E-DUANG : ปรากฎการณ์ “ชูวิทย์” ปรากฏการณ์”สรยุทธ”

การปรากฏตัวบน “หน้าปก” ไม่ว่าของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ไม่ว่าของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา

เหมือนกับเป็นเรื่อง”ธรรมดา”

ธรรมดาเพราะทั้ง นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทั้ง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ถือได้ว่า

เป็นคนใน”ข่าว”

เรื่องราวของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎฺ และ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา จึงกลายเป็นสภาพที่ “ไม่ธรรมดา”

“สื่อ” จำเป็นต้องให้ความสนใจ

เป็นความสนใจที่มีความสำคัญกระทั่งต้องนำขึ้นบน”หน้าปก”

เท่ากับดำรงอยู่ในสถานะอันเป็น “จุดขาย”

เท่ากับยกเรื่องของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เข้าไปอยู่ในอีก “สถานะ” 1

กลายเป็น “ตัวตน” กลายเป็น”SOMEBODY”

 

คำถามที่เสนอเข้ามาอย่างแหลมคมยิ่งก็คือ ปฏิบัติการเช่นนี้เท่ากับเป็น “การฟอกตัว” หรือไม่

ฟอกตัวให้กับ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

ฟอกตัวให้กับ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา

อาจสามารถมองเช่นนั้นได้ แต่มิใช่เป็น “คำตอบ” อันถูกถ้วน ตามความเป็นจริง

สถานะแห่ง”ข่าว”มิใช่ตัว”ตัดสิน”

เหมือนกับ “เรตติ้ง” อันปรากฏของ นายสรยุทธ สุทัศนะจิน ดา และ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่แสดงผ่าน”เฟซบุ๊ค”ก็มิได้เป็นตัวตัดสิน

แม้จะทะยานไปสู่”หลักล้าน”

หากแต่เสมอเป็นเพียง “ภาพสะท้อน” ที่สังคมให้ความสนใจต่อ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และ นายสรยุทธ์ สุ่มทัศนะจินดา มากกว่า

“สื่อ” จึงแสดงบทบาทในจุดอันเป็น “ตัวกลาง”มากกว่า

 

ปัจจัยอันสามารถตัดสินและชี้ขาดอย่างแท้จริงจึงมาจาก 2 จุดที่สำคัญ

ในทางกฎหมาย คือ คำพิพากษาของ “ศาล”

นี่คือจุดร่วมอย่างมีนัยในทางสังคม ถือเป็นบรรทัดฐาน”กลาง”อย่างแท้จริง

ความเห็นอื่นๆจึงเสมอเป็นเพียงความเห็นในทางสังคม

ขณะเดียวกัน ต่อความเห็นในทางสังคมปัจจัยที่จะชี้ขาดยังขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของคนๆนั้นอันเป็น”เป้าหมาย”ในทางสังคมมากกว่า

บทบาทของ “สื่อ” จึงดำเนินไปในลักษณะ “ตัวกลาง”

เป็น “ตัวกลาง” ให้กับคนที่”เป็นข่าว”ได้แสดงตัวตนของตนออกมา

“ตัวตน” 1 จึงเป็น “ความคิด”

“ตัวตน” 1 จึงเป็น “ผลงาน”