สุจิตต์ วงษ์เทศ : เรียกขวัญไม่คืน ต้องฝังศพรอขวัญ

คนตาย เพราะขวัญหายออกไปจากร่างของคน ต้องมีพิธีเรียกขวัญ ให้ขวัญคืนร่างแล้วคนจะฟื้นคืนเป็นปกติ

ถ้าขวัญหายอย่างถาวรก็เอาศพไปฝัง แต่ฝังอย่างรอขวัญคืนร่าง

1. เรียกขวัญ

จัดคนตายอยู่ในท่านั่ง

หมอขวัญ (เป็นหญิง) ขับลำเป็นทำนอง “ฮ้องขวัญ” (คือ เรียกขวัญ) ด้วยคำคล้องจอง ให้กลับเข้าร่างตามเดิม เนื้อหาเล่าเรื่องความเป็นมาต่างๆ ของเผ่าพันธุ์

เครือญาติทั้งชุมชนร่วมกันร้องรำทำเพลงดีดสีตีเป่าอึกทึกครึกโครมที่สุดให้ดังกึกก้องทั้งท้องไร่ท้องนาและป่าเขา เพราะเชื่อว่าขวัญจะกลับคืนร่างถูกทาง ตามเสียงที่ได้ยิน

ขับลำนำคำคล้องจองเป็นทำนองง่ายๆ แล้วเป่าแคนคลอ มีฟ้อนประกอบพิธีเรียกขวัญ ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นคัดลอกจากเครื่องมือสำริด พบในเวียดนาม)
ขับลำนำคำคล้องจองเป็นทำนองง่ายๆ แล้วเป่าแคนคลอ มีฟ้อนประกอบพิธีเรียกขวัญ ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นคัดลอกจากเครื่องมือสำริด พบในเวียดนาม)

2. ฝังศพนั่ง

มัดศพท่างอตัว เหมือนนั่งยองๆ บรรจุทั้งร่างในภาชนะดินเผาทรงกลม มีสิ่งของอุทิศขนาดเล็กๆ ใส่รวมด้วย มีฝาปิด ฝังดินแนวตั้ง

ภาชนะฝังศพ (หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาใส่ร่าง หรือกระดูกคนตาย) มี 2 แบบ ได้แก่

(1.) ก้นกลมมน (เหมือนหม้อดินเผา) พบในอีสานไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

(2.) ทรงกระบอกยาว (เหมือนแคปซูล) พบมากทางทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสาน ราว 2,500 ปีมาแล้ว

[มีรายละเอียดอีกมากในหนังสือ โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดย สุกัญญา เบาเนิด กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 125-162]

ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกคนตายแบบต่างๆ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว (เป็นต้นแบบของโกศสมัยหลังๆ) ขุดพบบริเวณหลายแห่งของทุ่งกุลาร้องไห้ [ภาพลายเส้นจากบทความ 2 เรื่อง ของ สุกัญญา เบาเนิด (กรมศิลปากร) พิมพ์ในหนังสือทุ่งกุลา "อาณาจักรเกลือ" 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม. สำนักพิมพ์มติชน, 2546 หน้า 207-299.]
ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกคนตายแบบต่างๆ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว (เป็นต้นแบบของโกศสมัยหลังๆ) ขุดพบบริเวณหลายแห่งของทุ่งกุลาร้องไห้ [ภาพลายเส้นจากบทความ 2 เรื่อง ของ สุกัญญา เบาเนิด (กรมศิลปากร) พิมพ์ในหนังสือทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม. สำนักพิมพ์มติชน, 2546 หน้า 207-299.]
นางสาวสุกัญญา เบาเนิด (นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี) อธิบายว่าภาชนะดินเผามีฝาใบนี้ อายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว น่าจะเป็นของอุทิศฝังร่วมกับศพ ในแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด และพบทั่วไปตามแหล่งโบราณคดีบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนกลาง จนถึงปากน้ำมูล จ.อุบลราชธานี เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านโนนแก, แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง

นางสาวเมธินี จิระวัฒนา (นักโบราณคดีชำนาญการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร) บอกเพิ่มเติม (เมื่อ 9 กรกฎาคม 2558) ว่าภาพนี้บันทึกจากแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ราว พ.ศ.2545 พบร่วมกับภาชนะดินเผาทรงสูง ก้นกลม ที่เรียกว่า “แคปซูล” ยังพบแบบคล้ายกันในที่อื่นอีก เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านกระเบื้องนอก อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา

%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%99%e0%b8%b0%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%b2
ภาชนะดินเผา มีฝา บรรจุกระดูกมนุษย์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบในแหล่งโบราณคดีเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด [ภาพจากหนังสือศิลปวัฒนธรรมไทย กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2557 หน้า 44]