ร้านอาหารกับองค์กรตำรวจ | มนัส สัตยารักษ์

หมกมุ่นอยู่กับข่าวการเมือง ทั้งเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สำรวจประวัติวุฒิสมาชิก เกาะติดการฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลที่จำนวนเก้าอี้ไม่ลงตัว ทั้งหมดใช้เวลายาวนานถึง 3 เดือน ทำให้ไม่ได้ดูและติดตามข่าวอาชญากรรม (หรือข่าวตำรวจ) ไปพักใหญ่

พอหันมาดูข่าวอาชญากรรมอีกทีก็รู้สึกแปลกตาว่า วันนี้ประเทศไทยเรามีตำรวจชั้นนายพลเยอะมาก…มากกว่าเมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังรับราชการอยู่หลายสิบเท่า

เวลาถ่ายรูปหรือคลิปแถลงข่าวจับกุมผู้ต้องหาในคดีสำคัญ บางทีภาพนายตำรวจยืนเรียงรายราวกับมีงานพิธีอะไรสักอย่าง หรือดูราวกับกำลังรอต้อนรับคนสำคัญระดับสูงที่ให้คุณและโทษได้นั่นแหละ

ส่วนลูกน้องที่ปฏิบัติงาน (ตัวจริง) ยืนถืออาวุธเป็นแถวหลังสุด

ในบางกรณี เช่น คดียาเสพติดรายใหญ่หรือคดีที่ผู้ต้องหามีอิทธิพล หรือคดีที่มีลักษณะเป็นขบวนการหรือเป็นเรื่องก่อการร้ายต่างชาติ ก็ต้องใส่หน้ากาก หรือสวมแว่นตาและหมวกเพื่อปกปิดใบหน้าไม่ให้ฝ่ายคนร้ายรู้และแอบบันทึกภาพได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการอาฆาต แก้แค้นหรือสืบเสาะให้ร้ายในภายหลัง

การที่นายตำรวจชั้นนายพลมีภาพมายืนเรียงรายในขณะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนั้น โดยรวมแล้วนับว่าเป็นเรื่องดี มีที่กลายเป็น “ติดลบ” บ้างก็แค่รบกวนต่อมหมั่นไส้ของสื่อโซเชียลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผมเคย “ทำเท่” เมื่อครั้งเป็น สวญ. สน.คันนายาว จนได้เป็นข่าวพาดหัวตัวโป้งของ นสพ.ไทยรัฐทำนองว่า “เป็นครั้งแรกที่ผู้บังคับบัญชาไม่ยอมให้คนอื่นลงชื่อร่วมจับกุม” จากกรณีที่ตำรวจบุกเดี่ยวจับปืนเถื่อน

เรื่องของเรื่องก็คือ ผมมีความคิดเยี่ยงเดียวกับผู้สร้างภาพยนตร์ชาวจีน ที่เริ่มเรื่องด้วยการให้นักสู้โนเนมเอาชนะนักสู้คนเก่งได้ เป็นจิตวิทยาง่ายๆ ที่จูงใจให้คนดูหนังรอคอยที่จะได้ชมการต่อสู่ครั้งต่อไปซึ่งเป็นการต่อสู้ของอาจารย์หรือลูกพี่ของนักสู้โนเนมคนนั้น…

…ขนาดลูกน้องยังขนาดนี้ ลูกพี่จะขนาดไหน?

หรืออีกนัยยะหนึ่ง คล้ายๆ กับว่า…พลตำรวจยังขนาดนี้ นายตำรวจจะขนาดไหน?

หรือกล่าวอย่างไม่โอ้อวดอย่างบรรทัดข้างต้นก็คือ กรณีที่ตำรวจบุกเดี่ยวจับปืนเถื่อนได้หลายกระบอกเป็น “ของดี” แต่ถ้าเป็นข่าวตามฟอร์มว่า “จากการสืบทราบของ…(ชื่อนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่นายตำรวจหรือสื่อต้องการเชียร์)” แล้วลงชื่อผู้จับกุมเป็นหางว่าว ก็จะกลายเป็นของธรรมดา

แล้วกลายเป็น “ของเสีย” หรือ “เสียของ” ไปทันที!

การเสนอ “ความจริง” ครั้งนี้ นอกจากพลตำรวจผู้มีไหวพริบ เอาใจใส่และรับผิดชอบ ได้บำเหน็จ 2 ขั้นไปตามที่ควรแล้ว อีกด้านหนึ่งของผลที่ได้ในครั้งนี้คือว่าผมประสบความสำเร็จในการได้ “ทำเท่” จนได้รับการพาดหัวข่าวตัวโป้งจาก นสพ.

นสพ.พาดหัวราวกับยืนยันว่า เป็นครั้งแรกที่มีปรากฏการณ์เช่นนี้ในยุทธจักรสีกากี มาวันนี้ผมอยากจะให้ยืนยันด้วยว่ามันเป็น “ครั้งเดียว” ตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วย

เป็นส่วนดีที่มีภาพนายตำรวจระดับสูงออกทำงาน ประการแรก เห็นชัดว่าสังคมพอใจ ทั้งนี้เพราะประชาชน (โดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนน) ส่วนใหญ่ต่างไม่ไว้ใจตำรวจระดับล่าง ตำรวจกลางถนนถูกมองว่ากำลังหาช่องทางรีดไถจากข้อหาต่างๆ โดยไม่มีอำนาจและหน้าที่

ส่วนดีอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปรู้สึกอุ่นใจที่มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรออกทำงานในพื้นที่ ควบคุมดูแลดูลูกน้องไม่ให้ออกนอกแถว รวมทั้งคอยแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และแน่นอนว่าประชาชนจะรู้สึกอุ่นใจไปด้วยอย่างทั่วกัน

ส่วนเสียของภาพประเภทนี้บางทีก็อยู่ที่กาละและเทศะ ผมเคยเขียนอย่างหงุดหงิดที่เห็นนายพลไปยืนโบกรถตรงเชิงสะพานแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ ผมเสียดายเงินเดือนนายพลครับ งานที่ไม่มีผลอะไรออกมาให้สังคมแบบนี้ รัฐไม่ควรจ่ายค่าแรงสูงเกินกว่าเงินเดือน “จ่าเฉย” นะครับ

แต่บางหนบางทีก็รู้สึกเห็นใจตำรวจ ถึงแม้พวกเขารู้ดีว่าไม่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน แต่เมื่อผู้ใหญ่ชอบก็ต้องทนฝืนใจทำไป

ผู้อาวุโสของสื่อมวลชนเคยกล่าวว่า “ตำรวจเป็นองค์กรที่มีต้นทุนทางสังคมต่ำ” สู้อุตส่าห์หลุดพ้นจากกระทรวงมหาดไทย ไปสู่อุ้งมือของ “นายกรัฐมนตรี” ที่น่าจะเหนือกว่าและดีกว่า แต่สุดท้ายก็ยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนเก่า เพราะภารกิจอันยิ่งใหญ่โอฬารซับซ้อน (และลึกลับ) ขององค์กร

และอาจจะหนักกว่าเก่า เมื่อนายกรัฐมนตรีสุดที่จะรับภาระอันยิ่งใหญ่โอฬารได้ จึงได้มอบหมายอำนาจสิทธิขาดให้ “คนอื่น” ไปทำหน้าที่แทน เป็นเวรกรรมขององค์กรตำรวจที่ต้องเวียนว่ายอยู่ในวังวนเดิม เพราะคนที่มาทำหน้าที่แทนล้วนยึดหลักการบริหารและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนแบบเดิมนั่นแหละ

หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างเดิม จนยากที่จะตอบได้ว่าแบบไหนดี แบบไหนเลว

เมื่อต้นปี ครั้งที่ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. กำลังเตรียมตัวแถลงข่าวจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมือง บิ๊กโจ๊กเดินมาที่โต๊ะแถลงข่าวแล้วประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ให้นายตำรวจที่ไม่เกี่ยวข้องกลับไปทำงาน ไม่ต้องมาเดินตามตน ให้กลับไปทำงานในหน้าที่ของตัวเองให้ดี

ต่อมาบิ๊กโจ๊กเปิดเผยสาเหตุที่ต้องประกาศ (หรือประจาน) ผ่านไมโครโฟนขยายเสียงว่า เพราะเขาเข้าใจลูกน้องที่ต้องการให้ผู้บังคับบัญชาเห็นหน้า แต่ตนเองต้องการให้กลับไปบริการประชาชน

หลังจากนั้นไม่นานนัก บิ๊กโจ๊กก็ถูก “ถอด” ออกจากความเป็นตำรวจ และต่อมาไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีอย่างลึกลับ การประจานครั้งนั้นจึงถูกลืมไป

สรุปแล้วก็คือ ผู้น้อยคงหาคำตอบไม่ได้ว่าควรวางตัวอย่างไรจึงเป็นเรื่องถูกต้อง

ผมคำนึงถึงปมเรื่องข้างต้นจากการไปกินอาหารและจิบกาแฟในร้านเจ้าประจำ แล้วพบว่า ที่เขาเจริญก้าวหน้าขยายสาขาไปไม่หยุด มีลูกค้าเข้าคิวอุดหนุน สิ้นปีสามารถบริจาคเงินกำไรให้โรงพยาบาลรัฐถึง 150 ล้านบาทเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศนั้น

นอกจากอาหารอร่อย ราคาเหมาะสมกับคุณภาพ สถานที่ดี (ร้านกาแฟมีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน) ที่สำคัญก็คือบริการดี ซึ่ง “บริการดี” ก็มาจากพนักงานเสิร์ฟที่คงจะได้รับการฝึกอบรมมาดี แต่งกายสะอาด มารยาทเรียบร้อย เงินเดือนสูง และยึดอุดมคติที่ว่า “ลูกค้าเป็นผู้ถูกต้องเสมอ”

ในร้านมีพนักงานเสิร์ฟและคนทำงานเป็นจำนวนมากนั้น ผมไม่เห็นมีใครวางตัวเป็นเจ้าของ ผู้จัดการ หรือแม้แต่จะเป็นกัปตัน ดูเหมือนทุกคนต่างพร้อมจะให้บริการแก่ลูกค้า

ข้อคำนึงของผมก็คือ…ผมต้องการให้ปฏิรูปตำรวจในแนวเดียวกับร้านอาหารหรือร้านกาแฟที่ผมเป็นลูกค้าเจ้าประจำนั่นเอง