บทวิเคราะห์ | ‘บิ๊กตู่’ ฮึ่ม แก้ปัญหาแบบเดิมๆ สัญญาณสยบ ‘มุ้ง’ การเมือง?

เชื่อว่าไม่จริง หากใครบอกว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ไม่ได้อ่าน “แอนิมอล ฟาร์ม” นิยายสุดคลาสสิคของ “จอร์จ ออร์เวลล์” แต่กลับเที่ยวเชิญชวนชาวบ้านให้อ่านเป็นตุเป็นตะ เพราะแท้จริงแล้ว “บิ๊กตู่” อ่านนิยายดังระดับโลกเรื่องนี้จริง

ทว่าตีความคนละแบบกับคอการเมืองทั้งหลาย

และยังเอาตัวเองเข้าไปเปรียบกับตัวละครในนิยายดังกล่าวด้วย

ทว่า “บิ๊กตู่” กลับตีความอีกแบบ โดยมองว่าตัวเองนั้นเปรียบเหมือนพ่อหมูเฒ่า ซึ่งเป็นหัวหน้าหมูที่มีอุดมการณ์ปฏิวัติ กล้าหาญและเป็นธรรม

โดยทำการปฏิวัติมนุษย์ชั่วออกจากฟาร์มได้สำเร็จ กระทั่งต่อมาเมื่อหมูเฒ่าตายไป อำนาจจึงตกอยู่ในมือหมูตัวอื่นๆ ซึ่งมีการยื้อแย่งอำนาจมาไว้กับตัว

จากนั้นพฤติกรรมของหมูในฟาร์มจึงไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ ซึ่งครั้งหนึ่งพวกหมูเคยรังเกียจ

ตรงนี้ “บิ๊กตู่” พยายามสื่อสารถึงแกนนำและพลพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยตรง เพราะการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปีนั้น ดูจะวุ่นวาย โกลาหล โดยเฉพาะการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่หนักที่สุดคือ ความขัดแย้งของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยกันเอง

นั่นเป็นเหตุผลที่ “บิ๊กตู่” ต้องหยิบยกหนังสือเสียดสีการเมืองเรื่อง “แอนิมอล ฟาร์ม” เพื่อแสดงออกถึงนัยยะสำคัญ เพื่อจะบอกว่าตัว พล.อ.ประยุทธ์นั้นโค่นล้มนักการเมืองชั่วออกไปแล้ว ยังจะมาเจอนักการเมืองที่ไม่น่าชื่นชมอีกหรืออย่างไร

ผ่านไปร้อยกว่าวันหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม จนแล้วจนรอด พรรค พปชร.ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นับเป็นการตั้งรัฐบาลมาราธอน นานสุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

นอกจากยังตั้งรัฐบาลไม่ได้แล้ว พรรค พปชร.ยังเป็นแหล่งรวมความวุ่นวายต่างๆ นานากับปัญหาสารพัดใน “กลุ่ม มุ้ง ก๊วน” เดิมทีมีปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งกระทรวงให้พรรคร่วม ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ฯลฯ กระทั่งปัญหาของพรรคจบไปแล้ว

พรรค พปชร.ก็มาเปิดศึกภายในกันเอง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.กลุ่มอีสานตอนบนที่นำโดย “เอกราช ช่างเหลา” ก่อหวอดขอตำแหน่งรัฐมนตรี ตามด้วย 13 ส.ส.ภาคใต้ในนาม “กลุ่มด้ามขวานไทย” รวมตัวกันขอเก้าอี้รัฐมนตรีให้ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล แกนนำคนสำคัญในการทำศึกเลือกตั้งพื้นที่ภาคใต้

ปัญหาเหล่านี้ก็จบลงเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ส่งมือขวานักเจรจา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พรรค พปชร. ไปเคลียร์ ทุกอย่างจึงจบ แม้บรรดา ส.ส.จะยังไม่อยากจบก็ตาม

แต่นั่นยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่ากับการออกมาเปิดหน้าท้ารบของ “กลุ่มสามมิตร” ในพรรค พปชร. ที่นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายอนุชา นาคาศัย ไม่พอใจการจัดโผ ครม.

เพราะเดิมทีพี่ใหญ่อย่าง “นายสุริยะ” จะได้นั่งในตำแหน่ง รมว.พลังงาน

ทว่าสุดท้ายกลับถูกปรับให้ไปนั่งเป็น รมว.อุตสาหกรรม เท่ากับเอาตัวไปถูกเชือด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า “นายสุริยะ” มาจากตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ระดับโลก

หากไปนั่ง รมว.อุตสาหกรรม ไม่พ้นข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อนทันที

ขณะที่นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท ประธานยุทธศาสตร์ภาคกลาง หนึ่งในแกนนำสามมิตร กลับหลุดโผ จากเดิมถูกวางตัวให้นั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แต่สุดท้าย “บิ๊กตู่” กลับนำตำแหน่งดังกล่าวไปประเคนให้พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ทำให้ “เสี่ยแฮงค์” เกิดอาการน้อยใจขนาดหนัก ถึงกับแถลงข่าวจะกราบเท้า พล.อ.ประยุทธ์เลยทีเดียว

“กลุ่มสามมิตร” แถลงกดดันอย่างหนักให้ “บิ๊กตู่” คืนตำแหน่ง รมว.พลังงานให้ “นายสุริยะ” คืนตำแหน่ง รมช.คลังให้ “นายอนุชา” โดยขู่ หากไม่เป็นไปตามนั้น กลุ่มสามมิตรพร้อมพิจารณาบทบาทในการทำงานร่วมกับพรรค พปชร.และรัฐบาล

พรรค พปชร.ไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่ตามข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ ทว่า ลึกลงไปแล้ว พรรค พปชร.เกิดความขัดแย้งอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตรกับแกนนำ กทม. นำโดย “นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” และ “นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” อดีตแกนนำ กปปส. มีกรณีไม่ลงรอยกันหลายคราว รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหมาดๆ นี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมรับว่าการตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ไม่ง่ายเหมือนมีอำนาจเบ็ดเสร็จในฐานะหัวหน้า คสช.ที่สามารถสั่งซ้ายหัน ขวาหัน ว่า จะเอาใครมาทำหน้าที่ในตำแหน่งใด ยิ่งรัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นการรวมตัวกันถึง 19 พรรคการเมือง ความวุ่นวายจึงเพิ่มขึ้นทวีคูณอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ด้วยความที่เป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรค ขณะที่พรรค พปชร.ก็เป็นการรวมตัวกันของคนหลายๆ กลุ่ม และเสียงของรัฐบาลก็อยู่ในสภาพปริ่มน้ำเกิน 250 เสียงมาแค่หน่อยๆ นั่นจึงถูกมองว่า อายุของรัฐบาลประยุทธ์ 2 คงอยู่ได้ไม่นาน ไม่ต้องพูดถึงพรรคร่วม เพราะแค่พรรคพลังประชารัฐเองก็ยังไม่สามารถไว้วางใจคนกลุ่มใดได้

เรียกว่างูเห่าพร้อมจะโผล่มาแว้งกัดคนในพรรคเดียวกันเองได้ตลอดเวลา

นั่นเป็นเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ถูกจับตามองว่าจะทำรัฐประหารซ้อนหรือไม่ โดยต้นตอของข่าวรัฐประหารซ้อน มาจากสารนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ออกสารขอโทษประชาชนแทนพรรค พปชร.ที่สร้างความขัดแย้งภายในพรรค กระทบต่อภาพลักษณ์ในเชิงลบ โดยเฉพาะการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ระบุในสารตอนหนึ่ง ถือเป็นนัยยะสำคัญว่า “หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ในฐานะรัฐบาลของคนไทยทั้งประเทศ จะถือเป็นการเริ่มต้นปฏิรูปทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อมิให้การดำเนินการทางการเมืองกลับไปเป็นปัญหาเช่นเดิม จนต้องเกิดการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ที่ทุกคนไม่ต้องการขึ้นมาอีก”

คำว่าการ “แก้ปัญหาแบบเดิมๆ” ในที่นี้ ถูกตีความว่าหมายถึงการรัฐประหาร หากทำจริงจะเท่ากับการปฏิวัติตัวเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองดูบริบทการเมืองเวลานี้แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ “บิ๊กตู่” จะทำรัฐประหาร เพราะการเลือกตั้งเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่คนทั้งประเทศต่างรอคอย

ฉะนั้น แนวโน้มที่ “บิ๊กตู่” จะปฏิวัติซ้อนนั้นจึงเป็นไปได้ยาก เพราะแท้จริงแล้ว “บิ๊กตู่” เพียงต้องการเตือนสติแกนนำพรรค พปชร. ไม่ต่างกับการแนะนำหนังสือ “แอนิมอล ฟาร์ม”

เพราะสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์กลัวจริงๆ คือกลัวว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนั้นจะ “เสียของ”

หากคิดอย่างลึกซึ้งการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่ “บิ๊กตู่” นำเสนอผ่านสารนายกฯ นั้น ถือเป็น “สัญญาณ” ที่พลพรรคนักการเมืองจะต้องฟังให้ได้ยินและถอดรหัสให้ออก

หยุดเหตุและปัจจัยไม่ให้ทหารต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ขึ้นมาอีก