“โรงเรียนพระดาบส” แหล่งความรู้ที่ “พ่อ” สร้างไว้

หลายๆ คนอาจเคยได้ยินเรื่องราวของ “โรงเรียนพระดาบส” และ “มูลนิธิพระดาบส” ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิม

มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ยากจน ด้อยโอกาส ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสเข้ามาเรียนวิชาชีพต่างๆ

โรงเรียนพระดาบสถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการบริหารงานแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือสังคมเป็นหลัก แต่ก็สามารถประกอบธุรกิจเพื่อดูแลตัวเองได้

แตกต่างจากการบริหารงานขององค์กรหรือบริษัททั่วไป ที่จะเน้นหวังผลกำไร แต่ใช้การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือซีเอสอาร์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างภาพลักษณ์เท่านั้น

 

นายอัครเดช ชูจิตต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนพระดาบส หัวหน้าหลักสูตรช่างอิเล็กทรอนิกส์ เล่าว่า ตนเองเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนพระดาบส ก่อนได้รับทุนพระราชทานไปศึกษาต่อ และได้โอกาสกลับมาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้

ช่วงแรกโรงเรียนพระดาบสมีวัตถุประสงค์ในการเปิดโอกาสให้ทหารผ่านศึกได้เข้ามาศึกษาวิชาชีพช่างเพื่อนำไปประกอบอาชีพ ก่อนจะเปิดให้บุคคลทั่วไปที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เข้ามาศึกษาวิชาชีพต่างๆ รวม 8 หลักสูตร

ประกอบด้วยหลักสูตรวิชาชีพช่างยนต์, ช่างอิเล็กทรอนิกส์, ช่างไฟฟ้า, การเกษตรพอเพียง, ช่างซ่อมบำรุง, ช่างไม้เครื่องเรือน, ช่างเชื่อม และเคหะบริบาล ที่เพิ่มเข้ามาใหม่เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

โดยผู้เข้าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่จะต้องพักอาศัยอยู่ที่โรงเรียน และใช้ระยะเวลาเรียน 1 ปี ทั้งยังสามารถเรียนควบคู่ไปกับการศึกษานอกโรงเรียนได้ เมื่อจบการศึกษาก็จะได้รับใบประกาศนียบัตร

แต่ละปีการศึกษา โรงเรียนสามารถรองรับนักเรียนชายได้ 120 คน และนักเรียนหญิงได้ 30 คน และทางโรงเรียนจะส่งนักเรียนที่ใกล้จบการศึกษา ซึ่งมีความรู้ในระดับหนึ่งแล้ว ออกไปยังชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงและต่างจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้แก่ชาวบ้าน เช่น การสอนซ่อมเครื่องไฟฟ้า ตลอดจนประกอบกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ

นอกจากการฝึกอาชีพแล้ว โรงเรียนพระดาบสยังเน้นสอนเรื่องการใช้ชีวิต เน้นการกินอยู่อย่างพอเพียง เช่น การทานอาหารในแต่ละมื้อ

หากมีกับข้าวเหลือก็จะนำมาอุ่นเพื่อทานในมื้อต่อไปโดยไม่เหลือทิ้ง หรือมีเครื่องกรองน้ำเสียก่อนปล่อยออกไปไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนนักเรียนจะต้องทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น การทำอาหาร และทำความสะอาด

นอกจากนั้น ที่นี่ยังเน้นย้ำเป็นพิเศษเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้บุคคลที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งมีมากกว่า 2,000 คนแล้ว ได้ออกไปใช้ชีวิต หาเลี้ยงชีพ และรับใช้สังคมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

 

ส่วนการบริหารงานในโรงเรียนพระดาบสนั้น ทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพระดาบส

มูลนิธิพระดาบสได้จัดตั้ง “โครงการลูกพระดาบส” ขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อใช้เป็นแหล่งหารายได้ในการนำเงินมาหมุนเวียนในการบริหารจัดการโรงเรียน นอกจากเงินที่ได้รับบริจาค

ว่าที่ ร.อ. ดร.สมานมิตร พัฒนา นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานโครงการลูกพระดาบส เล่าว่า โครงการมีเนื้อที่ 475 ไร่ แบ่งใช้เป็นสถานที่เรียนของสองหลักสูตร

คือ หลักสูตรเกษตรพอเพียง และหลักสูตรช่างไม้เครื่องเรือน เรียนรู้การสร้างบ้านด้วยไม้ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งโต๊ะ ตู้ เตียง และเมื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์ออกมาก็จะนำผลิตภัณฑ์ไปวางขาย สร้างรายได้กลับมาหมุนเวียนในโครงการ-โรงเรียน

หากประชาชนต้องการให้นักเรียนผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ให้ ก็สามารถติดต่อมาที่โครงการลูกพระดาบสได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่จะต้องนำมาไม้มาเอง

ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้แบ่งทำการเกษตรหลากหลายชนิด แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่ใกล้ทะเล จึงมีภาวะดินเค็ม น้ำกร่อย ส่งผลให้ต้องฟื้นฟูน้ำและพัฒนาดิน พร้อมขุดบ่อน้ำโดยรอบกว่า 70 ไร่ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ

กิจกรรมการเกษตร ประกอบด้วยการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด อาทิ การเลี้ยงกุ้ง, ปลาสลิด, กบ, ปลาดุก, การขยายเพาะพันธุ์ปลาต่างๆ โดยเฉพาะปลานิล

โดยใช้พื้นที่ในการเลี้ยงปลานิลกว่า 10 ไร่ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 ถึง 8 เดือน จับขายเป็นรายได้ครั้งละประมาณ 3 ถึง 4 แสนบาท

และเหนือบ่อปลานิลยังเลี้ยงไก่ไข่กว่า 200 ตัว ผลิตไข่ขายได้วันละประมาณ 13 แผง จำหน่ายแผงละ 80 ถึง 100 บาท

อีกทั้งยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ปลูกผักและผลไม้ อาทิ มะม่วง, แก้วมังกร, มะนาว โดยเฉพาะผักไฮโดรโปนิกส์ ที่ปลูกไว้จำนวน 1 ไร่ ขายได้ปีละ 8 แสนถึง 1 ล้านบาท และยังเพาะเห็ดไว้ในโรงเรือน ส่วนก้อนเชื้อเห็ดที่หมดอายุ ก็นำมาทำเป็นปุ๋ยหมักใส่ต้นไม้ในโครงการ

ทั้งหมดนี้สามารถสร้างรายได้กลับมายังมูลนิธิพระดาบส เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการโรงเรียนพระดาบส และพัฒนาโครงการลูกพระดาบสต่อไป

 

นอกจากนี้ ภายในโครงการลูกพระดาบส ยังได้แบ่งพื้นที่อีกส่วนหนึ่งทำแปลงเกษตรพอเพียง ให้นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ และประชาชนเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปปรับใช้

รวมทั้งจัดฝึกอบรมชาวไทยและต่างชาติเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรทุกเดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังนำวัตถุดิบที่มีในโครงการมาใช้ในการอบรม อาทิ การทำน้ำสลัดผักไฮโดรโปนิกส์, ทำตะไคร้หอมกันยุง, ทำปลานิลหยอง, การปลูกพืชไม่ใช้ดิน และการเพาะเห็ดแบบครบวงจร

หากประชาชนสนใจก็สามารถติดต่อสอบถามมายังโครงการลูกพระดาบส หรือตรวจสอบหลักสูตรการฝึกอบรมได้ที่เว็บไซต์โครงการลูกพระดาบส ส่วนวัตถุดิบที่เหลือใช้จากการอบรม เช่น เศษผัก ก็จะถูกนำไปใช้เป็นอาหารปลาต่อ เช่นเดียวกับน้ำมันพืชที่ใช้แล้วก็นำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล

ในภาพรวมแล้ว จะเห็นได้ว่าผลิตผลทางการเกษตรของโครงการนั้นถูกนำมาใช้ประโยชน์สูงสุด และลดปริมาณของขยะลงด้วยการนำไปแปรรูป เลี้ยงสัตว์ หรือทำปุ๋ยหมัก ตลอดจนจัดจำหน่าย

การประสานงานระหว่างมูลนิธิพระดาบส โรงเรียนพระดาบส และโครงการลูกพระดาบส จึงต่างมีความเชื่อมโยงและบริหารงานร่วมกัน

โดยมูลนิธิพระดาบส เป็นเสมือนฝ่ายบริหารจัดการ

ส่วนโครงการลูกพระดาบส เป็นหนึ่งในช่องทางที่ใช้หารายได้ และให้ความรู้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ซึ่งรายได้ที่ได้มา ก็นำมาใช้หล่อเลี้ยงโรงเรียนพระดาบส ที่ให้ความรู้กับนักเรียน ซึ่งแม้จะไม่ได้รับ “วุฒิการศึกษา” แต่ความรู้นั้นมีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินใดๆ

เพราะหากมีความรู้ก็สามารถนำไปใช้หาเลี้ยงชีพทั้งตนเองและครอบครัว และยังสามารถส่งต่อความรู้นั้นไปให้บุคลอื่นๆ เพื่อทำประโยชน์แก่สังคม

ตรงกับวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งมุ่งเน้นการช่วยเหลือสังคม ผู้ยากจน และผู้ด้อยโอกาสโดยยังสามารถบริหารงานภายในโครงการได้ด้วย

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ “กิจการเพื่อสังคม” ที่สร้างประโยชน์ให้สังคมได้อย่างแท้จริง และสามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน