วิเคราะห์ : แผนปลูกต้นไม้ 6 ล้านล้านไร่ ดูดมลพิษ ความฝันสู่ความเป็นไปได้มีแค่ไหน?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

การถกเถียงของนักวิทยาศาสตร์ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี เพื่อหาทางแก้ปัญหาโลกร้อน ได้ข้อสรุปว่า ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงปี 2573 ถ้าจะลดอุณหภูมิให้อยู่ในระดับไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ต้องปลูกต้นไม้ให้เขียวชอุ่มไปทั่วทั้งโลก

คิดเป็นพื้นที่รวมเบ็ดเสร็จต้องไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านเฮกตาร์ หรือตกราวๆ 6 ล้านล้านไร่

เทียบเท่าพื้นที่ของประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนรวมกัน

ถ้าชาวโลกร่วมกันปลูกต้นไม้ได้ตามเป้าหมายนี้ จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกราว 25 เปอร์เซ็นต์

นี่เป็นหนทางแก้ปัญหาโลกร้อนที่ทรงพลังมีประสิทธิภาพที่สุด ราคาถูกที่สุด และชาวโลกทั้งมวลทำได้ดีด้วย

 

ศาสตราจารย์โทมัส โครว์เธอร์ นักนิเวศวิทยาแห่งสถาบันเทคโนโลยีสหพันธรัฐสวิส เมืองซูริก ตรวจสอบการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าทั่วโลก 78,000 แห่งโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “โฟโต้ อินเตอร์พรีเตชั่น” (photo-interpretation) เฝ้าสังเกตการณ์

เครื่องมือดังกล่าวเป็นซอฟต์แวร์แผนที่ทำงานควบคู่กับเสิร์จเอ็นจิ้น “กูเกิล เอิร์ธ” สามารถตรวจสอบป่าและต้นไม้ทั่วโลกว่าเติบโตครอบคลุมพื้นที่มากน้อยแค่ไหน พร้อมกับคำนวณได้ด้วยว่าการเติบโตของต้นไม้ในป่าแห่งนั้นจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกปริมาณเท่าไหร่

ในการประเมินเบื้องต้น ถ้าชาวโลกช่วยกันปลูกต้นไม้ครอบคลุมพื้นที่ 6 ล้านล้านไร่ ภายในห้วงเวลา 10 ปีนับจากนี้

ต้นไม้ที่โตขึ้นมาจะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้ราว 750,000 ล้านเมตริกตัน

หรือเท่ากับต้นไม้ใหม่ช่วยดูดก๊าซพิษที่ผู้คนทั้งโลกปล่อยมาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

“โครว์เธอร์” ยืนยันว่า วิธีการปลูกต้นไม้ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เช่นนี้เป็นทางออกในการลดโลกร้อนได้ดีที่สุดและมีต้นทุนต่ำสุด ราคาถูกกว่าวิธีการอื่นๆ นับเป็นพันๆ เท่า

โครว์เธอร์ยังชี้อีกว่า ถ้าปลูกต้นไม้ทิ้งไว้ 50-100 ปี ต้นไม้จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 200,000 ล้านตัน

 

ประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ 6 ประเทศ ที่ควรจะปลูกต้นไม้ใหม่ๆ เพื่อเร่งดูดก๊าซพิษโดยเร็วได้แก่ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย บราซิลและจีน

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ารัสเซียควรปลูกต้นไม้ให้ครอบคลุมพื้นที่ 900 ล้านไร่ สหรัฐ 618 ล้านไร่ แคนาดา 468 ล้านไร่ ออสเตรเลีย 348 ล้านไร่ บราซิล 300 ล้านไร่ และจีน 240 ล้านไร่

ถ้า 6 ประเทศทำได้ตามเป้าจะช่วยดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศโลกได้มากถึง 1 ใน 4

ประเทศอื่นๆ ที่เหลือซึ่งมีพื้นที่ไม่ใหญ่เท่า 6 ประเทศ หากร่วมกันปลูกต้นไม้ก็ยิ่งช่วยดูดซับก๊าซพิษได้มากขึ้นกว่าเดิมอีก

 

การลดโลกร้อนอีกวิธีหนึ่ง ที่ “โครว์เธอร์” แนะคือ ให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจากการกินเนื้อหันมากินมังสวิรัติแทน จะทำให้คนหันมาปลูกพืชผักแทนการทำปศุสัตว์

โทมัส เลิฟจอย นักชีววิทยาของมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน แห่งรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา บอกว่า การปลูกต้นไม้ไม่เพียงช่วยลดโลกร้อนเท่านั้น หากยังช่วยปลุกฟื้นระบบนิเวศวิทยาโดยเฉพาะภาวะดินเสื่อม

ทุกวันนี้ชาวโลกเผชิญกับปัญหาโลกร้อนเพราะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณมากทั้งจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซ และจากท่อไอเสียรถยนต์ นอกจากนี้ ทั่วโลกโค่นต้นไม้เฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านต้นทุกปี

ฉะนั้น หากชาวโลกหันกลับมาปลูกต้นไม้ ต้นไม้โตขึ้นจะช่วยดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาให้เราได้หายใจคล่องปอด

เพราะต้นไม้มีบทบาทสำคัญในการลดโลกร้อนและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่า

ป่าไม้ช่วยให้เกิดความชุ่มชื้น ทำให้ฤดูกาลเป็นไปตามวัฏจักร

บ้านเมืองไหนที่ปลูกต้นไม้เยอะๆ จะมีความร่มรื่น ร่มเย็น ผู้คนจะมีสุขภาพดีกว่าเมืองซึ่งไร้ต้นไม้ แห้งแล้ง

โครว์เธอร์ประเมินว่า ปลูกต้นไม้ 1 แสนล้านต้น ถ้าใช้ต้นกล้าต้นละ 9 บาท ลงทุนทั้งโลกราว 9 หมื่นล้านบาท แต่ผลลัพธ์จะได้มหาศาล ทั้งป่าอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศฟื้นฟูสัตว์ป่าและพืชพันธุ์จะกลับมา สภาพภูมิอากาศคืนสู่ความเป็นปกติ

ตามความหมายของโครว์เธอร์ นั่นคือชาวโลกจะต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะ 6 ประเทศที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งจะทำให้การลดโลกร้อนมีศักยภาพสูง รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ต้องร่วมมือปลูกต้นไม้ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงปี 2573

“ถ้าประเทศบราซิลปลูกต้นไม้ สร้างป่าให้เต็มพื้นที่ ความฝันของผมจะแจ่มจรัส” โครว์เธอร์บอก

 

การปลูกป่าใหม่นั้นไม่จำเป็นต้องปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ ปลูกต้นกาแฟ ต้นโกโก้หรือต้นเบอร์รี่ เป็นต้นไม้เพื่อการเกษตร ก็ช่วยให้ลดโลกร้อนได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ไม่เห็นด้วยกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างมันสำปะหลัง ข้าวโพด เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ไม่ได้ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แถมยังทำลายระบบนิเวศน์อีกต่างหาก

เวลานี้มีหลายประเทศในโลกมองเห็นความสำคัญในการปลูกต้นไม้ อย่างเช่นในทวีปแอฟริกา มีกว่า 20 ประเทศร่วมมือกันตั้งโครงการ “กำแพงเขียวอันยิ่งใหญ่” หรือ The Great Green Wall

ถ้าดูตามแผนที่โลก โครงการดังกล่าวจะปลูกต้นไม้เป็นแนวขวางตั้งแต่ประเทศเซเนกัล มอริเตเนีย มาลี บูร์กินาฟาโซ ไนจีเรีย ไนเจอร์ ชาด ซูดาน เอริเทรีย เอธิโอเปีย และจิบูตี ความยาวทั้งหมด 8,000 กิโลเมตร

โครงการนี้ต้องใช้เวลาและใช้ปริมาณต้นไม้มากมายมหาศาล ขณะนี้ทำไปแล้ว 10 ปี ปลูกต้นไม้ได้ราว 15 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะประเทศเซเนกัล ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 11.4 ล้านต้น

ส่วนบูร์กินาฟาโซ มาลี และไนเจอร์ เพาะเมล็ดพันธุ์ไม้ 50 ชนิด จำนวน 2 ล้านต้น

ประเทศอื่นๆ ในฝั่งเอเชียก็มีจีน อินเดีย และปากีสถานที่วางเป้าหมายปลูกต้นไม้เพื่อลดโลกร้อน โดยปากีสถานมุ่งฝันปลูกต้นไม้ให้ได้ 10,000 ล้านต้นในอีก 4 ปีข้างหน้า ส่วนจีนเตรียมปลูกต้นไม้เป็นแนวยาว 400 กิโลเมตร

สำหรับบ้านเรา โครงการปลูกต้นไม้ทำกันแค่ฉาบฉวยเหมือนจัดอีเวนต์โชว์เป็นครั้งๆ ไม่ได้มุ่งมั่นต่อเนื่องเอาจริงเช่นบ้านอื่นเมืองอื่น