คนมองหนัง | “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” @ สกาล่า สถานะพิเศษของ “พนเทพและเพื่อน”

ขอบคุณภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก BEC-TERO ENTERTAINMENT

จากกลางปี 2559 ถึงต้นปี 2561 มาสู่กลางปี 2562 “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” วงดนตรีที่ประกอบด้วย “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” “ชรัส เฟื่องอารมย์” และ “ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” มีโอกาสจัดคอนเสิร์ตใหญ่ถึง 3 ครั้ง ในรอบ 4 ปี (ไม่รวมถึงการรับงานโชว์ย่อยๆ ที่ดำเนินไปโดยต่อเนื่อง)

การทำงานอย่างสม่ำเสมอดังกล่าวส่งผลให้น้าๆ วัยใกล้ 70 ปี ทั้งสามราย รับรู้ถึงจุดเด่น-ข้อจำกัดของตนเอง

และนำมาสู่คอนเสิร์ตใหญ่ “สเกลกลางๆ” ชื่อ “ดึกดำบรรพ์ # ปั่น แต๋ม ตุ่น ไลฟ์ @ สกาล่า” เมื่อเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2562

จากการจัดโชว์สองหนแรกที่จีเอ็มเอ็มไลฟ์เฮาส์ เซ็นทรัลเวิลด์ และอิมแพ็ค เอ็กซ์ซิบิชั่น ฮอลล์ 4 ซึ่งจุผู้ชมได้เป็นหลักพันคน

ดูคล้ายน้าๆ จะค้นพบ “คำตอบ” บางอย่าง และหันมาจัดคอนเสิร์ตหนล่าสุดในโรงหนังสกาล่า สยามสแควร์ ซึ่งอาจถือเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นฮอลล์จัดคอนเสิร์ตขนาดกะทัดรัด ซึ่งจุผู้ชมได้ประมาณ 900 กว่าคน

และโชว์ที่สกาล่าก็กลายเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกสุดของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” ซึ่งขายบัตรหมด รวมทั้งต้องมีเก้าอี้เสริมตลอดทางเดินด้านซ้าย-ขวาของโรงภาพยนตร์

ผู้เข้าชมโชว์มีหลากหลายรุ่นตั้งแต่ 20 ปลายๆ หรือ 30 ต้นๆ ไปจนถึงคนอายุ 50-60-70 ปี

เกือบทั้งหมดตีตั๋วมาเพื่อบริโภคการแสดงดนตรีกันอย่างจริงจัง (แต่ไม่ตึงเครียด) ไม่ใช่เพื่อมาออกงานสังคม กินดื่ม หรือเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูง

บรรยากาศของโชว์จึงเต็มไปด้วยความรื่นรมย์ และนักดนตรีบนเวทีกับคนดู ซึ่งนั่งอยู่ไม่ห่างกันตามเงื่อนไขของพื้นที่ สามารถรับส่งอารมณ์ถึงกันได้อย่างใกล้ชิด

เช่นเดียวกับเรื่องจำนวนเพลง ซึ่งในคอนเสิร์ตใหญ่หนก่อน น้าๆ จัดเต็มกันร่วม 30 เพลง กระทั่งมีอาการแผ่วปลาย แต่ในโชว์ครั้งนี้ จำนวนเพลงถูกจำกัดลงเหลือ 25 เพลง ซึ่งถือว่ากำลังดี และไม่บีบคั้นให้ศิลปินที่มีอายุไม่ใช่น้อยแล้ว ต้องอ่อนล้าจนเกินไป

อีกจุดหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงชัดเจน คือ จำนวนของแขกรับเชิญ

ในคอนเสิร์ตใหญ่สองคราวก่อน “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” เชิญแขกพิเศษมาร่วมแจมบนเวทีหลายคน และแบ่งซอยออกเป็นหลายช่วงการแสดง

แต่ในคอนเสิร์ตที่เพิ่งปิดฉากไป น้าๆ ตัดสินใจเลือกแขกรับเชิญมาแค่รายเดียว ทว่ากลับสร้างความประทับใจให้ผู้ชมได้ล้นหลาม

แขกรับเชิญคนนั้น คือ “กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี”

การปรากฏตัวของ “กบ ทรงสิทธิ์” นับเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ไม่น้อย เพราะเขาคือหนึ่งใน “เด็กปั้น” ของ “พนเทพ-ชรัส” เพียงไม่กี่ราย ที่ไม่เคยขึ้นไปแจมบนเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” รวมถึงคอนเสิร์ตทริบิวต์พนเทพ มาก่อน

การขึ้นเวทีในคราวนี้ของกบ น่าจะเกี่ยวพันกับการเพิ่งไปรับทำหน้าที่เป็นโค้ชให้แก่รายการ “The Voice Senior” ของชรัสอยู่ไม่น้อย

กบปรากฏกายบนเวทีอย่างเรียบง่าย พร้อมยกเก้าอี้มาบริการตนเองเสร็จสรรพ เขาขับร้อง “สองเพลงฮิตตลอดกาล” ของตัวเอง คือ “ขีดเส้นใต้” และ “ปาฏิหาริย์” (ก่อนจะกลับมาแจมในเพลง “เพราะฉะนั้น” ช่วงปลายคอนเสิร์ต)

โมเมนต์ที่น่าประทับใจ คือ การที่กบเอ่ยว่าในชีวิตเขานั้นมี “เพลงดัง” อยู่แค่สองเพลง เพลงแรก คือ “ขีดเส้นใต้” ซึ่งแต่ง (ทำนอง) โดยพนเทพ เพลงที่สอง คือ “ปาฏิหาริย์” ซึ่งแต่งทำนองและเรียบเรียงโดย “เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์” นักดนตรีสนับสนุนผู้เล่นคีย์บอร์ดอยู่เงียบๆ ด้านหลังวง “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” เสมอมา

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ กบก็ผายมือไปยังเศกสิทธิ์ที่นั่งประจำการอยู่ตรงตำแหน่งคีย์บอร์ด

นี่คือการยกย่องให้เกียรตินักแต่งเพลง-นักดนตรีฝีมือดีอย่างเศกสิทธิ์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่มีการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” มาสามหน

คําถามชุดหนึ่งที่ผมครุ่นคิดอยู่หลายวัน หลังจากอิ่มเอมใจกับคอนเสิร์ตที่สกาล่าของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” ก็คือ ทำไมพวกน้าๆ ถึงยังทำงานได้อย่างมี “ประสิทธิผล” (productive) ในวัยใกล้ๆ หลัก 7 ท่ามกลางอุตสาหกรรมดนตรีที่ค่อนข้างเสื่อมทรุดซบเซา?

ทำไมพวกน้าๆ (โดยเฉพาะพนเทพ) จึงเป็นคนทำเพลงยุค 80-90 ที่ดูเหมือนจะเท่าทันเทคโนโลยีและรูปแบบการบริโภคดนตรีในยุคปัจจุบันมากพอสมควร?

ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักปล่อยซิงเกิลใหม่ลงในระบบสตรีมมิ่ง หรือการตัดสินใจผลิตแผ่นเสียงไวนิลราคาแพงเพื่อป้อนแฟนคลับของวง “นั่งเล่น” (อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ของพนเทพ) ที่มีฐานเหนียวแน่นแข็งแรง

ทำไมพวกน้าๆ จึงสามารถทำโชว์ที่ผสมผสานกิจกรรมนันทนาการของผู้สูงอายุเข้ากับแผนงานกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างค่อนข้างลงตัว?

ดังจะเห็นว่าคอนเสิร์ตใหญ่รายปีของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” นั้นไม่ได้จัดโชว์แบบผลิตซ้ำของเดิมชนิด 100 เปอร์เซ็นต์ หากมีการเพิ่มเติมรายละเอียดแปลกใหม่เข้าไปทีละนิดละหน่อย

ถ้าคอนเสิร์ตเมื่อปี 2561 มีการเปิดตัวเพลงคัฟเวอร์ที่เรียบเรียงใหม่อย่าง “คนขี้เหงา” ในคอนเสิร์ตปี 2562 น้าๆ ก็เล่นท่าเดียวกันกับเพลง “รักฉันนั้นเพื่อเธอ” บวกด้วยเพลงแต่งใหม่ชื่อ “ฉันไม่เดียงสา” ที่จัดว่าเข้าท่า-ไม่ตกยุค

ที่สำคัญสุด แม้รูปแบบการจัดคอนเสิร์ตใหญ่สองครั้งหลังของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” จะมี “บีอีซี เทโรฯ” รับหน้าที่เป็น “อีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์” แต่น่าสนใจว่า คนคุมโชว์และหาเงินจากไตเติลสปอนเซอร์ (ไดนาสตี้ ไทล์ท้อป) กลับกลายเป็น “พนเทพ สุวรรณะบุณย์”

ถ้าจะลองให้คำตอบแก่ชุดคำถามนี้แบบง่ายๆ ผิวเผิน เราก็อาจตอบได้ว่าเป็นเพราะ “พนเทพ-ชรัส-ปั่น” คือ “คนแก่ที่มีไฟ”

ทว่าคำตอบดังกล่าวจะก่อให้เกิดคำถามต่อเนื่องขึ้นทันทีว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็แสดงว่าคนทำเพลงรุ่นราวคราวเดียวกันและอ่อนกว่า “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” ที่ไม่มี “ประสิทธิผล” ในทางดนตรี ณ พ.ศ.2562 จัดเป็นพวก “หมดไฟ-ไม้ตายซาก” หรือ?

ขอบคุณภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก BEC-TERO ENTERTAINMENT

คําอธิบายที่มีต่อกรณีศึกษาเรื่อง “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” (รวมถึง “นั่งเล่น”) จึงอาจไม่เรียบง่ายขนาดนั้น แต่ควรย้อนไปพิจารณารากฐานที่ผลักดันให้ “พนเทพและเพื่อนๆ” ต้องพยายามดิ้นรนต่อสู้กับเงื่อนไขอันผันแปรในธุรกิจ/อุตสาหกรรมดนตรีอยู่ตลอดเวลา

“พนเทพ-ชรัส” นั้นเป็นนักแต่งเพลงมีฝีมือแน่ๆ แต่พวกเขาก็มักถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานของตนเองอย่างผิดแผกแตกต่างจาก “นักแต่งเพลงร่วมยุคสมัย” อีกหลายคน

ขณะที่นักแต่งเพลงมีชื่อเสียงในยุค 80-90 จะชอบเล่าว่าตนเองแต่งคำร้องหรือทำนองให้แก่เพลงนั้นเพลงนี้

เรื่องเล่าของ “พนเทพ-ชรัส” มักดำเนินไปในทำนองว่าพวกเขามีส่วนสร้างสรรค์หรือชักนำศิลปินคนไหนเข้ามาประดับวงการบ้าง

ขณะที่หลายคนมักประเมินจุดพีกสูงสุดในการทำงานของ “พนเทพ-ชรัส (และปั่น)” ว่าเกิดขึ้นระหว่างการร่วมงานกับบริษัท (จีเอ็มเอ็ม) แกรมมี่

แต่ “พนเทพ-ชรัส” ก็ไม่ใช่ทีมทำเพลงของแกรมมี่ ที่แตกกิ่งก้านออกจากศูนย์กลาง เช่น “เรวัต พุทธินันทน์” เสียทีเดียว ดังที่เราชอบทึกทักเข้าใจกันว่านั่นคือ “พื้นฐานร่วม” ของ “นักแต่งเพลงแกรมมี่” ทุกคนในยุค 90

ด้านหนึ่ง “พนเทพ-ชรัส” เป็นคนทำเพลงที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมดนตรีไทยยุคบุกเบิกช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนจะเข้ามาผลิตงานใต้ชายคาแกรมมี่

อีกด้านหนึ่ง “พนเทพ-ชรัส” ก็เดินเข้าสู่บริษัทแกรมมี่ โดยไม่ได้มีสถานะเป็นโปรดิวเซอร์ คนทำดนตรี หรือคนเขียนเนื้อ ในทีมทำเพลงหลักของ “เต๋อ เรวัต”

หากเข้าไปทำหน้าที่เป็น “โปรดักชั่นทีม” อีกชุด เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้แก่บริษัทเทปที่กำลังเติบโตก้าวกระโดด

ก้าวแรกๆ ในแกรมมี่ของ “พนเทพ-ชรัส” คือการผลิตงานให้ศิลปินรายคน/รายอัลบั้ม มาเป็นแพ็กเกจแบบเบ็ดเสร็จเรียบร้อย แล้วจึงค่อยเสนอขายผลงานชุดนั้นๆ ให้แก่แกรมมี่ (หากแกรมมี่ไม่ซื้อ ทั้งคู่ก็จะนำผลงานดังกล่าวไปเสนอขายค่ายอื่นต่อ เช่น งานชุดแรกของ “นีโน่-เมทนี บุรณศิริ” ที่ออกกับคีตา เรคคอร์ดส์)

หลังแกรมมี่ประกอบกิจการได้ครบ 10 ปี ครองตำแหน่งเบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมดนตรียุคกลาง 2530 ก็กลายเป็นว่า “พนเทพ-ชรัส-ปั่น” กลับค่อยๆ ถอยห่างออกมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่

โดย “พนเทพ” หันไปทำค่ายเพลง “โอ้! มาย ก็อด” และมี “ปั่น” เป็นศิลปินคนหนึ่งในสังกัด ส่วน “ชรัส” ก็พเนจรไปทำงานกับหลากหลายบริษัท รวมทั้งอาร์เอส โปรโมชั่น อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ของวงการดนตรี (ยุคนั้น)

ก่อนที่ “พนเทพ” จะหวนคืนกลับแกรมมี่อีกครั้ง หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แล้วทำงานที่นั่นจนเกษียณอายุ

ทั้งหมดทั้งมวลคงมีส่วนหล่อหลอมให้ “พนเทพ” และอาจรวมถึง “ชรัส” มีลักษณะเป็นหัวหน้าทีม ที่มีจิตวิญญาณเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งต้องรู้จักต่อรองผลประโยชน์ หาทางเอาตัวรอด และวางแผนงาน-กลยุทธ์ทางธุรกิจ ในตลอดเส้นทางการทำเพลงของ (พวก) เขา

เนื่องจาก (พวก) เขามิใช่ “นักแต่งเพลงตัวเล็กๆ” คนหนึ่ง ภายในทีมงาน/ภายใต้ร่มไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ต้องดูแลรับผิดชอบงานเชิงภาพรวมมากนัก

ตัวตน/ลักษณะการทำงานเช่นนี้ปรากฏให้เห็นในการก่อตั้งวง “นั่งเล่น” (สมาชิกส่วนใหญ่คือคนในโปรดักชั่นทีมของ “พนเทพ” ก่อนเกษียณจากแกรมมี่) และการโลดแล่นของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์”

สองวงดนตรีรุ่นเก๋าที่คล้ายจะร้องเล่นเพลงกันอย่างสนุกสนานประหนึ่งงานอดิเรก แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเหตุผลเรื่องความอยู่รอดในเชิงธุรกิจหรือมูลค่าในทางเศรษฐกิจของตัวผลงาน โดยสิ้นเชิง