“รัฐบุรุษชื่อเปรม” กองทุนส่งเสริมการศึกษา การสร้างสรรค์ศิลปะ มูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คิดว่าคงไม่ช้าเกินไปที่จะรำลึกถึงเรื่องราวจากความทรงจำเกี่ยวกับ (ป๋า) ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ “ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน” เพื่อเป็นการอาลัยอีกสักครั้ง

ความจริง ชีวิตและผลงานของท่านที่ฝากไว้บนแผ่นดินในช่วงเวลายาวนานมากมายเกินกว่าจะเอามาเรียบเรียงนำเสนอได้ทั้งหมดในเวลาสั้นๆ

เพราะฉะนั้น จึงขออนุญาตหยิบเฉพาะในส่วนที่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสจริงๆ เพียงบางจุดมาบอกกล่าวเล่าขานบ้าง

โดยเฉพาะในมุมอันเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษา “ศิลปะ” และ “ศิลปะร่วมสมัย”

ซึ่งก่อนหน้านั้นแทบนึกไม่ถึงว่านายทหารระดับสูงจะมีจิตใจละเอียดอ่อนละเมียดละไมสนอกสนใจเรื่องความงามดังกล่าว

 

อยากกล่าวย้อนหลังถึงผู้สื่อข่าวรุ่นที่วิ่งหาข่าวและนำเสนอกองบรรณาธิการด้วยลายมือแบบไม่มีเครื่องมือในการสื่อสารอันทันสมัยเหมือนยุคดิจิตอลอย่างเช่นปัจจุบัน มีเพียงโทรศัพท์พื้นฐาน บางครั้งต้องอาศัยตู้โทรศัพท์สาธารณะตามริมถนนใช้โทร.ส่งข่าว โดยให้หัวหน้าข่าว หรือรีไรเตอร์ ซึ่งอยู่ที่กองบรรณาธิการจดเอาทางปลายสาย

กลุ่มนักข่าวเหล่านี้ค่อนข้างสนิทสนมกันในกลุ่มพอสมควรจากหนังสือพิมพ์หลักๆ ซึ่งมีไม่กี่ฉบับ ต่อมาหลายคนได้เติบโตขึ้นเป็น “คอลัมนิสต์” มีชื่อเสียงจะว่าไปคงเกือบจากทุกๆ ฉบับ

ขณะเดียวกันค่อนข้างสนิทสนมแนบแน่นกับแหล่งข่าวในรัฐบาลซึ่งเป็น “รัฐบาลทหาร” เสียเป็นส่วนมาก มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นายทหารที่เติบโตขึ้นในกองทัพขึ้นรั้งตำแหน่งสำคัญๆ ส่วนมากมักจะได้รู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่วัยหนุ่มๆ จึงไม่เหมือนในยุคสมัยต่อๆ มากระทั่งปัจจุบัน?

พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ (บิ๊กหมง) ซึ่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “กองบัญชาการกองทัพไทย” นั้นเป็นกันเองสนิทสนมกับกลุ่มคอลัมนิสต์รุ่นน้องๆ ค่อนข้างมาก

ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าท่านเป็นนายทหารคนสนิท (ทส.) นายทหารฝ่ายเสนาธิการของ (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (บิ๊กจิ๋ว) อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตนายกรัฐมนตรี (จากการเลือกตั้ง) และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พล.อ.อู้ด เบื้องบน อยู่ในทีมด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้ง (ท่านพี่จิ๋ว) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ท่านพี่หมง) พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ล้วนอยู่ในทีมจากโคราชที่ร่วมกันคลี่คลายการ “ปฏิวัติ” ที่เรียกเหตุการณ์ “เมษาฮาวาย” (การปฏิวัติของกลุ่มนายทหาร “ยังเติร์ก” ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2524) เพื่อยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

นายทหารที่กล่าวถึงดังกล่าวรวมทั้งรุ่นใกล้เคียงที่เติบโตติดตามมานั้น ได้รู้จักมักคุ้นกันมาตั้งแต่ท่านยังหนุ่มแน่นมียศน้อยๆ กระทั่งมียศและตำแหน่งสูงๆ จนถึงสูงสุดขณะเกษียณอายุราชการแก่เฒ่าตามๆ กันมา

เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ (ท่านพี่หมง) จะโน้มน้าวกลุ่มคอลัมนิสต์ให้ช่วยกันผลักดันให้ผมรับเป็น “บรรณาธิการ” หนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ดำเนินการจัดทำจนกระทั่งสำเร็จลุล่วง ดังได้กล่าวไปหลายครั้งหลายหน อันที่จริงจำได้ว่ามีผู้เสนอจะแปลหนังสือซึ่งใช้เวลาจัดทำกว่าจะสำเร็จถึง 2 ปีเศษเล่มนี้เป็นภาษาอื่น โดยเฉพาะภาษาอังกฤษด้วย

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เกิดขึ้น นอกจากสำนักพิมพ์ “มติชน” ได้จัดพิมพ์ครั้งที่ 2 ขึ้น ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะ (ท่านพี่หมง) ไปดำเนินการพูดจากันอย่างไร? คิดว่าทุกวันนี้หนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” น่าจะยังพอเหลืออยู่บ้างเพื่อให้ท่านที่ต้องการซื้อหามาศึกษาชีวิตเรื่องราวของท่าน “ประธานองคมนตรี” และ “รัฐบุรุษ”

 

ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ในปี พ.ศ.2538 เพื่อนรัก “กมล ทัศนาญชลี” ซึ่งเป็นศิลปินสองซีกโลก (ขณะนั้นยังไม่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ) ใช้ชีวิตเป็นศิลปินอิสระสร้างผลงานศิลปะ เป็นอาจารย์พิเศษอยู่ในนครลอสแองเจลิสและรัฐใกล้เคียงในสหรัฐอเมริกา เสียเป็นส่วนใหญ่ (Los Angeles, California, USA) ได้นำผลงาน “ศิลปะร่วมสมัย” ของเขามาเปิดแสดงในประเทศไทย

เพื่อให้สมเกียรติยศของศิลปินที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ เสียสละเพื่อการศึกษาศิลปะของประเทศไทย จึงได้ไปรบกวนบอกกล่าว (ท่านพี่หมง) ช่วยประสานงานกราบเรียนเชิญ (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ท่านเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการศิลปะของเขาและเพื่อนศิลปินรับเชิญในประเทศไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ณ พิพิธภัณฑสถาน หอศิลปะ (เจ้าฟ้า) กรุงเทพฯ

ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่ (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านได้เข้ามาสัมผัสกับวงการนี้ และท่านให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เดินดูนิทรรศการศิลปะครั้งนั้นด้วยความสนใจ

พูดคุยสอบถามกมลและศิลปินอื่นๆ อย่างมีความสุขอยู่นานมากก่อนจะเดินทางกลับ

 

ความจริง 2 นายทหารใหญ่ ลูกป๋าทั้ง (ท่านพี่หมง) พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ (ท่านพี่แอ้ด) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (รักษาการประธานองคมนตรี) ล้วนแล้วแต่ให้ความสนใจเรื่องานศิลปะมากกว่านายทหารอื่นๆ ด้วยซ้ำ (ท่านพี่หมง) เกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะร่วมสมัยเยอะแยะ ขณะเดินทางไปต่างประเทศยังเที่ยวด้อมมองงานของศิลปินใหญ่ระดับโลก เคยซื้อหาผลงาน Reproduce ของ Vincent Van Gogh มาฝากเพื่อนพ้อง

ส่วน (ท่านพี่แอ้ด) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับช่วงดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปะแทนป๋ามาอย่างต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน

ต่อมาป๋าได้รับเชิญไปเป็นประธานเปิดนิทรรศกาศิลปะ ซึ่งบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับบุหรี่ต่างประเทศริเริ่มขึ้นพร้อมให้การสนับสนุน การประกวดศิลปะระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน (Asean Award) โดยนักศึกษาศิลปะ ศิลปินของแต่ละประเทศส่งผลงานมาร่วมกันแล้วนำไปหมุนเวียนเปิดนิทรรศการในกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยเป็นประธานเปิดงานประจำทุกปี ก่อนจะล้มเลิกไปเพราะบริษัทบุหรี่ถูกต่อต้าน

(ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ซึมซับรับความสุขจากผลงานศิลปะของนักศึกษาศิลปะและศิลปินร่วมสมัย ได้ใกล้ชิดกับกลุ่มอาจารย์ศิลปะมากขึ้น ท่านจะได้รับเชิญไปเป็นประธานเปิด “นิทรรศการ วิทยานิพนธ์” ของนักศึกษาศิลปะบ่อยครั้ง ได้พูดคุยสอบถามกับนักศึกษา อาจารย์

กระทั่งได้ทราบว่านักศึกษาศิลปะส่วนมากมีฐานะไม่ค่อยจะดี ไม่แข็งแรง เป็นที่มาของการเกิด “กองทุนส่งเสริมการศึกษา การสร้างสรรค์ศิลปะ มูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์”

ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มศิลปินอาจารย์ผู้สอนศิลปะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ โดย (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้มอบผลงานศิลปะในกรรมสิทธิ์ของท่านที่ได้รับมอบมาจากการไปเป็นประธานเปิดนิทรรศการต่างๆ มายาวนานให้กับกองทุนเพื่อนำไปจัดประมูลจำหน่ายนำเงินมาช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่กำลังจัดทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท

 

ได้เคยนำเสนอไว้นานแล้วเกี่ยวกับกองทุนขอยกมากล่าวอีกครั้ง “ระยะแรกๆ ได้รับการสนับสนุนจากท่านที่มีจิตอันเป็นกุศล คนรักชื่นชมความงาม งานศิลปะ อย่าง “คุณเจริญ+คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” ซึ่งมีกำลังซื้อสูงให้ช่วยเข้ามาประมูลงาน ขณะเดียวกันคณะกรรมการมีโครงการ Art Camp โดยให้นิสิต นักศึกษาที่ได้รับทุนเดินทางไปสร้างงานตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งกำหนดขึ้นในแต่ละปีในหลายสถานที่ของประเทศ เมื่อได้ผลงานจึงนำมาจัดนิทรรศการ เปิดประมูลเพื่อหาเงินเข้ากองทุนต่อไปเรื่อยๆ

กองทุนยังได้รับผลงานของ “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์) ให้นำไปจัดการประมูลหาเงินเข้ากองทุนเป็นจำนวนมากๆ ทุกปี ถึงวันนี้จึงมีเงินรายได้สนับสนุนให้แก่นักศึกษาที่เข้าหลักเกณฑ์ของกองทุนไปเป็นเวลากว่า 10 ปี ปีละ 50 ทุน แต่ยังมีเงินกองทุนเหลือกว่า 40 ล้านบาท

ด้วยบารมีของป๋า คุณเยาวณี เพ็ญชาติ เจ้าของ “บริษัทคริสตี้ ออคชั่น” ได้เข้ามาช่วยดำเนินการจัดประมูลตามหลักสากล ซึ่งบริษัทนี้มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศอังกฤษ เป็นมืออาชีพในการจัดประมูลเชี่ยวชาญงานมากกว่า 100 ปี เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในการประมูลแต่ละครั้งจะได้เงินเป็นจำนวนมาก–”

เป็นผลงานเศษเสี้ยวมุมหนึ่งต่อวงการ “การศึกษาศิลปะ” ของป๋า “ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ซึ่งฝากไว้กับแผ่นดิน

เป็นการ “แทนคุณแผ่นดิน” นอกจากผลงานอื่นๆ อีกจำนวนมหาศาล คุณูปการต่อบ้านนี้เมืองนี้มากมายเกินกว่าจะนำมากล่าวได้หมด ขนาดทำหนังสือเล่มหนาๆ ยังไม่สามารถเก็บรวบมาได้ทุกแง่ทุกมุม

ประเทศของเราน่าจะมีคนอย่าง “ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” มาเกิดในแผ่นดินมากๆ