คุยกับทูตเยอรมนี ‘เกออร์ก ชมิดท์’ ผู้รักสิ่งแวดล้อม ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปมาใน กทม.-ขอติดโซลาร์เซลล์ที่สถานทูต

คุยกับทูต เกออร์ก ชมิดท์ นักการทูตจากเยอรมนี ชูประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (1)

“ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมที่สำคัญ ความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ หลังจากที่ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยแล้ว”

เป็นคำกล่าวของนายเกออร์ก ชมิดท์ (His Excellency Mr. Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการทูตมาอย่างยาวนาน

“ผมปฏิบัติงานในต่างประเทศครั้งแรก ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยรับผิดชอบเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม”

“ต่อมาเป็นอุปทูตประจำประเทศมาลี แอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากกรุงเทพฯ มาก ภายหลังจึงได้ไปจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อประสานงานด้านมนุษยธรรมของเรา ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา หลังเหตุการณ์สึนามิ นับเป็นช่วงเวลาที่กดดันมากหากคุณได้เห็นการทำลายล้างที่นำมาซึ่งความสูญเสีย ความยากลำบาก ความโศกเศร้า อันเกิดจากภัยพิบัติสึนามิ คลื่นแห่งความทุกข์ยาก”

“ตำแหน่งล่าสุดคือเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงและผู้อำนวยการกรมแอฟริกาใต้ สะฮารา และซาเฮล ประจำกระทรวงต่างประเทศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรุงเบอร์ลิน ก่อนที่จะมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตเยอรมนี ณ กรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ.2018”

ท่านทูตสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) และปริญญาโทด้านตะวันออกไกลจากมหาวิทยาลัยลอนดอน (School of Oriental and African Studies จาก London University) เคยมาเยือนไทยในช่วงปี 1980 ขณะยังเป็นนักศึกษาและเกิดความประทับใจจนได้กลับมาเยือนอีกหลายครั้ง

ด้วยทักษะทางด้านภาษา ท่านทูตจึงสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสและญี่ปุ่น นอกเหนือจากภาษาเยอรมัน อังกฤษ และจีน

เราสนทนากัน ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต บริเวณเดียวกับสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งแวดล้อมด้วยต้นไม้เขียวขจีน้อยใหญ่ มีสายลมอ่อนๆ พัดผ่านเป็นระยะๆ ให้ความร่มรื่นราวกับโอเอซิสสีเขียว

อีกทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายประเภท ประหนึ่งสวนสัตว์เล็กๆ ย่านถนนสาทรใต้ ใจกลางกรุงเทพมหานคร

“ผมเป็นผู้แทนสูงสุดของประเทศเยอรมนีในประเทศไทย มีภารกิจหลักในการสนับสนุนและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเยอรมนีและไทยในทุกด้าน รวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับคณะผู้แทนระดับสูงด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรมและสื่อต่างๆ ด้วย”

ในปัจจุบันบทบาทของนักการทูตต้องปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้ก้าวทันความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น เมื่อนานาประเทศต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในนโยบายต่างประเทศ

อันเชื่อมโยงกับปัจจัยทางการเมืองและสังคม

ความสนใจของนายเกออร์ก ชมิดท์ ต่อการเป็นนักการทูต

“ผมคิดว่า ถ้าคุณมีความสนใจในประเทศและวัฒนธรรมอื่น การได้พบเจอผู้คนมากมายหลากหลายวัฒนธรรม จะทำให้มุมมอง ความคิดและอะไรๆ ในชีวิตของเราเปลี่ยนไปเยอะมาก ได้เข้าใจโลกมากขึ้น และแน่นอน ทำให้เกิดความเข้าใจในประเทศที่เป็นบ้านของเราเอง มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นกว่าเดิม และอีกด้านหนึ่ง คุณได้มีอาชีพที่มีงานใหม่ๆ มาเสนอให้คุณทุกสามถึงสี่ปี เสมือนให้เราได้ใกล้ชิดกับสังคมและวัฒนธรรมในสถานการณ์และช่วงเวลาที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งทำให้ผมรักงานนี้”

“การเดินทางก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะบ่อยครั้งที่คุณเดินทางคุณเห็นหลายสิ่งหลายอย่างก็จริง แต่คุณอาจไม่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งนัก นอกจากจะอยู่เพื่อทำงานในประเทศนั้นๆ”

หลังจากมาประจำเมืองไทยได้ไม่นาน ท่านทูตเกออร์ก ชมิดท์ กลายเป็นที่กล่าวขวัญในประเทศไทยเมื่อต้นปีนี้ เพราะทวีตเสนอเชิญสมาชิกวง BNK48 ไปพูดคุยเกี่ยวกับความน่ากลัวของเผด็จการนาซี หลังสมาชิกในวงสวมเสื้อยืดที่มีสัญลักษณ์สวัสติกะของพรรคนาซีเยอรมนีขึ้นซ้อมคอนเสิร์ต นับเป็นประเด็นร้อนแรงในเวลานั้น

และการที่ท่านทูตเลือกใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขับขี่ไปตามท้องถนนในกรุงเทพฯ แทนรถประจำตำแหน่งในบางโอกาส แสดงถึงความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก

“แม้จะมีรถ แต่ผมก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางด้วยรถคันใหญ่เสมอไป ถ้าเรามีตัวเลือกการเดินทางที่หลากหลายและสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ การใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็เป็นทางเลือกแบบหนึ่ง แต่จะต้องใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และระยะทาง เพราะสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไม่สร้างมลพิษ รวดเร็ว เพียงแต่ชาร์จไฟตอนกลางคืน วันรุ่งขึ้นก็จะสามารถเดินทางได้ราว 25 กิโลเมตร ซึ่งผมชอบมาก เพราะสามารถเก็บพับสกู๊ตเตอร์ยามเมื่อต้องขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน เพียงใช้โทรศัพท์มือถือปลดล็อกสกู๊ตเตอร์ ผมก็สามารถเดินทางไปยังที่หมายตามที่ต้องการ อันเป็นเรื่องปกติในเยอรมนี และหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปก็นิยมปั่นจักรยานด้วยเช่นกัน”

“อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมากในยุโรปขณะนี้ โดยเฉพาะที่เยอรมนี คนจำนวนมากไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์แล้ว แต่พวกเขาอยู่ในระบบการใช้รถร่วมกัน (car sharing) เพียงเข้าเป็นสมาชิกการใช้รถร่วม (car pool) ก็จะสามารถใช้โทรศัพท์มือถือปลดล็อกรถเพื่อไปทุกที่ที่คุณต้องการ อันเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากเมื่อก่อน ซึ่งการเป็นเจ้าของรถยนต์ เคยเป็นความฝันของผู้คน แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ในเบอร์ลินตอนนี้ ถ้าคุณถามพวกเขาว่าใช้รถอะไร เขาจะถามคุณกลับว่า วันไหนล่ะ วันจันทร์ อังคาร พุธ หรือศุกร์ เสาร์ เพราะพวกเขาเป็นสมาชิกการใช้รถร่วม พวกเขาใช้รถเมื่ออยากใช้ การจอดรถก็ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถด้วยกัน โดยมีผู้โดยสารหลายคนในรถหนึ่งคัน ซึ่งมีหลายอย่างที่แต่ละคนสามารถทำได้”

“สำหรับผมก็ใช้รถยนต์เพื่อสัญจรด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นรถยนต์ ก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องใช้รถที่ใช้น้ำมัน ตัวอย่าง BMW i3 คันนี้ เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งหมด อัตราการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และสามารถเดินทางได้ถึง 150 กิโลเมตร ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการเดินทางในกรุงเทพฯ แต่เราก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เพราะรถคันนี้เงียบสนิท ดังนั้น กรุงเทพฯ จะเงียบมากถ้าคุณใช้รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้”

“วันนี้ ผมภูมิใจที่ได้ขับ BMW i3 คันแรกในประเทศไทย รถคันนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่รถสำหรับในเมือง (city car) เท่านั้น เพราะเรายังได้ขับรถคันนี้จากกรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่ด้วย แต่เทคโนโลยีใหม่ก็มักมีราคาแพงมากเสมอ รัฐบาลจึงควรมีมาตรการจูงใจ เพื่อทำให้รถมีราคาย่อมเยาลง”

“แม้แต่เรือที่สัญจรไปมาตามแม่น้ำลำคลอง น่าจะดีกว่า ถ้าเรือทุกลำขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน ซึ่งมีความเป็นไปได้หากจะเริ่มทำ”

ท่านทูตเกออร์ก ชมิดท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า

“การใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า และระบบการใช้รถร่วมกัน (car sharing) ทำให้มีรถใช้ไม่ซ้ำแบบกัน เริ่มเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อรับมือกับสภาพการจราจรและลดมลพิษทางอากาศที่นับวันจะมากขึ้น”

จากความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ยังมีอีกหลายโครงการที่ท่านทูตกำลังดำเนินการในเมืองหลวงของประเทศไทยรวมทั้งโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานทูต อันเป็นตัวอย่างที่คนอื่นสามารถทำตามได้

และเมื่อเรามีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งและเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องรับผิดชอบ