มุกดา สุวรรณชาติ : ยุทธศาสตร์การเกษตร ที่เกี่ยวพันกับโลก และชาวบ้าน

มุกดา สุวรรณชาติ
AFP PHOTO / MADAREE TOHLALA

ปัญหาทางยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับชีวิตชาวบ้าน แต่ไปเชื่อมโยงถึงระดับโลกมีหลายปัญหา ที่เราพบเห็นทุกวันคือปัญหาพลังงาน สะท้อนผ่านราคาน้ำมัน

ปัญหาราคาพืชเกษตร

ปัญหาความขัดแย้งในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจการค้า และการเมืองการทหารของประเทศใหญ่

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น ด้านการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ การเปลี่ยนรถเครื่องยนต์น้ำมัน เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า

แทบทุกปัญหาจะเกี่ยวพันกับทุนขนาดใหญ่ในระบบทุนนิยมและการพัฒนาทางเทคโนโลยี ซึ่งจะเกี่ยวโยงกันไปหมด คงจะกล่าวถึงเป็นเรื่องๆ ไป

ผู้เกี่ยวข้องต้องเตรียมวางยุทธศาสตร์ตั้งรับทุกๆ 5-7 ปี นานกว่านั้นอาจตามไม่ทันโลก หรือไปผิดทาง

ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ
และความมั่นคงทางอาหาร

ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำดูแล้วยังไม่มีรัฐบาลใดแก้ตก ถ้าหากวิเคราะห์โดยมองปัญหาออกไปสู่ระดับโลกจะพบว่านี่เป็นแนวโน้มใหญ่ซึ่งจะต้องเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุทางธรรมชาติหรือมีวิกฤตขนาดใหญ่ขึ้นมาจริงๆ

ทฤษฎีที่ว่ามนุษย์จะเกิดมาเป็นจำนวนมากคนล้นโลกไม่สามารถผลิตอาหารได้พอกิน พอมาถึงวันนี้ ด้วยระบบเกษตรสมัยใหม่ เทคโนโลยีใหม่ การตัดต่อพันธุกรรม การคิดค้นการถนอมอาหาร เทคโนโลยีการขนส่ง ทำให้มนุษย์สามารถสร้างอาหารจนเหลือพอสำหรับคนทั้งโลก

แต่ถ้าจะไม่มีกินก็เป็นเพราะไม่มีความสามารถที่จะซื้อ หรือเป็นเหตุผลของพ่อค้าในการกักตุนทำกำไร

ถ้าธัญญาหารที่จะเลี้ยงมนุษย์มีมากจนเหลือพอราคาย่อมตกต่ำ เกษตรกรชาวไร่ชาวนาซึ่งเป็นคนเล็กๆ ประกอบอาชีพการเกษตรแบบเก่าต้องมีปัญหา และระบบการเกษตรที่เป็นการเกษตรแบบอุตสาหกรรมมีการลงทุนขนาดใหญ่จะยังอยู่และทำกำไรได้

ความมั่นคงทางอาหารในยุคใหม่อาจไม่ได้หวังพึ่งชาวนาชาวไร่คนเล็กๆ แบบเก่าอีกแล้ว

แต่เป็นการหวังพึ่งระบบเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งจะผลิตธัญญาหารขั้นต้น และผ่านการดัดแปลงเป็นอาหารสำเร็จรูป สามารถสนองได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง

ดังนั้น ชีวิตชาวนาที่เราเห็นในปัจจุบัน…ดูคล้ายจะพัฒนาเพราะเรามองเห็นรถดำนา เห็นรถเกี่ยวข้าวดูเหมือนชาวนาไม่ต้องหลังขดหลังแข็ง แต่ในความเป็นจริงไม่ทันโลก ผลตอบแทนจากราคาพืชผลตามราคาตลาดจะไม่สามารถทำให้ชาวนาเหล่านั้นดำรงอาชีพทำนาเพื่อเลี้ยงชีวิตตลอดทั้งปีได้เพียงอาชีพเดียว ต้องมีอาชีพเสริมจึงจะอยู่ได้

ก่อนจะกล่าวถึงปัญหาในระดับโลกลองมาดูชีวิตชาวนากันก่อน

ชีวิตชาวนายุคปัจจุบัน
แบบใช้เคมีซึ่งอยู่ในพื้นที่สมบูรณ์

ลุงยอดทำนา 20 ไร่ ทำนาปลูกข้าว กข. เหมือนชาวนาแถวนี้ทั้งหมดเพราะข้าวพันธุ์เบา สามเดือนก็เกี่ยวแล้ว จึงทำปีละสามครั้งได้สบาย

พอรถเกี่ยวข้าวเสร็จวันนี้ รุ่งขึ้นก็เริ่มไถ มีคนบอกให้แกพักดินให้เชื้อโรคตายบ้าง แต่แกไม่สนใจ เพราะเช่านาทำ ไร่ละ 600 บาทต่อครั้ง ปีหนึ่งทำสามครั้งก็ตกไร่ละ 1,800 ถ้า 20 ไร่ก็รวม 36,000 บาท ยังไม่ทันเกี่ยวแกก็ต้องรีบเอาเงินไปจ่ายค่าเช่าครั้งต่อไป ถ้าครั้งไหนไม่ทำ ก็มีคนจ้องจะเช่าแทนทันที เพราะดินดี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ น้ำก็ไม่เคยท่วมหนักเหมือนที่อื่น

ลุงยอดไถนาสูบน้ำเข้านาเอง แต่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีถุงละ 800 บาท 1 ถุงใช้ได้ไม่เกิน 3 ไร่ ราคาก็แพงขึ้นทุกปี ปีนี้ถุงละ 1,200 บาท แต่ข้าวก็งั้นๆ ไม่ได้โตมากมายเหมือนคำโฆษณา

ทำนาหว่านต้องใช้ยาฆ่าหญ้า เริ่มต้นก็ต้องฉีดที่คันนาก่อนฝนตก ไม่งั้นมันก็ไม่ตาย ค่ายาขวดละ 450 บาท หว่านข้าวได้สี่ห้าวันก็ต้องรีบฉีดยาฆ่าหญ้าตัวนี้แหละ 20 ไร่ต้องซื้อ 7 ขวดตก 3,150 บาท ต้องฉีดคุมอีกสองครั้งก่อนข้าวออกรวง รวมแล้วเสียเงิน 9,450 บาท ถ้าไม่อยากตายเร็วต้องจ้างคนฉีดอีกไร่ละ 80-100 บาท

พอข้าวออกรวงก็ยิ่งต้องคอยดูแมลง หนอนมากัดกิน บางทียังไม่มีโรคแมลงแต่นาคนข้างๆ ฉีดยาคุมไว้ก่อนแล้ว แกกลัวแมลงจะแห่กันมาลงก็เลยต้องฉีดบ้างให้อุ่นใจ 20 ไร่ค่ายาฉีดฆ่าแมลงไม่ต่ำกว่า 2,500 บาท ต้องฉีดซ้ำสองครั้ง บางปีดื้อยาต้องฉีดสามครั้ง

นาลุงยอดไม่เคยถูกน้ำท่วม ที่ลุ่มก็จริงแต่ระบายน้ำผ่านนาใครต่อใครไปได้เรื่อยๆ เหมือนถนนหลวงที่ห้ามปิดกั้น มาปีนี้มีคนถมดินจนปิดทางน้ำที่เคยไหล พายุเข้าหลายวันทำให้น้ำขังเอ่ออยู่ในนา ลุงยอดทำนาหว่านน้ำตม ต้นข้าวเพิ่งได้ครึ่งคืบเลยถูกน้ำท่วมหมดต้องหว่านใหม่อีกรอบ เสียพันธุ์ข้าวสองครั้งเกือบ 50 ถัง

นาใกล้กันทำนาโยนไม่เปลืองพันธุ์ข้าวแต่ต้องเสียค่าโยนกล้าไร่ละ 1 พันบาท ค่าเพาะกล้าถาดละ 10 บาท 1 ไร่ใช้ 100 ถาด เสียยิบเสียย่อยเหมือนกัน คนแถวนี้เลยไม่นิยมทำนาโยน ปีนี้พอข้าวออกรวงก็มีโรคใบขาวระบาดอีก แต่ลุงยอดไม่สนใจแล้วเพราะหมดเงินลงทุน สุดท้ายก็ได้ข้าวมาแค่ 8 ตันเท่านั้น ปีกลายนี้ยังได้ 12 ตัน แกปลูกข้าวหอมมะลิไว้กินด้วย เหลือกินเลยลองเอาไปขายให้เจ๊พิมเจ้าของท่าข้าว ก็ยังตีราคาให้เท่าข้าว กข. ที่เคยขายเท่านั้น

อะไรก็ไม่ช้ำใจเท่าเจ๊พิมบอกว่าข้าวหอมมะลิของแกไม่ใช่ข้าวหอมมะลิอีกด้วย ปีนี้ราคาข้าวเกวียนละ 5,500 บาท ถูกเหมือนให้เปล่า แกเลยขาดทุนยับเยิน

ดีที่ครูเพชรแนะนำให้ปลูกข้าวหอมมะลิไว้กินก็เลยยังพอประทังชีวิตไปได้

ทำนาแบบอินทรีย์ อาจพออยู่ได้

ครูเพชรเป็นครูอยู่ต่างจังหวัด แต่มีนา 10 ไร่ พ่อแม่ยกให้อยู่ที่นี่ ที่มีการทำนากันตลอดปี แต่ก่อนเคยให้ชาวนาเช่าทำนา แต่บ้านพ่อแม่ครูเพชรอยู่กลางทุ่งนาต้องทนสูดสารเคมี ยาฆ่าแมลง ฆ่าหญ้าตลอดปี เขาเลยตัดสินใจทำนาเองมาห้าปีแล้ว ปลูกข้าวหอมมะลิปีละครั้งเท่านั้นเพื่อเอาไว้กิน

นาครูเพชร ใครๆ ก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าจะไม่ได้ข้าวกินเพราะไม่ใส่ปุ๋ยเคมี แต่ซื้อมูลวัวมาบำรุงดิน ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าเพราะทำนาดำ น้ำขังตลอดเวลาทำให้วัชพืชไม่มีหรือมีน้อยมากจนไม่จำเป็นต้องใช้ยากำจัด

ข้าวนาปีของครูเพชรรวงใหญ่ให้ผลผลิตมากเมื่อเทียบกับข้าวเบา ข้าวนาปรังอายุสั้นที่ชาวนาปลูก เมื่อปีกลายได้ถึง 7 ตัน ครูเพชรเก็บพันธุ์ข้าวไว้ ที่เหลือจากบริโภค ส่งให้ลูกหลานในกรุงเทพฯ แล้วก็สีเป็นข้าวสารและข้าวกล้อง เพราะไม่มียุ้งฉางจะเก็บ

ครูเพชรมีค่าใช้จ่ายจากการทำนาปีละไม่เกิน 25,000 บาท จากค่าดำนาไร่ละ 1,000 บาท (แต่ไม่ต้องเสียค่ายาฆ่าหญ้า) ค่ารถเกี่ยวข้าวไร่ละ 600 บาท ค่าแรงงาน 5 คน คนละ 300 บาท ตากข้าวเก็บใส่ถุงและขนกลับบ้านรวม 1,500 บาท ที่เหลือคือค่าน้ำมันรถ และปั๊มน้ำ ค่าไถแปร ทำแปลงที่เรียกว่าทำเทือกไร่ละ 1,000 บาท

ปีกลายครูเพชรสีข้าวเปลือกสองตันขายข้าวสารกิโลละ 45 บาท มีแต่คนอยากซื้อข้าวครูเพชรเพราะรู้ว่าปลอดสารเคมี

แต่ปีนี้ครูเพชรก็ทำนาไม่ค่อยได้ผลเหมือนกัน ข้าวเจอพายุ น้ำแช่นานจนข้าวไม่ค่อยแตกกอ พอน้ำลดหญ้าก็ขึ้นแซง แต่ครูเพชรไม่ยอมใช้สารเคมีฆ่าหญ้า ปล่อยไปตามธรรมชาติ

ก็ได้ข้าวพอกิน เพียงแต่ไม่เหลือขายเหมือนปีกลาย


ชาวนาไม่จำนำยุ้งฉาง

ในตำบลนี้ไม่มีใครเข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉางเพราะชาวนาไม่มียุ้งฉาง

ทุกคนจ้างรถเกี่ยวข้าวเสร็จก็บรรทุกไปขายที่โรงสีทันที

จะเก็บเฉพาะพันธุ์ข้าวตากไว้ทำพันธุ์เท่านั้น โดยการเก็บใส่ถุงปุ๋ยไว้

ไม่มีใครคิดสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวอีกแล้ว

ต้องวางยุทธศาสตร์ รับการผลิตล้นเกิน

สิ่งที่กำลังเปลี่ยนไปคือหลายประเทศซึ่งเคยเป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ข้าวข้าวโพดหรือพืช ฯลฯ เริ่มมีการผลิตที่พอใช้ภายในประเทศตัวเองและหลายประเทศก็ยกระดับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอย่างเช่นอินเดียทั้งๆ ที่มีพลเมืองเป็นพันล้านแต่ก็ยังส่งข้าวขาย

ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเป็นยุทธศาสตร์ของทุกประเทศที่จำเป็นต้องหาแหล่งอาหารสำรองเพิ่มความมั่นใจว่าเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นคนในประเทศก็ยังมีอาหารรองรับได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่อดตาย

แต่ปัจจุบันยุทธศาสตร์ของหลายประเทศ…มิใช่การสำรองในรูปของคลังเก็บอาหารแห้ง แต่ได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการสร้างฐานการผลิตทางการเกษตรขนาดใหญ่ทั้งในประเทศตนเองและในต่างแดน

ด้วยระบบและเทคโนโลยีใหม่ ตามแนวยุทธศาสตร์ใหม่ ทำให้หลายประเทศสามารถผลิตธัญพืชและอาหารอื่น เกินกว่าความต้องการบริโภค จึงต้องส่งออกไปขายในตลาดโลก

ดังนั้น ในอนาคตเราจะได้พบกับผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศที่อาจจะมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่สามารถส่งสินค้าด้านการเกษตรมาขายแข่งในตลาดโลกเพราะพวกเขาไปเช่าที่ดินขนาดใหญ่ทำอุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหารส่งไปทั่วโลก

บ้านเรา…มีเครือบริษัทซีพี ในประเทศอื่นก็มีบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบนี้เช่นกัน ดังนั้น ในทุกทวีปจึงมีบริษัทข้ามชาติที่เข้าไปลงทุนโดยอาศัยแผ่นดินคนอื่นทำนาทำไร่

ประเทศใหญ่ และประเทศที่ร่ำรวย
เช่าที่ในประเทศยากจนเป็นล้านไร่ ทำการเกษตร

โลกยุคเก่าผู้เช่าที่ดินทำการเกษตร คือคนจน แต่ยุคนี้ถ้าบอกว่าเป็นผู้เช่านาก็เป็นผู้เช่าที่นาขนาดใหญ่มากคือเช่าครั้งละเป็นแสนเป็นล้านไร่

จะขอยกตัวอย่าง จากเอกสารการประชุม สมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ …พบว่าการลงทุนข้ามชาติ ของเอกชน และรัฐ ในการเช่าหรือสัปทาน อายุสัญญายาว 30-99 ปี เช่น…

ในฟิลิปปินส์มีบริษัทจีน ซาอุดีอาระเบีย เกาหลี เช่าที่เพื่อทำการเกษตรเป็นล้านไร่

ในลาว บริษัทจากไทย คูเวต และจีน เข้าไปเช่าพื้นที่ทำการเกษตร

ในแอฟริกา เช่น เอธิโอเปียมีพื้นที่ให้ต่างชาติเช่าไม่น้อยกว่า 50 ล้านไร่กลุ่มใหญ่คือ Karuturi จากประเทศอินเดีย 2 ล้านไร่ และซาอุดีอาระเบีย อยากจะได้ถึง 4 ล้านไร่ซึ่งจะผลิตทั้งข้าว ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน อ้อย

ในแทนซาเนียพื้นที่นับล้านไร่ก็ถูกเช่าโดยบริษัทจากเกาหลี ยุโรป และอินเดีย

ส่วนสิงคโปร์ก็ไปเช่าที่ดินในประเทศกาบองเพื่อผลิตปาล์มน้ำมันเกือบ 2 ล้านไร่และยังเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทนิวซีแลนด์ซึ่งไปลงทุนเช่าที่ดินในอุรุกวัย

ในอเมริกาใต้ประเทศใหญ่อย่างบราซิลและอาร์เจนตินาก็ถูกต่างชาติบุกเข้าไปทำอุตสาหกรรมการเกษตรโดยบริษัทใหญ่ของเกาหลี เช่น ฮุนได บริษัท Chongching Grain Group ของจีน และ Mitsui ของญี่ปุ่น พื้นที่นับล้านไร่ถูกเช่าและจะมีการขยายต่อไปเรื่อยๆ เพื่อปลูกถั่วเหลือง ข้าว พืชไร่อื่นๆ จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนท้องถิ่น

ทุกแห่งต้องมีการทำลายป่า

ผลผลิตจำนวนมหาศาลถูกส่งไปทั่วโลก เกษตรกรรายเล็กจะไม่มีทางสู้ได้ การขายตรงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคจะมีมากขึ้น แบบที่เราช่วยกันซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง แต่ยังทำได้ไม่มาก วิธีนี้เป็นไปตามหลักการเพิ่มราคาขายให้ชาวนา แต่คนไทยทั้งประเทศยังกินข้าวเท่าเดิม ดังนั้น ปริมาณที่ล้นเกินก็ยังเท่าเดิมต้องส่งออกไปขาย ไม่ว่าราคาจะต่ำเท่าไร

นโยบายของรัฐในการตั้งกำแพงภาษี หรือนำเข้าสินค้าเกษตร จะมีผลต่อราคา และต้นทุน เช่น มติ ครม. ที่อนุมัติให้นำเข้าข้าวโพดจะดีต่อผู้เลี้ยงสัตว์ แต่คนปลูกข้าวโพดจะต้องขายผลผลิตในราคาต่ำ

ถึงตรงนี้เราก็พอจะมองเห็นกันแล้วว่าเมื่อบริษัทใหญ่ครอบครองที่ดินแปลงละ 60,000 ไร่ 600,000 ไร่ 1 ล้านไร่ 2 ล้านไร่ จะสามารถทำการเกษตรขนาดใหญ่สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมหาศาลในแต่ละพื้นที่ มีเครื่องมือที่ทันสมัย ใช้การดัดแปลงพันธุกรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มีผู้เชี่ยวชาญ สามารถจะสร้างผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่าชาวบ้านธรรมดา

ดังนั้น ในอนาคตก็ไม่น่าแปลกอะไรที่ผลิตผลของหลายประเทศที่เราคิดไม่ถึง จะออกมาวางแข่งในท้องตลาด ข้าว ที่ประเทศไทยคิดว่าเคยเป็นเจ้าพ่อของวงการ คงเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ที่จริงเราติดอันดับอยู่ได้เป็นเพราะกำไรของสินค้าเกษตรไม่เป็นที่น่าจูงใจให้ทำการผลิตมากๆ ออกมาสู่ตลาด

ถ้าหากมีผลกำไรดีรับรองว่าโอกาสที่เราจะต่อสู้กับการผลิตสมัยใหม่คงเป็นไปได้ยาก

ถ้ารัฐบาลไม่วางยุทธศาสตร์การเกษตร เกษตรกรแบบลุงยอดกับครูเพชร คงจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไป รัฐบาลชุดต่างๆ ในอนาคตแม้บอกว่าจะไม่ทำประชานิยม และสุดท้ายก็จะไม่มีทางอื่น แต่การช่วยเพียงเล็กน้อยแก่เกษตรกร ก็เหมือนไม่ได้ช่วย เวลานี้กระทรวงเกษตรฯ ควรรีบสำรวจการชะลอการขายข้าวผ่านโครงการจำนำยุ้งฉางด่วน

อยากรู้ว่ากรรมการยุทธศาสตร์จะทำอย่างไร