2017-ปีใหม่ ระเบียบโลกใหม่!?! ไทยเราควรอยู่ตรงไหน อย่างไรดี?

ปีใหม่นี้คำเก่าคำหนึ่งกลับมาฮิตอีกครั้ง นั่นคือคำว่า “นิว เวิร์ลด์ ออร์เดอร์” ที่ภาษาไทยใช้คำว่า “ระเบียบโลกใหม่” เล่นเอาหลายคนเกาหัวแกรกๆ ไปตามๆ กัน

ระเบียบโลกเก่าเป็นยังไง? ใครเป็นคนกำหนด? ยังไม่เข้าใจ จะมีระเบียบโลกใหม่อีกแล้วหรือ? แล้วของใหม่กับของเก่า ต่างกันตรงไหนและอย่างไรกัน?

คำว่า “ระเบียบ” ฟังดูแล้วน่าจะเป็นรูปธรรมที่เข้าใจกันได้ง่ายๆ เหมือน ระเบียบการใช้ห้องสมุด หรือระเบียบที่ “ครูประจำชั้น” กำหนดขึ้นให้ปฏิบัติตามกันเมื่อครั้งยังใส่คอซองนุ่งกางเกงขาสั้น แต่พอเป็น “ระเบียบโลก” แล้วมันกลับเป็นนามธรรมที่จับต้องได้ยาก ทำความเข้าใจได้ลำบากอยู่เหมือนกัน

เอาเป็นว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามครั้งใหญ่ที่ทำให้คนเราเสียชีวิตไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามของมนุษยชาติ ความคิด ความเชื่อ และแนวทางปฏิบัติบางอย่าง ได้รับการยอมรับจนกลายเป็น “สากลนิยม”

แล้วทำให้ถือกันกลายๆ ว่าเป็น “แนวทาง” ที่ทุกชาติควรยึดกุมนำไปปฏิบัติ

 

แนวทางที่เป็น “สากลนิยม” ที่ว่านี้ เห็นกันได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังปี 1991 เมื่อสิ้นสุดยุค “สงครามเย็น” ที่ไม่มีการประกาศ เพราะการล่มสลายของ “สหภาพโซเวียต” ที่ส่งผลให้ “สหรัฐอเมริกา” กลายเป็น “มหาอำนาจ” ระดับ “ซูเปอร์เพาเวอร์” ที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวของโลก

“แพ็กซ์ อเมริกานา” เริ่มต้นนับตั้งแต่บัดนั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อนำโลกก้าวไปให้พ้นจากภาวะ “สงคราม” ด้วยการหันไปส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นในระดับนานาชาติแทน การค้าและโลกาภิวัตน์จะกลายเป็นเครื่องผูกพันประเทศนานาเข้าด้วยกัน

“อเมริกันโมเดล” ทั้งทางด้านเมือง (ที่เรียกว่าประชาธิปไตย) และทางด้านเศรษฐกิจ ที่ผสมผสานระบบเศรษฐกิจการตลาดเข้ากับการกำกับดูแลจากภาครัฐ กลายเป็นแบบอย่างที่ควร “ลอกเลียน”, การยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น ยิ่งจะเป็นเครื่องส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตย และก่อกำเนิดสถาบันประชาธิปไตยขึ้นในนานาประเทศ

สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (ระหว่างปี 1990-1991) เป็นบทพิสูจน์กลายๆ ถึงพลานุภาพของกองทัพอเมริกันในเวลานั้นว่า “ไร้เทียมทาน” ในขณะที่สรรพาวุธนิวเคลียร์ที่สั่งสมแข่งขันกันมาบรรลุถึงระดับที่บั่นทอนอานุภาพซึ่งกันและกัน เมื่อทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียตระหนักเหมือนๆ กันว่า ไม่มีชาติหนึ่งชาติใดสามารถกำจัดอีกฝ่ายได้สมบูรณ์แบบด้วยการโจมตีครั้งแรกและไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายตอบโต้ ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ทำให้ทั้งโลกรอดพ้นจากมหาหายนภัย

เพราะได้คิดว่าสู้กันด้วยนิวเคลียร์ขึ้นมาเมื่อใด ทุกๆ คนบนโลกเป็นผู้แพ้ด้วยกันทั้งนั้น

 

นั่นคือสภาพคร่าวๆ ของ “ระเบียบโลกเดิม” ที่เราคุ้นเคยกันมานับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1940 เป็นคำพรรณนาที่หลายคนบอกว่า ในเวลานี้ ในปีใหม่นี้ ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกอีกต่อไป

เศรษฐกิจชะลอตัวลงทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างในแทบจะทุกประเทศอุตสาหกรรมสำคัญทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, จีน หรือ เยอรมนี ไม่มีความรุ่งโรจน์ รุ่งเรืองเหมือนที่เคยเป็นมา ทำลายความเชื่อสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างความเป็นประชาธิปไตยกับความเจริญรุดหน้าไปเรื่อยๆ ลงอย่างทันตาเห็น

ความผิดหวังทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นภาพลวงตาที่ไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป โลกาภิวัตน์ที่เป้าหมายหลักคือการทำให้ทั้งโลกใกล้ชิดเสมือนอยู่ภายใน “หมู่บ้าน” เดียวกันกลายเป็นตัวนำมาซึ่งความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ เมื่อทำให้ค่าจ้าง ตำแหน่งงาน และอุตสาหกรรมในสังคมที่เคยก้าวหน้ากว่าหดหายไปมากขึ้นและมากขึ้น

วิทยาการใหม่ๆ ทำให้ช่วงชีวิตของแต่ละคนในแต่ละประเทศยืดยาวขึ้น ผลลัพธ์ที่ตามมาคือความชราภาพลงอย่างรวดเร็วของสังคมในแต่ละประเทศทั่วโลก กระทบต่อรัฐบาลที่จำเป็นต้องเพิ่มเม็ดเงินจ่ายผลประโยชน์ตามเงื่อนไขรัฐสวัสดิการสูงขึ้นจนต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้เพื่อการนี้

มติมหาชน แทนที่จะเป็นไปในแนวทางที่ทำให้ประชาธิปไตยในอุดมคติเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น กลับกลายเป็นการกระพือโหมความเป็นชาตินิยมกับประชานิยมทางเศรษฐกิจ

อันเป็นที่มาของปรากฏการณ์อย่าง “เบร็กซิท” และ “โดนัลด์ ทรัมป์”

 

ยิ่งนับวันพฤติกรรมของ “รัสเซีย” และ “จีน” ยิ่งท้าทายความเป็น “ซูเปอร์เพาเวอร์” หนึ่งเดียวของสหรัฐอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คำว่า “เอกะมหาอำนาจ” กลายเป็นคำล้าสมัย ไม่ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันทามติเรื่องนิวเคลียร์ที่เคยเหนียวแน่นมั่นคง กลายเป็นสมมุติฐานที่หลวมโพลก เมื่อแม้แต่ประเทศอย่างเกาหลีเหนือขอกลายเป็น “มหาอำนาจนิวเคลียร์” ได้ และไม่แน่นักว่า ถ้าต้องการ อิหร่านก็สามารถทำได้แบบเดียวกันในเร็ววัน

การป้องปรามนิวเคลียร์ด้วยนิวเคลียร์ ไม่เป็นจริงอีกต่อไป ยิ่งนับวันโลกยิ่งเสี่ยงต่อการเกิด “หายนภัย” จากการ “คำนวณพลาดทางการเมือง” สูงขึ้นเรื่อยๆ

ระเบียบโลกเดิมดำรงอยู่ไม่ได้อีกต่อไป เมื่อชาติอย่างรัสเซีย หรือจีน ไม่พอใจการนำของสหรัฐอเมริกา ในเวลาเดียวกับที่อเมริกันหลายต่อหลายคนก็เริ่มเบื่อที่จะทำหน้าที่เป็น “ตำรวจโลก” อีกต่อไปแล้ว

เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าออนไลน์ และสงครามไซเบอร์ ทำให้ “อำนาจ” และ “อิทธิพล” ที่เคยรวมศูนย์อยู่ที่ชาติเพียงชาติเดียว กระจายตัวออกไปมากขึ้น

ความลังเลที่จะใช้อานุภาพทางทหารของ บารัค โอบามา ยิ่งทำให้ทั้งศัตรูและมิตร รู้สึกถึงพลานุภาพทางทหารที่ “เสื่อมทราม” ลง

โดนัลด์ ทรัมป์ ยิ่งซ้ำเติมให้ระเบียบโลกเดิมอ่อนแอลงมากยิ่งขึ้นด้วยการเลือกที่จะหันหลังให้กับการค้าเสรี ทั้งๆ ที่เมื่อทศวรรษ 1930 ครั้งสุดท้ายที่เคยมีการใช้วิธีการตามลัทธิกีดกันทางการค้าของทรัมป์มากอบกู้เศรษฐกิจนั้น

โลกลงเอยด้วยสงครามครับ

เฮนรี คิสซินเจอร์ อเมริกันที่คร่ำหวอดด้านการต่างประเทศมายาวนาน เขียนไว้ในหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อ “ระเบียบโลก” ไว้ว่า ระเบียบใหม่ไม่น่ากลัว ที่น่ากลัวที่สุดคือตอนที่โลกกำลังเปลี่ยนจากระเบียบหนึ่งไปยังอีกระเบียบหนึ่ง ตอนนั้น “วินาศสันตะโร” อาจเกิดขึ้นตามมา

เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ในห้วงเวลาเป็นตายอย่างนี้ ไทยเราควรอยู่ตรงไหน อย่างไรดี?