หน้า 8 : ทฤษฎี “อำนาจ”

หลังจากมีการโยนก้อนหินถามทาง เรื่องการขยับเลือกตั้งจากปี 2560 เป็นปี 2561

ราวกับจะ หยาม “สัจวาจา” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้ไว้กับ นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก

สำนักโพลต่างๆ ก็สำรวจความคิดเห็นของประชาชน

“สวนดุสิตโพล” ถามว่า สถานการณ์ ณ วันนี้ พร้อมจะมีการเลือกตั้งหรือไม่

เห็นด้วย 51%

ไม่เห็นด้วย 49%

เมื่อถามเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้งไปปี 2561

เห็นด้วย 37%

ไม่เห็นด้วย 31%

และไม่แน่ใจ 32%

จากตัวเลขความคิดเห็นที่ใกล้เคียงเช่นนี้ ในทางสถิติถือว่าไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

ก้ำกึ่งกันมาก

แต่แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้กระหายให้มีการเลือกตั้งในเร็ววัน

เหมือนกับว่ายังเข็ดกับ “ความขัดแย้ง” ที่รุนแรงและร้าวลึกมานานกว่า 10 ปี

“ความกลัว” เช่นนี้เองที่ทำให้คนไม่รังเกียจที่มาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขอให้บ้านเมืองสงบสุข ไร้ม็อบก็พอใจแล้ว

 

แต่ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาลนี้

ต้องยอมรับว่าหลังการรัฐประหาร เศรษฐกิจไทยซึมลึกลงเรื่อยๆ

“รากหญ้า” แห้งสนิท

ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เจอทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม

ภาคเอกชนไม่ยอมลงทุน

จนปลัดกระทรวงการคลังถึงกับบ่นน้อยใจ เพราะปีที่ผ่านมาคลังให้สิทธิประโยชน์เยอะมาก

แต่เอกชนก็ไม่ยอมลงทุนเพราะไม่มั่นใจอนาคต

หนี้เสียของแบงก์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่เหตุที่ยังไม่มีปฏิกิริยาจากคนที่เดือดร้อน เพราะระดับความเดือดร้อนค่อยๆ เพิ่มขึ้นเหมือนการค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิในน้ำของหม้อต้ม “กบ”

“กบ” จะไม่รู้สึก

จน “สุก”

วันนี้คนส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกแต่ยังเก็บไว้ในใจ

ยังไม่โกรธ

เพราะยังไม่มีฟางเส้นสุดท้ายหล่นลงมา

 

การเมืองวันนี้คือ การต่อสู้กันระหว่าง “ความกลัวความขัดแย้ง” กับ “ปัญหาเศรษฐกิจ”

ตอนนี้คนยังกลัวความขัดแย้งหวนกลับมา

ในขณะที่ยังทนได้กับปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่

เสียงเรียกร้องการเลือกตั้งจึงยังไม่กระหึ่มขึ้นมา

แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน ความรู้สึกคนเปลี่ยน

และรัฐบาลคิดจะรักษาอำนาจ

ยื้อการเลือกตั้ง

ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามทฤษฎี “อำนาจเจริญ”

“ถ้าคุณยังหลงใหลในอำนาจ

คุณก็ไม่มีทางไปถึงอุบลราชธานี”

…วะเฮ้ย