สมหมาย ปาริจฉัตต์ : Pisa 2015 – 9 ข้อเสนอ สกว. (3) คำตอบอยู่ในความรับผิดชอบของทุกคน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

หลังแถลงรายละเอียดผลงานวิจัยที่สะท้อนภาพคะแนน Pisa ของเด็กไทยได้เป็นอย่างดี พร้อมความเห็นของนักวิจัย จบลง

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. ผู้ติดตามโครงการวิจัยทั้งสองอย่างต่อเนื่อง สรุปข้อเสนอต่อสถานการณ์และการพัฒนาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของนักเรียนไทย ต่อรัฐบาลและประชาคมการศึกษาไทย

รวม 9 ประเด็น

 

1.นักเรียนไทยมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อยู่ในระดับที่ต่ำมาก แม้ว่าจะมีการประเมินผลการเรียนในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ผลการศึกษาพบว่า ระดับการคิดวิเคราะห์แปรผกกันกับเกรดเฉลี่ย แสดงถึงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทางด้านการเรียนการสอนด้านการคิดวิเคราะห์และหรือการวัดผลการคิดวิเคราะห์ในโรงเรียนที่ไม่มีประสิทธิผล

2. ผลการศึกษาพบว่านักเรียนที่มีการเรียนพิเศษเสริมทักษะด้านการเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากกว่านักเรียนที่ไม่ได้เรียนพิเศษ ชี้ให้เห็นว่าระบบการเรียนในโรงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรพิจารณาการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ อาจส่งผลให้อัตราการเรียนพิเศษทางด้านวิชาการลดลงด้วย

3. ทักษะสำคัญสำหรับทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ชี้ให้เห็นว่าการเป็นเด็กเก่งเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และควรส่งเสริมและพัฒนาให้มีจิตสาธาณะควบคู่กันไปเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทางสังคม จากผลการศึกษาพบว่า เกรดเฉลี่ยของนักเรียนในโรงเรียนแปรผกกันกับการมีจิตสาธารณะ โรงเรียนต้องส่งเสริมให้จัดกิจกรรมบูรณาการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านคิดวิเคราะห์กับการมีจิตสาธารณะให้นักเรียนมากขึ้น และมีการวัดผลและประเมินจากกิจกรรมโดยใช้ตัวชี้วัดทั้งด้านการคิดวิเคราะห์และจิตสาธารณะร่วมกันและไม่เน้นการท่องจำ

4. การสำรวจครั้งนี้พบว่า เด็กที่เราให้คุณค่าว่าเก่ง (เกรดเฉลี่ยดี) เป็นเด็กที่ไม่ดี (มีจิตสาธารณะน้อย) ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรในโรงเรียนให้ลดการแข่งขันและมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันโดยดำเนินการตามหลักการเด็กเก่งดีได้ โดยอาจเน้นหาเหตุปัจจัยที่ทำให้นักเรียนบางกลุ่มมีจิตสาธารณะในระดับที่ต่ำมากกว่า เช่น นักเรียนที่เล่นอินเตอร์เน็ตหรือดูทีวีมากหรือนักเรียนที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่ใช่การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่

5. การศึกษาครั้งนี้พบว่า นักเรียนที่มีกิจกรรมเรียนพิเศษทางด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา มีคะแนนการคิดวิเคราะห์ต่ำกว่านักเรียนที่ไม่ได้เรียน ซึ่งขัดแย้งกับหลักทฤษฎีที่กิจกรรมเหล่านี้ควรเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ อาจเป็นเพราะในสังคมไทยนักเรียนที่เรียนเก่งไม่ใช้เวลากับกิจกรรมเหล่านี้ และมี Selection Bias เกิดขึ้นในกรณีที่นักเรียนที่เรียนไม่เก่งหรือมีการคิดวิเคราะห์ที่ด้อยกว่าหันมาเรียนพิเศษในด้านที่ตนถนัดคือ ศิลปะ ดนตรี กีฬา

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนควรพิจารณาจัดกิจกรรมเสริมให้กับนักเรียนทุกคนให้เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่จะมีมากขึ้นในอนาคต

6. การพัฒนาศักยภาพการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของนักเรียนควรคำนึงถึงประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำและข้อจำกัดของการเรียนรู้ของท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณลักษณะทั้งสองอย่างเหมาะสมในแต่ละภูมิภาคควรศึกษาแบบอย่างการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะจากการเรียนการสอนในภาคใต้

7. การส่งเสริมการมีจิตสาธารณะอาจส่งเสริมควบคู่ไปกับการเสริมทักษะด้านศิลปะดนตรีและกีฬาในโรงเรียน

8. ควรเพิ่มบทบาทของพ่อแม่นอกห้องเรียนในการที่จะเอาใจใส่ให้ความรัก ความอบอุ่นเพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ลดการดูทีวีและเล่นอินเตอร์เน็ต พร้อมทั้งส่งเสริมการอ่านในนักเรียนทุกวัย

9. นักเรียนส่วนใหญ่ยังมีการแสดงออกถึงการริเริ่มหรือการสร้างสรรค์ต่อส่วนรวม ความรับผิดชอบต่อสังคม ความเคารพสิทธิของผู้อื่นตลอดจนมีความซื่อสัตย์สุจริตในระดับที่ไม่มากนัก ดังนั้น การส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมจิตสาธารณะในทุกด้านควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เริ่มจากครอบครัว ชุมชน สถานศึกษาและสังคมอย่างต่อเนื่อง

 

ครับ ไม่แต่เฉพาะสื่อมวลชนที่ร่วมรับฟังข้อเสนอแนะทางออกอยู่ในห้องเท่านั้น ผู้ติดตามผลการทดสอบ Pisa ล่าสุด คงเกิดคำถามในใจทำนองเดียวกันว่า แล้วจะทำอย่างไร ข้อเสนอแนะทั้งหลายจะได้รับการขานรับ นำไปสู่การปฏิบัติจริง ไม่ว่าการปรับหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู ความสนใจเอาใจใส่การศึกษาของบุตรหลาน ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระของครู และโรงเรียน ฝ่ายเดียว ฯลฯ

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ ผอ.สกว. สะท้อนคิดเป็นเชิงให้คำตอบว่า แนวทางออกเรื่องนี้มีสองแนว แนวแรก Bottom Up โรงเรียนทั่วประเทศร่วมมือร่วมใจกันนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปฏิบัติโดยไม่จำเป็นต้องรอคอยคำสั่งอยู่ตลอดเวลา อีกแนวทางหนึ่ง คือ Top Down สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย คุยกับ นพ.ธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ หากท่านสนใจก็สั่งการให้นำไปสู่การปฏิบัติ พร้อมกันนั้น สกว. จะเสนอต่อที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดทางการศึกษาในระดับรัฐบาลด้วย

“ขณะนี้ระดับปฏิบัติการ สกว. ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันผลิตครู นำกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาไปปรับกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรคณะครุศาสตร์ เพื่อผลิตครูให้มีทักษะส่งเสริมนักเรียนให้มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และร่วมกับ สสค. ทำโครงการเพื่อพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ จะชวนกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ต่างๆ มาร่วมด้วย”

ทางออกเพื่อยกระดับคะแนน Pisa เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา แก้ปัญหาการขาดโอกาส และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระหว่าง Bottom Up กับ Top Down จะปรากฏผลวันไหน

คำตอบอยู่ในความรับผิดชอบของทุกคน จะทำให้รัฐไทยยอมลดการรวมศูนย์อำนาจราชการ และสนับสนุนให้โรงเรียน ครู ผู้บริหารมีอิสระ เกิดความเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนอย่างจริงจังได้เมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้นแหละ