E-DUANG : DYNAMIC กับ พลวัต แห่ง”ปรองดอง”

ยอมรับได้เลยว่า “ปรองดอง” มีลักษณะ DYNAMIC ดำเนินไปดังที่คำพระเรียกว่า

“อิทัปปัจจยตา”

อัน พระพุทธโฆษาจารย์(ป.อ.ปยุตโต)อรรถาธิบายเอาไว้เป็นอย่างดี

1 “ภาวะที่มีอันนี้ๆเป็นปัจจัย”

1 ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย 1 กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย

1 กฎที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี,เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น”

จุดเริ่มต้นก็คือ “ปรองดอง”

สิ่งที่ติดตามมาก็คือ “เอ็มโอยู” สิ่งที่ตามมาก็คือ “คู่ความขัดแย้ง”

สัมผัสได้จากท่าที นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

สัมผัสได้จากท่าที นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รวมถึง นายถาวร เสนเนียม

“เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี”

 

พลันที่เสนอคำว่า “ปรองดอง” ขึ้นมาเป็นประเด็นในทาง “สังคม” ลักษณะอันเป็น DYNAMIC ก็ตามมา

ไม่ว่าจะเป็น “เอ็มโอยู” ไม่ว่าจะเป็น”คู่ขัดแย้ง”

DYNAMIC อันหนังสือ”ศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตย สถาน” แปลออกมาว่า

“พลวัต”

พลวัต อันหนังสือ”พจนานุกรม ฉบับมติชน”ให้ความหมายอย่างรวบรัดว่า

การไหวเคลื่อนตามกฎเกณฑ์

เห็นหรือยังว่า DYNAMIC หรือ พลวัต ดำเนินไปในกระสวน เดียวกันกับ อิทัปปัจจยตา

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี,เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

 

อุบัติแห่ง “ปรองดอง” จึงนำไปสู่คำถามตามมามากมาย ในนั้นรวมถึงคำถามว่า

“คู่ขัดแย้ง”

เพราะหากไม่สามารถตอบได้ว่า “คู่ขัดแย้ง”คือใคร ก็ย่อมไม่สามารถ “ปรองดอง”ได้

นั่นก็คือ จะปรองดองกับใคร

นั่นก็คือ จะปรองดองระหว่างใครกับใคร เพราะมิได้เป็นการปรองดองอย่างว่างเปล่า

เพียงคำว่า “ปรองดอง” จึงเท่ากับเป็นการ”เปิด”

เปิดและนำไปสู่ความคิดที่ว่า “สาเหตุ”แห่งความขัดแย้ง แตกแยกที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยตลอดกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมาคืออะไร

ย้อนไปยังก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ย้อนไปยังก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

คำว่า “รัฐประหาร”จึงกลายเป็น”ประเด็น”

การเปิดคำว่า “ปรองดอง”จึงเท่ากับเปิดหีบ”แพนดอรา”