สุรชาติ บำรุงสุข : 2017 กระแสขวาใหม่! เมื่อขวาเป็นประชานิยม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS

“เราต้องหยุดผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายให้ได้
พวกเขาทำร้ายเราในทางเศรษฐกิจ”

โดนัลด์ ทรัมป์
10 พฤศจิกายน 2015

 

ถ้าสมมติเราจะต้องลากเส้นแบ่งเวลาของความเปลี่ยนแปลงในการเมืองโลก เราอาจจะถือเอาปี 2016 เป็นดัง “จุดเปลี่ยน” ของเส้นเวลา ซึ่งหากถือเอาช่วงต้นในครึ่งแรกของปี เหตุการณ์สำคัญคงได้แก่ การตัดสินใจลงประชามติของชาวอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นดังการ “ช็อกโลก” หรือที่เรียกว่า “เบร็กซิท” (Brexit หรือ British Exit)

และต่อมาในช่วงปลายปีดังกล่าว ผลการเลือกตั้งในการเมืองสหรัฐ ก็ดูจะเป็นการ “ช็อกโลก” อีกครั้ง

จนอาจกล่าวได้ว่าปี 2016 เป็นดังการส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวทีโลกในอนาคต

AFP PHOTO / ANP / Koen van Weel / Netherlands OUT

เบร็กซิท?

ถ้าย้อนกลับไปทำความเข้าใจ จะเห็นพัฒนาการสำคัญประการหนึ่งของ “เบร็กซิท” ก็คือ การที่สังคม/ชุมชนต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์

ในสภาพเช่นนี้เมืองที่เคยเป็นเขตอุตสาหกรรมเดิม กลายเป็น “เมืองว่างงาน” อุตสาหกรรมที่เคยรุ่งเรืองกลายเป็นภาพในประวัติศาสตร์

ตัวอย่างเช่น เมืองเชฟฟิลด์ (Sheffield) ในอังกฤษ ซึ่งเคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมหลัก คนในเมืองถึงร้อยละ 51 ประกาศสนับสนุนเบร็กซิท พวกเขาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนถึง “การต่อต้านสหภาพยุโรป” เช่นเดียวกันพวกเขาประกาศตัวเป็นพวก “ต่อต้านกระแสโลก”

อย่างน้อยพวกเขาก็แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อการจัดระเบียบระหว่างประเทศแบบเดิมที่เชื่อว่าการรวมกลุ่มของชาติสมาชิกในกรอบของความเป็นองค์กรแบบ “เหนือชาติ” (supranational) จะเป็นทางออกสำหรับการสร้างอนาคตของประเทศ อันส่งผลให้เกิดการ “เปิดพรมแดน” ของอังกฤษ เพื่อทำให้การเคลื่อนย้ายของคนและทุนในโลกาภิวัตน์สามารถขับเคลื่อนได้

สำหรับชาวบ้านแล้ว พวกเขาดูจะเห็นต่างไป อังกฤษภายใต้สหภาพยุโรปกลายเป็นดังสภาวะของ “การเสียเอกราช” เพราะการถูกบังคับให้ต้องยอมรับมาตรการต่างๆ ภายใต้กรอบของสหภาพ ประกอบกับการตกงานและความยากจนที่ขยายตัวในหมู่ชนชั้นล่าง

ดังจะเห็นได้ว่าพื้นที่ชานเมืองซึ่งเคยเป็นเขตอุตสาหกรรมกลายเป็น “เขตคนจน”

สภาพเช่นนี้ยังมาพร้อมกับการขยายตัวของผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาอาศัยและหางานในอังกฤษ และเงื่อนไขเช่นนี้ยังถูกสำทับด้วยการขยายตัวของการก่อการร้ายและชุมชนมุสลิม มีสำนวนล้อเล่นที่สะท้อนถึงความกลัวต่อปัญหาเช่นนี้ก็คือ การบอกว่าถ้ารัฐบาลอังกฤษไม่จัดการกับปัญหานี้สักวันในอนาคต เมืองหลวงของอังกฤษจะมีชื่อว่า “ลอนดอนสถาน”

ดังนั้น วันนี้อาจจะพบว่าไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่จะพบว่าองค์ประกอบของกระแสขวาใหม่จะเป็นเรื่องของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ต่อต้านผู้อพยพ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือปัญหา “ความกลัวคนภายนอก” (xenophobe)

ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยสะสมอย่างดีต่อการกำเนิดของ “ประชานิยมปีกขวา” (Right-wing Populism)

และด้วยแรงขับเคลื่อนเช่นนี้เองที่ทำให้ฝ่ายที่ต้องการออกเป็น “ผู้ชนะ”

สำหรับผู้แพ้นั้น การพ่ายแพ้ครั้งนี้มีนัยถึงการถดถอยของกระแสเสรีนิยมและกระแสสากลนิยม (มิใช่ในความหมายของนักลัทธิมาร์กซ์ในแบบเดิม)

และทั้งยังบอกถึงการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียโอกาสสำหรับคนหนุ่มสาวในอนาคต การสูญเสียอัตลักษณ์ของความเป็นยุโรปร่วมกัน ตลอดรวมถึงการสูญเสียความแน่นอนในเชิงสถาบัน ในความเป็นสหภาพร่วมกันของคนยุโรป แต่แม้จะไม่พอใจต่อผลที่เกิดขึ้นเพียงใด ก็เห็นได้ชัดเจนว่าผลเช่นนี้มาจากกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย

กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยสามารถที่จะเปิดโอกาสให้ชุดความคิดแบบ “ประชานิยมปีกขวา” ขับเคลื่อนจนเป็นฝ่ายชนะในประชามติได้

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ฝ่ายขวาไม่จำเป็นต้องได้รับชัยชนะด้วยการอาศัยกระบวนการแบบ “อำนาจนิยม” ซึ่งเป็นแนวความคิดขวาจัดแบบเก่าที่อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของโลกปัจจุบัน

บางทีความพ่ายแพ้ของฝ่ายที่ต้องการอยู่ในสหภาพในประชามติที่อังกฤษ อาจจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนกับอนาคตว่า การก่อตัวของกระแสขวาที่เป็นประชานิยมนั้น แนวความคิดของฝ่ายเสรีนิยมแบบเดิม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดของปีกซ้ายแบบเดิม ตลอดรวมถึงปีกกลางซ้าย อาจจะต้องทบทวนความคิดกันใหม่

ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัญหาประชาธิปไตย

ปัญหาความเป็นธรรมในสังคม

ปัญหาความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนถึงปัญหาที่เกิดจากผลของระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ และเราคงจะคิดด้วยการมองเห็นแต่ด้านดีของกระแสเสรีนิยมในโลกาภิวัตน์

จนปฏิเสธที่จะมองเห็นผลกระทบเชิงลบที่มีต่อชีวิตของผู้คนในทางเศรษฐกิจ

และบางทีโลกาภิวัตน์อาจจะ “โหดร้าย” กับชีวิตของชนชั้นล่างมากกว่าที่เราคิดก็ได้

AFP PHOTO / PETER PARKS

กระแสขวาใหม่

หากมองในบริบทของโลกแล้ว แรงต้านเช่นนี้กำลังส่งสัญญาณถึงการก่อตัวของ “ระเบียบโลกใหม่”

และแน่นอนว่าไม่ใช่ “ระเบียบโลกใหม่” ในแบบที่มากับการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น ที่มีนัยถึงการขับเคลื่อนของ “กระแสทุนนิยมโลก” ภายใต้กรอบของโลกาภิวัตน์ แรงต้านดังกล่าวกำลังบอกเราถึงการกำเนิดของกระแสการเมืองปีกขวาชุดใหม่ และพวกเขาตัดสินใจเสนอขายนโยบายในแบบ “ประชานิยม” อีกทั้งแรงต้านเช่นนี้ยังถูกผนวกเข้ากับแนวคิดแบบ “ชาตินิยม” ในมุมมองของปีกขวาประชานิยมนั้น การออกจากสหภาพยุโรปจึงกลายเป็นปัญหาการได้มาซึ่งเอกราชของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การกำเนิดของกระแสขวาใหม่ชุดนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นผลพวงโดยตรงจากความล้มเหลวหรือความไร้ประสิทธิภาพของ “ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม” ที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนานในสังคมยุโรป ซึ่งว่าที่จริงแล้วในยุคหนึ่งก็อาจถือได้ว่าการกำเนิดของ “ลัทธิมาร์กซ์” (Marxism) ก็คือแรงต้านชุดหนึ่งต่อการขยายตัวของระบบทุนนิยม/เสรีนิยมในยุโรปนั่นเอง

การต่อต้านเช่นนี้ส่วนหนึ่งก่อให้เกิด “ขบวนปฏิวัติ” เช่น ในตัวแบบของการปฏิวัติบอลเชวิกของเลนินในปี 1917

ตัวแบบเช่นนี้มีนัยถึงการต่อต้านในแบบของการจัดตั้งและติดอาวุธเพื่อนำไปสู่การโค่นล้มระบบทุนนิยมและสถาปนาระบบสังคมนิยม

ดังเช่นกรณีการปฏิวัติรัสเซีย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในการปฏิวัติที่สำคัญของโลก

แต่สำหรับพวกปีกซ้ายสายกลางที่ไม่ได้เดินบนหนทางปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธแล้ว คนเหล่านี้กลายเป็นพวก “สังคมประชาธิปไตย” (social democrats) ในการเมืองยุโรป และแนวคิดแบบ “Social Democracy” กลายเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับพวกปีกซ้ายยุโรปในยุคหลังการปฏิวัติรัสเซีย

ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มาจากกลุ่มการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพวกลัทธิมาร์กซ์สายกลาง กลุ่มสหภาพแรงงาน และปีกซ้ายของกลุ่มเสรีนิยม อันก่อให้เกิด “ลัทธิสังคมนิยมในระบบรัฐสภา” (Parliamentary Socialism) ในยุโรปตั้งแต่ปี 1890 เป็นต้นมา

แต่หลังจากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นความพ่ายแพ้ทางทหารของเยอรมนีและอิตาลีแล้ว แนวคิดแบบสังคมประชาธิปไตยก็กลับมาเฟื่องฟูในยุโรปอีก และยังเป็นการท้าทายโดยตรงกับการขยายอิทธิพลทางความคิดของลัทธิสังคมนิยมในแบบของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น

กลุ่มปีกซ้ายสายกลางเช่นนี้มีอิทธิพลในการเมืองยุโรปมาอย่างยาวนาน

และไม่ได้สิ้นสลายไปกับการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 1989 ที่ตามมาด้วยการล้มลงของระบบการปกครองแบบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตและในยุโรปตะวันออกในช่วงต่อมา

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของกลุ่มปีกซ้ายสายกลางเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่า พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธระบบทุนนิยม และยอมรับถึงบริบทที่เป็นความก้าวหน้าของระบบนี้ในทางประวัติศาสตร์

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ พวกเขาจะทำอย่างไรกับการต้องอยู่กับระบบทุนนิยมเช่นนี้…

พวกเขาต้องยอมตัดทิ้งแนวคิดปฏิวัติสังคมในแบบของมาร์กซ์-เลนินไปแล้ว และต้องยอมทิ้ง “การต่อสู้เพื่อชนชั้นกรรมาชีพ” ไปด้วย

หากแต่ภารกิจของการปกป้องชนชั้นล่างนั้นกลายเป็นเรื่องของ “การควบคุมระบบทุนนิยม”

จนเห็นได้ชัดว่าแนวคิดหลักของคนกลุ่มนี้ก็คือ “การออกระเบียบสำหรับระบบทุนนิยม” แทนการต่อต้านหรือการโค่นล้ม

แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มปีกขวาในโลกตะวันตกก็มีพัฒนาการอย่างมาก พวกเขาไม่ได้หวังการใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ

เพราะตระหนักดีว่าระบบการปกครองของรัฐทหารล้าหลังเกินไป และไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมตะวันตก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐทหารไม่มี “อำนาจทางศีลธรรม” (moral authority) ในการปกครองประเทศ

ดังจะเห็นได้จากการล่มสลายของระบบทหารในยุโรปใต้ไม่ว่าจะเป็นในสเปน โปรตุเกส และกรีซในช่วงทศวรรษ 1970

การสร้างอำนาจของกลุ่มขวาจึงกระทำด้วยการผลิตนโยบายชุดใหม่ที่มีลักษณะของการสร้างสวัสดิการสังคม ไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูประบบสาธารณสุข (หรือ healthcare ทั้งหลาย) การออกนโยบายสังคมที่ให้ความสำคัญกับชนชั้นล่าง ตลอดรวมถึงการผลักดันนโยบายที่มีลักษณะก้าวหน้าในการต่อสู้กับระบบทุนนิยม

การปรับตัวของปีกขวาเช่นนี้ทำให้กลุ่มซ้ายในยุโรปอยู่ในภาวะตั้งรับมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มขวาออกนโยบายที่เป็นประชานิยม หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือนโยบายที่มีลักษณะตอบสนอง (หรืออาจใช้คำว่า “เอาใจ”) ต่อความต้องการของชนชั้นล่าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ชนชั้นล่างถูกปล่อยให้ต้องเผชิญกับโลกาภิวัตน์ด้วยความ “เจ็บปวด” และ “หวาดกลัว”… เจ็บปวดต่อการตกงานและความยากจน หวาดกลัวต่อการเข้ามาของผู้อพยพและการขยายตัวของความรุนแรงจากคนต่างศาสนา

ดังนั้น จึงไม่แปลกนักที่คนชั้นล่างจะหันไปทางขวามากกว่าหันไปทางซ้าย การพ่ายแพ้ของ เปโดร ซานเชส (Pedro Sanchez) ซึ่งเป็นผู้สมัครของพรรคสังคมนิยมในสเปนคือคำตอบ และอาจจะพอเทียบเคียงได้กับ เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ในสหรัฐก็ตาม ปีกซ้ายกำลังถูกท้าทายอย่างยิ่ง อีกทั้งยังตามมาด้วยการพ่ายแพ้ของปีกเสรีนิยมอย่าง ฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งสหรัฐอีกด้วย

ว่าที่จริง ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า “กระแสประชานิยมขวา” พัดแรง

มารีน เลอแปง (AFP PHOTO / ALAIN JOCARD)

ความท้าทายในอนาคต

ในสภาวะที่กระแสประชานิยมขวากำลังมาแรงเช่นนี้ ก็เห็นได้ชัดว่า ปีกเสรีนิยม และปีกซ้ายสายกลางเองกลับตกอยู่ในภาวะถดถอย อันทำให้เห็นได้จากรูปธรรมของความเข้มแข็งของพรรคขวาจัดในฝรั่งเศส ที่มี มารีน เลอแปง เป็นผู้นำ

แม้เราจะอธิบายถึงความเข้มแข็งของกระแสชุดนี้ในฝรั่งเศสว่าเป็นผลจากการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธถึงปัจจัยซ่อนเร้นที่เป็นเรื่องของ “ความกลัวคนนอก” ที่มาจากวิกฤตการณ์ผู้อพยพจากแอฟริกาที่ทะลักเข้ายุโรปอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย

พร้อมกันนี้เราก็เห็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนที่พรรคขวาจัดจะขึ้นมามีบทบาทในการเมืองออสเตรีย การเกือบได้รับชัยชนะของการลงแข่งขันเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของ คริสเตียน เคิร์น (Christian Kern) เป็นอีกสัญญาณของประชานิยมปีกขวาที่ละเลยไม่ได้ และความท้าทายในปี 2017 นี้ก็ยังจะต้องพิสูจน์ด้วยการเลือกตั้งในเยอรมนี หาก อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และมีทิศทางในแบบปีกขวาสายกลาง ถ้าจะต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคฝ่ายขวาจัดแล้ว ก็จะยิ่งตอกย้ำทิศทางที่กล่าวแล้วในข้างต้น

ประกอบกับการเมืองในฝรั่งเศสเองก็ชัดเจนว่าโอกาสของพรรคฝ่ายซ้ายดูจะริบหรี่ลงอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้พวกปีกซ้ายอาจจะต้องหันไปสนับสนุนปีกขวาสายกลางให้มาคานกับปีกขวาจัด หรือในอิตาลี ปีกซ้ายเองก็อ่อนแอลงอย่างมาก และยิ่งเมื่อสมทบเข้ากับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสหรัฐอเมริกาด้วยชัยชนะในการแข่งขันของทรัมป์แล้ว ก็ยิ่งตอกย้ำถึงการมาของกระแสประชานิยมปีกขวา

ชัยชนะของทรัมป์เท่ากับเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า ไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของกระแสการเมืองภายในเท่านั้น เพราะผลจากนโยบายของผู้บริหารทำเนียบขาวชุดใหม่อาจจะมีส่วนโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสการเมืองโลกด้วย

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็เท่ากับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าการกำเนิดของกระแสขวาใหม่ในโลกตะวันตกครั้งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องคิดตามอย่างน่าสนใจ ไม่แต่เพียงจะเห็นถึงการมาของชุดความคิดการเมืองใหม่เท่านั้น

หากยังอาจเห็นถึงการจัด “ระเบียบโลกใหม่” อีกด้วย!