อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เมื่อปีก่อนๆ องค์กรเฝ้าติดตามที่ชื่อว่า Freedom House รายงานว่า ในช่วง 13 ปีนี้เป็นช่วงการถดถอยลงของประชาธิปไตยทั่วโลก

ในความคิดของ Professor Larry Diamond ซึ่งให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสาร Time 24 มิถุนายน 2019 หน้า 52 ว่า 1

“สิ่งนี้เป็นวิกฤตการณ์ที่กำลังก่อตัวขึ้น แต่ไม่เหมือนวิกฤตการณ์ในช่วงทศวรรษ 1930 ช่วงนี้โลกไม่มีสถานการณ์ที่พรรคฟาสซิสต์ (Fascist party) แสดงตัวอย่างโจ่งแจ้งแล้วมีผลต่อประชาธิปไตย ตอนนี้ประชาธิปไตยในโลกมีพัฒนาการอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม มีกระบวนการที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นและกำลังเล็ดลอดเข้ามาในส่วนต่างๆ ของโลก”

“แต่ช่วงเวลานี้ ประชาธิปไตยในโลกมีลักษณะที่เกิดขึ้นแบบในช่วงทศวรรษ 1920 และทศวรรษ 1930 กล่าวคือ ระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism regimes) หรือขบวนการนีโอ-ฟาสซิสต์ (Neo-Fascist movements) มีพลังและพลานุภาพ และมีพลวัตในการดึงการเกาะเกี่ยวของประชาชน”

 

ในยุโรป

นักวิชาการท่านนี้เชื่อว่า ฮังการีเป็นประเทศที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ของประชาธิปไตยแล้ว และประเทศโปแลนด์ก็กำลังหมิ่นเหม่

สิ่งนี้เป็นช่วงมืดบอดของประชาธิปไตย ซึ่งพวกเรากำลังอยู่ในช่วงนี้ โชคร้าย ส่วนหนึ่งของความมืดบอดได้เข้าโจมตียุโรป

และสิ่งนี้สนับสนุนต่อแกนกลางที่คุ้มครองต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยเสื่อมถอยลง

เขายังกล่าวเสริมด้วยว่า ประชาธิปไตยเป็นมากกว่าการเลือกตั้ง (election) แต่ประชาธิปไตยเองมีความสลับซับซ้อนอันมีบทบาทนอกเหนือสำหรับผู้นำทางการเมืองต่างๆ เราพบว่าหลายๆ การวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่สิ่งที่ติดตามมา เราอาจพูดว่านี่เป็น การแยกขั้วทางการเมือง (polarizing politics) Professor Larry Diamond 2 คิดว่าเราต่อสู้กับสิ่งนี้อยู่ แต่วิจารณ์ต่อไปว่า พวกคนมีประธานาธิบดีอเมริกันที่กำลังเกี่ยวพันกับหลายสิ่งหลายอย่างอันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้นำชาวอเมริกันกำลังทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้นำอภิสิทธิ์ชนอื่นๆ ได้เคยทำ อันเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อพยายามทำให้ประชาธิปไตยขาดอากาศหายใจ จนตายไปเลย

นักวิชาการท่านนี้ยังเห็นว่า ถ้าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่สนับสนุนประชาธิปไตย แล้วใครจะทำหน้าที่นี้ การปราศจากความเป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกาอย่างดี ประชาธิปไตยกำลังล่องลอย

แต่ที่แย่ที่สุด การแตกพ่ายของประชาธิปไตยทั้งหลายอยู่ในที่ที่บอบบาง ถ้าไม่มีรัฐใดๆ กระทำการอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการปกป้องและสร้างความมั่นคงให้กับกระบวนการเป็นประชาธิปไตย (Democratization) ในโลก

 

ประชาธิปไตย
กับความไม่เสมอภาคด้านรายได้

มีนักคิดทางรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จำนวนมากได้ผลิตงานทางวิชาการและการวิจัยเผยแพร่ความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการเป็นประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมากมายตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1950 จนถึงปัจจุบัน ความเชื่อมโยงของประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ หากกล่าวโดยย่ออาจแบ่งได้หลายประเด็น เช่น

นักวิชาการตะวันตกช่วงทศวรรษ 1950 เป็นต้นมาเชื่อว่าประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ (emerging democracies) ซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่ที่ได้รับเอกราชจากลัทธิอาณานิคมย่อมเปลี่ยนผ่าน (transition) จากรัฐในระบอบดั้งเดิม (traditional) เช่นรัฐที่ปกครองโดยระบบชนเผ่า (The tribal system) รัฐศักดินา (Feudal state) รัฐสังคมนิยมที่ปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ ไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นเมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การขยายตัวทางด้านการศึกษา การกลายเป็นเมือง (urbanization)

กลุ่มนักวิชาการที่เชื่อเรื่องความทันสมัย (modernization) เชื่อว่าประเทศเหล่านั้นจะค่อยๆ เป็นประชาธิปไตย เพราะการเติบโตและเกิดความต้องการของกลุ่มคนชั้นกลาง (middle class) ที่ขยายตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากยุคทศวรรษ 1950 จวบจนถึงปัจจุบัน ความทันสมัยเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และหลายประเทศกระบวนการประชาธิปไตยก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืนในหลายประเทศ

ที่ผ่านมาหลายประเทศประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน

บางประเทศกลับไปปกครองด้วยระบบอำนาจนิยมทั้งจากผู้นำใหม่และจากพรรคเดียว

หลายประเทศมีการรัฐประหาร (Coup E”tat) จากผู้นำกองทัพและผูกขาดอำนาจยาวนาน

ยิ่งปัจจุบันคำอธิบายประชาธิปไตยกับการพัฒนาเศรษฐกิจก็ยังอยู่ โดยมีนักวิชาการค้นคว้าและทำการศึกษาเปรียบเทียบหลายภูมิภาคในโลก

แต่สิ่งที่เน้นในระดับลึกของการพัฒนาเศรษฐกิจคือ ข้อถกเถียงเรื่องปัญหาการกระจายรายได้ (income distribution) และความไม่เท่าเทียมของรายได้

ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตย ความคิดทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจปัจจุบันสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น หากเราดูที่คูหาการเลือกตั้งโดยทั่วไป กลุ่มความคิดทางการเมือง ขวา-กลาง-ประชานิยม (right-of-center populism) เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในประเทศประชาธิปไตยในโลก

สำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา เหมือน Brexit ในสหราชอาณาจักร เหมือน Marine Le Pen ในฝรั่งเศส เหมือนกลุ่มทางเลือกเยอรมัน (Alternative) ในเยอรมนี

ช่วงนี้โลกกำลังผ่านสิ่งนี้คือ แนวคิดการเมือง ขวา-กลาง-ประชานิยม ที่น่าสนใจคือ ประเทศต่างๆ ขาดแคลนทักษะที่จะเอาชนะแนวคิดการเมืองดังกล่าวในระบบเศรษฐกิจโลก อีกทั้งประเทศต่างๆ รู้สึกถึงการคุกคามของการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) การคุกคามของโลกาภิวัตน์ การคุกคามจากการย้ายถิ่นฐาน (Immigration) การคุกคามต่างๆ จากโลกที่กำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็วมาก และโลกปัจจุบันเป็นโลกที่ไม่ใช่ความคุ้นเคยแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว

การผลักดันความไม่มั่นคงของรายได้ถูกดูถูกโดยผู้นำทางการเมืองในเมืองใหญ่ (Cosmopolitan Elite) ผู้นำทางการเมืองเหล่านี้ดูถูกเรื่องความไม่มั่นคงของรายได้ของพวกที่ล้าหลังทั้งในเมืองและในชนบท พวกล้าหลังในความคิดของผู้นำในเมืองใหญ่จึงเป็นผู้ลักลอบ เป็นพวกปฏิกิริยานิยม (Reactionary)

ผู้นำทางการเมืองในเมืองใหญ่กลายเป็นชนชั้นปกครองยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้ว พวกเขามองตัวเองว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดในการมองพวกล้าหลัง ผู้นำในเมืองใหญ่ล้วนแต่มีวัฒนธรรมของความเย่อหยิ่ง

 

ประชาธิปไตยไทย : ปัจจุบันและอนาคต

เราไม่ควรเถียงกันเองว่า อีกนานแค่ไหนประเทศไทยจึงจะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

หากนับปี พ.ศ.2475 เป็นการปักหมุดประชาธิปไตยในประเทศไทยแล้ว ประชาธิปไตยไทยก็เหมือนอีกหลายประเทศ กล่าวคือ เป็นเวทีของการต่อสู้ทางความคิดทางการเมืองเรื่องอำนาจของประชาชน สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การกระจายรายได้และโอกาสการเข้าถึงของทรัพยากรอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า

ผมคิดว่า ประชาธิปไตยไทยก็เหมือนประชาธิปไตยโลกที่กล่าวถึงข้างต้น กล่าวคือ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยไทยถูกการคุกคามจากโลกภิวัฒน์ การย้ายถิ่นอันมโหฬาร และความปั่นป่วนอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี (Disruptive technology)

ประชาธิปไตยไทยอาจแย่กว่าที่อื่นที่เกิดความขัดแย้งของชนชั้นนำจนนำไปสู่การรัฐประหาร 2 ครั้งคือ รัฐประหาร พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2557 หลังจากนั้นสังคมไทยถูกจัดระเบียบใหม่เพื่อสถาปนาระบอบอำนาจนิยมในยุคที่โลกก้าวสู่ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ประชาธิปไตยไทยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ไม่ใช่ไม่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตของเมืองและคนชั้นกลาง ขณะนี้ประชาชนทั่วไปตื่นตัวทางการเมืองไม่ยิ่งหย่อนกว่าประชาชนในสหพันธรัฐมาเลเซียและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ผมมองเห็นพลังและพลวัตของประชาธิปไตยไทยซึ่งมีพลังมากและไม่ได้ถอยหลังกลับ ใครจะถอยระบอบประชาธิปไตยไทยกลับไปได้ด้วยเครื่องมืออะไร?

ด้วยนวนิยายและเรื่องเล่าต่างๆ ก็ทำไป แต่จะบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือ?

ประชาธิปไตยคือการต่อสู้ของความคิดทางการเมือง

————————————————————————————————————-
(1.) Karl Vick “8 Questions with Larry Diamond” Time June 24, 2019 : 52.
(2.) เขาเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Stanford แห่งสหรัฐอเมริกา และได้รับการขนานนามว่า Mr.Democracy