค้าขาย มีความมั่นคง เราก็อยากจะร่วมกับพันธมิตร เพื่อรักษาความมั่นคง เรื่องนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง”

“แต่ภายใต้รัฐบาล Trump ก็ตั้งยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (A Free and Open Indo-Pacific) เพื่อจะเพิ่มการร่วมการเข้าทำงานพร้อมกับประเทศในภูมิภาคนี้ทุกประเทศ ไม่ได้ยกเว้นประเทศใด และที่เรียก หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็นอินโด-แปซิฟิก แทนที่จะเป็นเอเชียแปซิฟิก ก็เพราะเห็นความสำคัญจากการเติบโตของอินเดีย เราคิดว่าถ้าจะร่วมมือกับภูมิภาคนี้ก็ต้องรวมถึงอินเดียด้วย ถึงจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด เพราะอินเดียกับเราก็มีความสัมพันธ์อันดีกันอยู่แล้ว”

“อินเดียมีประชากร 1,200 ล้านคน มีเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เสรีและเปิดกว้าง ถ้าจะถามว่าทำไม Free แล้วต้อง Open บอกว่า เป้าหมายของเรา เสรี (Free) คือ อยากให้ทุกคนในภูมิภาคสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของประเทศตนเอง”

“ส่วนภูมิภาค ก็อยากจะให้ทุกคน ทุกกลุ่มในแต่ละประเทศมีโอกาสที่จะเลือกนโยบายที่คิดว่าเหมาะที่สุดสำหรับความเจริญของประเทศนั้น โดยไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการบังคับจากภายนอก”

“พูดถึงการเปิดกว้าง (Open) ก็คิดว่า ตามเป้าหมายอยากจะให้ทุกคนในภูมิภาคสามารถเดินทางทางอากาศหรือทางทะเลโดยอิสระตามกฎหมาย ตามมาตรฐานสากล มีการเปิดกว้างในทางการค้า การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ หรือการลงทุน อยากให้โปร่งใส ถ้าจะส่งออกหรือนำเข้า หรือรับการลงทุน หรือจะเอาไปลงทุนที่อื่น นโยบายกฎหมายจะต้องชัดเจน เป็นสิ่งแวดล้อมที่โปร่งใส”

“ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ จะรวมถึงการร่วมมือที่มีอยู่แล้ว แต่หาวิธีที่จะทำให้การร่วมมือนั้นมีประสิทธิผลมากขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างนี้ จึงมี 3 เสาหลักคือ 1.ความมั่นคง 2.การบริหารปกครอง 3.การเติบโตทางเศรษฐกิจ”

“เสาหลักที่ 1 การรักษาความมั่นคง ถ้าดูทั่วโลก สหรัฐมี 7 ประเทศที่เป็นพันธมิตรทางความมั่นคง โดย 5 ประเทศอยู่ในภูมิภาคนี้ รวมถึงประเทศไทยด้วย และยังมี NATO หรืออย่างอื่นที่เป็นกลุ่มอีกต่างหาก เพื่อจะรักษาความมั่นคงในการต่อต้านการท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย หรือภัยธรรมชาติ หรือการใช้อาวุธบังคับประเทศอื่น”

“เรายังทำการฝึกอบรมระหว่างทหารของสหรัฐและทหารของหลายประเทศ แต่การฝึกอบรมที่ใหญ่ที่สุดมา 30 กว่าปีแล้วที่ร่วมกันหลายประเทศก็เกิดขึ้นที่เมืองไทยคือ Cobra Gold ล่าสุดที่ผ่านมานี้ในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นหนึ่งในการฝึกซ้อมทางทหารเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งมี 29 ประเทศที่เข้ามามีส่วนร่วม โดยไทยกับสหรัฐเป็นเจ้าภาพ”

“นอกจากนั้น มีการร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายหลายด้าน ทหารก็จะดูภัยธรรมชาติ หรือการฝึกป้องกันตัวเองต่อต้านผู้ก่อการร้าย มีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ายาเสพติด เรามีหน่วย DEA (Drug Enforcement Administration) ร่วมมือกับตำรวจไทยเกือบ 60 ปีแล้ว ในการสนับสนุนงานของผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะตำรวจไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์ การค้าสัตว์ป่า การลักลอบค้าของเถื่อนบริเวณชายแดนของประเทศ เพราะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ข้ามประเทศ จะเริ่มต้นที่ประเทศนี้ แล้วในที่สุดไปถึงประเทศนั้น แม้แต่สหรัฐที่อยู่ไกล แต่จะมีคดีบางคดีเริ่มต้นที่สหรัฐแล้วย้ายมาที่ไทย จบที่นี่ หรือเริ่มต้นที่นี่ แล้วจบที่นั่น เราให้ความร่วมมือกับไทยในการช่วยเพิ่มความสามารถ”

“20 ปีที่แล้วสหรัฐร่วมมือกับไทยในการตั้งสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย-กรุงเทพฯ (International Law Enforcement Academy : ILEA-Bangkok) เรามีสถาบัน ILEA ทั่วโลก ในเอเชียอยู่ที่กรุงเทพฯ เรากับประเทศไทยก็เป็นเจ้าภาพเหมือนกัน ทั้ง 2 ประเทศได้เชิญตำรวจและคนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายจากทั่วอาเซียน และอาจมีบางประเทศนอกอาเซียนด้วยมาฝึกอบรม จะเป็นการสืบสวนสอบสวนคดีต่างๆ ทั้งอาชญากรรมแบบ Cyber เงินปลอม หรืออาจจะเป็นเรื่องระเบิด ก็จะมีการวิจัยตรวจสอบ”

“การร่วมมือทางด้านสาธารณสุขซึ่งถือว่าอยู่ภายใต้การรักษาความมั่นคง ที่นักวิทยาศาสตร์และหน่วยแพทย์ของไทยและสหรัฐ ทั้งทหารและพลเรือนร่วมมือกันมาหลายสิบปีแล้วในการต่อต้านเอดส์ ต่อต้านไข้เลือดออก ต่อต้านโรคสมองอักเสบ (encephalitis) โรคไข้ซิกา (Zika)”

“ผมก็ได้ยินว่าถ้าไปทั่วโลกแล้วใช้ยาอะไรให้ช่วยแก้ไข้ยุง หรือทำให้ไม่เกิด ไม่ติดไข้ยุง ยาอันนั้นเริ่มต้นที่นี่ จากการร่วมมือของไทยและสหรัฐ เพราะเราเห็นว่าการระบาดของโรคต่างๆ ก็เป็นภัยคุกคามข้ามชาติอีกอย่างหนึ่ง จึงได้ร่วมมือกับไทย เพราะไทยมีความชำนาญในด้านสาธารณสุขมานานแล้ว”

“ฉะนั้น จึงมีทหาร แพทย์ วิทยาศาสตร์ มีการบังคับใช้กฎหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ของเราในเสาหลักการรักษาความมั่นคง”

“เสาหลักที่ 2 เป็นการบริหารปกครอง โดยช่วยให้มิตรประเทศของเราได้รับความสำเร็จในการบริหารปกครองให้มีประสิทธิผลมากที่สุด ทั้งในทางที่โปร่งใส ยุติธรรม เพื่อประชาชนในประเทศจะเกิดความมั่นใจในรัฐบาลของตนเอง เราถือว่าเป็นทางที่จะตั้งประเทศ หรือนำประเทศที่เข้มแข็ง แข็งแรงอย่างยาวนานและอย่างยั่งยืน เพราะความมั่นใจ ความไว้วางใจของประชาชน”

“ส่วนหนึ่งในการบริหารปกครองที่ดีและสำคัญมากก็คือ บทบาทของสื่อมวลชน สื่อมวลชนที่มีอิสระ สามารถถามว่า นโยบายนี้คิดขึ้นเพื่ออะไร หรือรัฐบาลเคยบอกว่าจะทำอย่างนี้ แต่ยังไม่เห็นผล หรือได้ข่าวว่าคนนี้ทำอะไรผิด จะมีการติดต่อไหม ถ้าขาดสื่อมวลชน ไม่มีทางที่รัฐบาลจะปรับปรุงตัวเองต่อไป คือทุกรัฐบาลอยากได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ก็แล้วแต่รัฐบาลว่าจะใช้ หรือจะตัดสินว่าใช้นโยบายอะไร แต่เพราะเรา-สหรัฐ ต้องการหุ้นส่วน ต้องการมิตรประเทศที่เข้มแข็ง ถ้าจะต่อสู้กับเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ หรือต่อสู้กับเรื่องความมั่นคง ก็อยากจะได้ประเทศที่เข้มแข็งและมั่นคง”

“ดังนั้น เราคิดว่าการใช้ระบบบริหารปกครองที่ตรงสายยุติธรรม ประชาชนจะเกิดความไว้วางใจและหวังพึ่งได้ เป็นทางที่จะทำให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ประเทศนั้นเข้มแข็ง”

“เสาหลักที่ 3 เศรษฐกิจ เราสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการค้าการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เราอยากจะช่วยให้ประเทศสร้างระบบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะดึงความสนใจการค้าการลงทุนจากภาคเอกชน ทำไมต้องเป็นจากภาคเอกชน ก็เพราะในภาคเอกชนมีทุนใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าที่ประเทศจะหาได้ เราอยากให้เป็นโครงการที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากที่สุด มีคุณภาพตามมาตรฐาน โดยจะมีผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่มีประโยชน์ต่อแรงงานมากที่สุด และวิธีที่ดีที่สุดคือมีการแข่งขันระหว่างกลุ่มต่างๆ หรือบริษัทต่างๆ แล้วทำในทางที่โปร่งใส”

“ฉะนั้น วิธีที่กำลังพูดถึงนี้ สหรัฐอยากจะร่วมมือกับมิตรประเทศที่จะช่วยให้เขาโดยเฉพาะประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจอาจจะยังไม่ถึงขนาดของไทยหรือสิงคโปร์ แต่ยังต้องการการลงทุนเพื่อรับการค้าขาย จึงต้องช่วยให้ประเทศนั้นสร้างสิ่งแวดล้อม สร้างสภาพเงื่อนไขให้ดึงความสนใจจากภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น”

“สำหรับหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) มีสมาชิกระหว่าง 600-700 และคงมีอีกหลายบริษัทที่ยังไม่ได้เข้า มีหลายบริษัทอยากจะเข้าเมืองไทยแบบ Regional base อยากจะลงทุนที่นี่เพื่อจะส่งออกไปในประเทศรอบๆ หรือมาติดต่อกับประเทศรอบๆ เนื่องจากอาเซียนเป็นเขตที่มีเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็จะดูที่เมืองไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ แล้วมาเปรียบเทียบสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม เช่น การติดต่อสะดวกไหมที่จะส่งออก นำเข้า ถ้ามาลงทุน แล้วเรื่องภาษีจะเป็นอย่างไร”

“ฉะนั้น เราจะแนะนำให้มิตรประเทศของเราในภูมิภาคนี้สร้างสถานการณ์ที่ทำให้บริษัทต่างๆ รวมถึงจากสหรัฐว่าประเทศนั้นยินดีต้อนรับและสนับสนุนการลงทุน แล้วมีเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วย ถ้ามีประเทศใดสนใจ ก็จะช่วยให้ประเทศนั้นปรับนโยบายที่จะดึงความสนใจของภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น”

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถ้าเราจะผลิตรองเท้านักกีฬา เกือบทุกบริษัทมักอยู่ในจีน แต่ใน 15 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงงานที่จีนสูงขึ้นเลยย้ายลงมาเวียดนาม อินโดนีเซีย และที่อื่น”

“แต่สำหรับเรื่องต่างๆ ที่เป็น High tech คอมพิวเตอร์ หรือ computer chips หรืออาจจะเป็นเรื่องทางสาธารณสุข เป็น high technology (อย่างรองเท้านักกีฬาไม่ high เท่าไหร่ หมายความว่า technologyไม่ยาก ไม่เยอะ) แต่สำหรับสินค้าที่ technology สูง ค่าแรงงานไม่สำคัญเท่าไหร่ สำคัญกว่านั้นคือ คุณภาพของการเรียน การฝึกอบรมของคนที่ทำงานที่นั้น คือมีประสบการณ์ หรือไม่มีประสบการณ์ จะเรียนรู้อย่างรวดเร็วไหม แล้วถ้าจะผลิตเพื่อส่งออก จะส่งออกได้สบายไหม มีเครื่องบินเข้า ออกตลอดไหม ถ้าจะผ่านศุลกากร จะสะดวกไหม เร็วไหม เอาของเข้ามา เอาของออกไปข้างนอกนั้นสำคัญกว่าค่าแรงงาน”

“สรุป ต้องแล้วแต่ว่าเราจะผลิตสินค้าอะไร”

ด้านความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกากับอาเซียน อุปทูตเฮย์มอนด์ชี้แจงว่า

“ภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง อาเซียนเป็นแกนกลาง ทำไมผมถึงพูดอย่างนั้น นั่นเป็นเพราะว่า อาเซียนเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ แล้วกำลังสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อาเซียนมีประชากร 650 ล้าน ถ้าเป็นประเทศหนึ่ง ก็น่าจะเป็นเบอร์ 3 ของโลกต่อจากจีนและอินเดีย”

“สำหรับ EU หากรวมกันทุกประเทศอาจจะเกือบเท่าอาเซียน เป็นตลาดสำคัญ ในเวลาเดียวกันถ้าจะพูดถึงทางด้านการเมืองและการรักษาความมั่นคงใน 30 ปีที่ผ่านมา อาเซียนก็กำลังเป็นวิถีให้มหาอำนาจประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้คือ ญี่ปุ่น อินเดีย จีน ออสเตรเลีย สหรัฐ มาร่วมกันปรึกษาเกี่ยวกับการค้าขายในภูมิภาคนี้ว่าจะทำอย่างไรดี”

“แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการมีระเบิดปรมาณูจะเกี่ยวกับความมั่นคงด้วย การค้าขายต้องมีความมั่นคง แต่นี่เป็นวิธีให้อำนาจอื่นๆ เข้าร่วมด้วย ถ้าจะให้ยกตัวอย่างคือ 2 ปีที่แล้วประธานาธิบดี Trump ประกาศว่าสหรัฐจะใช้ยุทธศาสตร์นี้คือ อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยประกาศที่ East Asia Summit ที่เวียดนามภายในการประชุมอาเซียน เมื่อประธานาธิบดี Trump ตัดสินว่าอยากจะพบกับ Kim Jong-un จึงพบกันครั้งแรกที่สิงคโปร์ พบกันครั้งที่ 2 ที่เวียดนาม”

“ผมจะเน้นเรื่องการร่วมมือกับประเทศไทยซึ่งเป็นหัวใจอาเซียน เป็นประเทศที่อยู่ใน 5 ประเทศที่ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 52 ปีที่แล้ว ภายใต้การเป็นผู้นำอาเซียนของไทยปีนี้ สหรัฐก็อยากจะร่วมมือทั้งไทยทั้งอาเซียนในด้านที่พูดถึงแล้วคือ ความมั่นคง เศรษฐกิจ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ภูมิภาคนี้เจริญต่อไปอย่างยั่งยืน”

“ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีเดียวกับที่มีการเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาลใหม่ มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงที่ผมมีโอกาสได้ทำงานอันยิ่งใหญ่ในมืองไทย โดย 3 ปีที่ผ่านมีแต่กรณีที่สำคัญ และเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถลืมได้เลย”

“แต่จะบอกว่า ถ้าจะพูดถึงนาที หรือ 5 นาทีที่ผมไม่มีวันลืม ที่รู้สึกว่าเป็นนาทีที่มีความรู้สึกดีใจที่สุด ภายใน 3 ปีที่มาประจำที่เมืองไทยนั้นคือ ตอนเย็นวันหนึ่ง รับโทรศัพท์ระหว่าง 4 ทุ่มครึ่งถึง 5 ทุ่ม ประมาณเกือบ 1 ปีที่แล้ว มีคนบอกว่า เจอแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ ทั้ง 13 คน ซึ่งพูดตรงๆ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะได้เจอ หรือถ้าจะเจอไม่ได้คิดว่าจะยังรอดอยู่ ทำให้ผมดีใจที่สุด”

“หนึ่ง ดีใจที่ได้เด็กกลับคืนมาและทุกคนมีชีวิตอยู่ สอง ดีใจที่สหรัฐมีส่วนร่วมภายใต้ความเป็นผู้นำของไทย พร้อมกับประเทศอื่นๆ ได้เห็นหลายประเทศมาร่วมกัน ช่วยเหลือกัน อาจจะเป็นเรื่องวิกฤตเล็กน้อย 13 คน ต่อไปถ้าเจอวิกฤตภัยธรรมชาติใหญ่ๆ อื่นๆ ก็ต้องมีการร่วมมือแบบนั้นอีกเช่นกัน”

สุดท้าย อุปทูตปีเตอร์ เฮย์มอนด์ กล่าวอำลาท่านผู้อ่านว่า

“ผมมาประจำที่นี่ครบวาระ 3 ปีแล้ว และจะต้องกลับสหรัฐสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ประเทศไทยจะเป็นสถานที่ที่โปรดปรานของผมตลอดไปเสมอ เพราะผมมีครอบครัวที่นี่ ความทรงจำที่ดีที่สุดเกิดขึ้นที่นี่มากมาย ผมขออวยพรให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง มีความรัก ความสามัคคี มีประเทศชาติเป็นที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์และมีความสุขสบายตลอดไป”