วงค์ ตาวัน | ประตูแดงและกระสุนเขียว

วงค์ ตาวัน

บรรยากาศในบ้านเมืองเราวันนี้ ทำให้เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาเมื่อไร ก็ให้รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องไกลเกินไปเลย เพราะยังคงมีคนบางกลุ่มที่ยังกระทำ ยังมีความคิด ไม่ต่างไปจากพฤติกรรมอันร้ายแรงเมื่อ 43 ปีที่ผ่านมาแต่อย่างใด

ยังสร้างกระแสบิดเบือน สร้างความเกลียดชังใส่คนคิดต่าง แล้วโหมการไล่ล่า ปลุกปั่นกันจนสุดท้ายก็นำไปสู่การฆ่ากันได้ง่ายๆ แถมฆ่ากันอย่างโหดร้ายราวไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมเดียวกัน

40 ปีผ่านไป สังคมไทยยังเดินซ้ำรอยเดิม เพราะไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ความรุนแรงในอดีตเพื่อให้จดจำ และได้เรียนรู้กัน

“จึงควรช่วยกันสนับสนุน ความพยายามของกลุ่มอาจารย์ อดีตนักศึกษายุคนั้น ที่มุ่งเก็บรักษาข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพื่อนำไปสู่การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ให้ได้เรียนรู้กันไปตลอดกาล”

โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ที่มี รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, ภัทรพร ภู่ทอง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เพิ่งดำเนินการเก็บรักษาหลักฐาน 6 ตุลาฯ ชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้

โดยการรื้อถอน “ประตูแดง” จุดที่มีการฆ่าแขวนคอ 2 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม อันเป็นชนวนเหตุเริ่มต้น ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์

“เพื่อนำเอาประตูแดงดังกล่าวไปเก็บรักษาเอาไว้ ก่อนที่จะผุพังสูญสลายไป ซึ่งถ้าหากโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นได้จริง ก็จะได้นำไปใช้จัดแสดงเพื่อร่วมบอกเล่าข้อเท็จจริงอันเลวร้าย!”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 มีผู้พบศพชาย 2 ราย ถูกแขวนคอที่ประตูรั้วขึ้นสนิมจนเป็นสีแดง บริเวณทางเข้าที่ดินจัดสรร หมู่ 2 ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม

2 ศพดังกล่าว คือ นายวิชัย เกษศรีพงศ์ษา และนายชุมพร ทุมไมย 2 ช่างไฟฟ้า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตัวไปฆ่าโหด ขณะออกติดโปสเตอร์ที่บริเวณพระปฐมเจดีย์เชิญชวนให้คนไปร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ เพื่อต่อต้านจอมพลถนอม กิตติขจร ทรราช 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย

“จากนั้นเมื่อการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เริ่มขึ้น ได้มีการแสดงละครเพื่อรำลึกถึง 2 ช่างไฟฟ้าที่ถูกฆ่าแขวนคอ แล้วภาพถ่ายการแสดงละคร มีการนำไปตกแต่งแล้วตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “ดาวสยาม” พร้อมการสร้างกระแสผ่านสื่อของฝ่ายขวาจัด รวมทั้งสถานีวิทยุของชมรมวิทยุเสรีที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุเครือข่ายกองทัพบก มีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแม่ข่าย”

ปลุกปั่นกระแสกล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ปลุกให้มวลชนฝ่ายขวาฮือกันออกมา

นำมาสู่เหตุการณ์ฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์ ในเช้าตรู่วันที่ 6 ตุลาคม

ดังนั้น สัญลักษณ์ความโหดร้ายทารุณของ 6 ตุลา จึงไม่ใช่แค่ศพที่ถูกแขวนไว้กับต้นมะขามสนามหลวง แล้วเอาเก้าอี้ฟาด

แต่ยังมีประตูแดง ที่ฆ่าแขวนคอ 2 ศพ อันเป็นอีกหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ยังสามารถจัดเก็บรักษาเอาไว้ได้!

ในเพลงแร็พดัง “ประเทศกูมี” ที่วันนี้ยอดคนเข้าดูในยูทูบเกือบถึง 70 ล้านเข้าไปแล้ว เพราะสะท้อนความจริงในยุคบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างตรงใจคนไทยอย่างมาก ซึ่งฉากสำคัญในมิวสิกวิดีโอของเพลงนี้ก็คือฉาก 6 ตุลา เอาเก้าอี้ฟาดศพ

บทเพลงนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเตือนให้คนยุคปัจจุบัน ได้หันไปเรียนรู้เหตุการณ์ในวันนั้น

“เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของการปลุกปั่นนำไปสู่การฆ่าคนบริสุทธิ์อย่างทารุณกันอีก”

บ้านเมืองเราในยุคปี 2516 จนถึง 2519 เกิดขบวนการขวาพิฆาตซ้าย ใช้วิธีคุกคามเข่นฆ่าอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะเป็นขบวนการที่อยู่ฟากเดียวกับอำนาจรัฐ

2 ศพช่างไฟฟ้าก็เป็นอีกเหยื่อของขบวนการขวาพิฆาตซ้ายดังกล่าว

“ก่อนจะเกิด 6 ตุลาคม 2519 ต้องพูดถึง 24 กันยายน 2519 ที่มีการเอาศพ 2 ช่างไฟฟ้าไปฆ่าแขวนคอด้วย เป็นชนวนเริ่มต้นความรุนแรง ที่นำไปสู่การบิดเบือนปลุกปั่น ต่อเนื่องไปถึงการฆ่าหมู่”

โครงการบันทึก 6 ตุลา ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินดังกล่าว ให้รื้อถอนประตูแดงจุดฆ่าแขวนคอ 2 ศพ ไปเก็บรักษาเอาไว้เพื่อประโยชน์ต่อการบันทึกประวัติศาสตร์

ในวันสุดท้ายที่ประตูแดงจะเคลื่อนย้ายจากจุดที่เคยติดตั้งอยู่ คือเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา

นอกจากคณะนักวิชาการ ยังมีญาติของ 2 ศพช่างไฟฟ้าเดินทางมาร่วมด้วย

“ชุมพล ทุมไมย พี่ชายของชุมพร ทุมไมย เดินทางจากอุบลราชธานีพร้อมด้วยภาพถ่ายน้องชาย นำร่วมไว้อาลัย พร้อมกับกล่าวทั้งน้ำตาว่า นี่จะเป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีอดีต ณ ที่แห่งนี้อีกแล้ว”

แต่แน่นอน ประตูแดงจะไม่ใช่อดีตที่สูญหาย เมื่อได้รับการนำไปเก็บรักษาเอาไว้

เพราะการฆ่าแขวนคอ 2 ศพที่ประตูแดงนี้ จะได้รับการบันทึกเอาไว้ให้เรียนรู้กันว่า จาก 2 ศพนี้ เมื่อมีการนำไปแสดงละครเพื่อรำลึกถึง ได้ถูกขบวนการบิดเบือนใส่ร้าย นำภาพถ่ายไปตกแต่ง แล้วตีพิมพ์ใน “ดาวสยาม” เพื่อปลุกปั่นกล่าวหากันด้วยการอ้างสถาบันเบื้องสูงที่คนไทยเคารพรัก

ลงเอยด้วยกระบวนการโหมกระแสป้ายสี ผ่าน “ดาวสยามและวิทยุยานเกราะ” จึงกลายเป็น 6 ตุลาอันโหดเหี้ยมทารุณ

แต่ก็น่าเศร้า ที่วันนี้ยังคงมีสื่อดาวสยามและวิทยุยานเกราะคืนชีพมาอีก ยังมีผู้คนขวาจัดหลุดโลกที่โหมการปลุกปั่นไล่ล่าคนคิดต่างอย่างไม่สิ้นสุด!

เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีการพูดถึง “กระสุนหัวสีเขียว” หลักฐานการสังหาร 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม อันเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ 99 ศพ การสลายม็อบเสื้อแดง ระหว่างวันที่ 10 เมษายน จนถึง 19 พฤษภาคม 2553

โดยจุดสุดท้ายคือ 6 ศพ ที่วัดปทุมฯ ทั้งที่ขณะนั้นการชุมนุมของเสื้อแดงสลายตัวไปแล้ว แกนนำถูกควบคุมตัวไปขังที่ค่าย ตชด.แล้ว

โดยยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนที่หวาดกลัวเคว้งคว้าง เข้าไปพักอาศัยภายในวัดปทุมวนาราม เนื่องจากได้ประกาศเป็นเขตอภัยทาน สำหรับให้ผู้ชุมนุมที่เป็นคนชรา หญิง และเด็ก รวมทั้งคนป่วย ได้เข้าพักอาศัยตลอดช่วงที่เสื้อแดงชุมนุมประท้วง

“แต่ในเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งการชุมนุมหมดสภาพไปแล้ว เหลือแต่คนนับพันที่พักพิงอยู่ในวัด กลับยังมีเสียงปืนดังระงมต่อเนื่องไปตลอดทั้งคืน จนมีผู้เสียชีวิต 6 ราย”

ต่อมาได้มีการนำสำนวนการไต่สวนชันสูตร 6 ศพนี้ขึ้นพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งศาลได้มีคำสั่งว่า ทั้ง 6 ศพถูกกระปืนของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ทั้งที่ยิงจากบนรางรถไฟฟ้าหน้าวัด และยิงจากพื้นราบโดยเจ้าหน้าที่อีกชุดที่หน้าวัด

เนื่องจากพยานหลักฐานของเหตุการณ์นี้ชัดเจนอย่างมาก

มีทั้งวิดีโอที่ถ่ายโดยตำรวจ ซึ่งรักษาการณ์อยู่บนตึกสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เห็นเจ้าหน้าที่ชุดพรางของ ศอฉ.เล็งปืนยิงเข้าไปในวัดเป็นระยะๆ และคนยิงไม่ต้องก้มหลบอะไรเลย บ่งบอกได้ว่า ไม่มีการยิงต่อสู้จากในวัดขึ้นมา

“รวมทั้งการตรวจพิสูจน์วิถีกระสุนได้ตรงหมด และพบกระสุนส่วนหนึ่งที่ตกค้างบนรางรถไฟฟ้า เป็นกระสุนหัวสีเขียว ที่ใช้ในหน่วยราชการบางหน่วย!”

ปรากฏว่ากระสุนสีเขียว ก็ตรงกับหัวกระสุนที่ติดอยู่บริเวณท้องของผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามด้วย

เป็นเรื่องน่าผิดหวังของครอบครัวและญาติมิตร 6 ศพ เพราะพยานหลักฐานมากมายขนาดนี้ ในทางคดีอาญากลับไม่สามารถดำเนินไปได้

“ไม่กี่วันมามานี้ เริ่มมีการพูดถึงหัวกระสุนสีเขียวที่ศพ เพราะสูญหายไป เหมือนการทวงถามความเป็นธรรมให้กับ 6 ศพดังกล่าว รวมไปถึง 99 ศพด้วย”

แน่นอนว่าการรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำรุนแรงต่อประชาชนโดยรัฐนั้น ควรจะต้องดำเนินการในทุกเหตุการณ์ จัดสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ให้จดจำไปตลอดกาล

เป็นบันทึกประวัติศาสตร์เพื่อเตือนสติ หยุดความรุนแรง ปลุกปั่นบ้าคลั่ง ที่กระทำต่อผู้บริสุทธิ์!