วิเคราะห์ : ความหวังแก้จนในนโยบายรัฐบาล จะทำตามสัญญา?

มุกดา สุวรรณชาติ

นโยบายรัฐบาล…ความหวังคนจน แต่จะทำ หรือไม่ทำ ก็ได้ (1)

5 ปีที่ผ่านมานี้ความยากจนได้แผ่ขยายไปทั่ว คนไทยได้รับผลกระทบแทบทุกอาชีพทุกภูมิภาค เกินกว่าร้อยละ 90 ถือว่ารายได้ลดลง

มีเพียงข้าราชการเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็มีผลกระทบโดยอ้อมจากการที่ต้องไปเลี้ยงดูคนอื่นด้วย

คนที่จนอยู่แล้วยิ่งยากลำบากเข้าไปอีก การหาเงินในเขตชนบทเป็นเรื่องที่ยากเย็นยิ่งนัก ในเมื่อราคาพืชผลเกษตรตกต่ำลงอย่างมาก

เงินจากการเกษตรที่เคยหมุนเวียนในหมู่บ้านในตำบลก็น้อยลง ชาวบ้านที่ยากจนจำนวนหนึ่งต้องอาศัยการยังชีพจากสวัสดิการของรัฐ เช่น เบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการ ดังนั้น การมีบัตรคนจนเพียง 300-500 ก็กลายเป็นเรื่องที่มีความหมายสำหรับพวกเขา

เมื่อมีการหาเสียงเลือกตั้งพรรคต่างๆ ได้เสนอนโยบายลดแลกแจกแถมให้กับชาวบ้าน พรรคที่เคยประณามว่ารัฐบาลเก่าว่า ใช้ประชานิยมทำให้ประเทศเสียหาย แต่ครั้งนี้ทุกพรรคการเมืองต่างก็ชูนโยบายการลดแหลก แจกสะบั้น

แต่จะไปหาเงินมาจากที่ไหน

และบัดนี้หลายพรรคก็ได้เข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ที่สำคัญคือพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำรัฐบาล และเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งจะต้องมาบริหารประเทศ

นโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ ทำให้ชาวบ้านที่ยากจนเกิดความหวังเพราะก่อนเลือกตั้งพวกเขาก็เห็นนโยบายของพรรคต่างๆ และก็ตัดสินใจเลือกด้วยความเชื่อว่าเขาจะได้ประโยชน์ ตามที่พรรคการเมืองสัญญาไว้

เพราะในอดีตสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับเลือกตั้งก็สามารถทำตามสัญญาได้ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค สามารถมีเงินกองทุนหมู่บ้าน สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีรับจำนำข้าวในราคา ตันละ 15,000 บาท

ดังนั้น จึงเกิดความเชื่อมั่นว่าพรรคต่างๆ ที่สัญญาไว้คงจะทำได้แน่ บรรยากาศในหมู่บ้านจึงมีความคึกคัก ชาวบ้านยังวิจารณ์อย่างมีความหวัง

 

ความหวังของชาวบ้าน

ร้านค้าเล็กๆ ในหมู่บ้านเป็นของลุงสินชัย แกเพิ่งเปิดได้สองปี แต่มีลูกค้าคึกคักเพราะเป็นร้านที่ใช้บัตรคนจนแลกของได้ แต่คนที่ชอบมานั่งคุยกันส่วนใหญ่เป็นคนวัยสูงอายุ ช่วงก่อนเลือกตั้งบรรยากาศสภากาแฟถกเถียงกันเรื่องพรรคการเมืองอย่างเอาจริงเอาจัง

“ข้าจะเลือกกัญชาเสรี นโยบายจะให้ปลูกกัญชาได้คนละหกต้นเชียวนะ โอ้โห มันต้องยังงี้” ตาแลเปิดประเด็น

“ได้ยินลูกๆ มันคุยกันว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจริงก็ไม่แน่ว่าจะให้ชาวบ้านปลูกกัญชากันจริงๆ หรอก เอาเป็นใบผ่านทางให้ได้เลือกเข้ามาเท่านั้น คนที่ได้ทำคงเป็นนายทุนใหญ่ เหมือนโรงเหล้านั่นแหละ” อีกคนค้าน

“เลือกพลังประชารัฐดีกว่า เบี้ยคนแก่ได้เดือนละพัน ไม่ต้องดูอายุว่าหกสิบเจ็ดสิบด้วย” ลุงมีเห็นต่าง “ไอ้บอยมันจะจบปริญญาแล้ว คงได้เงินเดือนสองหมื่นเชียวนะ”

“ใครจะจ้างเดือนละสองหมื่น ครูอัตราจ้างยังสี่ห้าพัน ที่เป็นข่าวไม่เห็นรึ” เจ้าของร้านพูดบ้าง

“แล้วค่าแรงก็ได้วันละ 425 บาทเชียวนะ” ยายศรีมาซื้อสบู่ ก็ออกความเห็น “ถ้าฉันสาวๆ จะไปหางานทำที่กรุงเทพฯ เลยนะนี่ หิ้วปูนหนักหน่อย ได้วันละสี่ร้อยกว่า ทนทำสักปีก็มีเงินเก็บแล้ว”

“ยายศรีเอ๊ย” เจ้าของร้านหัวเราะ “เมื่อวานแม่ค้าตลาดสดบอกว่า ถ้าค่าแรงขึ้นเป็นสี่ร้อยกว่านะ จะไล่คนไทยออกหมด จ้างพม่าถูกกว่า”

“ไม่รู้ละ ข้าเลือกพลังประชารัฐนี่แหละ ข้าวหอมมะลิได้เกวียนละหมื่นแปด ข้าวธรรมดาได้หมื่นสอง ลูกสาวข้ากำลังท้อง ก็จะได้เงินอีก เวลาไปคลอดไม่ต้องหาเงิน เขาให้หมื่นนึง” ลุงมีแจกแจงละเอียดยิบ

“เออ พลังประชารัฐจะพักหนี้กองทุนหมู่บ้านให้ด้วย” ทิดล้อมกู้เงินกองทุนมาเลี้ยงวัว สองหมื่น ผ่อนได้ทีละเล็กละน้อย กำลังอึดอัดกับหนี้ก้อนนี้

 

มาดูคำสัญญาพรรคพลังประชารัฐ (ที่เป็นแกนนำรัฐบาล…)

นโยบายมารดาประชารัฐ

– ท้องรับเงินเดือนละ 3,000 บาท 9 เดือน 27,000 บาท ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท

– ค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 2,000 บาทจนถึงอายุ 6 ปี รวมแล้วมีลูก 1 คน ได้ 181,000 บาท

เพิ่มค่าแรง ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน อาชีวะ เงินเดือน 18,000 ปริญญาตรี เงินเดือน 20,000 บาท

– ประกันราคาสินค้าเกษตร

ข้าวเจ้า 12,000 ต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทต่อตัน ยางพารา 65 บาทต่อกิโลกรัม

– อ้อย 1,000 บาทต่อตัน ปาล์ม 5 บาทต่อกิโลกรัม มันสำปะหลัง 3 บาทต่อกิโลกรัม

– ยกเว้นภาษีการค้าออนไลน์ 2 ปี ลดภาษีบุคคลธรรมดาทุกระดับขั้นร้อยละ 10

– เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน -สานต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

– ขยายเวลาเกษียณอายุราชการเป็น 63 ปี

– พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 4 ปี ตั้งกองทุนประชารัฐ หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท

แจกตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ฟังแล้วจะไม่ให้ชาวบ้านฝันหวานได้ยังไง

แต่…ไม่มีคำสัญญาที่หาเสียง ระบุไว้ในคำแถลงนโยบาย 2562 อย่างชัดเจน

 

ถ้าสังเกตดูในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลจะพบว่าเป็นแบบกว้าง ทั้งนโยบายหลัก 12 ข้อ และที่เป็นเรื่องเร่งด่วน 12 ข้อ มีหัวข้อการปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ไม่พูดถึงโครงการรายละเอียด มารดาประชารัฐ ไม่มีตัวเลข

การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม ก็ไม่พูดถึงราคาพืชผลการเกษตร

การยกระดับศักยภาพของแรงงาน ก็ไม่พูดถ7งค่าแรง

สรุปว่าไม่มีตัวเลขชี้วัดที่จะพิสูจน์ได้ว่ารัฐบาลทำได้ตามเป้าหรือไม่ จึงไม่มีตัวเลขเกี่ยวกับค่าแรงไม่มีระยะเวลาที่กำหนดว่าจะขึ้นเมื่อไร เป็นขั้นตอนแบบไหน ด้านการศึกษาที่จะส่งเสริมโครงการมารดาประชารัฐยังไม่มีตัวเลขที่หาเสียงไว้ไม่มีระยะเวลา เรื่องการดูแลพืชผลการเกษตรก็ไม่มีตัวเลขใดๆ ทั้งสิ้น และจะใช้วิธีการใดในพืชเกษตรแต่ละชนิด

รัฐบาลนี้มีเวลาเตรียมจัด ครม. และก็อ้างว่าถกกันเรื่องนโยบาย นานที่สุดถึง 3 เดือน

ความหวังของประชาชนและคนยากคนจนจึงจะต้องอยู่ที่การเร่งจี้ ให้รัฐบาลต้องดำเนินการตามนโยบายโดยเร็วตามที่สัญญาไว้ มิฉะนั้น อาจจะเหมือนรัฐบาลในยุคก่อนโน้นที่ ดีแต่พูด…ถึงเวลาจริงไม่ทำ

อาจมีคนคิดว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลยังไม่ต้องลงรายละเอียดก็ได้มั้ง แต่รายละเอียดที่เป็นเป้าหมายเหมือนคำมั่นสัญญา ควรเขียนลงไปให้ชัดเจน เพื่อให้คำแถลงนโยบายของ ครม.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สามารถวางงบประมาณได้ กำหนดแหล่งเงินได้ ตรวจสอบและประเมินผลงานได้ ว่าสำเร็จตามที่สัญญาไว้หรือไม่

ลองย้อนดูการแถลงนโยบายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เคยทำมาแล้ว

 

ตัวอย่าง…
คำแถลงนโยบาย
ของ ครม.นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

(แถลงต่อรัฐสภา 23 สิงหาคม 2554 ขอคัดเฉพาะนโยบายเร่งด่วน ที่มีตัวเลขยืนยัน ตามที่สัญญาหาเสียงไว้กับประชาชน เช่น…)

1.8.1 พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท อย่างน้อย 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้เกิน 500,000 บาท…

1.8.2 ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท…

1.8.3 จัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ โดยผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท…

1.9 ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้เหลือร้อยละ 23 ในปี พ.ศ.2555 และลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปี พ.ศ.2556…

1.10.1 เพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท

1.10.4 จัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นจำนวนเงิน 300,000 …400,000 และ 500,000 บาทตามลำดับขนาดของหมู่บ้าน เพื่อให้หมู่บ้านบริหารจัดการกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง

1.11 ยกระดับราคาสินค้าเกษตร และนำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับ…

 

แถลงนโยบายแบบนี้ไม่กลัวขัดรัฐธรรมนูญ 2560 หรือ?

รัฐบาลชุดนี้ตอนถวายสัตย์ พูดขาดไปหนึ่งบรรทัด แล้วก็ไม่สนใจเลยว่านี่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าคิดว่าการถวายสัตย์สมบูรณ์แล้ว ก็ต้องทำตามขั้นตอนต่อไป คือมาตรา 162…

…คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนํามาใช้จ่ายในการดําเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่

ถ้าดูในคำแถลงนโยบาย ก็ไม่เห็นเขียนตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด เพราะไม่มีการกล่าวถึงคำสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงเลยว่า นโยบายต่างๆ มีอะไรบ้าง ต้องใช้งบประมาณเท่าไร สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไร และไม่ได้ชี้แจงว่าจะหารายได้จากไหนมาใช้จ่ายในการดําเนินนโยบาย อย่างเช่น โครงการมารดาประชารัฐ ใช้เกินกว่า 1 แสนล้านในเด็กแต่ละรุ่น

การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มิใช่การบอกกล่าวกับผู้แทนฯ ในสภาเท่านั้น แต่เป็นการกล่าวคำมั่น บอกทิศทาง เป้าหมาย ให้ประชาชนรู้ว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาต่างๆ อย่างไร ได้แค่ไหน ในเวลาเท่าไร ประชาชนจะได้อะไร หรือกลัวว่าทำไม่ได้ก็เลยไม่เขียน แบบนั้นก็ขัดรัฐธรรมนูญอีก ทีมวิเคราะห์มองว่า สัญญาหลายข้อเป็นเรื่องดี มีทั้งทำยาก และทำไม่ยาก แต่จะได้ผลอย่างไรตามมา ขอวิจารณ์ในตอนหน้า

แต่การไม่แถลงตามมาตรา 162 ถ้าไม่กลัวศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องคิดถึงความรู้สึกประชาชน ว่าตอนนี้อยู่ในฐานะรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างเอง

มิได้มีอำนาจเต็มจากการรัฐประหาร ถ้าทำตามใจได้ทุกเรื่อง แล้วใครจะเชื่อถือคำมั่นสัญญา