เทศมองไทย : ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ประเทศไทย วันนี้ ‘ดี’ ไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะ ‘ดี’

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

หากเป็นไปได้ ผมอยากเชิญชวนให้คนไทยช่วยกันอ่านข้อเขียน “Thai economy resilient, but growth outlook uninspiring” ของ ฮิโรชิ โคตานิ ที่ปรากฏใน นิกเกอิ เอเชียน รีวิว เมื่อ 10 มกราคมที่ผ่านมาให้มากที่สุด

เหตุผลสำคัญก็เพื่อทำความเข้าใจว่า ประเทศไทยในยามนี้อยู่ในสภาวะ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สำคัญต่อการกำหนดว่าเราจะก้าวเดินไปข้างหน้า หรือจะลื่นไถลตกกลับไปสู่สถานะเดิมๆ อย่างไร

ผมเห็นด้วยกับผู้เขียนที่ว่า ไทยเรากำลังมาถึง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” สำคัญในหลายๆ ด้าน โคตานิ หยิบยกมาแสดงไว้ให้เห็นในด้านหนึ่ง มิติหนึ่ง นั่นคือสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญต่อสังคมต่อประเทศชาติชนิด “ขาดไม่ได้” เสียด้วย

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ถึงตอนนี้หลายคนคงทึ่ง “เล็กๆ” กับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยในการฝ่ามรสุมหลายระลอกในช่วงที่ผ่านมาหลุดพ้นมาได้ในสภาพดีทีเดียวเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน แต่ก็ยังอด “งงๆ” ไม่ได้ว่า แล้วต่อจากนี้จะไปอย่างไร ในทิศทางไหน แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่

ค่าเงินบาทรับมือกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐอเมริกาได้ดีกว่าริงกิตและรูเปียห์มาก ตลาดหุ้นไทยก็แสดงอาการไม่มากมายนัก นักลงทุนต่างชาติทำสถิติ “ขายสุทธิ” ได้เพียง 2 เดือน ถึงธันวาคมที่ผ่านมาก็กลับมา “ซื้อสุทธิ” หุ้นไทยอีกครั้ง

สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยรับมือกับภาวะเงินทุนไหลออกได้ดีทีเดียว ทำให้สถานการณ์ไม่ล่อแหลมในทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย หรือแม้แต่กระทั่งตุรกีกับเม็กซิโก

และยิ่งแตกต่างกันอย่างลิบลับหากเทียบเคียงกับสถานการณ์ในท่วงทำนองใกล้เคียงกันที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1997 ที่ประเทศไทยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลก ซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง

ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอยู่ในสภาพเกินดุลมาทุกเดือนราวเดือนละ 3,000 ล้านดอลลาร์ ตลอดปี 2016 คาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 45,000 ล้านดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ขนาดที่ทำให้ เทปเปอิ อิโนะ นักวิเคราะห์ของ แบงก์ ออฟ โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ประจำสิงคโปร์ ออกปากว่า ในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เจออิทธิฤทธิ์ของต้มยำกุ้งมาด้วยกัน เศรษฐกิจไทยมี “สุขภาพดีที่สุด”

AFP PHOTO / MOHD RASFAN
AFP PHOTO / MOHD RASFAN

แต่สุขภาพเศรษฐกิจในวันนี้ “ดี” ไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะ “ดี” ตามไปด้วยชนิดแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เหตุเพราะการแข่งขันยังหนักหน่วง ชนิดที่ทำให้ไทยทำสถิติเป็นชาติที่จีดีพีขยายตัวต่ำที่สุดในบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน 4 ปีติดต่อกัน จากการคาดการณ์ที่ว่าปี 2016 นี้จีดีพีไทยน่าจะขยายตัวเพียง 3.2 เปอร์เซ็นต์

แล้วก็เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้รัฐบาลต้องประกาศคำขวัญใหม่ที่ทำให้งงกันไปถ้วนหน้าว่า “ไทยแลนด์ 4.0” อันส่อนัยถึง “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” ที่เป็นยุคแห่งนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมทั้งหลายภายใต้การขับเคลื่อนผลักดันของเทคโนโลยีดิจิตอลขั้นสูง

“นวัตกรรมทางเทคโนโลยี” ถูกเน้นย้ำว่าเป็น “อนาคตเศรษฐกิจ” ของชาติโดยรัฐบาล มีการออกมาตรการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาในองค์กรธุรกิจ พร้อมๆ กับการผลิตอัตโนมัติของเทคโนโลยีดิจิตอล และอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ ที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มรายได้ประชากรต่อคนต่อปีให้ได้มากกว่าเท่าตัว โดยอยู่ที่ประมาณ 13,000 ดอลลาร์ภายใน 20 ปี ที่เตรียมกำหนดยุทธศาสตร์กันให้แล้วเสร็จในตอนต้นปี 2017 นี้

โคตานิ บอกว่า สิ่งที่รัฐบาลประกาศนั้นมี “นัยของความเร่งด่วน” อยู่ด้วย เนื่องจากถูกกดดันให้ “ไต่บันไดเทคโนโลยี” ขึ้นสูงไปให้ได้ “ก่อนที่จะสายเกินไป”

แต่ “ไทยแลนด์ 4.0” จะมีขึ้นอย่างลอยๆ เหมือนสร้างวิมานในอากาศไม่ได้ จำเป็นต้องสะสางปัญหาใหญ่น้อยเพื่อก้าวไปให้ถึงและเตรียมแผนรองรับกับปัญหาที่จะเกิดใหม่ขึ้นมาจากการนี้พร้อมกันไปด้วย

AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL

ในความเห็นของโคตานิ ปัญหาใหญ่ที่สุดของไทยคือปัญหาขาดแคลนวิศวกรและนักเทคโนโลยี ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งยวดในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย เขาชี้ว่า วัดกันในทางวิชาการแล้วเด็กไทยยังสู้เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งเวียดนามยังไม่ได้

ถัดมาเป็นเรื่องของความ “ชราภาพ” ของประเทศ ในด้านหนึ่งประชากรวัยทำงาน (อายุ 16-65 ปี) จะเริ่มลดลงตั้งแต่ปีนี้ ตามการคาดการณ์ของสหประชาชาติ ในอีกทางหนึ่งจำนวนประชากรของประเทศ จะเริ่มลดลง (หมายถึงมีคนเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิต) นับตั้งแต่ปี 2024

ทั้งสองเรื่องนี้มีผลต่อเนื่องผูกพันทางด้านเศรษฐกิจมากมายให้ต้องคำนึงถึง นี่ยังไม่นับอีกหลายๆ เรื่อง

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ สมชาย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความกังขาเอาไว้ว่า เราอาจต้องมาคิดใหม่ว่า โมเดล 4.0 เหมาะกับสิ่งที่ไทยมีอยู่ในเวลานี้หรือไม่?

เพราะถ้าจะไปก็ต้องไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลังให้เป็นปัญหาในอนาคต ไม่ใช่หรือ?