“ก่อการร้ายในยุโรป” กับการ “ชั่งน้ำหนัก” เสรีภาพ และ ความมั่นคง

“การเปิดเสรีทางพรมแดน” ภายใต้กลุ่ม “เชงเก้น” ของ 26 ประเทศในภูมิภาคยุโรป ให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระนั้น เป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพในดินแดนตะวันตกแห่งนี้มาอย่างยาวนาน

ในแต่ละวันประชาชนนับล้านข้ามพรมแดนประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ระบบที่มีอายุยาวนานถึง 31 ปี หลอมรวมเอาประชาชนจำนวน 400 ล้านคนเข้าด้วยกัน กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างเงิน สร้างงานในเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ได้อย่างมหาศาล

ทว่า ในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางภัยก่อการร้ายที่ลุกลามไปทั่วโลก การเปิดเสรีดังกล่าวกลับกลายเป็น “จุดอ่อน” ที่สร้างหายนะ

หลังเหตุการณ์คนร้ายขับรถบรรทุกพุ่งชนตลาดคริสต์มาส ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบราย “อานิส อัมรี” ผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย ชาวตูนิเซีย วัย 24 ปี ที่หลบหนีหลังก่อเหตุ กลับสามารถเดินทางข้ามแดนได้ถึงสองประเทศโดยไม่ถูกตรวจพบ

อัมรี เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากตูนิเซียเข้าสู่ภูมิภาคยุโรป และอยู่ในรายชื่อผู้ที่ต้องเฝ้าระวังของทางการเยอรมนี หลบหนีการจับกุมอยู่ได้เป็นเวลากว่า 3 วัน

ลอบเข้าสู่ประเทศฝรั่งเศสพร้อมปืนพก

ลอบผ่านเข้าชายแดนอิตาลีก่อนจะต้องสะดุดกับด่านตรวจเอกสารประจำตัวที่ตั้งขึ้นตามปรกติ ในกรุงมิลาน จุดที่อัมรี เปิดฉากยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกำลังตรวจสอบจุดเกิดเหตุ ใกล้กับร่างของอานิส อัมรี ที่ถูกตำรวจอิตาลียิงเสียชีวิต /AFP

การเล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่ของอัมรี สร้างความอับอายให้กับทางการเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี สามประเทศทางผ่านของผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายเบอร์ 1 ในยุโรปในเวลานั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศส ประเทศซึ่งอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังสูงสุดหลังเหตุโจมตีกรุงปารีสเมื่อปีที่ผ่านมา

ไบรซ์ เดอ รายเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชาวเบลเยียม จากมหาวิทยาลัยเกนต์ ระบุว่า ประชาธิปไตยในยุโรปนั้นมีปัญหาในระดับพื้นฐานอยู่ เพราะระบบกฎหมายมุ่งเน้นไปที่การลงโทษผู้ก่ออาชญากรรม มากกว่าที่จะป้องกันการเกิดอาชญากรรม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยข่าวกรองให้ความสำคัญกับผู้ต้องสงสัยที่มีภูมิหลังชัดเจนอย่างผู้จัดหานักรบไอเอส หรือนักรบไอเอสที่เดินทางกลับจากซีเรียและอิรัก ทำให้ผู้ต้องสงสัยที่มีประวัติน้อยกว่าถูกมองข้ามไป

“เสรีภาพ” ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นความ “หละหลวม” ส่งผลให้เกิดการถกเถียงในหมู่นักการเมืองยุโรป ด้วยเช่นกัน

มารีน เลอเปน (AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)
มารีน เลอเปน (AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

“มารีน เลอเปน” ผู้นำพรรคขวาจัด ของประเทศฝรั่งเศส ผู้ที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีหน้านี้ ระบุว่า การข้ามชายแดนอย่างเสรีนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

“นิยายเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีที่คู่แข่งของฉันกำลังพูดถึง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้จะต้องถูกกลบฝัง ความมั่นคงของพวกเราขึ้นอยู่กับมัน” เลอเปน ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมาพร้อมทั้งระบุว่าการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีในยุโรปนั้นเป็นดัง “หายนะใหญ่หลวงทางความมั่นคง”

กลุ่มนักการเมืองผู้สนับสนุนการเคลื่อนย้ายโดยเสรีในภูมิภาคยุโรป หนึ่งในนั้นคือ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปโดยชี้ว่า ความล้มเหลวด้านความมั่นคงในยุโรปครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลแต่ละชาติในยุโรปจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งปันกำลังทหาร พร้อมทั้งยืนยันว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาก็คือการปิดกั้นข้อมูลข่าวกรองระหว่างกันภายใต้พรมแดนอันล้าสมัย

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ยังทำให้ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ผู้ยืนยันในหลักการของอียู และสนับสนุนการรับผู้ลี้ภัยสงครามซีเรีย ต้องตกที่นั่งลำบาก ท่ามกลางกระแสต่อต้านผู้อพยพ และกระแสต่อต้านอำนาจเก่าแพร่กระจายไปทั่วยุโรป

ส่งผลให้สถานการณ์การเลือกตั้งเยอรมนีของแมร์เคิล ที่จะมีขึ้นในปีหน้าเริ่มไม่แน่นอน

ความมั่นคง และการอพยพย้ายถิ่นจะเป็นประเด็นหลักสำคัญที่จะถูกพูดถึงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใน “เยอรมนี” “ฝรั่งเศส” และ “เนเธอร์แลนด์” สามประเทศสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งอียู ในปี 2017 นี้อย่างแน่นอน

ขณะที่ความหวาดกลัวภัยก่อการร้ายนั้นอาจส่งผลให้ฝ่ายค้านใน “อิตาลี” เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เร็วขึ้นหลังวิกฤตการเมืองในประเทศ

หลังปรากฏการณ์ “เบร็กซิท” ในอังกฤษ และ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในสหรัฐแล้ว

โฉมหน้าการเมืองสหภาพยุโรปในปี 2017 จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะให้น้ำหนักไปที่ฝั่งใด

ระหว่าง “เสรีภาพ” และ “ความมั่นคง”