เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : บรรณาธิการไม่ขึ้นทะเบียน

การเรียนหนังสือในโรงเรียนสมัยก่อนมีกิจกรรมที่ครูเป็นผู้กำหนดและควบคุมแทบว่าทุกอย่าง เมื่อเรียนในชั้นสูงขึ้น ครูคนหนึ่งจากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คือ ครูแช่มช้อย ปิ่นสุวรรณ เป็นครูคนหนึ่งที่สนใจการทำหนังสือ เมื่อทราบว่าผมสนใจเรื่องของหนังสือ ท่านจึงจัดให้มีกิจกรรมการทำหนังสือในโรงเรียนขึ้น

เมื่อนั้นแหละ ผมจึงมีโอกาสทำหนังสือโรงเรียนในโอกาสต่อมา

ระหว่างที่เรียนในชั้นมัธยม 4 ขณะนั้นแม่มีแผงขายหนังสือพิมพ์หน้าตึกแถวที่ผมอาศัย ทุกเช้าผมจึงขอหนังสือพิมพ์จากแม่ฉบับหนึ่ง คือหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย น่าจะฉบับละ 1 บาทไปโรงเรียนเพื่อให้เพื่อนร่วมห้องได้อ่านข่าวที่เกิดขึ้น

หนังสือและหนังสือพิมพ์เป็นสินค้าชนิดเดียวกระมังที่ส่งคืนได้ ผมจึงนำไปโรงเรียนได้ อ่านเสร็จ ตกเย็นนำกลับมาคืน แม้จะยับยู่ยี่บ้างไม่เป็นไร ทำได้สักพัก ไม่ทราบว่ามีเหตุใด จึงเลิกนำไปให้เพื่อนในห้องอ่าน

 

ผมคลุกคลีกับการทำหนังสือโรงเรียนได้พักหนึ่งกระทั่งจบชั้นมัธยม 6 (คือมัธยมปีที่ 3 ขณะนี้) มีโอกาสสอบขึ้นชั้นไปเรียนในชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 แผนกวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนเดิม คือโรงเรียนวัดนวลนรดิศ จึงได้พบกับเพื่อนซึ่งต่อมาคือผู้ที่ได้รับการเรียกขานจากผู้ที่อยู่ในอาชีพนักเขียนว่า “สองกุมารสยาม”

ระหว่างเรียนในชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 หรือที่เรียกทั่วไปว่า “ม.7” สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้สัมภาษณ์ น. รินี เรืองหนู กับ พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร ไว้ในหนังสือ “เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์” ตอนหนึ่งว่า

“ไม่เคยอ่านหนังสืออื่นนอกจากหนังสือเรียนเพราะเกิดในครอบครัวชาวนา ขายของชำในหมู่บ้านยากจนที่ดงศรีมหาโพธิ์ ปราจีนบุรี เกาะชายผ้าเหลืองพระมาเรียนในกรุงเทพฯ พอเข้าวัดนวลก็เจอขรรค์ชัยกับเรืองชัย ซึ่งฝักใฝ่อ่านหนังสือมานานแล้ว เลยทำหนังสือพิมพ์อ่านกันในห้องเรียน เขาบอกว่าผมลายมือสวยจึงให้คัดลายมือลงกระดาษฟุลสแก๊ป…”

ช่วงปีนั้น ผมมีโอกาสได้จัดทำหนังสือขนาด 16 หน้ายก เป็นหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ขายในโรงเรียนและนำไปขายในโรงเรียนข้างเคียง มีอาจารย์ประจวบกาญจน์ เมธางกูร ครูสอนวิทยาศาสตร์และควบคุมห้องแล็บวิทยาศาสตร์แนะนำและสนับสนุน ขายได้ไม่ถึงกับขาดทุน แต่ผมได้กำไรเพราะมีโอกาสเข้าโรงพิมพ์และเรียนรู้เรื่องการพิมพ์กับการขายหนังสือ

เราสามคน ผม ขรรคค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ สนุกกับการอ่าน การเขียน และการทำหนังสือ ขรรค์ชัยกับสุจิตต์ชอบเขียนกลอน ขรรค์ชัยขณะนั้นเขียนกลอนลงนิตยสารได้ค่าต้นฉบับมาแล้ว

 

ขรรค์ชัยให้สัมภาษณ์ในหนังสือ เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์ กับ ชุติมา นุ่นมัน ไว้ว่า

“ตอนนั้นเราก็ขยันเขียนนะ เขียนแล้วเก็บไว้บ้าง ส่งไปลงที่นั่นที่นี่บ้าง ค่าเรื่องแม้จะน้อย แต่เราก็ดีใจ สมัยนั้นเขียนกลอนลงหนังสือชาวกรุงได้ครั้งละ 50 บาท ถ้าเป็นเรื่องสั้นก็ 150 บาท บางเล่มก็ให้ 50-70 บาท แต่ยืนพื้นเลยที่ต้องได้คือ 25 บาท ต่ำกว่านี้ไม่ได้ หรือสูงสุดก็ 400 บาท นี่คือสูงมากเลยนะ หรือไม่ก็เขียนฟรีไปเลย”

ส่วนผมไม่เคยเขียนหนังสือไปลงพิมพ์ที่ไหน มีแต่เขียนลงหนังสือโรงเรียนในฐานะผู้จัดทำ ซึ่งเรียกตัวเองเป็นบรรณาธิการ ตำแหน่งแห่งความใฝ่ฝันของผู้ทำอาชีพหนังสือ ไม่ว่าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร แม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับเจ้าพนักงานการพิมพ์ตามกฎหมาย

กระทั่งสอบ ม.7 ตกต้องเรียนซ้ำชั้น สุจิตต์ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนผะดุงศิษย์วิทยา ละแวกบางซื่อ

ผมเรียนที่เดิมเช่นเดียวกับขรรค์ชัย แต่ขรรค์ชัยเรียนเพียงครึ่งปีก็ออกไปผจญกับโลกภายนอกตามลำพัง ซึ่งเรายังติดต่อกันเสมอ

เมื่อสอบตกต้องเรียนซ้ำชั้น ผมไปสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แต่ไม่ได้ จึงต้องกลับมาเรียนที่เดิม ปีนั้น ผมแทบว่าจะไม่ได้เข้าห้องเรียน เพราะมัวแต่หมกมุ่นกับการทำหนังสือให้โรงเรียน และเป็นผู้จัดทำหนังสือรุ่นให้เพื่อน จนเสร็จทันเป็นรูปเล่มให้เพื่อนรุ่นเดียวกับที่จบ ม.8 และรุ่นน้องที่จบ ม.6

แน่นอนว่า การเรียนซ้ำชั้น เมื่อไม่ได้เข้าห้องเรียน ถึงอย่างไรต้องสอบตกอีกครั้ง

 

คราวนี้ ขรรค์ชัยมาชวนให้ไปสอบเข้าวิทยาลัยครูสวนสุนันทากับเพื่อนรุ่นที่สอบตกพร้อมกันอีกคนหนึ่ง มาทราบภายหลังว่าจากการดูแลของขรรค์ชัย เราสามคนจึงมีโอกาสเข้าเรียนที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ทำให้มีโอกาสพบกับ เสถียร จันทิมาธร รุ่นพี่ที่เรียนในชั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) ปี 4 ซึ่งสุจิตต์บอกไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า

“2 คนไปเข้าเรียนวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ไปรู้จักรุ่นพี่ ชื่อ เสถียร จันทิมาธร ซึ่งเป็นนักอ่านฉกาจฉกรรจ์ ส่วนผมสอบได้ที่คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เรืองชัยก็มาบอกว่า น้าสำราญ (สำราญ ทรัพย์นิรันดร์) ให้ไปช่วยทำนิตยสารช่อฟ้ารายเดือนของวัดมหาธาตุ โดย กิตติวุฑโฒ

“ตอนนั้นตื่นเต้นอย่างยิ่งที่จะได้ทำหนังสือจริงๆ กันทั้ง 3 คน คือ เรืองชัย ขรรค์ชัย และผม โดยชวนพี่เสถียรกับนักหนังสือพิมพ์รุ่นราวคราวเดียวกันอีกหลายคนมาเขียนด้วย”

ก่อนหน้านั้น น้าสำราญมีพื้นที่ด้านหลังนิตยสารภาพยนตร์และโทรทัศน์หลายหน้า จึงยกให้พวกเรามาช่วยเขียนเรื่องสนุกลงพิมพ์ นับเป็นการฝึกเขียนหนังสือลงพิมพ์ในนิตยสารที่มีกำหนดเวลาและพื้นที่แน่นอน ไม่เหมือนกับการเขียนอย่างอื่น

ระหว่างนั้น คงไม่มีใครรู้อนาคตของตัวเองว่าจะต้องเดินหน้าเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ในอีกหลายปีต่อมา รู้แต่ว่าชอบเขียน ชอบทำหนังสือ

 

นิตยสารช่อฟ้ารายเดือน มีมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุเป็นเจ้าของ อยู่ในความดูแลของท่านกิตติวุฑโฒภิกขุ มี สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นบรรณาธิการ วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นหนังสือเผยแผ่พุทธศาสนาและ “อภิธรรม” หน้าปกฉบับแรกเดือนตุลาคมเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์หลังโปรดพระพุทธมารดา

หลังจากที่พวกเราทั้งสามคนเข้าไปร่วมจัดทำ มีผมเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานตามต้นฉบับ งานโรงพิมพ์ และการตรวจพิสูจน์อักษร หรือตรวจปรู๊ฟ เป็นหลัก สุจิตต์พยายามหาต้นฉบับที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีเข้ามาเพิ่ม เช่นเดียวกับขรรค์ชัย ที่เขียนคอลัมน์ และจัดหาต้นฉบับจากภายนอกเข้ามาเสริม

ต้นฉบับที่เข้ามาเพิ่มมีงานทางวิชาการประวัติศาสตร์ของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี งานศิลปกรรมวัดสมัยอยุธยาของ “น. ณ ปากน้ำ” เป็นต้น

ตรงนี้น่าจะเป็นการฝึกวิทยายุทธ์ในสนามซ้อมก่อนเข้าสนามจริงกระมัง