คุยกับทูต ‘อีวา ฮาแกร์’ อัดแน่นกิจกรรมปีแห่งการเฉลิมฉลอง 150 ปี สัมพันธไมตรีไทย-ออสเตรีย

คุยกับทูต ‘อีวา ฮาแกร์’ ปีแห่งการเฉลิมฉลอง 150 ปี สัมพันธไมตรีไทย-ออสเตรีย (1)

เมื่อเอ่ยถึงประเทศออสเตรีย ผู้อ่านหลายท่านก็อาจจะนึกถึงดินแดนแห่งธรรมชาติของทิวเขาสูง และพื้นที่อันเขียวชอุ่มของป่าไม้ที่สวยสดงดงาม ซึ่งคนท้องถิ่นมีความภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรม ความวิจิตรของศิลปะ และดนตรีคลาสสิคอันไพเราะ

ออสเตรียเป็นแหล่งกำเนิดของนักแต่งเพลงคลาสสิคชื่อดังก้องโลก ไม่จะว่าเป็นโมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart), เบโทเฟ่น (Beethoven) คีตกวีและนักเปียโนชาวเยอรมันซึ่งไปศึกษาดนตรีต่อที่กรุงเวียนนา, โยฮันน์ ชเตราสส์ที่สอง (Johann Strauss Junior) ซึ่งบทประพันธ์เพลงวอลซ์ของเขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เดอะ บลู ดานูบ (The Blue Danube)

และเชื่อว่าหลายคนต้องเคยดูและหลงรักไปกับหนังสุดคลาสสิคเรื่อง The Sound of Music หรือมนต์รักเพลงสวรรค์ ซึ่งเมืองซาลซ์บูร์ก (Salzburg) ประเทศออสเตรีย คือสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เพลงเรื่องนี้

วันนี้ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย ดร.อีวา ฮาแกร์ (Her Excellency Dr.Eva Hager) เปิดการสนทนาพร้อมกันทีเดียวสองเรื่องคือ การฉลองครบรอบ 150 ปีของอุปรากรแห่งกรุงเวียนนา และการเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและประเทศออสเตรีย

โดยปีนี้ยังเป็นวาระครบรอบ 66 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างกันอีกด้วย

“ปีนี้ประเทศไทยและประเทศออสเตรียร่วมกันฉลองในโอกาสครบรอบ 150 ปีของการลงนามในสนธิสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือ เมื่อปี ค.ศ.1869 (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) ซึ่งเป็นปีที่ทูตพิเศษของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งออสเตรียเดินทางมาประเทศไทยพร้อมกับเรือออสเตรียสองลำ เพื่อถวายความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี และเพื่อแสดงความยินดีในการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในช่วงเวลานั้นมีการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาและการลงนามในปี 1869 และนี่คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์”

“ดังนั้น เราจึงจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและสังคมในแบบซีรี่ส์มากมายในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นปีคือ

วันที่ 9 มกราคม ด้วยคอนเสิร์ตของคณะประสานเสียงเด็กชายแห่งเวียนนา (Vienna Boys” Choir) ที่โรงแรมสวิสโซเทล บางกอก รัชดา”

คณะประสานเสียงเด็กชายแห่งเวียนนา เป็นคณะประสานเสียงของเด็กชายที่มีเสียงระดับโซปราโน่และแอลโตแห่งนครเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นคณะประสานเสียงเด็กชายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคณะหนึ่งในโลก

เด็กส่วนใหญ่มาจากออสเตรีย แต่ก็มีที่มาจากประเทศอื่นด้วย คณะประสานเสียงเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร มีเด็กนักร้องประมาณ 100 คน อายุระหว่าง 10-14 ปี

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา มีบันทึกว่า ในวันนี้มิตรภาพระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐออสเตรียก็ได้เจริญงอกงามจนมีอายุครบ 150 ปีเต็ม นับแต่การจัดทำหนังสือสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือ ระหว่างราชอาณาจักรสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ (Franz Joseph Karl von Habsburg-Lorraine)

อันเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ทางการทูตยุคใหม่ระหว่างทั้งสองประเทศในปัจจุบัน ดังหลักฐานระบุวันที่จัดทำหนังสือสัญญาดังกล่าวปรากฏในตอนท้ายของหนังสือสัญญาฯ ว่า

“อนึ่ง หนังสือสัญญานี้จะเปนอันใช้ได้ตั้งแต่นี้ไป แลจะเปลี่ยนราติไฟที่กรุงเทพมหานครในกำหนดสิบแปดเดือนแต่วันทำหนังสือสัญญาฉบับนี้ ท่านผู้ใด้รับอำนาถทั้งหลาย ที่มีชื่อในฃ้างต้นหนังสือสัญญาฉบับนี้ ได้ลงชื่อประทับตราไว้ที่หนังสือสัญญานี้เปนสำคัญ ณ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธะยา ณ วันจันทร์ ฃ้างขึ้นเจตค่ำของเดือนเชฐ คือเดือนเจต ในปีมเสงเอกศก ศักราชโหรสยาม ๑๒๓๑ ตรงกับสุริยคติกาลที่ใช้ในยุโรป เปนวันที่ ๑๗ เดือนเม ในปีมีกฤสตศักราช ๑๘๖๙ เปนปีที่ ๑ ในราชสมบัติ แห่งสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว” (ตัวสะกดตามต้นฉบับหนังสือสัญญาฯ)

(ภาพประกอบ : หนังสือสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือฯ พ.ศ.2412 ฉบับที่เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งออสเตรีย กรุงเวียนนา พร้อมสัตยาบันสารของสยามแนบท้ายหนังสือสัญญาฯ ซึ่งปรากฏพระปรมาภิไธยและพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามาภิไธยและพระตราของสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และสัตยาบันสารของออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งปรากฏพระปรมาภิไธยและพระราชลัญจกรของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ)

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงกิจการยุโรป การบูรณาการและการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย จึงเห็นพ้องกันกำหนดให้ปี ค.ศ.2019 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพิเศษในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างสองประเทศดำเนินมาเป็นเวลาถึง 150 ปี

โดยร่วมกันกำหนดตราสัญลักษณ์สำหรับโอกาสพิเศษนี้ มีลักษณะเป็นรูปมือแสดงท่าทางจีบตามนาฏศิลป์ไทย

ระหว่างนิ้วที่จีบกันอยู่ปรากฏดอกเอเดลไวส์ (edelweiss) อันเป็นดอกไม้ประจำชาติของออสเตรีย

และมีข้อความประกอบด้านล่างว่า “150 Years of Friendship between Thailand and Austria”

สีที่ใช้ในตราสัญลักษณ์ประกอบด้วยสีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน อันเป็นสีที่ปรากฏในธงชาติไทยและธงชาติออสเตรีย ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวออกแบบโดยกระทรวงกิจการยุโรป การบูรณาการ และการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย

“ดังนั้น ในปีนี้เราจึงมีกิจกรรมมากมาย ทั้งดนตรี งานแสดง การฉายภาพยนตร์ และสิ่งพิมพ์ ตัวอย่างเช่น เราพิมพ์หนังสือเด็กเรื่องคุณยายบนต้นแอปเปิล (The Grandmother in the Apple Tree) เป็นหนังสือคลาสสิค ปี ค.ศ.1965 ซึ่งสนุกและตลกมาก อันเป็นเรื่องราวการเสริมสร้างพลังของเด็ก และได้รับรางวัลระดับชาติด้านวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวจากปี ค.ศ.1965 แต่ก็เป็นหนังสือที่เด็กสามารถสร้างความฝันและจินตนาการเพื่อเอาชนะความคับข้องใจส่วนบุคคล” ท่านทูตอีวากล่าว

และเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา มีการจัดงานระดมทุนขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายในงานดังกล่าวได้เปิดตัววรรณกรรมเยาวชนออสเตรียที่ชนะรางวัล ฉบับแปลเป็นภาษาไทย คุณยายบนต้นแอปเปิล (มิรา โลเบอ และซูซี ไวเกล, 1965) หนังสือดังกล่าวได้มอบให้กับเยาวชนที่มาร่วมในงานด้วย

“เราจะแจกหนังสือนี้ให้กับโครงการเด็กและโรงเรียนเป็นของขวัญ ซึ่งได้เริ่มแจกเป็นครั้งแรกแล้วในงานที่กล่าวมา กิจกรรมการกุศลนี้ก็เพื่อเด็กๆ ดังที่กล่าวมา”

“นอกจากนี้ เราเพิ่งมีงานนิทรรศการสำคัญเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของเวียนนา ในงานนิทรรศการประจำปีของสมาคมสถาปนิกสยาม”

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีงานเสวนาระหว่างสถาปนิกสตรีชาวเวียนนาสองคนกับเพื่อนร่วมงานชาวไทย เรื่องการจัดงานเกี่ยวกับโครงการนวัตกรรมการออกแบบผังเมืองและทัศนียภาพของกรุงเวียนนา โดยจัดในกรอบของงานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในงานนิทรรศการทางสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

“สำหรับการจัดงานแสดงสินค้าที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมราว 40,000 คน และที่นี่ เราได้พูดคุยกับสถาปนิกรุ่นใหม่ 2 คนจากกรุงเวียนนาและสถาปนิกรุ่นใหม่ 2 คนจากกรุงเทพฯ นิทรรศการของกรุงเวียนนาจึงเป็นส่วนเสริมของการจัดงานประจำปีของสำนักงานสถาปัตยกรรมและสำนักงานจัดสวนที่เกิดขึ้นใหม่ อันมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมสถาปนิกรุ่นใหม่เหล่านี้ และในขณะเดียวกันก็ทำให้มีความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงกัน”

“กิจกรรมต่อไปของเราจะมุ่งเน้นไปที่มิตรภาพระหว่างประเทศออสเตรียกับประเทศไทย 150 ปี ที่เริ่มเมื่อปี ค.ศ.1869 เมื่อพลเรือเอกของเรามาพร้อมกับเรือ 2 ลำ เป็นเวลาเดียวกันกับการก่อตั้งโรงละคร โรงโอเปร่าแห่งกรุงเวียนนา (Vienna State Opera) หรือรู้จักกันในชื่อท้องถิ่นว่า วีเนอร์ สตาทโซเพอร์ ดังนั้น เราจึงมี Vienna State Opera มาเป็นเวลา 150 ปี ทั้งมีการถ่ายทอดการแสดงโอเปร่าจากเวียนนา ซึ่งเกือบจะเป็นการถ่ายทอดสด แต่ไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์เพราะความแตกต่างของเวลา”

“ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 25 และ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เราจึงจัดฉายภาพยนตร์การแสดงโอเปร่าที่ Bangkok Screening Room ซอยศาลาแดง 1 และในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม ก็ได้ฉายภาพยนตร์การแสดงบัลเล่ต์ เดอะนัทแครกเกอร์ (The Nutcracker) รอบสำหรับเด็กด้วย”

สําหรับการแสดงดนตรีแจ๊ซจากวงวู้ดดี้ แบล๊ก โฟร์ (Woody Black 4) ซึ่งเป็นวงแจ๊ซจากประเทศออสเตรีย จะแสดงในงานดนตรีแจ๊ซที่หัวหินวันที่ 6 มิถุนายนนี้

ตามมาด้วยการแสดงของวงสตริงควอเต็ต จิโอโคโซ (Giocoso String Quartet) ที่หอแสดงดนตรีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 14 มิถุนายน ส่วนหลังจากนั้นจะเป็นการแสดงดนตรีระหว่างวาทยกรชาวออสเตรีย ดร.โยฮันเนส ไมเซล ร่วมกับวงดุริยางค์สากลแห่งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ที่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ในวันที่ 14 กรกฎาคม

นอกเหนือจากนี้ จะมีกิจกรรมและงานต่างๆ จัดขึ้นตลอดปีนี้ ทั้งที่กรุงเวียนนาและกรุงเทพฯ เพื่อระลึกถึงการครบรอบความสัมพันธ์ 150 ปีระหว่างทั้งสองประเทศ อันเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่า ชวนให้ผู้มาเยือนได้อิ่มเอมใจ