“ชวน หลีกภัย” ประมุขนิติบัญญัติ ในสังเวียนการเมืองครึ่งศตวรรษ แน่วแน่แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

ชวน หลีกภัย ผู้นำทางความคิดในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมครึ่งศตวรรษ ในฐานะหัวหน้าพรรคคนที่ 5 ผ่านการเป็นผู้แทนราษฎร 16 สมัย อยู่ในเหตุการณ์บ้านเมือง ช่วงรัฐประหาร 6 ครั้ง ผ่านการคลุกทำเนียบประมุขฝ่ายบริหาร 2 สมัย

ถัดจากคณะรัฐบาลยุครัฐประหาร เปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลเลือกตั้ง “ชวน” ขึ้นสู่บัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 2 เขาเปิดใจปณิธานตลอด 5 ปีที่ผ่านมาที่นักการเมืองอาชีพถูกเว้นวรรค

“เราไม่มีเลือกตั้งมาหลายปี 5 ปี ช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีตัวแทนประชาชนที่แท้จริงในการนำปัญหามาสู่สภา เหมือนปัญหาทั้งหลายสะสมอยู่มาก เวลามีสภาขึ้นมาทุกคนเหมือนกับน้ำทะลักออกจากเขื่อน”

โดยเฉพาะปัญหาชาวบ้าน ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่ผู้แทนฯ ทุกคนผจญเหมือนๆ กัน สิ่งเหล่านี้ก็ต้องพยายามให้โอกาสสมาชิกได้นำปัญหาเหล่านี้มาสู่สภาเพื่อนำไปสู่ฝ่ายที่รับผิดชอบ คือ ฝ่ายบริหารได้ดูแล

ไม่ได้ถือว่าเป็นการเผชิญกับปัญหาแปลกใหม่ แต่ถือว่าเป็นกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยที่เราต้องยอมรับรู้ปัญหาของชาวบ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขโดยดีจากฝ่ายผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

“ในฐานะที่เป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ต้น ผมเป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจเป็นนักการเมือง ไม่ใช่มาเพราะไม่มีงานทำ ไม่ได้มาเพราะเกษียณอายุ ไม่ใช่มาเพราะไม่มีงานอื่น หรือไม่ได้มาเข้ามาหาผลประโยชน์ หรือรักษาผลประโยชน์”

ตั้งแต่ต้นที่ตัดสินใจเข้ามาเป็นนักการเมือง เมื่อมีโอกาสก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางระหว่างไปเป็นผู้พิพากษา ไปเป็นอัยการ ทนายความ หรือ นักการเมือง ก็ตัดสินใจเป็นนักการเมือง

“ผมเข้ามาด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่นอยากเป็นนักการเมือง เป็นปากเป็นเสียงชาวบ้าน เพราะฉะนั้น ปัญหาของประชาชนจึงเป็นปัญหาต้นที่เราต้องคิดอยู่ตลอดเวลา”

 

หลังก้าวขึ้นสู่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ “ชวน” ตั้งปณิธานว่า “เมื่อมามีสถานะเป็นประธานสภา สิ่งที่ต้องคิด คือ ตัวสถาบันของฝ่ายนิติบัญญัติ 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย และเข้าไปเกี่ยวกับ 2 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ และบริหาร เพราะรัฐบาลมาจากเสียงข้างมากในระบบรัฐสภา”

ประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 บัญญัติไว้ทุกฉบับ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

สมาชิกต้องตระหนักถึงความสำคัญ ต้องเป็นแบบอย่าง เราเป็นนิติบัญญัติ เราออกกฎหมาย เราควบคุมรัฐบาล เราต้องเป็นแบบอย่างของการเคารพกฎหมาย

นอกจากการย้ำให้สมาชิกรัฐสภา 750 ชีวิต เป็น “ตัวอย่างที่ดี” แก่ประชาชนในเรื่องการเคารพกฎหมาย “ชวน” ยังคงถ่ายทอดบุคลิก-แบบอย่างของการดำเนินชีวิตเรียบง่าย-สมถะ ในการเข้มงวดเรื่องการใช้อำนาจ-สิทธิประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภา

ทั้งการใช้ “รถยนต์ส่วนตัว” แทนการ “เช่ารถ” คันละหลักแสนบาท ในวาระที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำอาเซียน การวางธรรมเนียมไป “ดูงานต่างประเทศ” ของ ส.ส.-ส.ว.

“ผมเชื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งว่า ไม่ว่าคนหรือรัฐประเทศ ถ้าไม่รู้จักประหยัดก็ล่มจม อะไรที่ประหยัดได้ ก็ควรประหยัด มันคือเงินภาษีประชาชน ประเทศไทยไม่ใช่เศรษฐี”

แม้แต่การยกตัวอย่างของ “ส.ส.รุ่นพี่” ในอดีตที่จองตั๋วโดยสารรถประจำทาง-รถไฟ-เครื่องบิน ให้ “ส.ส.รุ่นใหม่” ไว้เป็นบทเรียน

“ผมยังเตือนหลายคนว่า เผื่อไปเป็นรัฐมนตรีแล้วเขาเอาประวัตินี้มาแฉ ขนาดค่าเครื่องบินยังไม่จ่ายเลย จะไปทำงานส่วนรวมได้อย่างไร”

 

ภารกิจอันใหญ่หลวงของ “ประมุขนิติบัญญัติ” ถึงแม้ “ไม่เคยคิดว่าจะได้กลับมา” จน “นาทีสุดท้าย” ส.ส. 258 เสียง “ยกมือโหวต” ท่ามกลางกระแสข่าวถึง “ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้”

“เมื่อมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบในช่วงที่ทำอยู่ จะใช้เวลาทุกวันให้เป็นประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย ทำให้ระบอบประชาธิปไตยพัฒนาไปข้างหน้าด้วยดี ทำให้การเมืองไทยได้รับการยอมรับจากประชาชน”

“ผมไม่ได้รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงได้มีเงื่อนไขข้อหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาล คือ ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ แนวคิดเราหารือทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มที่มีประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ส.ว.”

“ในส่วนของผมต้องพยายามให้ประชาชนตระหนักว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ ประชาธิปไตยที่ชอบธรรม การเมืองที่สุจริต ยุติธรรม รณรงค์ทั้งประเทศ เพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตยที่แท้จริง”

“การสร้างคนดีเป็นสิ่งสำคัญที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้องคมนตรีทำในช่วงปลายของพระองค์ท่าน ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีท่านเล่าให้ผมฟัง แล้วผมได้นำแนวของพระองค์ท่านไปเผยแพร่ ว่า เราต้องสร้างคนดี นักการเมืองที่ดี”

 

ด้วยวัย 81 “ชวน” ตั้งเป้าหมายในใจลึก-ความฝันอันสูงสุดบั้นปลายชีวิตทางการเมือง ไม่ต่างจากวันแรกที่เขาตัดสินใจทิ้งอาชีพผู้พิพากษา ตัดสินใจยึดอาชีพอันทรงเกียรตินักการเมือง

“ผมมีเวลาจำกัด ผมนับถอยหลังแล้ว อายุผมมากแล้ว สุขภาพอนามัยก็ไม่ได้ยั่งยืนตลอดไป เป็น ส.ส.มา 16 สมัย ชีวิตผ่านประสบการณ์ มีปัญหาอุปสรรคมาก มาเป็นประธานทั้งที ต้องคิดทำประชาธิปไตยของประเทศไทยดีขึ้น ด้วยความตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต”

“ผมเป็นตำแหน่งอะไรได้ก็เพราะระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบอื่น ผมเป็นหนี้บุญคุณระบอบประชาธิปไตย เป็นหนี้บุญคุณประชาชนที่ลงคะแนน เป็นหนี้สินที่เราต้องตอบแทนบุญคุณทั้งสิ้น เราคือลูกชาวบ้านคนหนึ่ง แต่มีโอกาสเพราะระบอบประชาธิปไตย”

“เป้าหมายคือ ได้เป็นนักการเมืองและดูแลปัญหาของประชาชนของประเทศชาติโดยส่วนรวม ทุกย่างก้าว ทุกสถานภาพ แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกอะไร เป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน”

เป็นเป้าหมาย-ความฝันอันสูงสุดตั้งแต่วันแรก-ปัจจุบันของการเป็นนักการเมืองของชวน-สุภาพบุรุษบนสังเวียนการเมืองไทย