สุจิตต์ วงษ์เทศ /ลิเก กำเนิดในกรุงเทพฯ สมัย ร.5 อยุธยา, สุโขทัย, ธนบุรี ไม่มีลิเก

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ลิเก กำเนิดในกรุงเทพฯ สมัย ร.5

อยุธยา, สุโขทัย, ธนบุรี ไม่มีลิเก

 

ลิเกเป็นละครแบบหนึ่งเล่นสนุกเพื่อสนองคนดูเป็นสำคัญที่สุด มีครั้งแรกในกรุงเทพฯ สมัย ร.5 จึงไม่เคยมีลิเกในสมัยอยุธยา, สุโขทัย, ธนบุรี

[ครูสอนนาฏศิลป์กลุ่มหนึ่งมักเหมาอย่างมั่วๆ ตามความเคยชินว่าลิเกมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย, กรุงศรีอยุธยา]

ต้นทางของลิเกจากเลียนแบบดิเกร์ ซึ่งเป็นการละเล่นในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ของไทย แล้วเสริมความสนุกสนานด้วยการละเล่นท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วในภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท (รากเหง้าความเป็นไทย) ต่อมาเรียกการแสดงที่ถูกสร้างสรรค์ใหม่ว่ายี่เก แล้วถูกกำหนดสมัยหลังให้เรียกว่าลิเก

 

การแสดงแบบใหม่ในเศรษฐกิจเพื่อตลาด

 

ลิเกมีขึ้นจากความกระตือรือร้นค้นหาการแสดงอย่างใหม่ที่ดูสนุกและไม่ซับซ้อน เพื่อสนองคนดูหมู่มากของสังคมชาวบ้าน

เศรษฐกิจการค้าต่างประเทศกว้างขวาง เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจการตลาดภายในประเทศ ทำให้บรรดากระฎุมพีมีอำนาจทางการเมือง แล้วมีอิทธิพลกำหนดลักษณะวัฒนธรรม โดยเฉพาะการแสดงแบบใหม่ของสังคม ความเคลื่อนไหวเหล่านี้มีนานแล้วตั้งแต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ (อาศัยเค้าโครงจากบทความเรื่อง สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พ.ศ.2524)

การแสดงแบบใหม่ในโรงละครมีเก็บค่าดูตามประเพณีจากตะวันตก โดยพบแห่งแรกเป็นของเจ้านายและขุนนางเรียกโรงละครปรินซ์เธียเตอร์ที่ท่าเตียน อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ.2425 (ครบ100 ปี กรุงรัตนโกสินทร์)

มีแสดงเฉพาะกลางคืนเดือนหงาย คราวละ 1 สัปดาห์ เรียกอย่างฝรั่งว่า 1 วีก เป็นที่มาของคำว่า วิก (หมายถึงสถานที่มีการแสดงเก็บค่าเข้าดู)

กระแสความต้องการสิ่งใหม่ทำให้ชาวบ้านเลียนแบบคนชั้นสูง จึงมีการแสดงแบบใหม่สนองคนดูชาวบ้านเรียกลิเก มีวิกลิเกเก็บค่าเข้าดูแห่งแรกเรียกวิกพระยาเพชร ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ริมคลองโอ่งอ่าง (ราว พ.ศ.2440)

 

กว่าจะเป็นลิเก

 

ลิเกเริ่มครั้งแรกในกรุงเทพฯ สมัย ร.5 มีพัฒนาการสังเขป ได้แก่

ต้นทางมาจากดิเกร์ หมายถึงสวดแขก (มลายูมุสลิม) ดัดแปลงเข้ากับสวดไทย (สวดคฤหัสถ์) แล้วเล่นพลิกแพลงไปต่างๆ อย่างสนุกสนานและสวยงาม

ปลายทางปรับเปลี่ยนเป็นละคร แต่เรียกเพี้ยนจากดิเกร์เป็นยี่เกและลิเก โดยได้พื้นฐานละครชาตรีผสมปนเปเข้ากันกับเล่นเลียนแบบอย่างเพี้ยนๆ จากละครหลวง มีลำดับกว้างๆ ได้แก่ เล่นลิเกเบ็ดเตล็ด และเล่นลิเกทรงเครื่อง

  1. เล่นลิเกเบ็ดเตล็ด

เล่นลิเกเบ็ดเตล็ด หมายถึงเล่นดิเกร์สวดแขกเป็นชุดภาษาต่างๆ เน้นตลกคะนองสนองคนดูชาวบ้านทั่วไปร้อยพ่อพันแม่ เช่น ชุดแขกรดน้ำมนต์, ชุดมอญราชาธิราช, ชุดลาวขุนช้างขุนแผน, ชุดจีนต่างๆ ฯลฯ

มี 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกเรียกลิเกบันตน ส่วนช่วงหลังเรียกลิเกทรงเครื่อง

ลิเกบันตน ตีประกอบจังหวะด้วยกลองรำมะนา (อย่างเดียวกับลำตัด) ยังไม่มีปี่พาทย์

ลิเกลูกบท ตีประโคมรับร้องด้วยวงปี่พาทย์ (เครื่องห้า) มาแทนกลองรำมะนา

  1. เล่นลิเกทรงเครื่อง

เล่นลิเกทรงเครื่อง หมายถึงคนเล่นแต่งตัวเข้าเครื่องเลียนแบบละครรำ มีปักดิ้นเลื่อมแพรวพราว แล้วเรียก “ลิเกทรงเครื่อง”

เน้นชุดออกภาษา (สิบสองภาษา) อวดเครื่องลิเกแต่งเป็นชาติภาษาต่างๆ เล่นประสมกันระหว่างลิเกบันตนกับลิเกลูกบท จึงมีประโคมสลับกันทั้งวงกลองรำมะนาและวงปี่พาทย์

พระยาเพชรปาณี (รับราชการกระทรวงวัง) เป็นผู้คิดสร้างสรรค์ครั้งแรกเป็นลิเกทรงเครื่อง ปิดวิกแสดงประจำอยู่ตรงข้ามวัดราชนัดดา บริเวณป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ริมคลองโอ่งอ่าง (ใกล้ภูเขาทอง วัดสระเกศ)

เมื่อเล่นปิดวิกประจำ กำหนดเล่นปี่พาทย์บรรเลงประโคมรับอย่างเดียว ให้งดเล่นบันตนตีกลองรำมะนา

เริ่มแสดงมีเล่นออกแขก (เป็นสัญลักษณ์ว่าลิเกมีรากเหง้าจากดิเกร์สวดแขกมลายู) ต่อจากนั้นมีเล่นเจรจาติดตลกตามสมควร แล้วบอกเรื่องที่จะเล่นต่อไป เมื่อบอกหมดก็เริ่มแสดงเข้าเรื่อง มีทำนองร้องดำเนินเรื่องโดยเฉพาะ เรียกเพลงหงส์ทอง (ชั้นเดียว) ร้องด้นบอกสิ่งจำเป็นต่างๆ ตามต้องการ

ลิเกมีลักษณะเฉพาะคือ รำเอง, ร้องเอง, ตลกเอง

รำเอง รำอย่างลัดๆ ลวกๆ เลียนแบบละครรำของหลวงพอเห็นเค้าเป็นกระสาย เพราะคนลิเกไม่ใช่เล่นละคร และรำไม่แข็งแรง จึงไม่เป็นรำ

ร้องเอง ร้องอย่างลวกๆ หลวมๆ เลียนแบบละครร้องของขุนนางพอให้เห็นเค้าเป็นหางเครื่องทางร้อง เพราะคนลิเกไม่ใช่คนร้อง และร้องไม่แข็งแรง จึงไม่เป็นร้อง

ลิเกต้องจำบทร้องเองจากครูแต่งบทให้ท่องอย่างสั้นๆ เพราะไม่มีคนบอกบทเหมือนละครชาตรี และไม่มีคนร้องแทนเหมือนละครใน

ตลกเอง นอกเหนือจากรำเองร้องเองและแต่งตัวสวยๆ งามๆ พระและนางต้องเล่นตลกได้เอง เข้ากับตลกจำอวดตามพระตามนาง เพราะเป็นสิ่งต้องการของคนดูทั่วไป

ดังนั้น ลิเกสมัยแรกนอกจากเครื่องแต่งตัวทันสมัยสวยงามสุดเหวี่ยงแล้ว ยังต้องตลกหัวหกก้นขวิดให้ถูกใจคนดูหมู่มาก

 

 

วิกชั่วคราวลิเกพระยาเพชรปาณี ในงานภูเขาทอง วัดสระเกศ สมัย ร.5 พ.ศ.2447

ลิเกพระยาเพชรปาณี ภาพโปสการ์ด “มุมหนึ่งงานวัดสระเกศ” ถ่ายโดย นาย เจ. แอนโตนิโย (J. Antonio) เจ้าของร้านถ่ายรูปในกรุงเทพฯ ที่เข้ามาถึงสยามยุค ร.5 และพิมพ์หนังสือนำเที่ยวกรุงเทพฯ และสยาม “Traveller Guide to Bangkok and Siam” พ.ศ.2447

วิกลิเกถาวรของพระยาเพชรปาณีอยู่บ้านของท่านเอง หน้าวัดราชนัดดา ดังมีหลักฐานในลายพระหัตถ์ (พ.ศ.2483) ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[สรุปย่อจากเรื่อง พระยาเพชรปาณีสร้างสรรค์ลิเก ที่บ้านย่านป้อมมหากาฬ โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 7-13 ตุลาคม 2559 หน้า 82]

โปสการ์ดลิเกพระยาเพชรปาณี เอนก นาวิกมูล บอกว่าได้รับความเอื้อเฟื้อจาก คุณสินชัย เลิศโกวิทย์ ผู้สนใจโปสการ์ดเก่า ช่วยถ่ายเอกสารภาพบรรยากาศหน้าโรงลิเกพระยาเพชรปาณี ช่วงปลาย ร.5 ส่งมาให้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2542

โปสการ์ดแสดงภาพหญิงนุ่งโจงกระเบน คาดผ้าแถบจำนวนหลายคนกับเด็ก และผู้ชายอีกสองคนเดิน-ยืนอยู่หน้าโรงร้านแห่งหนึ่งซึ่งขึ้นป้ายชัดๆ ว่า “ลิเกพระยาเพชรปาณี”

ใต้ภาพมีตัวหนังสือภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสพิมพ์ว่า “No 8-Photo by J. Antonio, Bangkok Un Coin de la F?te de WATH SAKET” แปลว่า แหล่งบันเทิงที่วัดสระเกศ ภาพหมายเลข 8 ถ่ายโดย เจ. อันโตนิโย (เจ้าของร้านถ่ายรูป เจ. อันโตนิโย ปากตรอกชาร์เตอร์ดแบงก์ ถนนเจริญกรุง)

(รูปและคำอธิบายของเอนก นาวิกมูล พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ.2542)