หลังเลนส์ในดงลึก : “ดาบ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ฤดูหนาวมาถึงแล้ว

ถ้าพูดแบบชนพื้นเมืองดั้งเดิมในอเมริกา ก่อนที่จะถูกรุกรานถิ่นจนกระทั่งล่มสลาย ก็ต้องพูดว่า “เป็นช่วงเวลาที่น้ำในลำธารกลายเป็นน้ำแข็ง”

เป็นฤดูกาลที่มวลสัตว์ป่าอพยพเดินทางย้ายถิ่น หลบความขาดแคลนอาหารเพื่อไปยังที่อุดมสมบูรณ์กว่า

ปีที่ผ่านมา ป่าในประเทศไทย ปริมาณน้ำฝนมีไม่มากนัก ฤดูแล้งยาวนาน ฝนมาตกในช่วงท้ายๆ ของฤดู

แต่ในบางปี ฝนตกต่อเนื่องรุนแรง ลำห้วยสายหลักๆ กระแสน้ำเอ่อล้นที่ราบสองฝั่งที่รกทึบถูกกระแสน้ำพัดจนราบเรียบ

เมื่อลมหนาวมาถึง หาดทรายโล่งๆ ริมลำห้วยก็จะเป็นแหล่งอันเหมาะสมของนกยูงตัวผู้ ซึ่งจะมาจับจองอาณาเขตไว้เพื่อรำแพนแสดงความแข็งแรงให้ตัวเมียเห็น

ดูเหมือนว่าธรรมชาติจะจัดการกับเรื่องนี้ไว้แล้ว ป่าอาจรกทึบไปอีก 2-3 ปี จากนั้นไฟป่าจะเข้ามาเยือน สัตว์กินพืชที่มีเขายาว เดินตามด่านสบายขึ้น

วัวแดง แสดงความชื่นชมอย่างออกนอกหน้า พวกมันถึงขั้นลงไปนอนคลุกขี้เถ้าดำๆ อย่างรื่นรมย์

ฝนตกหนักส่งท้ายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชีวิตในป่ารู้ว่าเมื่อสายลมหนาวมาถึง จะเป็นฤดูหนาวอันเย็นยะเยือก

ฝนยังไม่ขาดเม็ด สายลมหนาวระลอกแรกก็มา พร้อมกับการปรากฏกายของนกเด้าลมหลังเทา ซึ่งเป็น “ส่วนหน้า” ของเหล่านักเดินทางย้ายถิ่น

ในสัตว์ป่า มีสัญชาตญาณของการเดินทาง

พวกมันรู้เวลา รู้เส้นทาง เป็นความรู้ซึ่งถ่ายทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

เป็นสัญชาตญาณเดียวกับที่คนมี

ถึงวันนี้ สัตว์ป่ายังเดินทางมุ่งหน้าสู่แหล่งอาหารอันสมบูรณ์ เหมือนเช่นเดิม

ถึงวันนี้เช่นกันคนยังออกเดินทาง แต่ด้วยเหตุผลอันแตกต่าง

ไม่ใช่เพื่อออกไปหาแหล่งอาหารหรือแหล่งอาศัยที่ดีกว่าดังเดิม

แต่สายลมหนาวเป็นคล้ายแรงกระตุ้นอันทำให้หลายๆ คนอยู่ไม่ติด

หลายคนคิดถึงการออกไปอยู่กลางแจ้ง บนภูเขา ในป่า ท้องฟ้าใส ประดับด้วยดวงดาวระยิบระยับ อากาศเย็นยะเยือก หายใจออกมาเป็นควัน อาศัยไออุ่นจากกองไฟ นอนหลังแนบพื้น กินอาหารง่ายๆ จากฝีมือตัวเอง

สิ่งเหล่านี้คล้ายจะกระตุ้น “ต่อม” เดินทาง กระทั่งรอให้ถึงวันหยุดแทบไม่ไหว

นี่คือช่วงเวลาที่บนภู บนดอยต่างๆ ทางภาคเหนือและอีสาน คับคั่งเนืองแน่นไปด้วยคนและรถ

หลายดอย ไม่เพียงงดงาม แต่เป็น “บ้าน” แห่งสุดท้ายของสัตว์ป่าบางชนิด

“บ้าน” ที่พวกมันไม่มีทางถอยหนีอีกแล้ว แม้ว่าเสียงอึกทึกครึกโครมจะดังอยู่รอบตัว

 

เทศกาลวันหยุดยาวนาน

ดอยม่อนจอง รวมทั้งดอยอินทนนท์ รวมถึงดอยเชียงดาว เนืองแน่น

ทิวเขาซับซ้อน ทะเลหมอก คือความงามน่าหลงใหล หลายคนเพลิดเพลินกับการบันทึกภาพตัวเอง โดยไม่รู้ว่า ใต้ชะง่อนหิน มีชีวิตกำลังซ่อนตัวอยู่อย่างตื่นตระหนก

อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประกาศจัดตั้งเพื่อให้เหล่าสัตว์และพืชพันธุ์รวมทั้งชีวิตต่างๆ มีแหล่งอาศัยได้ดำเนินไปตามวิถี

เรื่องที่ดีที่สุดของคนคือจะได้เข้ามาเพื่อเรียนรู้ ทำความรู้จักกับธรรมชาติ

การเข้ามาจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ถ้าขึ้นดอย หรือเข้าป่าอย่างชนิด “ไม่เกรงใจ” เจ้าของบ้านตัวจริง

ทุกคนจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมเหมือนๆ กัน

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเที่ยวป่า ป่าไม่ใช่สถานที่ลึกลับ ไม่ใช่ดินแดนอาถรรพ์ คนเข้าป่า ต้องถึก บึกบึน พร้อมผจญภัย ป่าไม่ใช่ที่อยู่ของสัตว์ร้าย แต่ก็ไม่ใช่เพียงดินแดนที่มีแต่ลำธารใส ผีเสื้อบินร่อน

ยิ่งโลกเจริญก้าวหน้าไปไกลและรวดเร็ว

ดูเหมือนการต้องศึกษาเรียนรู้ “สิ่งเดิมๆ” อันเป็น “ราก” ของเรายิ่งจำเป็น

 

ถ้าเราคิดว่า เราเป็นแค่ผู้มาเยี่ยม

เราจะรู้ว่าเสียงพูดคุย เสียงหัวเราะในป่าได้ยินไปไกลแค่ไหน อย่าว่าแต่เสียงตีขวดร้องเพลงเลย

เตรียมตัวศึกษาหาข้อมูลของดอย ของป่าที่จะไป

อย่างน้อยก็จะรู้ว่า บนดอยเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ด้วย ไม่ใช่แค่ทิวทัศน์สวยๆ

กระนั้นก็เถอะ ใช่ว่าจะเห็นตัวสัตว์พวกนี้ง่ายๆ

เดินเป็นขบวนยาวไม่ใช่ปัญหา เสียงดังๆ นั่นคงไม่ทำให้มีกวางผาตัวใดอยู่ให้เห็น

เสื้อผ้าที่ใส่เวลาเข้าป่าก็สำคัญ แม้ว่าจะมีการศึกษาว่าสัตว์ป่าส่วนมากมองเห็นสิ่งต่างๆ เพียงสีขาวและดำก็ตาม

ในความเป็นจริง สัตว์ในป่า ไม่ได้มีเพียงสัตว์กินพืช สัตว์กินเนื้อ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ชีวิตในป่ามีมากมาย ซึ่งต่างอาศัยอยู่อย่างพึ่งพากัน มีพวกทำหน้าที่ระวังไพร ยามพวกนี้อยู่ทั่วไป บนต้นไม้ พื้นดิน และบินอยู่บนอากาศ

สวมใส่เสื้อผ้าที่กลมกลืนอย่างน้อยก็ไม่สะดุดตา “ยาม” เหล่านี้นัก

ไต่เงียบๆ ไปตามสันดอย อาจโชคดีได้เห็นกวางผายืนอยู่ที่ชะง่อนหิน

นอนราบลงกับพื้นนิ่งๆ จะได้เห็นความหายากนั้นนาน

อีกนั่นแหละ คงยากจะทำเช่นนี้ ในช่วงเวลาที่คนมหาศาลมุ่งหน้ามาจุดเดียวกัน

บางทีแค่คิดว่า ใต้หน้าผา หลังละอองหมอก

มีกวางผาซุกตัวอยู่ รอเวลาที่ดอยจะกลับมาเงียบสงบ

เท่านี้ก็พอแล้ว

 

ว่าไปแล้ว ผมเป็นคนแรกๆ ที่ทำงานกับกวางผา และนำรูปสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้มาเผยแพร่

ผมเขียนถึงดอยม่อนจอง ดอยอินทนนท์บ่อย

วันหนึ่งบนดอยม่อนจอง มีชายหนุ่มสองคน คลานหมอบเพื่อเฝ้าดูกวางผาที่ยืนบนชะง่อนหินอย่างโดดเดี่ยว

ผมเข้าไปทักทายพวกเขา บอกว่าทำตามวิธีที่มีคนเขียนไว้ในหนังสือสารคดี

ผมจากมา และขอให้พวกเขาโชคดี

ดูเหมือนวันนั้น กวางผาจะได้เพื่อนเพิ่มขึ้นอีกสองคน

 

นานแล้วที่ผมไม่ได้ไปดอยม่อนจอง และดอยอินทนนท์

ผมไปดอยม่อนจองครั้งล่าสุด กว่า 6 ปีแล้ว

ฤดูหนาว คนมากมาย เสื้อกันหนาวหลากสี บนชะง่อนหินที่เคยพบกวางผาเสมอ ว่างเปล่า

ผมเดินลงจากดอย หลังจากพบว่ามีเพียงชะง่อนหินอันเงียบเหงา

สันดอยทอดตัวยาว กระทบแสงเงาสวยงาม

ผมนำภาพเหล่านี้จำนวนไม่น้อยออกเผยแพร่

สวนทางกับคนตลอด ทุกคนมีแววตากระตือรือร้นส่งเสียงทักทาย

จะชี ชายหนุ่มจากบ้านมูเซอปากทาง ช่วยแบกสัมภาระ

ขาเดินขึ้น เป้หลังบรรจุกล้องและเลนส์หนักอึ้ง

ในขาลงดูคล้ายจะต่างออกไป เป้เบาดุจไร้น้ำหนัก

คงเพราะอุปาทาน ผมคิดว่า กล้องกับเลนส์ในเป้ แปรสภาพไปแล้ว

มันเปลี่ยนเป็นดาบเบาๆ เล่มหนึ่ง

“ดาบ” ที่มีอยู่ทั้งสองคม

 

ฤดูหนาว พ.ศ.2559

ภาพคนเนืองแน่นตามดอย ผมนึกถึงกวางผา

หลายปีก่อน ผมเคยอุปาทานว่า เครื่องมือแปรสภาพเป็นดาบที่มีอยู่สองคม

ภาพความโกลาหลบนดอย

ทำให้ผมรู้ถึงความจริงว่า

ดาบของผม มีอยู่เพียงคมเดียว อีกด้านหนึ่งทื่อ

ด้านคมนั้น ดูเหมือนจะบาดที่ตัวกวางผา จนเป็นแผลลึก