ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ /Eighth Grade

ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ

Eighth Grade

เธอจ๊ะ

Eighth Grade ชื่อก็บอกว่าเป็นหนังเกี่ยวกับนักเรียนที่เรียนเกรด 8 แต่จะบอกว่าเรตของหนังคือเรตอาร์ แล้วเด็กที่ไหนจะได้ดูล่ะเนี่ย?!

น่าเห็นใจคนทำหนัง เพราะถ้าจะสร้างหนังวัยรุ่นให้ตรงกับความจริงก็ได้เรตนี้แหละ เพราะวัยรุ่นมักพูดจาหยาบคาย และมักสนทนากันในประเด็นล่อแหลมในหลายๆ เรื่อง เช่น สิ่งเสพติด และเพศ เป็นต้น

เกรด 8 สำคัญยังไง?

เราก็ต้องมาเข้าใจระบบการศึกษาแบบอเมริกันกันก่อน

 

ส่วนที่คล้ายๆ เราก็คือ เขามีอนุบาล มีเกรด 1-6 เทียบเท่าประถมศึกษา 1-6 ของเรา

แล้วพอเรามัธยม 1-2 เขาก็จะมี middle school หรือ junior high school นั่นก็คือเกรด 7-8

จากเกรด 8 ก็จะเข้าสู่ high school หรือก็คือ เกรด 9-12 ซึ่งเท่ากับมัธยมศึกษา 3-6 ของเรา

ช่วงเกรด 7-8 นี้เองจะเป็นช่วงเวลาตรงกลาง ระหว่างการเป็นเด็กกับการไปเป็นวัยรุ่นเต็มตัวในช่วงไฮสกูล ชีวิตมันเลยจะยากๆ

ผู้กำกับฯ Bo Burnham อายุ 27 ปีเอง เขียนบทเองและกำกับการแสดงเองด้วย เก่งนะ

นางเอกของเราชื่อ Kayla นามสกุล Day แสดงโดย Elsie Fisher น้องอายุ 16 ปี

ดีนะ หนังเรื่องนี้สรรหาเด็กอายุ 16 ปีให้มาแสดงเป็นเด็กอายุ 16 ปี ไม่ต้องให้เอานักแสดงอายุเกินกว่านั้นมาลดอายุ หนังเรื่องนี้เลยดูเป็นธรรมชาติมากๆ

 

การเป็นนักเรียนเกรด 8 มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันมีสิ่งต้องให้วิตกกังวลมากมาย สรรพสิ่งรอบกายดูพร้อมจะกลายร่างให้เป็นปัญหาไปเสียทั้งหมด

ก็เด็กวัยรุ่นนี่นะ ปัญหาใดๆ ที่เป็นของเรามันจะใหญ่ที่สุดในโลก เธอและฉันควรรำลึกได้ในจุดนี้

เรื่องเล็กๆ อย่างสิวเม็ดหนึ่งของเรานั้น มันจะทำเรากินไม่ได้นอนไม่หลับ จนกว่ามันจะแฟบและจางหายไปเสียก่อน

น้องเคย์ล่าเป็นวัยรุ่นยุคนี้เลย นำเสนอตนเองผ่าน vlog ที่ย่อมาจาก video blog นำเสนอประเด็นเรื่องราวที่อยากพูดถึงผ่านคลิปสั้นๆ น้องแกมักเลือกจะนำเสนอคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาชีวิต

น้องเคย์ล่าเชี่ยวชาญเรื่องแนวนี้ไหม?

ตอบว่า ไม่น่านะ โรงเรียนของน้องมีการจัดให้นักเรียนโหวตเพื่อนร่วมชั้นสาขาต่างๆ แต่ละรางวัลก็จะมีชายหนึ่งหญิงหนึ่ง Most athletic นักกีฬาที่สุด Class Clowns ตัวตลกประจำชั้นปี Most Talkative ช่างพูดที่สุด Best Eyes ตาสวยที่สุด

และ Most Quiet เงียบที่สุด

สาขานี้แหละที่เคย์ล่าได้รางวัล!

 

เคย์ล่าอยู่กับพ่อสองคน ไม่มีแม่มานานแล้ว และเคย์ล่าก็ไม่มีเพื่อน

คลิปที่ทำก็เหมือนเอาไว้ดูเองเสียละมาก ไม่มีคนมากดไลก์ ไม่มีใครมากดแชร์

ประเด็นที่น้องนำเสนอก็ออกจะน่าสนใจ “Being Yourself” การเป็นตัวของตัวเอง “Putting Yourself Out There” การพาตัวเองออกไปสู่โลกพบปะผู้คน แต่สไตล์ของน้องเคย์ล่ามันไม่ได้ มันไม่ใช่เลย

เปิดคลิปมาก็ขอคะแนนเลย ใครเขาทำกัน ดูไม่เป็นผู้นำ ไม่น่าติดตามเอามากๆ

I haven’t been getting, like, a lot of views

or whatever on my videos,

so if you guys could share,

like with your friends and stuff,

I would really, really appreciate it.

ฉันไม่ค่อย แบบ มีคนมาดู

หรือแบบ อะไรๆ ที่คลิปของฉัน

ถ้าคุณได้ชมแล้วแชร์ได้นะ

แบบ ให้เพื่อนหรือใครๆ

ฉันจะขอบคุณมากๆ เลย

วัยรุ่นพูดจาแบบนี้แหละ มี like เยอะแยะเต็มไปหมด ทำฉันเวียนหัว

like ก็คล้ายๆ คำแบบ หรือ แบบว่า ของเรา ใช้เป็น filler word หรือคำที่ใส่มาในประโยค มาทำหน้าที่คล้ายประวิงเวลารอให้สิ่งที่คิดผลิตเป็นคำพูดออกมา

น้องเคย์ล่าทำคลิปยาว 2-3 นาทีเอง มี “like” ปาเข้าไป 30 กว่าครั้งได้ นี่ยังไม่นับ “you know” “um” กับ “whatever” เวียนหัวตรงที่เราคนฟังต้องตัดคำพวกนี้ออกไปเองในใจ จับแต่ใจความสำคัญ จะได้รู้เรื่องว่าน้องแกพูดอะไร

คิดถึงสมัยก่อนที่คนฮิตพูด “เป็นอะไรที่” ช่วงนั้นฉันก็เวียนหัวใช้ได้ “เป็นอะไรที่ชอบ” แปลว่าชอบหรือไม่ชอบ? “เป็นอะไรที่ใช่” มันคือ ใช่หรือไม่ใช่?

Today’s video is “being yourself,”

and it’s like, you know,

well, aren’t I always being myself?

And like, yeah. For sure.

เรื่องที่จะพูดวันนี้คือเรื่องการเป็นตัวเอง

มันก็จะเป็นแบบ

คือ ฉันเป็นตัวเองตลอดเวลาไหม?

ก็แบบ แหงแหละ แน่นอนอยู่แล้ว

 

ชีวิตเคย์ล่าที่บ้านกับพ่อก็ไม่ค่อยราบรื่น ประดักประเดิดไม่แพ้ชีวิตที่โรงเรียน

พ่อมักหาเรื่องพูดคุย แต่เคย์ล่าเอาแต่เล่นโทรศัพท์ ฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือ พ่อจะคุยด้วยต้องพูดประโยคเดียวกันซ้ำ เพราะลูกจะ “หาๆ อะไรนะ” ต้องรอลูกเอาหูฟังออกจากหูก่อน

พ่อให้กำลังใจลูกมาก จนลูกแปลความหมายไปทางตรงกันข้าม

But I’m actually not saying this

to make you feel bad.

I’m saying it to make you feel better.

พ่อไม่ได้พูดให้ลูกรู้สึกแย่

พ่อพูดให้ลูกรู้สึกดีขึ้นต่างหาก

ลูกสวนพ่อทันควัน

You know what’d make me feel better?

Is if you’d let me

go on my phone.

อะไรทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้นรู้มั้ย?

ให้ลูกกลับไปเล่นโทรศัพท์ต่อ

น้องเคย์ล่าดุพ่อในหลากหลายสถานการณ์ จะไปเที่ยวเล่นกับพี่เกรด 12 ให้พ่อขับรถไปส่ง พ่อก็ไปให้

So just, like, be quiet and drive.

And don’t look weird and sad.

พ่อเงียบๆ แล้วขับรถไปเหอะ

แล้วก็อย่าทำหน้าแปลกแล้วเศร้า

ดุพ่อซะงั้น!

 

ชอบที่ในหนังเขามีหลายฉากหลายตอน ที่แสดงให้เห็นว่าพ่อ-แม่พยายามพาตัวเองเข้าไปในชีวิตลูก แล้วพ่อแม่เหล่านั้นก็ไม่รู้ตัวว่าไม่เวิร์ก มันช่างประดักประเดิด ตอนหนึ่งแม่คนหนึ่งมาเชิญเพื่อนลูกไปงานปาร์ตี้สระน้ำ

Oh, you should come.

It’s gonna be a blast.

Kennedy will invite you on Facebook.

หนูมางานนะ

มันต้องสนุกมากแน่ๆ

เดี๋ยวเคนเนดี้ไปเชิญในเฟซบุ๊ก

ลูกทำหน้าแหวะๆ ใส่ พร้อมว่า

No one uses Facebook anymore.

เขาไม่ใช้เฟซบุ๊กกันแล้ว

วัยรุ่นเขาไปถึงไหนๆ เขาไม่เฟซบุ๊ก เขาอินสตาแกรม เขาสแนปแชตกันแล้วเหอะ!

blast เป็นคำสแลง หมายถึงสนุกสนานมาก มันหยดติ๋งมากๆ

ดีนะ หนังเรื่องนี้เป็นหนังวัยรุ่นอย่างที่วัยรุ่นเขาเป็นกันจริงๆ ไม่ใช่วัยรุ่นแบบที่ผู้ใหญ่อยากเห็นหรืออยากให้เป็น

ดูสนุกตรงที่ชีวิตวัยรุ่นมันอยู่ยากในวิถีของมันอย่างนั้นจริงๆ ให้เราได้เอาใจช่วยว่าเขาทั้งหลายจะผ่านมันไปได้ในที่สุด แบบที่พวกเราผ่านมันมา

วันเวลาจะพาให้เรื่องใหญ่ๆ กลายเป็นเรื่องสิวๆ ของมันได้เอง

ฉันเอง